ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
    • โพสต์-1
    JumPoon •  ตุลาคม 11 , 2559

    หลวงพ่อโต วัดสะตือ

    เพื่อนตั้ม: เราต้องไหว้พระนอนวัดสะตืออ่ะ

    จำปูน: ที่ไหนนิ

    เพื่อนตั้ม: อยุธยา

    จำปูน: (ค้นข้อมูลแป๊บบบบบ) วัดสะตือ อยู่ อ.ท่าเรือ อยู่ตอนเหนือของ จ.อยุธยา ด่วนไหมเพื่อน

    เพื่อนตั้ม: ไม่ด่วน แต่ต้องไป

              เราเลยนัดเพื่อนวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 7-8 ต.ค. 59 บอกว่าตอนเช้านั่งรถไฟไปวัด มีขบวนรถ 111 รอบ 7.49 น. เจอกันที่สถานีดอนเมือง คุณเพื่อนเดินมาพร้อมบายศรีชาม 2 คู่ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว จัดเต็มกันไป ค่ารถไฟ 30 บาท ไปถึงที่สถานีท่าเรือเราก็ต่อวินมอเตอร์ไซค์แถวสถานี เพราถามจากชาวบ้านแถวๆ นั้น บอกว่าไปมอเตอร์ไซค์ดีกว่า รถสองแถวนานๆ มาที ค่ารถคนละ 40 บาท ก่อนลงพี่วินให้เบอร์โทร บอกว่าจะกลับให้โทรมา เดี๋ยวมารับ มาถึงวัดเจอตลาดนัดก่อนเลย ผ่านด่านของกินละลานตา เข้าตัววัดเสียงเซ็งแซ่ไปหมด ก่อนอื่น เรามุ่งตรงไปที่จุดมุ่งหมายเรา หลวงพ่อโต ไปถึง คุณพระ องค์พระใหญ่มาก ด้านหน้าองค์พระมีผู้คนมาแก้บนทั้งแบบอาหารคาวหวาน และแบบวงดนตรีที่เดินเล่นดนตรีรอบองค์พระ จะสวดมนต์ อธิษฐานอะไรก็ตั้งจิตให้มั่นให้ดีดีนะคะ ที่นี่เสียสมาธิได้ง่ายมาก เสียงดังจริงจัง สำหรับประวัติวัดสะตือ พระพุทธไสยาสน์กลางแจ้ง (พระนอน) แบบย่อๆ คือ พระนอนสร้างในปี 2413 โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้มาทำการก่อสร้างพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน และได้มีการบูรณะต่อกันเรื่อยมา พระพุทธไสยาสน์มีความยาว 25 วา กว้าง 4 วา สูง 8 วา (1 วา = 2 เมตร)

    เริ่มต้นที่สถานีดอนเมือง

    รอรถไฟ สถานีดอนเมืองเปลี่ยนไป๊

    ค่าโดยสารไปลงสถานีท่าเรือ 30 บาท

    สถานีท่าเรือ

    ค่ารถวินมอเตอร์ไซค์

    ถึงแล้ว วัดสะตือ

    หลวงพ่อโตด้านหน้า โต๊ะตั้งเป็นโต๊ะของแก้บน

    ด้านหลังองค์พระ

    วงดนตรีแก้บน

    หลวงพ่อโต

     

