ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
ภูสอยดาว บุกป่า ฝ่าฝน ไปชมความงดงามของลานสนสามใบ และน้ำค้างกลางเที่ยง...ดอกหงอนนาค อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว (Phu Soi Dao National Park) จ.อุตรดิตถ์
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  กันยายน 14 , 2559

    ในบันทึกของนักเดินทางหลาย ๆ คน อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว เป็นหนึ่งในจุดหมายที่นักเดินทางตั้งเป้าว่าครั้งหนึ่งต้องไปพิชิตให้ได้ เพราะที่นี่เต็มไปด้วยความงดงามของป่าสนบนภูสูง ที่สอดประสานเป็นจังหวะความงดงามแห่งธรรมชาติ เปลี่ยนผ่านจากฤดูกาลสู่ฤดูกาล ทำให้มีดอกไม้ผลิบานเป็นของขวัญต้อนรับคนรักธรรมชาติที่ต้องเดินเท้าและทุ่มแรงกายแรงใจมายังยอดภูแห่งนี้

    • โพสต์-2
    theTripPacker •  กันยายน 14 , 2559

    ก่อนเดินทางเราก็มาเตรียมตัวเพื่อพิชิตยอดภูสอยดาวกันก่อน

    • ควรฝึกเดินระยะทางไกล ๆ ออกกำลังกายช่วงขามาให้พร้อม
    • รองเท้าที่ใช้เดินควรเป็นแบบรองเท้าผ้าใบมีดอก หรือสตั๊ดดอย
    • เตรียมโทรศัพท์มือถือไปด้วยเผื่อมีอุบัติเหตุฉุกเฉิน แต่สัญญานมีแค่บางจุเท่านั้น
    • เต้นท์ ถุงนอน แผ่นรองนอน ทางอุทยานมีให้เช่า และจะต้องมีผ้าใบคุลมเต้นท์ และผ้ายารองเต้นท์เพื่อป้องกันน้ำฝน
    • สเปรย์ฉีดสำหรับป้องกันยุง และแมลง(คุ้น)
    • อาหารต้องเตรียมไปทั้งหมดเลย อยากกินอะไรก็เตรียมไปเอง ไม่มีร้านค้าด้านบน และตามรายทาง
    • น้ำดื่มไม่ต้องเตรียมไปเพราะด้านบนมีน้ำฝนที่เจ้าหน้าที่รองไว้ และน้ำในลำธารที่นำมาต้มดื่มได้ เตรียมไว้แค่ไว้กินตอนเดินขึ้นระหว่างทาง
    • ไฟฉายสำหรับเวลากลางคืน  และตะเกียงให้ความสว่างตอนกลางคืน
    • มีห้องน้ำ และห้องอาบน้ำ แต่จะต้องไปตักน้ำเอาเอง  มีถังให้ยืมไปตักน้ำได้
    • เตรียมเสื้อกันฝนไปด้วยเพราะฝนตกอย่างแน่นอน
    • ช่วงป่าดิบชื้นอาจพบทาก ต้องเตรียมถุงกันทาก หรือยาเส้นไปด้วย
    • หากใครพกกล้องถ่ายรูปไป ควรเตรียมถ่านชาร์จให้พร้อม เนื่องจากบนภูไม่มีไฟฟ้าให้ใช้

     

    ชุด และอุปกรณ์ที่สำคัญ และควรเตรียมไป

     

    อาหารที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตบนภู

    • โพสต์-3
    theTripPacker •  กันยายน 14 , 2559

    อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่ตำบลม่วงเจ็ดต้น ตำบลนาขุม ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาดของจังหวัดอุตรดิตถ์ และตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ ของจังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ปกคลุมไปด้วยป่าธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ยอดสูงสุดของภูสอยดาวสูงจากระดับน้ำทะเล 2,102 เมตร ซึ่งสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา และป่าไม้ประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นที่ราบประมาณร้อยละ 15  ที่นี่ยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำภาค และลำน้ำปาด และมีสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปี

