ที่นี่เอง เราได้รู้จักกับพี่โยฮัน - ประกาศิต เชอมือกู่ ผู้ปั้นดินจนกลายเป็นโฮมสเตย์บ้านดินอาข่าแห่งนี้ แต่กว่าจะมาถึง พี่โยฮันเล่าว่าตนชาวอาข่าที่ได้ทุนไปเรียนสายเกษตรมาจากอิสราเอล จากนั้นก็กลับได้อบรมมัคคุเทศก์ที่เมืองไทย จึงมีโอกาสคลุกคลีกับวงการท่องเที่ยวด้วย
ในเวลานั้นเขาเห็นว่าระบบการเกษตรในเมืองไทยไม่อาจทำให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากความยากจนได้ พี่โยฮันจึงตัดสินใจใช้ประสบการณ์ทั้งสองสาขาอาชีพมาวางแผนสร้างการท่องเที่ยวภายในชุมชน ท่ามกลางความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง เพราะถ้าเทียบกับหมู่บ้านท่องเที่ยวดอยแม่สลอง ที่นี่เป็นเพียงหมู่บ้านธรรมดา ไม่มีอะไรโดดเด่นจนดึงดูดใครให้เลี้ยวรถเข้ามา ความคิดฝันเรื่องการท่องเที่ยวจึงแปลกประหลาดที่สุดในตอนนั้น
จากดินก้อนแรกสู่โฮมสเตย์ขนาด 4 ห้อง ขยายกลายเป็น 8 ห้องในเวลา 9 ปี การบอกต่อของนักท่องเที่ยวทำให้ผู้คนแวะเวียนมาที่นี่
“ตอนแรกที่ผมเริ่มทำบ้านดิน คนเขาคุยกันหาว่าผมบ้าไปแล้ว เขาจับตาดูกันมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้เขาก็เห็นแล้วว่า เออ.. มีแขกมาพักจริงๆ"
จุดเด่นของหมู่บ้านหล่อโยเป็นเรื่องของวิถีชีวิตชนเผ่าแบบดั้งเดิมที่ไม่ได้ถูกดัดแปลงเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว พี่โยฮันตั้งใจไว้ว่าบ้านดินแห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวอาข่าในวันที่วัฒนธรรมดั้งเดิมเริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา เขาทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมพรคนละหนึ่งข้อ และเขาก็ได้ทักษะการทำท่องเที่ยวมาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในบ้านของตัวเอง
"ผมเป็นคริสเตียน ศาสนาผมมีคำสอนให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ในความจริงผมอาจไม่ได้รักคนอื่นเท่าตัวเองเป๊ะ แต่ผมอยากให้สิ่งที่ผมทำมีประโยชน์กับคนอื่นด้วย เมื่อก่อนที่นี่ขาดแคลนน้ำมาก ผมจะทำโฮมสเตย์เลยไปพยายามเจรจากับทางการ หมู่บ้านเราเลยมีแท็งค์น้ำไปด้วย ถ้าแขกมา เราได้กำไรคืนมา ผมก็สะสมเงินตรงนี้ไปต่อท่อส่งน้ำเรื่อยๆ อาจจะต้องใช้เวลานานหน่อยเพราะซื้อได้ทีละท่อ แต่มันเหมือนฝันค่อยๆ กลายเป็นจริงขึ้นมา ตอนนี้ผมมีโครงการทำพิพิธภัณฑ์อาข่าที่นี่ด้วย แต่ยังไม่เสร็จดี”
"งานนี้เป็นงานใหญ่ 9 ปีที่ทำบ้านดินมาเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของความฝัน เหมือนเป็นจุดเล็กๆ ของกระดาษแผ่นใหญ่ หน้าที่เราคือค่อยๆ เติมมันจนเต็มแผ่น"