    • โพสต์-2
    JumPoon •  ตุลาคม 11 , 2559

    เขื่อนพระราม 6 / แม่น้ำป่าสัก / วัดไก่จ้น / บ้าบิ่น ทูลเกล้าฯ แม่เสียน

            ด้านหลังวัดสะตือเป็นแม่น้ำป่าสัก มองไปทางด้านซ้ายมือจะเห็นเขื่อนพระราม 6 ตอนเราไปน้ำเยอะมาก ประตูเขื่อนเปิด 3 ใน 6 บาน หลังจากที่เรามาก็ได้ข่าวว่าจะระบายน้ำเพิ่มขึ้น ให้ชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำเตรียมรับมือ มองไปทางขวามือ กำลังมีการก่อสร้างสะพานเดินข้ามไปวัดอีกแห่ง เราก็ถามว่าเดินข้ามไปได้ไหม คนงานบอกว่าได้เราเลยเดินกันไปกับเพื่อน พอไปถึงก็ไปอ่านป้ายประวัติวัดตรงท่าน้ำก่อน ชื่อวัด “วัดไก่จ้น” อ่านประวัติวัดได้เลยตามรูปด้านล่าง บรรยากาศในวัดเงียบสงบมาก มีเราสองคนกับเพื่อนเดินไหว้พระที่อยู่ด้านข้างพระอุโบสถ เราเดินข้ามแม่น้ำป่าสักกลับมาที่วัดสะตือ คุณเพื่อนโทรนัดพี่วินมารับที่หน้าวัดไปที่สถานีรถไฟ ก่อนไปสถานีเราให้พี่วินแวะไปซื้อบ้าบิ่นทูลเกล้าแม่เสียนเรากับเพื่อนเหมาคนละ 4 กล่อง กินเองด้วย ฝากคนอื่นด้วย ราคากล่องละ 25 บาท กล่องหนึ่งมี 5 ชิ้น อร่อยดี ไม่หวานมาก เราชอบ กินเพลินๆ ไป เรานั่งรถไฟเที่ยว 11.33 น. ไปลงสถานีอยุธยา

    เขื่อนพระราม 6 

    สะพานเดินข้ามระหว่างวัดสะตือกับวัดไก่จ้น

    กำลังติดราวสะพาน

    ประวัติวัดไก่จ้น

    วัดไก่จ้น

    สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี 

    พระนั่งวัดไก่จ้น

    ร้านบ้าบิ่น ทูลเกล้าฯ แม่เสียน

    ของฝากจาก อ.ท่าเรือ

    รอรถไฟไปอยุธยา

    เรารักรถไฟไทย

    • โพสต์-3
    JumPoon •  ตุลาคม 11 , 2559

    ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา (เสียดายเงินค่าเข้าชม 30 บาท) / ครัวสวนหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา (อาหารอร่อย)

    สถานีอยุธยา

             ถึงสถานีอยุธยาเราเดินมาฝั่งตรงกันข้ามมาหาของกิน แล้วก็นั่งรถต่อไปที่ “ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา” ค่าเข้าชม 30 บาท ดูจากด้านนอก อาคารของศูนย์ฯ ดูสวยงามมาก พอเข้ามาด้านใน รู้สึกถึงความหม่นหมอง เหมือนขาดการดูแล พอเข้าไปดูเท่านั้นแหล่ะ หมองหม่นลงไปอีก โมเดลในที่ครอบแก้ว ฝุ่นจับ เดินไปรอบๆ มีถังพลาสติกอยู่ 2 ใบ รองน้ำที่รั่วจากด้านบน อุปกรณ์เข้าชมก็พังไปหลายรายการ ปุ่มกด กดแล้วไม่ทำงาน เพื่อนเรามองหน้า ถามว่าพาฉันมาที่นี่ทำไม เสียเงิน 30 บาท เข้าชมรู้สึกเสียดายเงินมาก ออกมาอ่านป้ายการก่อตั้ง รู้สึกเสียดายหนักเข้าไปอีก เราไม่รู้เกิดอะไรขึ้นกับศูนย์ฯ แต่มันดูแย่มากจริงๆ นี่มันเมืองมรดกโลก เมืองที่ชาวต่างชาติมาเมืองไทยต้องมาแวะ เฮ้อออออ พอดีกว่า เราเลยถามเพื่อนว่าไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ไหม นางถามว่าไกลไหม เราบอกเยื้องๆ จากที่นี่ เดินไปไม่เกิน 400 เมตร

     

              เดินออกมาจากศูนย์ฯ เพื่อนเราเห็นว่ามีบุฟเฟ่ต์อาหารเจ คนละ 75 บาท ที่ครัวสวนหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เลยแว๊บเข้าไปลองชิม อร่อยมาก แนะนำเลยค่ะ

