ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  ธันวาคม 11 , 2556

    พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ งามล้ำราชพัสตราภรณ์ ทูตวัฒนธรรมไทย

    ชั่วเวลานานนับปี จากหม่อนไหมสู่ผืนผ้าทอมือ บ้างก็โบยบินข้ามทะเล ผ่านการออกแบบและตัดเย็บจากช่างชาวต่างชาติ บ้างก็ผ่านฝีไม้ลายมือของช่างชาวไทย จนกลายมาเป็นฉลองพระองค์อันงามล้ำ ซึ่งไม่ว่าครั้งใดที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไหมไทยพสกนิกรชาวไทยและชาวต่างชาติต่างเห็นพ้องต้องกันว่า พระองค์ทรงมีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก ซึ่งไม่เพียงแต่ ความงดงามในลวดลาย และการออกแบบตัดเย็บของผ้าไทยเพียงเท่านั้น หากความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีไทย บวกรวมกับฝีไม้ลายมือของช่างชาวไทย จึงทำให้ฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เปรียบเสมือนทูตทางวัฒนธรรมที่ทำหน้าที่เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านการแต่งกายของสตรีไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนผลงานหัตถกรรมของชาวบ้านที่ถักทอผ้าแต่ละผืนด้วยความรักในแม่ของแผ่นดิน

    ซึ่งครั้งนี้เราจะขอเดินตามรอยแม่ของแผ่นดิน ไปบนเส้นทางของผ้าไทย ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ภายในหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ริมกำแพงพระบรมมหาราชวัง

    • โพสต์-2
    theTripPacker •  ธันวาคม 11, 2556
    • โพสต์-3
    theTripPacker •  ธันวาคม 11 , 2556

    พิพิธภัณฑ์ผ้า จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทยและให้ความรู้เกี่ยวกับผ้าชนิดต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายสตรีในราชสำนักยุคต่างๆ รวมทั้งฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นผลงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  หนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงสนับสนุนให้งานทอผ้าเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านมาตลอด 42  ปี  นับแต่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2513 อันเป็นการพลิกฟื้นผ้าทอมือของไทยที่กำลังสูญหายให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จนมีการวางจำหน่ายให้แก่คนทั่วไป และที่สำคัญทรงนำมาตัดเป็นฉลองพระองค์ ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างมาก ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ แห่งนี้แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 นิทรรศการ ซึ่งเราขอพาทุกคนค่อยๆ ก้าวเข้าไปชมความงดงามของผ้าไทยพร้อมๆ กัน

    ห้องจัดแสดงแรก เป็นนิทรรศการ “ราชพัสตราจากผ้าไทย” จัดแสดงฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบชาวต่างชาตินำผ้าไหมไทยมาใช้ในการตัดเย็บ เหตุที่ต้องใช้ช่างต่างชาตินั้น เนื่องจากในช่วงแรกที่พระองค์ทรงตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปประเทศทางตะวันตกจะต้องทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดตามธรรมเนียมเมื่อเข้าพบประมุขชาติต่างๆ ขณะนั้นช่างชาวไทยยังไม่มีความรู้ความชำนาญทางด้านนี้พอ จึงโปรดฯให้ช่างชาวต่างชาติเป็นคนออกแบบตัดเย็บโดยใช้ผ้าไหมไทยทั้งหมด อันเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ช่างชาวต่างชาติไปในตัว รวมทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนเทคนิคการตัดเย็บในระดับสากลมาสู่ช่างชาวไทย เพื่อใช้ในการออกแบบฉลองพระองค์ในเวลาต่อมา

    ฉลองพระองค์ที่โดดเด่นจับตาเราเป็นอย่างมาก คงเป็นฉลองพระองค์ประดับด้วยปีกแมลงทับ เมื่อคราวเสด็จแทนพระองค์ยังประเทศรัสเซีย (ค.ศ. 1965) และ ฉลองพระองค์ชุดผ้าไหมมัดหมี่ประดับคริสตัล รวมถึงฉลองพระองค์ชุดอื่นๆ อีกมากมาย ที่ล้วนแต่งดงามตระการตาไม่แพ้กัน ซึ่งเราขอแนะนำให้คุณค่อยๆ เดินชมอย่างช้าๆ เพื่อซึมซับความละเมียดละไมของลายผ้าและฝีมือการตัดเย็บฉลองพระองค์แต่ละชุด

    ห้องจัดแสดงที่ 2 นิทรรศการ “ไทยพระราชนิยม” เป็นชุดต้นแบบชุดประจำชาติของสตรีไทยในปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ต้องการให้คนไทยมีชุดประจำชาติไว้สวมใส่ในโอกาสต่างๆ โดยฉลองพระองค์ที่จัดแสดงเมื่อคราวโดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเจริญสัมพันธไมตรีกับ 14 ประเทศยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนผ้าโบราณในราชสำนักรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีอายุนับ 100 ปี หากแต่ลวดลายบนผืนผ้ายังคงงดงามไม่เปลี่ยนแปลงด้วยการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

