ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
พิพิธภัณร่างกายมนุษย์...รู้จักตนเองให้มากกว่าเดิม พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ (Museum of Human Body) จ.กรุงเทพมหานคร
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  ธันวาคม 09 , 2556

    พิพิธภัณร่างกายมนุษย์...รู้จักตนเองให้มากกว่าเดิม

    ช่วงหนึ่งของชีวิต คงมีเด็กมัธยมปลายจำนวนไม่น้อยที่เคยเข้าคิวต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอพบอาจารย์ใหญ่จากคณะแพทยศาสตร์ ยามที่คณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าชมอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะว่าไปแล้วยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสได้เข้าชม เพราะใช่ว่าร่างอาจารย์ใหญ่จะเปิดให้เข้าชมกันได้ง่ายๆ นอกจากนี้เด็กนักเรียนที่มีโอกาสได้เข้าชมแล้ว บางคนถึงกับล้มเลิกความตั้งใจจะเป็นแพทย์ ด้วยเหตุผลอันดับหนึ่ง คือ “ความกลัว” หากวันนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เปิด “พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์” ที่ซึ่งจะทำให้คุณสะกดคำว่า ‘กลัว’ ไม่เป็นอีกต่อไป

    เมื่อเราก้าวมาอยู่บริเวณหน้าห้อง 909-910 ณ อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์  เราถึงกับต้องหยุดยืนสูดหายใจลึกๆ อยู่หน้าทางเข้า ด้วยเหตุผลหลักคือ ความกลัว ที่ฝังใจคราวไปยืนต่อคิวเข้าพบอาจารย์ใหญ่ ครั้งที่คณะแพทยศาสตร์แห่งหนึ่งเปิดโอกาสให้เราได้เข้าชม ภาพจำของนักเรียนมัธยมอย่างเราในขณะนั้นก็คือ ร่างอาจารย์ใหญ่ที่มีผิวสีน้ำตาล เนื้อแนบไปกับกระดูก และกลิ่นอับของน้ำยาดองศพ แต่ทันทีที่เราก้าวเท้าเข้าประตูพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ไปนั้น เราก็พบว่าร่างของอาจารย์ใหญ่ไม่เหมือนอย่างที่เคยฝังใจ หากแต่ร่างทุกร่างกลับยืนตระหง่านด้วยกิริยาท่าทางราวกับยังมีชีวิต!!

    • โพสต์-2
    theTripPacker •  ธันวาคม 09, 2556
    • โพสต์-3
    theTripPacker •  ธันวาคม 09 , 2556

    ตรงหน้าเรา คืออาจารย์ใหญ่แบบเต็มร่าง เนื้อหนังถูกเปิดออก จนมองเห็นเส้นเลือดสีแดง สีเหลือง ที่อยู่ตามส่วนต่างๆ ในร่างกาย หากหัวใจพวกเขาเต้นได้ เราคงนึกว่าพวกเขายังมีชีวิตแน่นอน ร่างไร้วิญญาณเหล่านี้ถูกรักษาสภาพด้วยเทคนิคพลาสทิเนชัน (Plastination) ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการรักษาร่างกายของผู้เสียชีวิต โดยกรรมวิธีหลักก็คือ การแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อด้วยสารพลาสติกเหลว ร่างเหล่านี้จึงไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยาดองศพ ไม่มีการเน่าสลาย และสามารถคงสภาพอยู่ได้นานตลอดกาล นั่นก็เท่ากับว่าพวกเขาจะมีร่างคงกระพัน แม้โลกภายนอกจะหมุนเวียนไปแค่ไหนก็ตาม ซึ่งทางคณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับบริจาคร่างและอวัยวะเหล่านี้มาจาก เมดิคัลด็อกเตอร์ซอฟท์เฮาส์ จำกัด ภายใต้การแนะนำของ ศ.คัชสุฮิโร เอะโตะซึ่งพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ แห่งนี้ ถือ 1 ใน 11 แห่งของโลก และยังจัดเป็นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

