เช้านี้.. ตื่นเช้ากันสักหน่อย เรามีโปรแกรมนั่งเรือออกไปชมพระอาทิตย์ขึ้น จึงต้องตื่นมาเตรียมตัวกันแต่เช้ามืด แล้วนั่งเรือจาก ท่าเรือแหลมสัก ออกไปกลางทะเล โดยในช่วงแรกที่นั่งเรือทะเลรอบด้านก็ยังดูมืดมิด แต่ในเวลาไม่นานก็เริ่มมีแสงจับขึ้นมาที่ขอบฟ้าด้านหนึ่ง เป็นสัญญาณเริ่มต้นของเช้าวันใหม่..
เรือพามาเทียบกับขอบหน้าผาของเกาะเล็กๆ กลางทะเลแห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ผาเขาค้อม เราจะมารอชมพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งที่นี่จะสามารถมาได้เฉพาะช่วงเช้าหรือเย็น เพราะเป็นช่วงน้ำลด ถ้ามาช่วงน้ำขึ้นเรือจะไม่สามารถเข้าจอดเทียบท่าได้
เมื่อขึ้นจากเรือและปีนบันไดขึ้นมาข้างบน.. ก็จะพบกับ เพิงผา คล้ายโพรงถ้ำในภูเขา ที่มีความยาวตลอดแนวกว่า 100 เมตร สามารถเดินไปมาได้ตลอดแนว ซึ่งในระหว่างที่เราเดินนี่เอง ที่ต้องค้อมตัวต่ำลง หรือก้มตัวเดิน เพราะเพดานถ้ำค่อนข้างต่ำมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ ผาเขาค้อม นั่นเอง
ที่นี่.. ถือเป็น จุดชมพระอาทิตย์ที่สวยงามแห่งหนึ่ง บรรยากาศท้องทะเลยามเช้าอันเงียบสงบ กับ แสงสีทองยามเช้าที่ค่อยๆ เพิ่มความสว่างขึ้นทีละ ลอดผ่านช่องหินงอกหินย้อยและเงาเพดานถ้ำที่โค้ง เกิดเป็นภาพที่สวยงามมาก
จากนั้น เราก็ออกเดินทางกันต่อ เรือลำเดิมพาเราแล่นแหวกผืนน้ำ ไปอย่างไม่เร่งรีบ เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ สบายๆ ให้เราพอได้ชมกับบรรยากาศท้องทะเล ชมเกาะน้อยใหญ่ ที่กระจายตัวรอบด้านบ้าง ซึ่งวันนี้.. จะนั่งเรือวนเที่ยวในบริเวณที่เรียกว่า “ทะเลใน”
เรือมาเทียบจอดที่หาด บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งหาดเล็กๆ นี้เรียกว่า “หาดฉิ้งฉั้ง” เป็นหาดขนาดเล็กจริงๆ มีความยาวตลอดแนวแค่สั้นๆ แต่ก็ความเป็นธรรมชาติ และเงียบสงบ ซึ่งนอกจากเราจะมาเดินเล่นชมความสวยงามของชายหาดกันแล้ว เราก็จะมาทานอาหารเช้าแบบปิคนิค ปูเสื่อริมหาดนั่งล้อมวงทานอาหารเช้ากันอีกด้วย
รับประทานอาหารเสร็จ ก็นั่งเล่น เดินเล่น ที่ริมหาด พักผ่อนตามอัธยาศัย น้ำทะเลที่นี่ใสมากๆ ธรรมชาติยังคงความบริสุทธิ์อยู่
ลงเรือไปเที่ยวกันต่อ.. ซึ่งเสน่ห์ของการมาเที่ยวทะเลกระบี่อย่างหนึ่งก็คือ การได้พบเห็นกับเกาะน้อยใหญ่ และภูเขาหินที่มีรูปร่างแปลกตา กระจายตัวในท้องทะเล ซึ่งในบางเกาะ ก็มีลักษณะเป็นโพรงถ้ำเล็กๆ ให้เรือสามารถไปจอดเทียบใกล้ๆ ได้ อย่าง ถ้ำชาวเล เราจะได้พบกับ ภาพเขียนสีโบราณ ตามผนังถ้ำ โดยภาพเขียนสีเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นด้วยยางไม้ผสมกับเลือดสัตว์ มีอายุกว่า 3000 ปี
