มาเยือนเมืองแพร่ทั้งที เราก็ต้องมาศึกษาประวัติ และความเป็นมาของจังหวัดนี้กันให้ถึงแก่น และสถานที่ที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ และศึกษาความเป็นมาของเมืองนี้มากขึ้นก็คือที่นี่ครับ "คุ้มเจ้าหลวง หรือคุ้มหลวงนครแพร่" ซึ่งปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองแพร่เพื่อให้นักท่องเที่ยว และคนรุ่นหลังได้มาเยี่ยมชมกันครับ
คุ้มเจ้าหลวง หรือ คุ้มหลวงนครแพร่ แต่เดิมเคยเป็นที่ประทับของเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์สุดท้าย และเป็นคุ้มเจ้าหลวงเพียงไม่กี่แห่งในแผ่นดินล้านนาที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน คุ้มแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น ซึ่งมีรูปทรงเป็นแบบไทยผสมยุโรป หรือทรงขนมปังขิง หลังคามุงด้วยไม้ เรียกว่า "ไม้แป้นเกล็ด" ไม่มีหน้าจั่ว ตัวอาคารมีความโอ่โถง มีประตู หน้าต่างทั้งหมดรวม 72 บาน งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลม และชายคาน้ำ แค่เราเดินเข้ามาด้านหน้าเราก็รู้สึกได้ถึงความสง่างาม และมีเสน่ห์เป็นอย่างมากของอาคารหลังนี้
ที่นี่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น. แต่ก็ขอความร่วมมือให้เคารพสถานที่กันด้วยนะครับ ทั้งในส่วนของการแต่งกาย และการปฎิบัติตามข้อกำหนดของสถานที่อย่างเคร่งครัด
เราเดินชมไปทีละห้อง ทุกอย่างที่อยู่ที่นี่ล้วนเป็นของเก่าหายาก และเต็มไปด้วยเรื่องราว ข้าวของเครื่องใช้ในยุคก่อนที่สะท้อนถึงความเป็นล้านนาในแบบฉบับเมืองแพร่ที่หาดูได้ยาก เราโชคดีที่วันที่เราไปมีคณะของเด็ก ๆ มาทัศนศึกษากันที่นี่พอดีโดยได้ติดต่อไกด์ไว้แล้ว เราก็เลยทำตัวกลมกลืน และเดินตามเค้าไปด้วยครับ หรือหากใครต้องการติดต่อไกด์พาชมสถานที่ สามารถติดต่อที่สำนักงานด้านในได้เลยนะครับ
ใต้ตัวอาคารมีห้องที่เชื่อว่าเป็นคุกใต้ดิน ซึ่งเวลาจะเข้าไปชมคนที่นี่เค้าจะมีเคล็ดว่าให้ถอยหลังเข้านะครับ โดยภายในจะเป็นห้องทึบแสงเข้าได้น้อยมาก ในอดีตเชื่อว่ามีไว้สำหรับคุมขัง ข้าทาส บริวาร ซึ่งกระทำความผิด ซึ่งก็ใช้งานมานานกว่า 50 ปี จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศเลิกทาส คุกทาสจึงกลายมาเป็นที่คุมขังนักโทษทั่ว ๆ ไปของเจ้าหลวง หรือข้าหลวงในสมัยต่อ ๆ มา และเมื่อมีการสร้างเรือนจำเมืองแพร่ขึ้นใหม่ คุกแห่งนี้จึงว่างลง และคงหลงเหลือไว้เพียงตำนานมาถึงปัจจุบันครับ