    ในวันที่เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมภายในพิพิธภัณฑ์ฯ นั้น มีเด็กนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ชาวต่างชาติ และคุณพ่อคุณแม่ที่พาลูกตัวน้อยๆ มาชม กันอย่างมากมาย น่าแปลกใจว่าทุกคนดูเหมือนไม่กลัวร่างอาจารย์ใหญ่กันเลย แถมยังคอยซักถามนิสิต คณะทันตแพทยศาสตร์ ที่คอยให้ความรู้อยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วทั้งห้อง เราลองถามเด็กนักเรียนวัยประถมคนหนึ่งว่ากลัวไหม เธอบอกว่าไม่กลัวเลย เพราะอาจารย์ใหญ่ไม่เห็นน่ากลัว บางทีอาจเป็นเพราะร่างของอาจารย์ใหญ่เหมือนถูกเคลือบด้วยพลาสติก เสมือนถูกจำลองขึ้นมาใหม่ หากแท้จริงแล้ว ร่างกายเหล่านี้เป็นชาวจีนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนมาก่อน ซึ่งแตกต่างกับร่างอาจารย์ที่ใช้วิธีการคงสภาพด้วยการดองน้ำยาแบบเดิม ที่มีกลิ่นฉุนของน้ำยา และมีรูปร่างหน้าตาน่ากลัว เช่นเดียวกันกับเรา ที่ความกลัวร่างอาจารย์ใหญ่ในอดีตได้ถูกกำจัดออกไปจดหมดสิ้น หลังจากได้มาเยือนที่นี่

    สิ่งที่บอกเราได้นอกจากการเรียนรู้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งระบบการไหลเวียนของเส้นเลือด กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ระบบทางเดินอาหาร รวมถึงพัฒนาการของเด็กในครรภ์มารดาแล้ว ก็คงเป็นการรู้จักลักษณะของโรคภัยต่างๆ ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่า เขาเสียชีวิตด้วยโรคอะไรจากลักษณะอันเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งปอด เพราะในคนปกติมักจะมีปอดสีชมพูจางๆ บวกกับรอยจุดสีดำเพียงเล็กน้อยจากมลภาวะทางอากาศ ซึ่งแตกต่างกับคนสูบบุหรี่ที่ปอดจะมีสีดำน่ากลัวมาก แถมเรายังมีโอกาสได้จับสมองของมนุษย์ด้วย จนเราอดทึ่งไม่ได้ว่าสมองของเรามีน้ำหนักมากขนาดนี้เชียวหรือ

    • โพสต์-4
    theTripPacker •  ธันวาคม 09, 2556
    • โพสต์-5
    theTripPacker •  ธันวาคม 09 , 2556

    พื้นที่ภายในมีการจัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนของมนุษย์โดยแบ่งไว้เป็นหมวดหมู่ ประกอบด้วย ร่างกายมนุษย์แบบเต็มร่าง จำนวน 13 ชุด แบ่งเป็นเพศชาย 12 ชุด และเพศหญิง 1 ชุด บางชุดอยู่ในกิริยาท่าทางราวกับมีชีวิต นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนอวัยวะภายใน 50 ชิ้น ชิ้นส่วนอวัยวะอื่นๆ 27 ชิ้น ชิ้นส่วนกล้ามเนื้อ 23 ชิ้น ร่างกายมนุษย์ตัดแบ่งย่อย 6 ชุด ชิ้นหล่อแสดงระบบหลอดเลือด 5 ชิ้น และร่างกายทารกในครรภ์ 7 ชุด รวมทั้งสิ้น 131 ชิ้น เป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท นับเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงว่าที่แพทย์ในอนาคต เพราะจะได้เห็นระบบประสาท ระบบโลหิต รวมถึงอวัยวะต่างๆ แบบสามมิติ มากกว่าการเรียนรู้จากตำราแพทย์เพียงอย่างเดียว

