ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
ประเพณีเจี๊ยะฉ่าย วัฒนธรรมภูเก็ต ลูกผสมจีนฮกเกี้ยน ตึกชิโนโปรตุกีส-ภูเก็ต (Chino Potuguese Phuket Old Town) จ.ภูเก็ต
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  ธันวาคม 04 , 2556

    ประเพณีเจี๊ยะฉ่าย วัฒนธรรมภูเก็ต ลูกผสมจีนฮกเกี้ยน

    หากเอ่ยถึงเกาะภูเก็ตหลายคนมักมองว่าเป็นเมืองแห่งมายา บ้างก็ว่าสวรรค์เมืองใต้ของนักท่องเที่ยว หากภูเก็ตเปรียบดั่งเมืองมายาแล้ว นักแสดงหลักหรือตัวเอกของเรื่องที่สามารถเรียกเรตติ้งคนดูตลอดทั้งปี­คงหนีไม่พ้นท้องทะเลอันงดงาม และชายหาดอันเลอค่า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของภูเก็ต เว้นเสียแต่ปลายปีช่วงเดือนตุลาคมเท่านั้นที่ประเพณี “เจี๊ยะฉ่าย” หมุนเวียนกำหนดครบวาระมาขโมยซีน ทำให้บรรดานักท่องเที่ยวหลั่งไหลมารวมตัวกันใจกลางเมืองไว้ได้อย่างอยู่หมัด ปล่อยให้พระเอกของเมืองต้องเหงาหงอยไปโดยปริยาย

    แน่นอนที่สุดว่าตัวเมืองภูเก็ตและถนนสายสำคัญในช่วงเทศกาลเจี๊ยะฉ่ายต้องเกลื่อนกลาดไปด้วยประทัดแดงฉาน บ้านเรือนตลอดทั้งสองฟากฝั่งถนนประดับประดาไปด้วยธงสีเหลืองสีแดงสะบัดพลิ้วปลิวไสวอยู่ท่ามกลางมวลหมู่ผู้ถือศีลกินผักในชุดขาวห่มขาวบริสุทธิ์อย่างกลมกลืน เจี๊ยะฉ่าย เป็นคำพูดที่ชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนส่วนใหญ่คุ้นหูกันเป็นอย่างดี ซึ่งมีความหมายว่า “กินผัก” จึงกลายเป็นชื่อเรียกประเพณีกินเจของคนเชื้อสายจีนในภูเก็ตไปโดยดุษณี

    ประเพณีถือศีลกินผักมีตำนานเล่าขานกันมาว่า พระยาถลางได้เข้ามาตั้งเมืองภูเก็ตที่ “หมู่บ้านเก็ตโฮ่” อันอุดมไปด้วยเหมืองและแร่ดีบุกพร้อมด้วยคนงานชาวจีน ซึ่งดีบุกเป็นแร่ที่กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องการ ต่อมามีคณะงิ้วหรือเปะหยี่หี่จากเมืองจีนมาเปิดทำการแสดง ครั้นชาวคณะหลายคนล้มป่วยลงทำให้นึกขึ้นได้ว่าพวกเขาไม่ได้ประกอบพิธีกินผักซึ่งเคยปฏิบัติกันมาประจำทุกปี จึงตกลงใจกันประกอบพิธีกินผักกันที่โรงงิ้วเพื่อบูชา “กิ้วอ๋องไต่เต่” (องค์เก้าราชัน) เพื่อขอขมาโทษต่างๆ ต่อมาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นทั้งหลายก็หายไปหมดสิ้นส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความประหลาดใจจนเกิดเป็นความเลื่อมใสศรัทธา นับแต่นั้นมาชาวบ้านเก็ตโฮ่ (กะทู้) จึงประกอบพิธีกินผักขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำเดือน 9 ตามปฎิทินจีนเป็นเวลา 9 วัน 9 คืนสืบต่อกันมานับร้อยกว่าปีจนถึงปัจจุบัน