ซึ่งนอกจากภาพเขียนสีที่ถ้ำชาวเลแล้ว ในบริเวณทะเลในนี้ ก็ยังมีภาพเขียนสีกระจายอยู่ในหลายๆ จุดอีกด้วย ทั้งนี้ ก็มีข้อสันนิษฐานว่า.. พื้นที่เกาะน้อยใหญ่ที่กระจายตัวกันอยู่เมื่อก่อนนั้นเคยเป็นแผ่นดินใหญ่มาก่อน จึงทำให้เห็นภาพเขียนสีปรากฎอยู่บนผนังถ้ำของเกาะที่อยู่ไกลจากฝั่งเช่นนี้
จากนั้น.. เรือพามาเทียบที่กระชังกลางทะเล ซึ่งเราเข้าใจว่า.. เป็นกระชังที่เลี้ยงสัตว์ต่างๆ อย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา เท่านั้น แต่สำหรับกระชังของชาวบ้านที่นี่ ยังมีกระชังสำหรับเลี้ยง สาหร่ายพวงองุ่น ด้วย เพราะกระชังกลางทะเลแบบนี้น้ำทะเลจะสะอาด เหมาะกับการเจริญเติบโตของสาหร่ายพวงองุ่น
สาหร่ายพวงองุ่น ถูกยกขึ้นมาจากกระชังเพื่อให้เราได้ชม ได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด เท่านั้นยังไม่พอ.. เราสามารถที่จะได้ชิม สาหร่ายพวงองุ่นกันแบบสดๆ ได้เลย แต่.. รสชาติในการเด็ดมาชิมแบบสดๆ อย่างนี้ ออกจะเค็มไปสักหน่อย ซึ่งวิธีการทานที่ถูกต้องต้องนำไปล้างน้ำจืด เพื่อลดความเค็มเสียก่อน
นอกจากนั้น.. เรายังมีโอกาสได้ทดลองขยายพันธุ์สาหร่ายพวงองุ่นด้วย ซึ่งวิธีการก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงนำสาหร่ายพวงองุ่นต้นเดิม มาตัดแบ่งเป็นท่อนเล็กๆ ขนาดพอเหมาะ แล้ววางให้กระจายไปทั่วบนตะแกรง ก่อนจะประกบด้วยตะแกรงอีกหนึ่งอันกันกระแสน้ำพัด จากนั้นนำไปลงในกระชัง รอประมาณ 3 เดือน สาหร่ายพวงองุ่นก็จะงอกกระจายตัวเต็มตะแกรง พร้อมนำไปจำหน่าย ซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
นั่งเรือเที่ยวบริเวณ ทะเลใน กันต่อ ผ่าน เขาเหล็กโคน ซึ่งเป็นเขาลักษณะเรียวยาวตั้งอยู่กลางทะเล คล้ายกับเกาะตะปู จังหวัดพังงา ซึ่งคำว่า เหล็กโคน เป็นภาษาใต้ ที่มีความหมายว่า “ตะปู”
เขาเหล็กโคน ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้มีมีรูปร่างที่ดูแปลกตา และน่าสนใจดี จนอดใจไม่ไหวที่จะขอแอ๊คชั่นท่า หยิบ จับ เขาเหล็กโคนกันสักหน่อย
ไม่ไกลกันจะพบเขารูปร่างแปลกตาอีกหนึ่งจุด นั่นก็คือ เขาฝาแฝด ซึ่งเป็นเขาลูกเล็กๆ 2 ลูก ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ตั้งอยู่ข้างๆ กัน ราวกับเป็นฝาแฝดกัน จึงเป็นที่มาของชื่อนี้
ระหว่างนั่งเรือ ก็ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่น่าสนใจ อย่างเช่น การช้อน(ตัก)กุ้ง หรือ เคย ที่อยู่ตามโขดหิน และภูเขาในทะเล ในช่วงเวลาที่น้ำตาย(7 ค่ำ – 11 ค่ำ) เพราะเป็นช่วงเวลาที่น้ำไม่ไหลเชี่ยว เพื่อนำไปผลิต กะปิกุ้งตัก อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หล่อเลี้ยงชุมชนมาอย่างยาวนาน
