ชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ อันมากด้วยเอกลักษณ์อย่างสามแพร่งซึ่งประกอบไปด้วย แพร่งสรรพศาสตร์ แพร่งนรา และ แพร่งภูธร ที่ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ผสมผสานความเป็นตะวันตกกับจีนเข้าไว้ด้วยกัน และยังถือเป็นชุมชนที่เคยมีความเจริญมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองหลวงอีกด้วย ในอดีตที่นี่เป็นวังสำหรับประทับของเจ้านายชั้นสูง จึงได้ตั้งชื่อตามพระนามองค์ที่ประทับ เช่น แพร่งสรรพศาสตร์ ก็มาจากพระนามของกรมหลวงสรรพสาสตร์ศุภกิจ แพร่งนรา ก็มาจากพระนามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระราชโอรสลำดับที่ 56 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และแพร่งภูธรก็เช่นเดียวกัน มาจากพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ว่าแต่ในปัจจุบันชุมชนแถวนี้จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนและมีอะไรน่าสนใจ บ้าง เราลองไปเยือนถิ่นฐานย่านวังเก่าแห่งนี้กันดีกว่า
-
theTripPacker • กันยายน 27 , 2556
-
theTripPacker • กันยายน 27 , 2556
ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่าง ถนนอัษฎางค์ กับ ถนนตะนาว มี ศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่ไม่ห่างจากชุมชนมากนัก เราจึงถือโอกาสเข้าไปกราบขอพรก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งในเรื่องความนับถือศรัทธานั้นไม่ได้มีเฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น ชาวต่างชาติโดยเฉพาะคนฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซียก็พบเห็นได้ไม่น้อยเช่นกัน ในส่วนของเซ่นไหว้ที่นิยมก็จะเป็นหมูสามชั้น ข้าวเหนียว และไข่ต้ม พออิ่มบุญกันเรียบร้อยแล้วเราก็เดินต่อไปอีกเล็กน้อย ก็จะพบกับแพร่งสรรพศาสตร์ ที่มีซุ้มประตูหน้าวังเป็นจุดสังเกตบริเวณปากตรอก ซึ่งเหลือรอดมาจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2510 กระทั่งเมื่อเดินถัดไปอีกซอยก็จะพบกับ แพร่งนรา และเราก็ไม่รอช้าลองเดินเข้าไปสำรวจดู
ซอยนี้จะขนาบข้างด้วยบ้านเรือนเก่าตลอดสองฝั่ง แต่ที่น่าสนใจคงจะเป็น โรงเรียนตะละภัฏศึกษา โดยอาคารสองชั้นนี้ถูกตกแต่งด้วยไม้ฉลุลวดลายอ่อนช้อย เดิมนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของวังที่ประทับของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ปัจจุบันสภาพก็ค่อนข้างทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทว่าความงดงามยังคงเฉิดฉายให้ได้ชื่นชมกันอยู่ ในส่วนของแพร่งภูธรท้ายสุดแต่ยังไม่สุดท้ายนั้นถือว่ากว้างขวางกว่าสองแพร่ง ที่ผ่านมา โดยพื้นที่บริเวณกลางชุมชนนั้นจะเป็นที่ตั้งของ สุขุมาลอนามัย สถานี อนามัยแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านหลังของสถานีอนามัยหลังนี้ยังมีสวนหย่อมให้ได้นั่งพักหย่อนใจ ซึ่งในอดีตพื้นที่ตรงนี้จะมีพ่อค้าแม่ค้านำข้าวของมาวางขาย โดยรายล้อมไปด้วยบ้านเรือนสไตล์ชิโน-โปรตุกีสทรงเสน่ห์ ทว่าเสน่ห์ที่สร้างชื่อให้กับที่นี่อีกอย่างก็คือบรรดาร้านรวงซึ่งร่ำรวย ความอร่อยนั่นไงหละครับ