    มาปีนี้งานเฉลิมฉลององค์เก้าราชันของภูเก็ตหมุนมาบรรจบอีกหน เราเลยถือโอกาสถ่ายทอดบรรยากาศจากประสบการณ์ท่องเที่ยวโดยตรง ผ่านทางภาพถ่ายและตัวอักษร โดยการพาไปแนะนำศาลเจ้าขนาดใหญ่ในตัวเมืองภูเก็ต 2 แห่งด้วยกันเริ่มกันที่ “ศาลเจ้าจุ๊ยตุ่ย” ศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัด ตั้งอยู่กลางเมืองในซอยภูธร ปัจจุบันศาลเจ้าจุ๊ยตุ่ยได้รับการปรับปรุงและพัฒนาจนเป็นศาลเจ้าที่สวยงามแห่งหนึ่งของชาวภูเก็ต ไม่เฉพาะช่วงเทศกาลกินผักเท่านั้นที่แน่นขนัดไปด้วยผู้คน เพราะปกติก็มีทั้งชาวไทยและต่างชาติไม่น้อยที่เคารพศรัทธาหมุนเวียนกันมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพร บ้างก็พากันมาแก้บนสะเดาะเคราะห์ และมีให้เห็นไม่น้อยที่มาเที่ยวชมและเก็บภาพความสวยงามของสถานที่กลับไป

    ศาลเจ้าต่อมาตั้งอยู่ไม่ไกลกันมากนักคือ “ศาลเจ้าบางเหนียว” หรือศาลเจ้ามูลนิธิเทพราศี เป็นศาลเจ้าที่มีผู้คนศรัทธาและให้ความเคาพบูชากันมากอีกแห่งหนึ่งในตัวเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนในภูเก็ต ในแต่ละปีเมื่อถึงเทศกาลกินผักทางศาลเจ้าจะจัดงานอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ ทั้งยังมีพิธีการสำคัญๆ ให้ผู้ถือศีลกินผักได้ประกอบพิธีกรรมกันแทบทุกวันก็ว่าได้

    • โพสต์-2
    theTripPacker •  ธันวาคม 04, 2556
    • โพสต์-3
    theTripPacker •  ธันวาคม 04 , 2556

    ประเพณีถือศีลกินผักของชาวภูเก็ตจะขาดเสน่ห์และถือว่าไม่สมบูรณ์แบบตามขนบหากขาดพิธีการที่สำคัญอย่างพิธีการ “ยกเสาโกเต้ง” หรือยกเสาเทวดา ในเย็นวันแรกก่อนเริ่มเทศกาล ศาลเจ้าต่างๆ จะทำพิธียกเสาไม้ไผ่โดยบนยอดเสาจะมีตะเกียง 9 ดวง เพื่อบูชาเทพเจ้าทั้ง 9 องค์ และต้องจุดตะเกียงไฟไว้ตลอดทั้ง 9 วัน ตามความเชื่อจนกว่าพิธีจะจบสิ้น ช่วงเช้าของวันแห่จะมีขบวนม้าทรงที่เทพเจ้าเข้ามาประทับร่างเพื่อออกเยี่ยมเยียนโปรดสัตว์ไปตามบ้านเรือนท้องถนน พร้อมด้วยขบวนธงและป้ายชื่อแห่นำหน้าขบวนในลักษณะการบำเพ็ญทุกรกิริยาหลากหลายรูปแบบ มีนักท่องเที่ยวไม่น้อยที่มองพิธีการนี้ว่ารุนแรง แต่เมื่อได้สอบถามคนในท้องถิ่นเองจะได้รับคำตอบว่าเป็นการทรมานตนเองเพื่อสะเดาะเคราะห์ให้กับผู้ถือศีลกินผักตามความเชื่อว่าท่านกิ้วอ่องไต่เต่ท่านเป็นผู้รับเคราะห์ แทนทั้งนี้ม้าทรงเหล่านั้นโดยมากมาด้วยความสมัครใจบางรายก็มาด้วยความเชื่อว่าเป็นการต่อชะตาชีวิตแก่ตนเองและมีไม่น้อยเช่นกันที่เทพเจ้าเข้ามาประทับร่างโดยที่ตนไม่ได้ตั้งใจ นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของงานที่เรียกเสียงลั่นชัตเตอร์และแสงแฟลชของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างมาก