    • โพสต์-4
    theTripPacker •  กันยายน 14 , 2559

    การเดินทางขึ้นไปพิชิตยอดภูนั้น เราเริ่มจาก "น้ำตกภูสอยดาว" และไปสิ้นสุดที่ "จุดพิชิตภูสอยดาว" หรือ "ลานสนภูสอยดาว" ที่ระดับความสูง 1,633 เมตรจากระดับน้ำทะเล ระยะทางเดินป่าประมาณ 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกาย) จะมีจุดให้พักบ้างเป็นระยะ ๆ เดินมาเรื่อย ๆ จะมาถึงเนินแรก คือ เนินส่งญาติ อยู่ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 650 เมตร เจ้าหน้าที่เล่าว่า ที่ได้ชื่อว่าเนินส่งญาตินั้นเนื่องจากมีบางคนเกิดท้อ หรือสภาพร่างกายไม่ฟิตพอ ให้เดินกลับจากเนินนี้ได้ เพราะถ้าหากเดินต่อไปทางจะยิ่งเดินลำบาก และชันขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า

    ถัดจากเนินส่งญาติ เราก็เข้าสู่เนินที่ว่ากันว่า โหด และ ชัน นั่นคือ "เนินปราบเซียน" แม้จะมีบันไดให้ไต่พอได้พักขา แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากเท่าไหร่ อาศัย "ใจ" ล้วน ๆ ครับเนินนี้ ผ่านป่าไผ่เล็ก ๆ และเนินต่าง ๆ กันมาพอสมควร ซึ่งเนินนี้จะพาเราไปยัง เนินป่าก่อ อีกหนึ่งสังคมป่าที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะว่าป่าประเภทนี้ นอกจากบอกให้เรารู้ว่ากำลังเพิ่มระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังมี ต้นก่อ หรือ ต้นโอ๊ก ที่เป็นอาหารสุดโปรดของสัตว์ต่าง ๆ ในป่าอีกด้วย และหากมาในช่วงที่ผลก่อสุก ก็อาจได้เจอกับสัตว์น้อยใหญ่ที่เข้ามากินอาหารที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการเหล่านี้ หลังจากรีดเค้นพลังผ่านกันมาหลายเนิน ในที่ที่สุดก็เข้าสู่ เนินเสือโคร่ง ฟังชื่อดูอาจจะน่ากลัวไม่น้อย แต่แท้จริงแล้ว เนินแห่งนี้เป็นเสมือนสิ่งประโลมใจยามที่ร่างกายยามเหนื่อยอ่อน เนื่องจากชื่อนี้มาจากชื่อของต้นกำลังเสือโคร่ง ที่คนโบราณนำเปลือกมาใช้เป็นยาสมุนไพร บำรุงกำลัง ขับลมในลำไส้ บำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง และแก้ปวดเมื่อยนั่นเอง เนินสุดท้ายที่เราต้องพบเจอ เป็นเนินที่ชัน และยากที่สุด แต่คงเป็นเรื่องปกติที่การเดินทางไปชมสิ่งสวยงามตามธรรมชาติต้องฝ่าฟัน และต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะ...ใจเราเอง แค่เราคิดว่าเราต้องผ่านไปได้ เพียง 1.1 กิโลเมตรเท่านั้น เราก็จะถึงลานสน ระหว่างทางจากเนินมรณะไปพิชิตลานสน เราจะผ่านทุ่งหญ้าและพุ่มไม้เล็ก ๆ ไม่มีตันไม้ใหญ่แล้ว มีแต่หน้าผาที่มองเห็นเทือกเขาน้อยใหญ่สลับเรียงรายต่อกันท่ามกลางหมอก และหยาดน้ำค้าง ที่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีบริการลูกหาบ คิดราคาเป็นกิโลกรัมละ 30 บาท มัดจำขยะ 100 บาทต่อคณะ ตอนลงให้นำขยะลงมารับเงินมัดจำคืนได้ เสื้อผ้าสัมภาระที่ใช้บริการลูกหาบต้องนำใส่ถุงมัดให้แน่นก่อนที่จะใส่กระเป๋าเพื่อป้องการการเปียกจากฝน ควรติดต่อมาทางอุทยานล่วงหน้า หากเราต้องการลูกหาบ เพราะในวันหยุดต่อเนื่อง จำนวนลูกหาบอาจไม่เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ และอนุญาติให้ขึ้นภูได้ตั้งแต่เวลา 08.00 - 13.00 น. หลังจากนั้นไม่อนุญาตให้ขึ้นภู เนื่องจากการเดินทางกว่าจะไปถึงลานสนจะเป็นเวลามืดค่ำ อาจเกิดอันตรายได้
    • โพสต์-5
    theTripPacker •  กันยายน 14 , 2559