    • โพสต์-4
    JumPoon •  ตุลาคม 11 , 2559

    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

              มาเป็นครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้ แต่รู้ว่ามาบ่อยมาก ในพิพิธภัณฑ์มีการเปลี่ยนแปลงบ้างนิดหน่อย ค่าเข้าชม 30 บาท เราเดินชมจนคุ้มเลย คราวนี้มีโอกาสได้ถามภัณฑารักษ์ในเรื่องโบราณวัตถุที่จัดแสดง โดยเฉพาะในห้องเครื่องทองคำจากกรุต่างๆ ได้ข้อมูลมาว่าทองคำที่เห็นอยู่ได้มาเพียง 20% จากคราวที่เปิดกรุในครั้งนั้น นอกนั้นก็โดนโจรเอาไปหมด มีบางส่วนได้ไปจดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  ห้องแสดงเครื่องทองคำมี 3 ห้อง ชั้นล่าง 1 ห้อง ในห้องทองคำไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปค่ะ ด้านข้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลักมีเรือนไทย จัดแสดงนิทรรศการอยู่ แล้วก็เดินไปด้านหลังมีอาคารแสดงพวกเครื่องปั้นดินเผา ถ้วยชามที่ใช้ในยุคสมัยต่างๆ เราแอบถามเจ้าหน้าที่ว่าจะมีการปรับปรุงบ้างไหม ได้คำตอบมาว่า อีก 4-5 ปี จะมีการสร้างอาคารใหม่ อยู่ตรงสนามหญ้าด้านหลังอาคารเก่า จะเอาเครื่องทองที่อยู่กรุงเทพฯ ตอนนี้กลับมาจัดแสดงที่นี้ด้วย เราก็แอบหวังว่าจะสวยงามทันสมัยขึ้นเหมือนกับที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่เราเพิ่งไปมา แม้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จะยงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนั้น แต่หากการดูแลเอาใจใส่ในสถานที่จัดแสดง ทำให้เรารู้สึกว่าคุ้มเกินราคาค่าเข้าชมมากๆ

    • โพสต์-5
    JumPoon •  ตุลาคม 11 , 2559

    “วัดวรเชษฐ์” (วัดวรเชต) นอกเกาะ

              เพื่อนจากกรุงเทพฯ เรามาสมทบทริปอีก 1 คนในช่วงเย็น เพราะนางมีงานที่ต้องทำในวันอาทิตย์ที่อยุธยาอยู่แล้ว นางขับรถพาไปที่ “วัดวรเชษฐ์” (วัดวรเชต) นางว่านางเคยแต่ขับผ่านๆ แว๊บเข้าไปดูหน่อย เป็นวัดเล็กๆ ตอนที่ไปเป็นช่วงเย็นแสงเลยสวย ประกอบกับมีความชื้นเลยมีตะไคร่ขึ้นตามสิ่งก่อสร้าง เลยดูสวยงามแปลกตา เราเปิดอากู๋อ่านประวัติ ก็เริ่มงงๆ อ่านไปอ่านมาเหมือนอ่านมิติลี้ลับ เลยหยุดดีกว่า จากนั้นอีกวันทนสงสัยไม่ไหวเลย Inbox ไปถามผู้รู้ที่ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เป็นหลานของเพื่อนที่ทำงาน และเป็น Friend ในเฟชบุ๊คกับเราด้วย ได้ข้อมูลมาบอกกล่าวกันได้ดังนี้

              วัดนี้มีร่องรอยสร้างและบูรณะติดต่อกันหลายสมัย การขุดค้นทำให้รู้ว่าน่าจะสร้างมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ชื่อที่เรียกกันทุกวันนี้ไม่มีข้อมูลว่าเป็นชื่อดั้งเดิมหรือไม่ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับบริเวณที่ตั้งซึ่งเป็นทุ่ง เรียกว่าทุ่งประเชด เคยมี อาจารย์สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้อาจจะเป็น วัดป่าแก้ว ซึ่งใช้เป็นที่จำพรรษาของพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสี (พระป่าสายวิปัสนาธุระ) มาก่อน เพราะเป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดทางด้านตะวันตก ซึ่งตามธรรมเนียมวัดสายพระป่าจะอยู่ทิศตะวันตกของตัวเมือง สิ่งที่แสดงว่าวัดนี้สำคัญคือมีการตัดถนนจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงมาที่วัดนี้ด้วย มีหลักฐานทางโบราณคดีบอกว่าวัดแห่งนี้อาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นแล้วด้วยซ้ำ วัดนอกเมืองช่วงเสียกรุงถูกใช้เป็นป้อมสู้ศึกด้วย สังเกตจากกำแพงวัดจะเห็นว่าหนามาก