    ต้นกำเนิดของชุดไทยพระราชนิยมนั้น มาจากการที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า ประเทศไทยเรายังไม่มีชุดประจำชาติ จึงทรงขอให้ท่านผู้หญิงหม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นผู้รวบรวมหาผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาค้นคว้าเรื่องเครื่องแต่งกายของไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในขณะนั้น แล้วรวบรวมเป็นข้อมูลเพื่อประกอบพระราชดำริ ซึ่งทรงเลือกมาเป็นชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบ สำหรับเป็นฉลองพระองค์ในการโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยือนนานาชาติ ซึ่งชุดไทยพระราชนิยมทั้ง 8 แบบ ตั้งชื่อตามสถานที่สำคัญในพระบรมมหาราชวัง อันได้แก่ ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ ชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยเรือนต้น และชุดไทยจิตรลดา ซึ่งแต่ละชุดก็จะถูกเลือกใส่เนื่องในโอกาสต่างๆ กันไป หากทุกชุดล้วนมีความงดงามและเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทย ที่ทำให้หญิงไทยงดงามยิ่งขึ้น

    • โพสต์-4
    theTripPacker •  ธันวาคม 11, 2556
    • โพสต์-5
    theTripPacker •  ธันวาคม 11 , 2556

    ห้องจัดแสดงที่ 3-4 นิทรรศการ “พระหัตถ์ที่ทรงงานเพื่อแผ่นดิน” บอกเล่าเรื่องราวจุดกำเนิดแห่งศิลปาชีพ ซึ่งพระองค์ทรงแต่งตั้งให้คณะราตรี ลงพื้นที่เก็บลวดลายเก่าที่ชาวบ้านเก็บไว้ โดยทรงกำชับว่า “แม้ผ้าถูเรือนก็อย่าละเลย” เพราะอาจได้พบลวดลายโบราณอันแสดงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งในปี พ.ศ. 2509 ทรงพระราชทานเหรียญทองคำแก่หญิงทอผ้าชาวบ้าน 13 ราย เพื่อเป็นรางวัลแก่คนขยันที่ทอผ้าจนเสร็จ นอกจากนี้ยังมีวีดีทัศน์ “กว่าจะเป็น...ผ้าไหม” ที่ให้ความรู้ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และวิธีการนำเส้นไหมมามัดย้อมสีจากพืชพรรณธรรมชาติ จนก่อเกิดลวดลายสวยงามแปลกตา ที่นับว่ามีเพียงชิ้นเดียวในโลก จึงถือว่าผ้าไทย หาที่ใดทำเหมือนไม่ได้อีกแล้ว ในส่วนจัดแสดงนี้มีจุดสำคัญที่ไม่ควรพลาดคือ ลายพระหัตถ์ โต๊ะจำลองทรงพระอักษรส่วนพระองค์ที่เต็มไปด้วยตัวอย่างลายผ้า ที่พระราชทานแก่ชาวบ้านเป็นตัวอย่างการทอ รวมถึงฉลองพระองค์ที่ตัดมาจากผ้าทอของชาวบ้าน เพื่อเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านเล็งเห็นว่าผ้าแต่ละผืนมีความงดงามจริงๆ เช่น ผ้าจากชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เป็นต้น

    • โพสต์-6
    theTripPacker •  ธันวาคม 11, 2556
    • โพสต์-7
    theTripPacker •  ธันวาคม 11 , 2556

    และส่วนสุดท้ายที่เราได้เข้าชมนั้นอยู่ในห้องกิจกรรม ซึ่งครั้งนี้เราได้ชมนิทรรศการหมุนเวียน “ขัด รีด ร่ำ” ที่แสดงให้เห็นถึงการดูแลผ้าแบบชาววัง ตั้งแต่ขั้นตอนการซักไปจนถึงการอบร่ำด้วยเครื่องหอมนานาชนิด พร้อมทั้งมีการสาธิตขั้นตอนการนุ่งโจง นุ่งจีบอย่างถูกวิธี ซึ่งนับว่าหาดูได้ยากในปัจจุบัน แถมยังเปิดโอกาสให้เราได้ลองแต่งกายเป็นสาวชาววังดูสักครั้ง ซึ่งนับเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่แทบจะหาโอกาสเช่นนี้ไม่ได้อีกแล้ว นอกจากนี้ที่บริเวณชั้นล่างของหอรัษฎากรพิพัฒน์ยังมี “ร้านพิพิธภัณฑ์” จำหน่ายหนังสือที่เกี่ยวข้องกับผ้า เครื่องแต่งกาย ตลอดจนสินค้าที่ระลึกจากสมาชิกศิลปาชีพทั่วประเทศ ที่มีให้เราได้เลือกอุดหนุนฝีไม้ลายมือของช่างทอชาวไทยกันอย่างจุใจ

