ถ้าหากพูดชื่อ “วัดอรุณ” หรือ “วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร” เชื่อ ว่าหลายๆ คนคงจะรู้จักกันดี เพราะพระปรางค์วัดอรุณนั้นมีศิลปกรรมอันงดงามประเมินค่ามิได้ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของประเทศไทยที่ชาวโลกต่างก็รู้จักกันดี ด้วยเป็นวัดสำคัญที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน ดังนั้นเราจึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนได้มีโอกาสไปเที่ยวชมความงามและทำความ รู้จักกับวัดอรุณให้ได้ซักครั้งในชีวิต
-
theTripPacker • กันยายน 30 , 2556
-
theTripPacker • กันยายน 30 , 2556
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาล สงวนไว้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินเป็นประจำทุกปี และมีการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนทางชลมารคด้วยเรือพระราชพิธีที่งดงามยิ่ง นอกจากนี้ยังถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้วยพระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และทรงผูกพันอยู่กับวัดนี้มาก
ส่วนความเป็นมาของวัดอรุณนั้น เดิมมีชื่อว่า “วัดมะกอก” เล่ากันว่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งที่ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาได้นั้น ทรงมีเสด็จกรีฑาทัพล่องมาทางชลมารค เมื่อมาถึงที่หน้าวัดมะกอก ก็เป็นเมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี และทรงโปรดให้เทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าน้ำเสด็จขึ้นไปทรงสักการะพระมหาธาตุ ที่ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ต่อมาได้โปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดแจ้ง” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิต ที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง ต่อมาเมื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชธาราม” ในสมัยรัชกาลที่ 2 และเปลี่ยนอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นชื่อ “วัดอรุณราชวราราม” ดังที่เรียกกันในปัจจุบัน
-
theTripPacker • กันยายน 30, 2556
-
theTripPacker • กันยายน 30 , 2556
เมื่อมาถึงวัดอรุณแล้วทั้งที ถ้าเราจะไม่พูดถึงพระปรางค์ก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกนัก พระปรางค์วัดอรุณที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้ เป็นพระปรางค์ที่ได้มีการต่อเติมขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จากเดิมที่มีพระปรางค์เพียงองค์เดียว ก็ได้ถูกบูรณะให้ใหญ่ขึ้น ล้อมรอบด้วยปรางค์ทิศและมณฑปทิศ องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบตกแต่งเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามน่าทึ่งมาก รวมถึง “ยักษ์วัดอรุณ” หรือ “ยักษ์วัดแจ้ง” ซึ่งมีศิลปะอันสวยงามไม่แพ้กัน ยักษ์ที่อยู่ในวัดอรุณนั้นเป็นยักษ์ที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อว่า “ทศกัณฑ์” ยักษ์กายสีเขียวจากเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนอีกตนมีกายสีขาวชื่อว่า “สหัสเดชะ” ทั้งสองตนถึงสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นยักษ์ปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี เป็นเครื่องแต่งกายและลวดลายต่างๆ
นอกจากนี้รอบๆ บริเวณวัดเราจะสังเกตุเห็นตุ๊กตาหินจีนจำนวนมาก ซึ่งวัดอรุณจัดเป็นหนึ่งในสี่วัดที่มีตุ๊กตาหินจีนอยู่มากที่สุด โดยอีกสามวัดที่เหลือนั่นคือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือ “วัดโพธิ์” “วัดสุทัศนเทพวาราม” และ “วัดราชโอรสาราม” ตุ๊กตา หินจีนที่อยู่ในวัดอรุณนี้ส่วนมากจะเป็นตุ๊กตาหินขนาดเล็กตั้งเรียงรายอยู่ เต็มไปหมด ตั้งแต่ระหว่างใบเสมาทั้ง 8 ทั้งตุ๊กตาสิงโตหิน รวมถึงตุ๊กตารูปคนแต่งกายในชุดแบบจีนในลักษณะต่างๆ
-
theTripPacker • กันยายน 30, 2556