    แต่ละคืนตามศาลเจ้าต่างๆ จะมีพิธีการแสดงอภินิหารของม้าทรงที่แตกต่างกันไป ก่อนคืนสุดท้ายของเทศกาลจะมีพิธีการสำคัญที่ฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีจะมาพร้อมกันที่ศาลเจ้าเพื่อประกอบ “พิธีโก้ยห่าน” หรือพิธีสะเดาะเคราะห์ซึ่งจะทำกันหลังจากพิธีลุยไฟ โดยการตัดกระดาษเป็นรูปหุ่นหญิงชายพร้อมกับเขียนชื่อตนเอง และวัน เดือน ปีเกิดกำกับไว้ จากนั้นต้องเดินข้ามสะพานให้บรรดาม้าทรงปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและประทับตราสัญลักษณ์หลังเสื้อสีขาวซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน สังเกตได้ว่าผู้เข้าพิธีบางคนมีตราประทับสีต่างๆบนหลังเสื้อเยอะเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้นั้นเข้าร่วมพิธีกินผักและสะเดาะเคราะห์อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอดทุกปี

    และค่ำคืนท้ายสุดของเทศกาลกินผักนี้เองมีอีกหนึ่งพิธีที่สำคัญไม่แพ้พิธีใดๆ นั่นคือ “พิธีส่งพระ” ถือได้ว่าเป็นอีกไฮไลต์ของช่วงกลางคืนเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีการแห่พระรอบเมืองของบรรดาศาลเจ้าหลายแห่งในภูเก็ตไปสู่ที่หมายเดียวกันคือบริเวณชายทะเลแหลมสะพานหิน เป็นการส่งองค์กิ้วอ่องไต่เต่ผู้เป็นประธานในพิธีกลับสู่สรวงสวรรค์ ในค่ำคืนนี้เองที่ม้าทรงทั้งหลายจะแสดงอภิหารเป็นการปิดท้ายให้ผู้กินผักนับหมื่นคนได้ต้อนรับด้วยการจุดประทัดและพรุไฟเข้าใส่ขบวนม้าทรงและพี่เลี้ยงที่หามเกี้ยวรูปพระซึ่งเรียกกันว่า “ตั่วเหลี้ยน” ซึ่งเป็นที่ประทับขององค์กิ้วอ่องไต่เต่ เหล่าผู้ถือศีลจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้านและจุดประทัดต้อนรับตลอดสองข้างทาง ชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะออกจากบ้านมารวมตัวกันใจกลางเมืองเพื่อทำพิธีส่งพระ ค่ำคืนนี้จะอื้ออึงไปด้วยเสียงดังสนั่นและแดงฉานจากการเล่นประทัดอย่างสนุกสนานไปทั่วทั้งเมือง โดยเฉพาะเมื่อมีการพร้อมใจกันโยนประทัดนับร้อยนัดใส่ขบวนม้าทรงเปรียบเสมือนเป็นการต้อนรับและแสดงความเคารพต่อองค์เทพเจ้า นับเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยแสงสีเสียง หากใครสนใจเก็บภาพถ่ายค่ำคืนพิธีส่งพระ

    • โพสต์-4
    theTripPacker •  ธันวาคม 04, 2556
    • โพสต์-5
    theTripPacker •  ธันวาคม 04 , 2556

