ไปตลาดเก้าห้องกันเพราะยังไม่เคยไป
เสาร์อาทิตย์ไม่อยากไปไหนไกลก็เลยนัดกันไปจังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพฯ เลยเลือกที่จะไปสุพรรณบุรี เพราะมีเป้าหมายอยากไปพักที่ อ.เดิมบางนางบวช แต่ทางผ่านนั้นก็ขอแวะตลาดโบราณที่นึงก่อนที่ชื่อว่า "ตลาดเก้าห้อง" ที่เขาลือกันว่าคนไม่เยอะ ของกินก็เหมือนกับสามชุก และก็ยังไม่เคยไปด้วย ชื่อยังไม่เคยได้ยินเลย เรียกง่ายๆ ว่าไม่รู้จักมาก่อนเลย ทั้งๆ ที่ตลาดนี้มีมาก่อนสามชุกอีก อยากรู้ด้วยล่ะว่าทำไมต้องเก้าห้อง ตลาดนี้มีแค่เก้าห้องเหรอ ตลาดก็เล็กนิดเดียวสิ เอ..หรือว่าไม่ใช่ ยังไงล่ะเนี่ย สงสัยมากยิ่งขึ้น รีบไปหาคำตอบกันดีกว่า..
คำว่า “เก้าห้อง” นำมาจากชื่อบ้านเก้าห้อง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามตลาดล่าง ซึ่งตลาดสร้างขึ้นภายหลังจากที่ชุมชนหนาแน่นขึ้น โดย นายบุญรอด เหลียงพานิช (เดิมชื่อนายฮง) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2422 ที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี บิดาเป็นชาวจีนอพยพ นายฮงได้แต่งงานกับนางแพ (หลานสาวของขุนกำแหงลือชัย เจ้าของบ้านเก้าห้อง) ต่อมานายบุญรอดได้ปลูกเรือนแพค้าขายริมน้ำหน้าบ้านขุนกำแหงฤทธิ์ ด้วยกิตติศัพท์ของความร่ำรวยของนายบุญรอดล่วงรู้ถึงหมู่โจร จึงถูกบุกปล้นทรัพย์สินและทำร้ายนางแพ ภรรยาของนายบุญรอดเสียชีวิต และได้ทรัพย์สินไปจำนวนหนึ่ง ทางอำเภอจึงได้ออกสกัดจับโจรได้ในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับนำทรัพย์สินกลับมาคืนได้ทั้งหมด หลังจากนั้นนายบุญรอดได้แต่งงานใหม่กับภรรยาคนที่ 2 คือนางส้มจีน และได้คิดปลูกสร้างตลาดขึ้นเพื่อการค้าขายทางบก ซึ่งหลังจากตลาดเสร็จปรากฏว่าการค้าขายมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก มีผู้คนจากทุกสารทิศ ทั้งทางบก ทางน้ำ มาแลกเปลี่ยนซื้อสินค้ากันอย่างหนาแน่นในทุกวัน ชาวบ้านจึงเรียกตลาดแห่งนี้ว่า “ตลาดเก้าห้อง” มาจนถึงทุกวันนี้
บ้านเก้าห้อง เป็นบ้านเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ข้างวัดลานคา อยู่ตรงข้ามตลาดเก้าห้อง อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน โดยขุนกำแหงลือชัย (เดิมชื่อวันดี ต้นตระกูลของ วิบูลย์ ประทีปทอง) เป็นผู้สร้างขึ้น ขุนกำแหงเป็นผู้นำชุมชนชาวไทยพวนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง เมืองเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้าง หรืออาณาจักรลาวในอดีต ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีภาษาพูดเป็นของตนเอง เป็นภาษาลาวพวน ผู้คนบริเวณนี้ได้รับการกล่าวขานว่าขยันขันแข็งมาก ท่านทำหน้าที่เป็นนายกองเก็บส่วยและดูแลพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีพิธีต่างๆ ของตนเอง เช่น ประเพณีกำฟ้า แห่นางแมว ประเพณีบุญบั้งไฟในวันสงกรานต์ เป็นต้น