              เราเลยถามกลับไปว่า “เห็นมีป้ายหน้าเจดีย์แต่ละองค์มีชื่อพระนเรศวร พระเอกาทศรถ พระสุพรรณกัลยา มหาเถรคันฉ่อง มีจารึกหรือหลักฐานอะไรเกี่ยวข้องไหม” ได้คำตอบว่า  “ไม่มีหลักฐานอ้างอิง ชื่อวรเชต ของทั้งสองวัด (ในเมืองกับนอกเมือง) จะว่าซ้ำกันก็ไม่เชิง เพราะวัดที่อยู่ในเมืองปรากฏชื่อว่า วัดวรเชษฐาราม ทั้งที่ตั้ง และรูปแบบทางศิลปะชัดเจนว่าสร้างขึ้นในสมัยใกล้เคียงรัชกาลพระนเรศวรหรือพระเอกาทศรถมากกว่า  ส่วนวัดที่นอกเมืองชาวบ้านมาเรียกวัดวรเชตกันเองในสมัยหลัง”

     

    • โพสต์-6
    JumPoon •  ตุลาคม 11 , 2559

    วัดภูเขาทอง / พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

     

            เราไปถึงที่นี่ก็ใกล้ๆ พระอาทิตย์ตกดิน เรารีบลงจากรถเพื่อนเราก่อนเลย กลัวไม่ทันแสงสวยๆ ได้ทันขึ้นไปบนเจดีย์ด้วย เล่นเอาหอบเลยทีเดียว น่าเสียดายมีเวลาน้อยไปนิด เพราะพระอาทิตย์ใกล้ตก และใกล้เวลาที่ทางวัดกำหนดไว้ว่าไม่ให้อยู่บนเจดีย์เกิน 18.00 น. เราเลยรีบลงมาเพื่อถ่ายรูปต่อ ประวัติย่อๆ ของวัดนี้คือ วัดภูเขาทองเป็นวัดสำคัญทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระนคร อยู่คุมจุดยุทธศาสตร์ที่ใช้เป็นที่ตั้งป้องกันข้าศึกที่จะยกทำโจมตีมาตามลำน้ำเจ้าพระยาและเข้าถึงพระราชวังหลวงได้ เลยสร้างเป็นวัดใหญ่ไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นเลยครับ จะเห็นได้ว่าเวลามีสงครามกับพม่าจะรบกันที่ทุ่งวัดนี้ทุกครั้งเลย และด้วยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเลยสันนิษฐานกันว่าทำให้บุเรงนองสร้างเจดีย์แบบมอญขนาดใหญ่ไว้หลังพิชิตอยุธยาได้ตอนเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง ต่อมาเจดีย์องค์นี้เสียหายจึงสร้างครอบเป็นเจดีย์ใหญ่แบบไทยเป็นองค์ที่เราเห็นนี่กันอยู่ในปัจจุบัน เจดีย์ภูเขาทองจึงมีลักษณะสถาปัตยกรรมสองแบบผสมกัน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงม้าบริเวณด้านหน้าวัดภูเขาทอง เราได้มีโอกาสไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงดูแลปกป้องประเทศ ได้เวลาพอสมควรก็กลับเข้าที่พัก แล้วก็ออกมาหาอะไรกินที่ตลาดนัดแถววัดมหาธาตุ 

     

    ตลาดนัดวันเสาร์ แถววัดพระธาตุ

     

              เราค้างที่อยุธยา 1 คืน กลับบ้านตอนสายๆ ของอีกวัน เป็นทริปที่ไม่ได้วางแผนอะไร ไปตามสบาย ตามใจ เราชอบไปอยุธยาเพราะมันใกล้ดี ชอบไปพักผ่อน โดยปกติตอนเช้าๆ ก็ไปถ่ายรูป กลับมาพักช่วงกลางวัน และก็ออกไปอีกช่วงเย็นๆ คนชอบถ่ายรูปจะรู้ว่าแสงช่วงนั้นจะสวย ถ่ายรูปแล้วมีมิติดี แม้เราจะไปอยุธยาหลายครั้ง แต่ก็ยังไปเที่ยวได้ไม่หมดค่อยๆ ทยอยไป แล้วจะกลับมาเล่าให้ฟังกันใหม่อีกคราวหน้า สวัสดีค่ะ

     

    • Bank  ขอบคุณครับผม 12 ตุลาคม 2559 15:35:27