    ได้ชื่อว่าเทศกาลกินผักก็คงต้องพูดถึงสำรับกับข้าวเจของภูเก็ตกันสักหน่อย ซึ่งชาวภูเก็ตดั้งเดิมนิยมกินผักเป็นหลัก และเต้าหู้ที่เรียกกันว่า “เต้ากั้ว” ไม่ว่าจะผัดหรือทอดแล้วนำมากินคู่กับน้ำจิ้ม “ผัดเต้าเหง” (ผัดถั่วงอก) “แกงจืดเต็กกากี่” (ฟองเต้าหู้) “ผัดมังก๊วน” ( ผัดมันแกว) อีกยังมีอีกหนึ่งเมนูเด็ดอย่าง “ยำเต้าหยู” ที่ใช้เต้าหู้ยี้สีแดงเป็นขวดนำมาคลุกเคล้าน้ำยำเติมพริกสดและถั่วลิสงบดลงไป กินคู่กับผักอย่างแตงกวา ถั่วพลู หรือสะตอ ก็อร่อยแบบปักษ์ใต้บ้านเราไปอีกแบบ แค่นี้ก็บรรเทาหิวสบายท้อง อิ่มบุญกันไปครบทั้ง9  วันเลยทีเดียว “ร้านร่วมใจอาหารเจ” ใกล้กับศาลเจ้าจุ๊ยตุ่ย เป็นร้านอาหารเจที่เราอยากแนะนำให้ไปลอง เพราะเป็นร้านเก่าแก่กว่า 20 ปี มีเมนูอาหารที่น่าสนใจแตกต่างจากร้านอื่นๆ และยังเปิดขายกับข้าวเจตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงกินผักแบบนี้ทางร้านเปิดบริการตั้งแต่เช้าตรู่ราว 7 โมงไปจนถึง 5 ทุ่มเลยทีเดียว

    จากอดีตกาลจวบจนปัจจุบัน ประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษชาวภูเก็ตยังคงมีมนต์เสน่ห์สะกดทั้งชาวไทยและต่างชาติให้หลงใหลอย่างไม่เสื่อมคลาย มากินผักที่เมืองต้นตำรับอย่างภูเก็ตทั้งทีก็อย่าสนุกจนลืมกันล่ะว่าหัวใจหลักของเทศกาลเจี๊ยะฉ่ายคือการรักษาศีลและข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ “เจี๊ยะฉ่าย” กินอาหารที่ปรุงด้วยผักยกเว้นผักที่มีกลิ่นฉุน “ ซ่งเก้ง” การสวดมนต์และถือศีล “เจ่เสียน” อาการสงบนิ่งเพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ ข้อปฏิบัติเหล่านี้ช่างตรงกับคนไทยชาวพุทธอย่างเราดีแท้ ที่พระพุทธองค์ทรงเน้นให้ทำบุญด้วยการทำทานรักษาศีลและภาวนา และผู้เข้าถึงหลักธรรมย่อมเข้าใจดีว่าการงดบริโภคเนื้อสัตว์คือการเว้นกรรมกรรมที่มาจากการฆ่าที่คอยบั่นทอนให้สุขภาพและอายุขัยของคนเราสั้นลง เทศกาลเจี๊ยะฉ่ายให้ข้อคิดที่สำคัญกับเราว่าถึงแม้จะกินผักก็ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้เช่นเดียวกัน การไม่เห็นแก่ความอร่อยของต่อมรับรสเพียงระยะเวลาสั้นๆ นี้ นับเป็นภูมิต้านทานระยะยาวต่อร่างกายและจิตใจดีๆ นั่นเอง

    • โพสต์-6
    theTripPacker •  ธันวาคม 04 , 2556

    Note

    - ประเพณีเจี๊ยะฉ่ายที่ภูเก็ตปีนี้ตรงกับวันที่ 15-23 ตุลาคม 2555

    - คำว่า “ล้างท้อง” ในเทศกาลกินผัก คือ การกินผักล่วงหน้าก่อนถึงเทศกาลเพื่อชำระของคาวให้ร่างกายสะอาดพร้อมเมื่อถึงวันเทศกาล

    - ผักต้องห้าม 5 ชนิดในเทศกาลคือ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย และใบยาสูบ เพราะมีกลิ่นฉุน

