พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ รู้จักให้ถึงถิ่น เที่ยวให้อินที่เมืองช้าง
การเรียนรู้หรือทำความรู้จักกับจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนั้น คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ไปเยี่ยมชม“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ของจังหวัดนั้นๆ เช่นเดียวกันกับการมาเยือนจังหวัดสุรินทร์ของเราในครั้งนี้ เราได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยียน “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์” ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นทำความรู้จักกับถิ่นเมืองช้างแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี อย่าเพิ่งนึกเบื่อหรือหมดสนุกไปเสียก่อนนะครับ ตามเรามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ของสุรินทร์ เพิ่มพูนความรู้กันซะหน่อยครับ
เริ่มกันตั้งแต่ตัวอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ที่มีผังโครงสร้างคล้ายกับปราสาทเขมรโบราณอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ประตูทางเข้ามีลักษณะคล้าย “โคปุระ” หรือ“กำแพงแก้ว” ที่กันเขตศาสนสถานออกจากโลกภายนอก ด้านขวามือเป็นจุดจำหน่ายตั๋วเข้าชม ซึ่งตอนที่เราไปติดป้ายบอกให้รู้ว่าเข้าชมได้ฟรี ถัดจากจุดนี้เป็นจะเป็นทางเดินเข้าไปสู่ตัวอาคารจัดแสดง นอกจากทางเดินหลักตรงกลางที่เป็นสะพานนาคแล้ว ทางเดินตามระเบียงด้านซ้ายก็มีโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องประกอบเรือนยอดของปราสาทจัดแสดงไว้เป็นระยะให้เราได้เดินชมไปเรื่อยๆ และเมื่อมาถึงตัวอาคารหลักที่เปรียบเสมือนปราสาทประธาน เราก็จะได้เริ่มต้นทำความรู้จักกับจังหวัดสุรินทร์กันตั้งแต่ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะทางธรณีวิทยา รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะข้าว ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีแห่งหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว
จากบริเวณโถงส่วนหน้าเราเดินต่อไปที่อาคารด้านหลัง ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงสิ่งของและเรื่องราวประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ เริ่มกันตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยวัฒนธรรมทวารวดี สมัยวัฒนธรรมขอม และสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง-อยุธยา ซึ่งในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่านทางข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ขุดค้นพบในจังหวัดสุรินทร์ รวมถึงศิลปะขอมที่เราจะได้เห็นจาก “ทับหลัง” ประตูจำลอง รูปสลักหิน ลวดลายวิจิตรซึ่งยังคงความสมบูรณ์สวยงามมากๆ สำหรับไฮไลต์ของส่วนจัดแสดงนี้ต้องอย่าพลาดชม ทับหลังสองชิ้นที่ได้มาจากปราสาทศีขรภูมิ เป็นภาพพระศิวะร่ายรำในท่วงท่าอันอ่อนช้อยงดงาม ซึ่งตัวทับหลังทั้งสองชิ้นนี้ยังคงความสมบูรณ์ไว้มากๆ นอกจากนี้ยังมีแบบจำลองโบราณสถานอย่าง “ปราสาทศีขรภูมิ” และ “ปราสาทตาเมือนธม” ให้ได้ชมด้วย เราใช้เวลาเดินชมห้องนี้กันอยู่นานพอสมควรเลย เพราะอดทึ่งไม่ได้กับศิลปะขอมอันวิจิตร รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมากในอดีต โบราณวัตถุบางชิ้นมีป้ายกำกับบอกให้รู้ถึงช่วงปีที่ถูกผลิตขึ้นมา นับนิ้วคำนวนในใจแล้วก็ต้องตกใจว่าข้าวของเครื่องใช้บางชิ้นที่เราเห็นในปัจจุบันมีวิวัฒนาการยาวนานมากขนาดนี้เลยหรือ
ถัดจากห้องนี้ไป เราก็จะเริ่มเข้าสู่เรื่องราวของความเป็นเมืองสุรินทร์ล้วนๆ เริ่มตั้งแต่สภาพเศรษฐกิจ สังคม สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ชาติพันธุ์ของชาวสุรินทร์ ซึ่งมีสามกลุ่มหลักๆ คือ เขมร ลาว และกูย รวมไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี การละเล่น เครื่องแต่งกาย ตลอดจนผลผลิตงานหัตกรรมทำมือสร้างชื่อของชาวสุรินทร์อย่าง ผ้าไหม และเครื่องเงิน ผ่านหุ่นจำลองเหมือนจริงที่จัดแสดงไว้ตามจุดต่างๆ ใครที่ขวัญอ่อนระวังจะตกใจจนต้องร้อนกรี๊ดออกมาง่ายๆ นะครับ และมาปิดท้ายกันที่ห้องจัดแสดง “วิถีคนเลี้ยงช้าง” ซึ่งช้างถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ โดยในห้องจัดแสดงจะจำลองบรรยากาศของหมู่บ้านเลี้ยงช้าง รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องแต่งกายของหมอช้าง ทำให้เราได้รู้ว่า คนสุรินทร์มีความผูกพันกับช้างมาอย่างยาวนานเพียงใด