    ตลอดเวลาที่เราเดินวนเวียนอยู่กับร่างไร้วิญญาณของอาจารย์ใหญ่ ก็ทำให้เรารู้จักตัวตนของตนเองมากขึ้น ไม่ว่าตอนมีชีวิตอยู่เราจะมีรูปร่างหน้าตาสวยงามเพียงใด หากตายไปก็เหลือเพียงร่างไร้วิญญาณ และโครงกระดูกเท่านั้น เช่นนั้นแล้ว เราควรทำความดี เพื่อให้มีชีวิตอยู่บนโลกหลังความตายอย่างสวยงามดีกว่า 

    ใครไม่อยากพลาดพิพิธภัณฑ์ดีๆ แห่งนี้ ก็รีบจับจูงมือลูกหลาน พาเข้ามารู้จักตัวตนของเราพร้อมๆ กัน
    • โพสต์-6
    theTripPacker •  ธันวาคม 09 , 2556

    Note

    - ด้วยกรรมวิธีพลาสทินาชัน ทำให้สามารถรักษาสภาพร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของผู้เสียชีวิตไว้ได้ตลอดกาล แม้แต่หลอดเลือด เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เส้นขน และเส้นลายมือ ก็ยังสามารถรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้รู้สึกราวกับร่างกายของอาจารย์ใหญ่ยังมีชีวิตอยู่

    - กรรมวิธีพลาสทินาชัน ถูกค้นพบโดย กุนเธอร์ ฟอน ฮาเกน นักวิทยาศาตร์ชาวเยอรมัน เจ้าของฉายา ดอกเตอร์เดธ ผู้มีชื่อเสียงในการสตัฟฟ์  และจัดนิทรรศการร่างกายมนุษย์ครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันนี้ยังมีชีวิตอยู่

    • โพสต์-7
    theTripPacker •  ธันวาคม 09 , 2556

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : ห้อง 909-910 ชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

    GPS : 13.743457, 100.534513

    เบอร์ติดต่อ : 0 2218 8635, 09 1232 1519 (ในเวลาราชการ)

    Website : http://www.dent.chula.ac.th

    เวลาทำการ : วันพุธและศุกร์ ระหว่างเวลา 12.30 -18.30 น. (เว้นวันหยุดราชการ)

    ค่าธรรมเนียม : เข้าชมฟรี ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555

    ช่วงเวลาแนะนำ : 12.30 -18.30 น.

    ไฮไลท์ : รูปร่างหน้าตาของอาจารย์ใหญ่ที่ดูไม่น่ากลัว เพราะร่างถูกรักษาสภาพไว้ด้วยเทคนิคแบบใหม่ โดยวิธีการใช้พลาสติกเหลวมาแทนที่น้ำและไขมัน รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมสามารถจับสมองของจริง เพื่อทำความเข้าใจกับอวัยวะในร่างกายมากขึ้น

    กิจกรรม : เดินชมพิพิธภัณฑ์ สัมผัสสมองมนุษย์

    • โพสต์-8
    theTripPacker •  ธันวาคม 09 , 2556

    วิธีการเดินทาง

    พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ตั้งอยู่ที่ชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเดินทางได้หลายทาง

    หากมาทางถนนอังรีดูนังต์ เลี้ยวซ้ายเข้าประตูคณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ถัดจากอาคารแรกขวามือจะเป็นอาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ขึ้นลิฟต์ไปชั้น 9 ห้อง 909-910   หากมาทางสยามสแควร์ ให้เข้ามาทางประตูคณะทันตแพทย์ ซึ่งอยู่ติดกับอาคารศูนย์หนังสือจุฬาฯ แล้วเลี้ยวซ้ายเดินไปเรื่อยๆ จะเจออาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 อยู่ทางซ้ายมือ
    • โพสต์-9
    theTripPacker •  ธันวาคม 09, 2556
    • โพสต์-10
    theTripPacker •  ธันวาคม 09 , 2556

    แกลลอรี่รูปภาพ

  1. โหลดเพิ่ม