    ถึงแล้ว "จุดพิชิตภูสอยดาว" ที่ทุก ๆ คนจะมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่ป้ายนี้กันทุกคน เพื่อให้สมกับความเหน็ดเหนื่อยมุมานะบากบั่นจนมาถึงจุดนี้ ลานสน คือ บริเวณที่ราบเหนือยอดเขาที่มีต้นสนธรรมชาติขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น โดยส่วนใหญ่ลานที่ว่านี้ต้องอยู่บนภูเขายอดตัดหรือที่ราบเหนือยอดเขา ปัจจัยกำหนดที่สำคัญที่ก่อให้เกิดป่าสนเขาคือ สภาพภูมิอากาศที่อุณหภูมิค่อนข้างต่ำเป็นระยะเวลายาวนานประกอบกับความชื้นในอากาศที่ค่อนข้างมาก 

    ก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน เราควรรีบเดินไปยังที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพื่อติดต่อเรื่องการกางเต้นท์ และเตรียมทำอาหารมื้อเย็นกัน ด้านบนภูมีเตาอั้งโล่ และถ่านให้เช่า จะเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ หรือทำกิจกรรมใด ๆ ควรทำให้เสร็จก่อนฟ้ามืด เพราะบนลานสนไม่มีไฟฟ้า มีเพียงพลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเท่านั้น ส่วนน้ำดื่ม ที่นี่เจ้าหน้าที่จะรองน้ำฝนเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวดื่มกิน ส่วนใครจะใช้ล้างจาน หรือเข้าห้องน้ำ จะมีถัง และขันให้เช่าคนละชุด สามารถไปตักน้ำจากลำธารที่อยู่ไม่ไกลมาใช้ได้

    • โพสต์-6
    theTripPacker •  กันยายน 14 , 2559

    ไฮไลต์ของภูสอยดาวคงหนีไม่พ้น "ดอกหงอนนาค"  ที่เปรียบเสมือนราชินีแห่งภูสูง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "หญ้าหงอนเงือก" หรือ "น้ำค้างกลางเที่ยง" ลักษณะเป็นพืชล้มลุกขึ้นกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ ออกดอกในฤดูฝน ดอกจะมีทั้งสีม่วงอ่อน ม่วงน้ำเงิน สีขาว และสีชมพู ยามเช้าดอกหงอนนาคจะหุบดอก และจะบานเมื่อมีแสงแดด ส่วนกลางของดอกจะมีหยดน้ำติดอยู่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "น้ำค้างกลางเที่ยง" และที่ลานสนภูสอยดาวนี้เอง  เป็นจุดที่มีทุ่งดอกหงอนนาคที่กว้างใหญ่ที่สุดของประเทศ

    นอกจากดอกหงอนนาคแล้ว ตามพื้นที่ชื้นแฉะ และมีน้ำขัง เราจะได้พบกับ "ดอกเอ็นอ้าขน" ลำต้นกลมยาวสีเขียว  และมีขนปกคลุมอยู่  ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มี 4 กลีบสีม่วงสวยงาม แถมเจ้าเอ็นอ้าขนนี้ ยังมีประโยชน์ทางสมุนไพร โดยรากสามารถนำมาต้มกินแก้โรคบิดได้