เราเดินทางมาถึง บ้านอ่าวน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเขาริมน้ำธรรมชาติสวยงาม มองไปทางไหนก็เห็นสีเขียวของต้นไม้ขึ้นแน่นขนัด ดูร่มรื่นไปหมด และ เราได้ทราบว่า.. ในอดีตพื้นที่ บ้านอ่าวน้ำ เป็นพื้นที่ที่มีกล้วยไม้ธรรมชาติสายพันธุ์ต่างๆอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากมีการลักลอบนำกล้วยไม้ธรรมชาติออกไปขายอยู่บ่อยๆ จึงทำให้ปัจจุบันปริมาณกล้วยไม้ธรรมชาติลดลงไปเป็นอย่างมาก จึงมีการอนุรักษ์กล้วยไม้ท้องถิ่นเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้เราจะมาทำกิจกรรมปลูกกล้วยไม้ ใน เขตอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ท้องถิ่น แห่งนี้กัน
พื้นที่แห่งนี้.. เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตตามธรรมชาติของกล้วยไม้มาก คือ เป็นภูเขาหินปูนติดชายฝั่งทะเล มีหน้าผาสูงชัน มีรอยแยกของหินที่ปกคลุมไปด้วยมอส และสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำให้กล้วยไม้เจริญเติบโตได้ดี
แวะมาทานอาหารกลางวัน ใน ที่ทำการกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติบ้านอ่าวน้ำ โดยเมนูเด็ดสำหรับมื้อนี้ ก็คือ ข้าวคลุกกะปิ ซึ่งกะปิที่ใช้ก็เป็นผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นนี่เอง ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่เป็นธรรมชาติ ปลอดสารเคมี ใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ เมื่อนำมาประกอบอาหาร จึงได้อาหารที่รสชาติอร่อยไม่เหมือนใคร..
ข้าวคลุกกะปิ ของบ้านอ่าวน้ำ จะต่างจากที่อื่นที่ใช้หมูหวาน โดยที่นี่จะใช้กุ้งหวานแทน และใช้ กะปิกุ้งตัก ที่ผลิตในชุมชนในการปรุงอาหาร ข้าวคลุกกะปิ จึงมีกลิ่นกะปิที่หอม รสชาติอร่อยติดใจ จนต้องขอเพิ่มกันเลยทีเดียว..
และ อาหารอีกอย่างก็คือ สาหร่ายพวงองุ่น ที่ได้เก็บมาจากกระชังกลางทะเลเมื่อช่วงเช้า ก็ได้นำมาล้างน้ำจืด ให้ได้ลองชิมกันแบบสดๆ โดยไม่ต้องนำมาประกอบอาหารให้ยุ่งยากแต่อย่างใด หรือ จะนำมาทานเป็นเครื่องเคียงของข้าวคลุกกะปิ ก็อร่อยไปอีกแบบ..
เมื่ออิ่มท้องกันแล้ว.. ก็เดินทางไปที่ กลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้พื้นถิ่น และ กลุ่มกะปิ บ้านอ่าวน้ำ ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน มาที่นี่จะได้เห็นกล้วยไม้พื้นถิ่นสวยๆ มากมาย อวดสีสันให้ได้ชม ซึ่งบางพันธุ์ก็เป็นพันธุ์ที่หายาก
เราได้เห็นกรรมวิธีการผลิตกะปิบางส่วนของ กลุ่มกะปิ บ้านอ่าวน้ำ ซึ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบ คือ การช้อน(ตัก)กุ้ง หรือ เคย ที่อยู่ตามโขดหิน และภูเขาในทะเล ในช่วงเวลาที่น้ำตาย(7 ค่ำ – 11 ค่ำ) เพราะเป็นช่วงเวลาที่น้ำไม่ไหลเชี่ยว สู่โรงผลิตและแปรรูป ที่เน้นความสะอาด ปลอดสิ่งเจือปน สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย
กะปิที่นี่อร่อยจริง แค่ได้ลองทานกับมะม่วงก็ติดใจแล้ว ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถซื้อกะปิกลับไปเป็นของฝากได้ในราคาไม่แพง ได้กะปิที่มีคุณภาพ แถมได้ช่วยอุดหนุนสินค้าของชุมชนอีกด้วย..