-
theTripPacker • กันยายน 27, 2556
-
theTripPacker • กันยายน 27 , 2556
ว่าแล้วเราก็เริ่มกันเลยกับ ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อกิมทอง ที่มีให้เลือกเพียงเส้นหมี่กับเส้นใหญ่เท่านั้น ทางด้านพระเอกอย่างเนื้อเปื่อยที่ควงแขนมากับเครื่องในและลูกชิ้น ก็ทำให้ก๋วยเตี๋ยวชามนี้หมดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากความอร่อย จากนั้นเราก็ยังไม่วางมือวางช้อน ไปชิมกันต่อที่ ร้านเครื่องในและสมองหมู เสิร์ฟมาพร้อมกับกุนเชียง บอกไว้เลยว่าได้รสชาติและความรู้สึกแปลกอยู่ไม่น้อย เอาเป็นว่าอยากให้คุณมาลิ้มลองด้วยตัวเองดีที่สุด หมดจากของคาวไปแล้ว 2 เมนู แต่ดูเหมือนยังจุได้ไม่ถึงครึ่งท้องดี เราจึงเดินต่อมาที่ ร้านไอติมนัฐพร พร้อมกับสั่งไอติมมะม่วงมหาชนก นมสด และกะทิ มาชิมกันดู รสชาติถือว่าเด็ดดวงจริงๆ คิดดูว่าถ้าของอร่อยมีเพียงเท่านี้เราคงไม่หยุดแค่ 3 ถ้วยแน่นอน และดูเหมือนว่าพอเครื่องร้อนแล้ว เราก็ชักจะยั้งกันไม่อยู่ โดยร้านต่อไปที่เราไปเยี่ยมชิมคือ ร้านขนมเบื้องโบราณ ตรงต้นซอยแพร่งนรา ซึ่งมีให้เลือกอยู่ 2 ไส้คือ ไส้หวาน ที่มีฝอยทอง พลับแห้ง และฟักเชื่อม ส่วนไส้เค็มจะใส่กุ้งป่นสีส้มๆ รสเข้มข้น ส่วนใครไม่หนำใจจะเพิ่มไข่ก็ได้เช่นกัน เรื่องรสชาตินั้นสมคำล่ำลืออย่างที่ป้าสมศรีทายาทผู้รับช่วงต่อย่ำกับเรา เสมอว่า “ขนมเบื้องที่นี่ไม่มีใครเหมือน”แหม...การันตีมาซะขนาดนี้ทำให้เราต้องชูสอง นิ้วแล้วบอกไปว่าขอเพิ่มอีกอย่างละสอง
-
theTripPacker • กันยายน 27, 2556
-
theTripPacker • กันยายน 27 , 2556
ทว่าตอนนี้คงต้องเดินย่อยของอร่อยที่กินมาซะหน่อยแล้ว ซึ่งบริเวณนี้ก็ยังเป็นแหล่งค้าขายที่พลุกพล่าน อย่างฝั่ง ถนนอัษฏางค์ หรือที่เรียกกันติดปากว่าหลังกระทรวง ก็มีร้านค้ามากมายขายทั้งเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เดินป่า หรือกระทั่งเครื่องดนตรีต่างๆ และเมื่อเดินไปเข้ายัง ซอยบุญศิริ ก็จะพบ ร้านต้นฉบับ ขายแผ่นเสียงทั้งไทยและเทศให้ได้หาเก็บหาฟังกัน และหลังจากที่เดินอยู่นานเราก็วนกลับมาที่แพร่งภูธรอีกครั้ง คราวนี้เราแวะ อู่ซ่อมรถเก่า ซึ่งรับซ่อมรถทุกยี่ห้อที่มีอยู่บนโลกนี้ ยกเว้นรถถูกขโมยมา เมื่อเดินเล่นจนกระทั่งพลังงานที่สะสมมาทำท่าว่าจะหมดลง เราจึงตัดสินใจเดินเข้า ร้านโชติจิตร