    ถัดจากเอ็นอ้าขน เราก็เจอดอก "ชมพูนุช" เป็นไม้ล้มลุกขึ้นเป็นกอ มีอายุแค่ปีเดียว ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ สีชมพูสวยงาม ชอบอากาศเย็น และที่ชุ่มชื้น 

    • โพสต์-7
    theTripPacker •  กันยายน 14 , 2559

    สถานที่ท่องเที่ยวบนภูสอยดาวมีไม่มากนัก ประกอบด้วย "น้ำตกสายทิพย์" เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มี 7 ชั้น ความสูงแต่ละชั้นประมาณ 5-10 เมตร สภาพป่าโดยรอบน้ำตกมีความชุ่มชื้นมากจึงมีมอสสีเขียวขึ้นปกคลุมทั่วไปตามก้อนหินริมน้ำ  สามารถเดินทางได้จากลานสน ทางเดินค่อนข้างลาดชันใช้เวลาเดินประมาณ 10-20 นาที

    "หลักเขตไทย-ลาว" เป็นหลักเขต 2 แผ่นดิน ที่ปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทย และประเทศลาว มีขึ้นหลังสงครามบ้านร่มเกล้า อยู่ห่างจุดกางเต้นท์ไปประมาณ 1 กิโลเมตร อยากจะบอกว่าตรงจุดมีสัญญาณโทรศัพท์ด้วยนะ

    "เส้นทางเดินชมธรรมชาติ" เป็นวงรอบระยะทาง 2.28 กิโลเมตร ชมความงามของสนสามใบสูงตระหง่าน ดอกไม้ป่าแปลกตา นอกจากนั้นยังมี "หลุมบังเกอร์" สมรภูมิร่มเกล้า และจุดชมวิวเลาะเลียบผาที่สามารถมองลงไปเป็นทิวทัศน์ของผืนป่า และทะเลภูเขาอันสวยงามกว้างไกล ในบางจุดยังพบทุ่งดอกหงอนนาคเต็มทุ่งตระการตาสวยงามอีกด้วย จากเส้นทางศึกษาธรรมชาติถ้าเดินจนสุดจะพบกับจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม แต่ถ้าในวันที่มีหมอกหนาปกคลุมแบบนี้ ก็ยากหน่อยที่จะได้เห็นพระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า

    จริง ๆ แล้วที่ท่องเที่ยวก็ยังมี เนิน 2,100 อีกที่ แต่เนื่องจากในฤดูฝนทางเดินสูงชันและอันตราย ประกอบกับมีหินถล่มลงมาบ่อยๆ เส้นทางนี้จึงเปิดในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น

    สิ่งสวยงามของธรรมชาติแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ฝากความงดงามไว้ให้ผู้ที่หลงไหล และรักธรรมชาติได้เข้าเสพอย่างเคารพ และหวงแหนในความงดงามของภูสอยดาวแห่งนี้ เก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความงดงามนี้ตลอดไป