-
theTripPacker • กันยายน 30 , 2556
สำหรับการเข้าชมพระปรางค์นั้น สามารถมาได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 7.30 -17.30 น. ซึ่งเราจะได้เดินขึ้นบันไดไปทีละขั้นๆ เพื่อชมความงามของพระปรางค์อย่างใกล้ชิด แล้วเราจะได้ทึ่งว่าพระปรางค์ที่ใหญ่โตองค์นี้ ได้ถูกประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากมาย ที่นำมาประดิษฐ์ วางเรียงตัวต่อกันเป็นลวดลายต่างๆ ที่วิจิตรยิ่ง นอกจากนี้ถ้าเดินไปโดยรอบบริเวณ เราก็จะได้ชื่นชมกับความงดงามของสถาปัตยกรรมอื่นๆ อีกมาก เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร และหอไตร ซึ่งถือเป็นปูชนียสถานสำคัญของวัดอรุณ แล้วอย่าลืมเข้าไปสักการะขอพรจาก “พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร” พระประธานในพระวิหาร รวมถึง “พระอรุณ” หรือ “พระแจ้ง” พระพุทธรุปที่อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ตามคติความเชื่อที่มีต่อๆ กันมาว่า “ไหว้พระวัดอรุณ ชีวิตโรจน์รุ่ง ทุกวันคืน”
-
theTripPacker • กันยายน 30 , 2556
Note
- การเข้าชมพระปรางค์ ควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
- สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชมพระปรางค์ คนละ 50 บาท
- การขึ้นชมพระปรางค์ ควรใช้ความระมัดระวังในการเดิน เนื่องจากบันไดมีความสูงชันมาก และทางเดินบางส่วนก็คับแคบ
- นักท่องเที่ยวไม่ควรสัมผัส งัดแงะ หรือกระทำการใดๆ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่องค์พระปรางค์
-
theTripPacker • กันยายน 30, 2556
- จุดเด่น:
- พระปรางค์องค์ใหญ่ ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งองค์ ซึ่งเราสามารถเดินชมความงามได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เมื่อขึ้นไปยังชั้นบนสุดของพระปรางค์ เราก็จะได้เห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาและวัดพระแก้ว ในอีกมุมหนึ่งที่สวยงามไม่แพ้ที่ใด
- จุดด้อย:
- บริเวณโดยรอบของวัดอรุณมีที่ร่มหลบแดดค่อนข้างน้อย ดังนั้นถ้าหากมาในช่วงเวลากลางวันที่มีแดดจัดมากๆ ควรนำอุปกรณ์กันแดด เช่น ร่ม หรือหมวก มาด้วย
- ข้อสรุป:
- ภายในวัดอรุณมีศิลปะและสถาปัตยกรรมต่างๆ มากมายที่ควรค่าแก่การศึกษา และเป็นสิ่งที่พวกเราคนไทยควรภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
คะแนน -
theTripPacker • กันยายน 30 , 2556
ข้อมูลทั่วไป
ที่อยู่ : 34 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพ
GPS : 13.744633, 100.489167
เบอร์ติดต่อ : 02 466 3167, 02 465 7740, 02 462 3762
Website : http://www.watarun.org/index.html
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 7.30-17.30 น.
ค่าธรรมเนียม : คนไทยเข้าชมฟรี / ชาวต่างชาติ คนละ 50 บาท
ช่วงเวลาแนะนำ : ช่วงเช้าหรือช่วงเย็นของวัน แดดจะไม่ร้อนมาก
ไฮไลท์ : พระปรางค์ ที่มีศิลปกรรมอันงดงาม ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศไทยที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดี
กิจกรรม : ชมความงามของพระปรางค์ และศิลปกรรมต่างๆ ในวัด / สักการะสิ่งศักดิ์สิ่งในวัด
-
theTripPacker • กันยายน 30 , 2556
วิธีการเดินทาง
ทางเรือ
นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาแล้วมาลงที่ท่าเตียน จากนั้นให้ต่อเรือข้ามฟากจากฝั่งพระนครมาลงที่ท่าเรือหน้าวัดอรุณฯ ค่าโดยสารเรือข้ามฟากคนละ 3 บาท
รถประจำทาง– สาย 19, 57 และ 83
โดยรถยนต์ส่วนตัว
จากถนนปิ่นเกล้า เลี้ยวเข้าถนนอรุณอมรินทร์ มุ่งหน้าสู่โรงพยาบาลศิริราช ข้ามสะพานอรุณอมรินทร์ ผ่านโรงพยาบาลศิริราช และกรมอู่ทหารเรือมาแล้ว จะเห็นวัดอรุณฯอยู่ทางด้านซ้ายมือ
จากวงเวียนใหญ่ มุ่งหน้าสู่สะพานพุทธ เมื่อเลยสี่แยกบ้านแขกมาแล้ว ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนอรุณอมรินทร์ ขับมาเรื่อยๆ จะเห็นวัดอรุณอยู่ทางด้านขวามือ
-
โหลดเพิ่ม