ร้านอาหารไทยชื่อก้อง ที่นักท่องเที่ยวต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี และเมนูที่พลาดไม่ได้คือ หมี่กรอบ ต้มยำเต้าเจี้ยวปลากะพง และอื่นๆ จะบอกแค่คำว่าอร่อยคงไม่พอ เราจึงต้องขอชูนิ้วโป้งเพื่อยืนยันความเก๋าในฝีมือการปรุงอีกแรง ว่าแต่คุณไม่หิวบ้างหรืออย่างไร ถ้าสนใจก็ลงนั่งร่วมโต๊ะกับเราดีกว่า หรือคราวหน้า ถ้านึกไม่ออกว่าจะไปที่ไหนดี เราขอเชียร์ชุมชนสามแพร่งเต็มที่ ลองแวะไปทานอาหารอร่อยๆ และเดินเล่นเปลี่ยนบรรยากาศดูบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับคุณเองละว่า พร้อมจะลงมติเลือกให้ที่นี่เป็นสถานที่ในดวงใจหรือไม่
-
theTripPacker • กันยายน 27, 2556
-
theTripPacker • กันยายน 27, 2556
- จุดเด่น:
- ด้วยความที่เป็นย่านเก่าแก่จึงยังคงหลงเหลือบ้านเรือนสมัย ร.5 ให้เห็น รวมไปถึงร้านรวงที่ขายอาหารอร่อย ที่ซ่อนตัวตามบ้านทรงคลาสสิกนั้น ช่างได้บรรยากาศย้อนยุคเป็นอย่างดี
- จุดด้อย:
- ความไม่ค่อยเป็นระเบียบของรถยนต์ที่จอดบดบังทัศนียภาพของบ้านเก่าทั้งหลาย อาจทำให้เสียอรรถรสในการมองไปบ้าง
- ข้อสรุป:
- ชุมชนสามแพร่ง หนึ่งในย่านเก่าแก่ของเมืองหลวง ซึ่งยังคงเอกลักษณ์ของบ้านรูปทรงคลาสสิกที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จึงเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพหรือนิยมงานสถาปัตยกรรมย้อนยุคเช่นนี้ ที่สำคัญคุณยังสามารถเลือกชิมของอร่อยเจ้าดังที่แทรกตัวอยู่ทั่วชุมชนแห่งนี้ได้อีกด้วย
คะแนน -
theTripPacker • กันยายน 27 , 2556
ข้อมูลทั่วไป
ที่อยู่ : ชุมชนสามแพร่งประกอบไปด้วยถนนสามสายนั่นคือแพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ เริ่มต้นกันตั้งแต่บริเวณสี่กั๊กเสาชิงช้า ไปจนถึงศาลเจ้าพ่อเสือ
GPS : 13.753283, 100.498450
Website : http://www.samphraeng.com
Facebook : http://goo.gl/lbbyN
เวลาทำการ : ประมาณ 10.00 น.- 16.00 น. (บางร้านอาจเปิดปิดช้าหรือเร็วไปกว่านี้)
ช่วงเวลาแนะนำ : ช่วงสายๆ ของวันจนถึงช่วงบ่าย
ไฮไลท์ : ร้านขายของทานอร่อยขึ้นชื่อทั้งหลาย
กิจกรรม : เดินชมหรือถ่ายรูปกับตึกเก่า พร้อมกับหาของอร่อยทาน
-
theTripPacker • กันยายน 27 , 2556
วิธีการเดินทาง
ถ้ามาจากผ่านฟ้าใช้ ถนนราชดำเนินกลางแล้วให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถนนตะนาว ตรงแยกคอกวัว แล้ววิ่งตรงไปเรื่อยจะผ่านวัดมหรรณพารามวรวิหาร จนเมื่อพบกับศาลเจ้าพ่อเสือทางขวามือถัดไปอีกเล็กน้อยก็จะพบกับแพร่งสรรพ ศาสตร์ฝั่งขวามือเช่นกัน
หรือถ้ามาจากฝั่งปากคลองตลาดหรือบ้านหม้อก็ให้วิ่งตรงเรื่อยมาตาม ถนนเฟื่องนครจนผ่านแยกสี่กั๊กพระยาศรีแล้วตรงไปซักเล็กน้อยชุมชนแพร่งจะอยู่ ซ้ายมือ
-
โหลดเพิ่ม