    การเดินตามรอยแม่ของแผ่นดินในครั้งนี้ ทำให้เราพบว่า หากไม่มีพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากหม่อนไหมธรรมดาคงไม่อาจกลายเป็นฉลองพระองค์อันวิจิตรงดงาม และคงไม่มีชุดไทยพระราชนิยมอันเป็นชุดประจำชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนทูตทางวัฒนธรรมของไทยเช่นทุกวันนี้

    • โพสต์-8
    theTripPacker •  ธันวาคม 11 , 2556

    Note

    - กระจกที่ใช้เป็นตู้จัดแสดงนั้น มองบางมุมจะขุ่น มองบางมุมจะใส ซึ่งนี่คือกระจกที่สั่งทำด้วยฟิล์มพิเศษ เพื่อให้ผู้ชมโฟกัสไปที่ชุดใดชุดหนึ่งเท่านั้น

    - ภายในห้องจัดแสดงค่อนข้างมืดเนื่องจากต้องควบคุมความสว่างของแสงไฟภายใน เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าเสื่อมสภาพ จึงเป็นที่มาของการไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ หากใครสนใจสามารถซื้อหนังสือได้ที่ร้านค้าพิพิธภัณฑ์

    - ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) 80 บาท นักเรียน-นักศึกษาและเด็กอายุ 12-18 ปี 50 บาท ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี

    - สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้า ได้รวมอยู่กับบัตรเข้าชมพระบรมมหาราชวังแล้ว เพียงแค่แสดงบัตรต่อเจ้าหน้าที่เท่านั้น

    - กรุณาแต่งกายให้สุภาพ ห้ามใส่เสื้อไม่มีแขน และกางเกงขาสั้น ผู้หญิงห้ามใส่กระโปรงสั้นหรือบางจนเกินไป และไม่ควรใส่รองเท้าแตะหรือรองเท้าที่ไม่มีสายรัด

    • โพสต์-9
    theTripPacker •  ธันวาคม 11, 2556

    Editor's Comment

    • จุดเด่น:
    • โดยปกติแล้วฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ไม่เคยมีการจัดแสดงและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าชมมาก่อน ซึ่งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ แห่งนี้ได้รวบรวมฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทย ทั้งจากฝีมือช่างไทยและต่างชาติที่แสดงให้เห็นถึงความละเมียดละไม และประณีตของงานฝีมือ ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก
    • จุดด้อย:
    • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แสดงคำบรรยายฉลองพระองค์แต่ละชุด มี 2 ภาษา คือภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งระบบจะเลื่อนเปลี่ยนหน้าเร็วมาก อาจทำให้ผู้เข้าชมอ่านข้อมูลไม่ทัน และต้องยืนรอเพื่อให้หน้าจอวนกลับมาอีกครั้ง
    • ข้อสรุป:
    • ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้จัดแสดงเรื่องราวของผ้าไทยอันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทย รวมถึงยังให้ความรู้เกี่ยวกับผ้าชนิดต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายสตรีในราชสำนักยุคต่างๆ รวมทั้งฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่มีความงดงามและหาชมได้ยากยิ่ง นับเป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่คนไทยไม่ควรพลาดโอกาสในการเข้าชม
    คะแนน
    • โพสต์-10
    theTripPacker •  ธันวาคม 11 , 2556

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพฯ 10200

    GPS : 13.751852, 100.490734

    เบอร์ติดต่อ : 0 225 9420, 0 225 9430

    E-mail : info@qsmtthailand.org

    Website : www.queensirikitmuseumoftextiles.org

    Facebook : https://www.facebook.com/pages/Queen-Sirikit-Museum-of-Textiles/291155517564228

    เวลาทำการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น. ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 15.30 น.

    ค่าธรรมเนียม :

    - ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท

    - ผู้สูงอายุ (65ปีขึ้นไป) 80บาท

    - นักเรียน-นักศึกษาและเด็กอายุ 12-18 ปี 50บาท

    - เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี (โปรดแสดงบัตรประจำตัว)

    ** สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ซื้อบัตรผ่านเข้าชมพระบรมมหาราชวัง เพียงแค่แสดงบัตรที่หน้าเคาน์เตอร์ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ

    ช่วงเวลาแนะนำ : สามารถเลือกเข้าชมได้ตลอดทั้งปี

    ไฮไลท์ : ฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเมื่อคราวโดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ 

    กิจกรรม : ชมฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงเรียนรู้ประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายแบบชาววัง และงานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระองค์ฯ  ตลอดจนเดินเลือกซื้อสินค้าที่ระลึกจากช่างฝีมือไทยในร้านพิพิธภัณฑ์

  1. โหลดเพิ่ม