ขุนกำแหงได้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมาตามคำแนะนำของซินแสว่าต้องปลูกบ้านเป็นจำนวน 9 ห้อง แทนการปลูกบ้านเป็น 3 หรือ 4 ห้องตามแบบเดิมที่ผ่านมา ซึ่งได้ถูกไฟไหม้เผาผลาญจนวอดวายมาแล้วถึงสามครั้ง หลังจากที่ขุนกำแหงได้ทำตามคำแนะนำของซินแสแล้ว บ้านหลังนี้จึงมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองนับแต่นั้นมา
///// ลักษณะของบ้านที่เรียกว่า “บ้านเก้าห้อง” /////
บ้านเก้าห้องของขุนกำแหงเป็นบ้านแบบเรือนไทยไม้สัก หลังคาทรงจั่วปั้นหยา ใต้ถุนสูง ขนาดกว้างรวม ๗.๗๕ เมตร และยาว ๒๐.๕๐ เมตร โดยความยาวของบ้านขนานกับแม่น้ำท่าจีน และหันหน้าบ้านไปทางแม่น้ำ แนวความยาวของบ้านมีเสาบ้านเรียงอยู่ ๑๐ แถว ซึ่งแนวเสา ๒ แถวจะถือว่าเป็น ๑ ช่องเสา หรือ ๑ ห้อง (ห้องหนึ่งกว้างประมาณ ๒.๒๕ เมตร) ถ้ามีแนวเสา ๔ แถว จะเรียกว่า บ้านมี ๓ ช่องเสาหรือ ๓ ห้อง ดังนั้นบ้านที่มีแนวเสา ๑๐ แถว จึงเรียกว่าบ้านมี ๙ ช่องเสา หรือบ้าน ๙ ห้อง ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เข้าใจได้ว่าที่เรียกว่า ”บ้านเก้าห้อง” นั้น มิใช่เพราะภายในบ้านมีการแบ่งเป็นห้องๆ ถึง ๙ ห้องแต่ประการใด
ตลาดบน รูปแบบการก่อสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมจีนปนไทย คือปลูกเป็นห้องแถวไม้สองชั้น คลุมหลังคาสูง หันหน้าต่างเข้าหากันประมาณ 20 ห้อง โดยพระชาญสุวรรณเขตเป็นผู้ก่อสร้าง
ตลาดกลาง เดิมเป็นโรงสีของนายทองดี ต่อมาจึงสร้างห้องแถวไม้เพิ่มเติมประมาณสิบห้อง รูปแบบการก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมจีน ในอดีตมีท่าเรือขนส่งสินค้าข้าวเป็นหลัก อีกทั้งยังมีเรือจ้างและเรือหางยนต์ หางยาว รับส่งชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำที่ต้องการจะเดินทางไปยังตัวเมืองสุพรรณบุรีและบางกอก เคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์มากมาย เช่น อั้งยี่ ลูกผู้ชายพันธุ์มังกร ดงดอกเหมย อยู่กับก๋ง แม่เบี้ย เจ็ดประจัญบาน อรหันต์ซัมเมอร์ ฯลฯ
ตลาดล่าง เป็นศูนย์กลางการค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต สร้างโดยนายบุญรอด เหลียงพานิช เป็นห้องแถวไม้โบราณชั้นเดียวและสองชั้น รูปแบบการปลูกสร้างเป็นสถาปัตยกรรมจีนโบราณ
ปัจจุบันนี้ ตลาดเก้าห้องเป็นตลาดที่เงียบเหงา เพราะผู้คนได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น ร้านค้าเดิมที่เจ้าของเสียชีวิต ลูกหลานก็มิได้สานกิจการต่อ ถึงแม้ตลาดนี้นักท่องเที่ยวจะน้อยจนนับคนได้ แต่ก็ยังมีร้านค้า ร้านขายขนมโบราณ ร้านก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า น้ำสมุนไพร ไม้กวาด เตาถ่าน และอีกมากมายให้เราได้เลือกซื้อเป็นของฝากที่ทรงคุณค่า นั่นแสดงว่า.. ตลาดเก้าห้องนี้ยังมีชีวิตอยู่ตราบเท่าที่ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย ยังคงมีแรงที่จะรักษาสิ่งเก่าแก่เหล่านี้