    • โพสต์-8
    theTripPacker •  กันยายน 14, 2559

    Editor's Comment

    • จุดเด่น:
    • ธรรมชาติที่เกิดจากความแตกต่างของพื้นที่ภายในอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ทำให้เกิดความหลากหลาย มีพืชพรรณ และสัตว์ป่าหายากที่เป็นสัตว์ป่าสงวนอาศัยอยู่ และมีสภาพภูมิอากาศเย็นตลอดปี แม้ในฤดูร้อนก็ไม่ร้อนมากจนเกินไป อีกทั้งยังมีทุ่งดอกหงอนนาคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
    • จุดด้อย:
    • เนื่องจากต้องเดินเท้าหลายกิโลเมตรขึ้นเขาทั้งสูงชัน และสายฝนที่ตกลงมาเป็นระยะ การท่องเที่ยวแบบนี้จึงไม่เหมาะกับเด็ก และผู้สูงอายุ สิ่งอำนวยความสะดวกบนลานสนมีไม่ครบถ้วนตามความต้องการของนักท่องเที่ยว หากใครต้องการความสะดวกสบาย สถานที่นี้คงไม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบนั้น
    • ข้อสรุป:
    • อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว เป็นจุดหมายปลายทางของคนรักธรรมชาติ ที่เปี่ยมไปด้วยความงดงามของสายหมอก ดอกไม้ ทิวสน และยังมีคุณค่าของผืนป่าภูสอยดาวที่เป็นต้นกำเนิดสายน้ำสำคัญ 2 สาย ที่หล่อเลี้ยงผู้คนจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดพิษณุโลกมาเนิ่นนาน จึงควรอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้เอาไว้ให้นานที่สุด เพราะนอกจากจะสร้างชีวิตแล้ว ยังสร้างอาชีพ ก่อเกิดรายได้แก่ชุมชน และชาวบ้านที่อาศัยรอบ ๆ อุทยานฯ เช่นลูกหาบ ร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ อีกด้วย
    คะแนน
    • โพสต์-9
    theTripPacker •  กันยายน 14 , 2559

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ 53110 

    GPS : 17.69644 ,100.94753

    เบอร์ติดต่อ : 055 436 793 , 055 436 001

    เวลาทำการ : เปิดให้เข้าชมทุกวัน อนุญาตให้ขึ้นภูได้ตั้งแต่เวลา 08.00 - 13.00 น.

    ค่าธรรมเนียม :  ค่าเข้าอุทยานคนละ 40 บาท , ค่าลูกหาบกิโลกลัมละ 30 บาทต่อเที่ยว และค่ามัดจำขยะ 100 บาทต่อคณะ

    ช่วงเวลาแนะนำ : ช่วงฤดูฝน เดือนสิงหาคม-ตุลาคม

    ไฮไลต์ : ชมทุ่งดอกหงอนนาคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมกับธรรมชาติของป่าสนเขาที่อุดมสมบูรรณ์ และสวยงาม

    กิจกรรม : เที่ยวน้ำตกภูสอยดาวและน้ำตกสายทิพย์ , ถ่ายรูปกับทุ่งดอกหงอนนาคที่สวยงาม , เดินศึกษาเล้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร และสัมผัสทะเลหมอกในยามเช้า

    • โพสต์-10
    theTripPacker •  กันยายน 14 , 2559

    วิธีการเดินทาง

    โดยรถยนต์

    • จากจังหวัดพิษณุโลก ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1246 ถึงบ้านแพะ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1143 ผ่านอำเภอชาติตระการ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1237 ผ่านบ้านบ่อภาคไปบรรจบกับเส้นทางแผ่นดินหมายเลข 1268 ถึงน้ำตกภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว รวมระยะทางประมาณ 188 กิโลเมตร
       
    • จากจังหวัดอุตรดิตถ์ใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1047 (อุตรดิตถ์-น้ำปาด) จนถึงอำเภอน้ำปาดแล้วเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1239 ไปอีก 47 กิโลเมตร จึงเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1268 ไปอีก 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ รวมระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร


    โดยรถประจำทาง

    • ช่วงที่ 1 จากกรุงเทพขึ้นรถโดยสารที่สถานีขส่งหมอชิตสาย กรุงเทพ-พิษณุโลก ไปลงที่จังหวัดพิษณุโลก
    • ช่วงที่ 2 จากจังหวัดพิษณุโลก เดินทางด้วยรถโดยสารระหว่างอำเภอ ไปอำเภอชาติตระการ ระยะทางประมาณ 100 กม.
    • ช่วงที่ 3 จากอำเภอชาติตระการ เดินทางด้วยรถสองแถว ซึ่งมีวันละ 1 เที่ยว รถออกเดินทางไม่เกิน 09.00 น. ไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ระยะทางประมาณ 70 กม. หรือจะเช่าเหมาไปทั้งคันก็ได้
  1. โหลดเพิ่ม