มาสุโขทัยเป็นครั้งแรก ก็มารถโดยสารกันเลยทีเดียว
เริ่มจากนั่งเครื่องมาลงพิษณุโลกค่ะ แล้วนั่งแท็กซี่มาลงขนส่งอันใหม่ด้วยราคา 200 บาท แต่ถ้ามาลงขนส่งเก่าแท็กซี่จะคิดแค่ 150 บาท เพราะระยะทางใกล้กว่า แต่แอดเลือกมาลงขนส่งใหม่เพราะคิดว่าน่าจะมีรถให้เลือกมากกว่า สุดท้ายได้นั่งรถตู้ ตาก-พิษณุโลก ในราคา 70 มาลงที่ตัวเมืองสุโขทัย รถออกตามเวลา ไม่ต้องรอคนเต็ม
แอดได้จองเกสเฮาส์ไว้ที่ตัวเมืองใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แต่ก่อนจะเข้าเช็คอิน แอดขอลงหน้าร้าน "บ้านจันทร์ฉาย" ก่อน เพราะทางผ่านอยู่แล้ว และก็กำลังหิว
บ้านจันทร์ฉายเป็นร้านอาหารที่มีเมนูมากกว่า 150 รายการ เป็นสไตล์ไทย อิสาน สรรค์สร้างความอร่อยโดยเชฟผู้มากประสบการณ์กว่า 20 ปีในไทย และต่างประเทศอีก 20 ปี แอดคอนเฟิร์มความอร่อยว่าอร่อยอย่างที่กล่าวจริง
เมื่อเสร็จจากของคาว เราก็ไปต่อของหวานและเครื่องดื่มกันอีกสักเล็กน้อยกันที่ร้านกาแฟที่แยกตัวไปอีกหลังนึง แต่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ร้านตกแต่งได้น่ารัก ที่นั่งกว้างขวางและมีหลายมุม เราใช้เวลาอยู่ที่นี่อยู่นานพักใหญ่ ถ้ามีโอกาสมาเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ฯ อีกครั้ง คิดว่าจะมาลิ้มรสอาหารรสเลิศที่บ้านจันทร์ฉายอีกแน่นอน
ร้านอยู่ตรงริมทางหลวงหมายเลข 12 ถนนจรดวิถีถ่อง อยู่ตรงปากทางเข้าวัดตระพังทองหลาง (เยื้องโรงแรมเลเจนท์ด้า) พูดง่ายๆ คืออยู่ริมถนนที่เป็นทางตรงไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ฯ นั่นเอง
เมื่ออิ่มท้องแล้วที่ร้านก็เรียกตุ๊กๆ ให้ พาไปส่งที่ "เวียงตะวันเกสเฮาส์" ในราคา 50 บาท
เวียงตะวันสุโขทัยเกสเฮาส์ อยู่ห่างจากอุทยานฯ เพียง 1.5 กม. ด้วยราคาเพียงคืนละ 850 บาทเท่านั้น
เราสามารถปั่นจักรยานจากเกสเฮาส์ไปยังอุทยานฯ ได้ค่ะ ค่าเช่าจักรยานอยู่ที่คันละ 50 บาทต่อวัน ซึ่งจักรยานมีหลายคันและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ 100%
ที่เวียงตะวันดูแลเราดีมากๆ ขาดเหลืออะไรเขาแก้ปัญหาให้เราได้หมด สุภาพเรียบร้อย มีคำตอบให้กับทุกคำถาม ประทับใจมากๆ ค่ะ ขอบอก
หลังจากเช็คอินแล้วเรียบร้อย แอดกับเพื่อนก็รอจนประมาณสี่โมงเย็น จึงได้พากันปั่นจักรยานไปเที่ยวอุทยานฯกัน ค่าเข้าอุทยานฯ อยู่ที่คนละ 20 บาท ปั่นตรงเข้าไปในอุทยานฯ ผ่านวัดมากมายแต่ยังไม่แวะที่ใด ขอมุ่งไปวัดศรีชุมก่อนเลยดีกว่า วัดไม่ได้อยู่ในกำแพงเมือง แต่หากอยู่ด้านนอก แอดต้องปั่นออกทางประตู "ศาลหลวง" (ด่านนี้ไม่มีการเก็บค่าบัตร) ซึ่งออกมาเจอถนนจรดวิถีถ่อง ก็เลี้ยวซ้ายไป ปั่นไปได้สักระยะ มองทางขวามือจะมีทางแยกไปทางขวา ปั่นเข้าไปทางนั้น ตรงไปเรื่อยๆ ไปตามทาง เราจะเจอวัดศรีชุม ซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่ มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา ตัวโบราณสถานจะอยู่ด้านหลังวัดนี้ โดยให้ปั่นเลยวัดไปหน่อย ไปตามโค้งซ้าย แล้วจะเจอทางเข้าทางด้านซ้าย เป็นที่จอดรถและมีร้านค้าด้วย เราจะแลเห็น “พระอจนะ” ที่เป็นโลโก้แห่งเมืองสุโขทัย งดงามแต่ไกลเลย
"วัดศรีชุม" มาจากคำเรียกพื้นเมืองเดิม ซึ่งหมายถึง ต้นโพธิ์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ มี “พระอจนะ” เป็นพระประธานอยู่ในมณฑป มณฑปในวัดศรีชุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่เต็มมณฑป ซึ่งสันนิษฐานว่าในอดีตตัวมณฑปน่าจะมีหลังคาคล้ายโดม ด้านหน้าเปิดเป็นช่องแคบๆ แลเห็นพระพักตร์ของ “พระอจนะ” ซึ่งเป็นพระประธาน งดงามแต่ไกล
คำว่า “อจนะ” หมายถึง ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง หรือ ผู้ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้
“พระอจนะ” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อกว่า ๗๐๐ ปีมาแล้ว เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ วัสดุปูนปั้น แกนในก่ออิฐและศิลาแลง ประดิษฐานภายในมณฑปวัดศรีชุมแห่งนี้มาเป็นเวลายาวนาน
ในสมัยอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกาศอิสรภาพในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ ที่เมืองแครง ทำให้หัวเมืองต่างๆ ยกเลิกการส่งส่วยให้กับพม่า แต่ยังมีเมืองเชลียง (สวรรคโลก) ที่ไม่ยอมทำตามพระราชโองการของพระองค์ พระองค์จึงนำทัพเสด็จมาปราบเมืองเชลียง และด้วยการรบในครั้งนั้นเป็นการรบระหว่างคนไทยกับคนไทยด้วยกัน ทำให้เหล่าทหารไม่มีกำลังใจในการรบ สมเด็จพระนเรศวรจึงได้วางแผนสร้างกำลังใจให้กับทหาร โดยการให้ทหารคนหนึ่งปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังขององค์พระอจนะ และให้ทหารผู้นั้นเปล่งวาจาดังๆ ให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร ทำให้ทหารเกิดกำลังใจในการต่อสู้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดตำนานพระพูดได้ที่วัดศรีชุมแห่งนี้ และพระนเรศวรฯ ยังได้มีการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาขึ้นที่วัดแห่งนี้ด้วย
หลังจากชมวัดนี้เสร็จแล้ว ก็ปั่นกลับไปยังโบราณสถานที่อยู่ในกำแพงเมือง เนื่องจากจะมืดค่ำแล้ว และแมลงก็เยอะมาก จึงไม่สามารถเก็บได้หมดทุกวัด
และแล้วก็มืดค่ำ ได้เวลากลับไปพักผ่อนนอนหลับซักที วันแรกก็หมดลงไปอย่างรวดเร็ว ผ่านไปอย่างคุ้มค่า ทุกเวลานาที คราวนี้ดูไม่ทั่ว คราวหน้าว่าจะมาอีกแน่นอนค่ะ
ตื่นแต่เช้ามาตลาดเช้ากันค่ะ ตลาดอยู่ก่อนถึงอุทยานฯ ซึ่งอยู่ติดกับวัดตระพังทอง เลยแวะไปเดินเล่นที่วัดก่อนแล้วค่อยมาหาอะไรกินที่ตลาด
วัดตระพังทอง (Wat Traphang Thong)
_____________________________
เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คำว่า “ตระพัง” แปลว่า สระน้ำ หรือ หนองน้ำ วัดตระพังทองตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำ ปัจจุบันสิ่งที่เหลืออยู่คือพระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ด้านหน้าของเจดีย์มีมณฑปขนาดเล็ก รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น และเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทหินสีเทาปนดำ ซึ่งย้ายมาจากเขาพระบาทใหญ่ จากหลักฐานทางศิลาจารึกกล่าวว่า วัดตระพังทองสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าลิไท เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๓
เจดีย์ประธานทรงระฆัง
ตั้งอยู่ด้านหลังมณฑปจัตุรมุข เป็นเจดีย์ทรงระฆัง บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ด้านบนเป็นฐานกลม ซ้อนลดหลั่นขึ้นไป ส่วนบนเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตรและปลียอด
รอยพระพุทธบาท
เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองสมัยสุโขทัย เป็นรอยพระบาทเบื้องขวา ที่ขอบมีดอกจันโดยรอบ ๕๔ ดอก ภายในรอยพระบาทจำหลักเป็นลายชาดกต่างๆ ตามประวัติ พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงให้จำลองมาจากประเทศศรีลังกา ประมาณปี พ.ศ. ๑๙๐๒ แล้วได้นำมาประดิษฐานไว้ที่เขาพระบาทใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) ของตัวเมืองเก่า ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ พระราชประสิทธิคุณ อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่เกาะกลางสระน้ำ โดยสร้างเป็นมณฑปครอบไว้ แล้วได้มีการจัดงานนมัสการเป็นต้นมาประจำทุกปี คือวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ จนถึงปัจจุบัน
พระอุโบสถ
ตั้งอยู่ด้านหลังเจดีย์ประธาน เป็นพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน สร้างขึ้นด้วยศรัทธาของชาวสุโขทัย โดยการเรี่ยไรทรัพย์ เมื่อครั้ง พญารณชาญ (ครุฑ) เจ้าเมืองสุโขทัย ได้มาอุปสมบทที่วัดแห่งนี้
หลังจากชมวัดกลางน้ำอันสวยงามแล้ว เราก็มุ่งไปตลาดทันที มีเล็งๆ ไว้หลายอย่าง ที่น่าสนใจก็เป็นข้าวเหนียวหน้าหมู มีทั้งหมดสามรส ห่อละ 20 บาทค่ะ
ต่อด้วยขนมจีบ สามลูกสิบบาท
และขนมครกอีก 20 บาท
จกกินกันในวัดเลย อร่อยทุกอย่าง เมื่ออิ่มท้องแล้ว เราก็กลับเกสเฮาส์เพื่อเตรียมตัวเช็คเอาท์ แล้วมุ่งหน้าไป อ.ศรีสัชนาลัย กันต่อ เพื่อไปพักที่ "บ้านนาต้นจั่น" อันเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ใช้ชีวิตแบบพอเพียง