    • โพสต์-7
    theTripPacker •  ธันวาคม 04, 2556

    Editor's Comment

    • จุดเด่น:
    • เทศกาลที่มีชื่อเสียงที่สุดของภูเก็ตซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติทุกๆ ปี โดยมีไฮไลท์ที่การถือศีลกินผัก พิธีกรรมและขบวนแห่ของม้าทรง การจัดงานเทศกาลที่ประชาชนพร้อมใจกันจัดอย่างยิ่งใหญ่ นับเป็นช่วงเวลาที่แสดงถึงความสามัคคีและแสดงความเคารพด้วยการสืบสานวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ เป็นเทศกาลที่แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะตนจนทำให้เกาะภูเก็ตมีชื่อเสียงด้วยเทศกาลกินผักไปทั่วโลก
    • จุดด้อย:
    • หากจะเที่ยวภูเก็ตในเทศกาลกินผักต้องทำใจในเรื่องการจราจรที่ค่อนข้างติดขัด เพราะแทบทุกท้องถนนจะเต็มไปด้วยผู้คน และหาร้านอาหารที่เปิดขายตามปกติยาก เนื่องจากชาวภูเก็ตจะพร้อมใจกันกินผักในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นเวลา 9 วัน อีกยังต้องคอยระวังอันตรายด้วยการหลบลูกประทัดที่ผู้คนจุดเล่นกันทั้งวันทั้งคืน
    • ข้อสรุป:
    • มาเที่ยวภูเก็ตช่วงเทศกาลกินผักที่เมืองต้นตำรับอย่างภูเก็ตจะได้พบกับวัฒนธรรมที่แปลกอย่างมีเอกลักษณ์และอย่าลืมว่าหัวใจหลักของเทศกาลเจี๊ยะฉ่ายคือการรักษาศีลและข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ “เจี๊ยะฉ่าย” กินอาหารที่ปรุงด้วยผัก ยกเว้นผักที่มีกลิ่นฉุน “ ซ่งเก้ง” การสวดมนต์และถือศีล “เจ่เสียน” อาการสงบนิ่ง เพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ และละเว้นการบรฺโภคเนื้อสัตว์เพียงเวลาสั้นๆ เพียงเท่านี้ก็นับว่าได้สร้างบุญกุศลอย่างมากมาย
    คะแนน
    • โพสต์-8
    theTripPacker •  ธันวาคม 04 , 2556

    ข้อมูลทั่วไป

    ประเพณีเจี๊ยะฉ่าย

    ช่วงเวลาแนะนำ : ควรดูจากใบปลิวกำหนดการของแต่ละศาลเจ้า

    ไฮไลท์ : พิธีการยกเสาโกเต้ง พิธีแห่พระ พิธีโก้ยโห้ย พิธีโก้ยห่าน และพิธีส่งพระ

    กิจกรรม : สักการบูชาและร่วมประเพณีกินผักห่มขาวนุ่งขาว รักษาศีล สวดมนต์และสำรวมกาย วาจา ใจ

     

    ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย

    ที่อยู่ : ซ.ภูธร ถ.ระนอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต

    GPS : 7.883245, 98.383362

    เบอร์ติดต่อ : 0 7621 3243

     

    ศาลเจ้าบางเหนียว

    ที่อยู่ : ถ.ภูเก็ต (สีแยกบางเหนียว) อ.เมือง จ.ภูเก็ต

    GPS : 7.876568, 98.393857

    เบอร์ติดต่อ : 0 7621 2982

    • โพสต์-9
    theTripPacker •  ธันวาคม 04 , 2556

    วิธีการเดินทาง

    ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย
    หากมาทางถนนรัษฎาถึงวงเวียนสุริยะเดช (วงเวียนน้ำพุ) ขับตรงมาทางถนนระนองผ่านตลาดสดเทศบาลนคร ตรงไปก่อนถึงแยกเลี้ยวซ้ายเข้า ซ.ภูธร หรือหากมาจากสี่แยกเซ็นทรัลเฟสติวัลภูเก็ต ขับตรงมาทางถนนวิชิตสงคราม ผ่านสี่แยกไฟแดง ตรงไปทางถนนระนอง เลี้ยวขวาเข้าซอยภูธร จะสังเกตเห็นศาลเจ้าขนาดใหญ่ได้อย่างชัดเจน

    ศาลเจ้าบางเหนียว
    ติดกับสี่แยกบางเหนียว หากขับรถตรงไปทางสวนสาธารณะสะพานหิน จะอยู่ทางซ้ายมือ


    • โพสต์-10
    theTripPacker •  ธันวาคม 04, 2556
  1. โหลดเพิ่ม