ถึงเวลากลับ...บ้าน
สงขลาฝั่งนที กลิ่นสารภียังตรึงเตือน แสงเดือนเตือนตรึงใจ สนแกว่งไกว ดูแสนงาม....
ได้ยินเพลงนี้ทีไรชวนให้นึกย้อนเมื่อวัยเด็กที่นั่งกินไอติมใต้ต้นสนทะเล
เมืองสิงขร.. น้อยคนจะรู้ว่าคือเมืองสงขลาจากข้อสันนิษฐานที่ว่า "สงขลา" เพี้ยนมาจากชื่อ "สิงหลา" (อ่าน สิง-หะ-ลา) หรือสิงขร
สิงหลา แปลว่าเมืองสิงห์ โดยได้ชื่อนี้มาจากพ่อค้าชาวเปอร์เซีย อินเดีย แล่นเรือมาค้าขาย ได้เห็นเกาะหนู เกาะแมว เมื่อมองแต่ไกล จะเห็นเป็นรูปสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองนี้ว่า สิงหลา ส่วนไทยเรียกว่า เมืองสทิง เมื่อมลายูเข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองสทิง ก็เรียกว่า เมืองสิงหลา แต่ออกเสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ เป็นซิงกอร่า (Singora) ไทยเรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเสียงเพี้ยนเป็นสงขลา อีกเหตุผลหนึ่งอ้างว่า สงขลาเพี้ยนมาจาก "สิงขร" แปลว่า ภูเขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่า "สงขลา" เดิมชื่อสิงหนคร (อ่านว่า สิง-หะ-นะ-คะ-ระ) เสียงสระอะอยู่ท้าย มลายูไม่ชอบ จึงเปลี่ยนเป็นอา และชาวมลายูพูดลิ้นรัวเร็ว ตัดหะ และ นะ ออก คงเหลือ สิง-คะ-รา แต่ออกเสียงเป็น ซิงคะรา หรือ สิงโครา จนมีการเรียกเป็น ซิงกรา Cr. สำนักงานจังหวัดสงขลา
หลายปีดีดักหลังจากเดินออกจากซุ้มประตูเมืองสงขลา หรือที่เรียก "บ่อยาง" เข้าสู่เมืองกรุง ยังคิดถึงบรรยากาศเก่าๆ สามแยกสำโรง หรือชื่อเรียกของคนพื้นที่ที่รวบคำ สามแยกสำโรง คือ สามแยกโหมง เป็นประตูด่านแรกเข้าตัวเมือง (ในขณะนั้น ทางเข้าเมืองมี 2 ทางคือ ทางแพขนานยนต์กับทางถนนกาญจนวนิช แต่ปัจจุบันมาได้ 4 เส้นทางค่อยมาเล่านะว่าเพิ่มทางได้อย่างไร) ใกล้กันคือโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา (หรือโรงพยาบาลประสาท ชื่อเดิม) และสามแยกเก้าเส้งที่สามารถขับรถไปตามถนนเลียบชายทะเล ระหว่างทางกลับบ้าน ขอนั่งรถชื่นชมหาดชลาทัศน์ที่เป็นหาดเชื่อมต่อกับแหลมสมิหลา น้ำทะเลและท้องฟ้าสีครามท่ามกลางแดดช่วงบ่ายของวัน ยังคงเห็นผู้คนนั่งปูเสื่อล้อมวงกินส้มตำ ลูกชิ้น ไก่ย่างและอื่นๆ ตามชายหาด
แม้จะได้ยินข่าวคลื่นลมแรงซัดต้นสนถอนรากล้มไปหลายต้น น้ำทะเลและคลื่นเซาะชายหาดจนน้ำเกือบถึงฝั่งถนน แต่หลังพายุสงบความสวยงามของธรรมชาติก็ยังคงน่าหลงใหลอยู่เสมอ
ลิบๆ ยังคงเห็นทิวสนทะเลเรียงตัวอย่างสวยงาม แต่ที่แปลกตาคือกระสอบทรายที่วางเรียงตัวเหมือนหินก้อนใหญ่ คอยกันคลื่นและน้ำทะเลเซาะชายหาดเพิ่มเติม
ทรายยังคงละเอียดและนุ่มน่าสัมผัสเหมือนเดิม นึกเสียดายที่นักท่องเที่ยวบางคนไม่มีวัฒนธรรมยังคงทิ้งเศษขวดและเศษอาหารไว้เป็นร่องรอยการมาเยี่ยมเยือน ทำให้นึกย้อนสมัยเรียนมัธยมที่จังหวัดได้ปลูกฝั่งให้เยาวชนรักทะเลและชายหาด โดยมีกิจกรรมรวมตัวกันทั้งหน่วยงานราชการและสถานศึกษาทุกระดับเดินเก็บขยะบริเวณชายหาดและแหลมสมิหลาเป็นระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตรหลังจากเพลียแดดและแรงลม น้ำย่อยในกระเพาะเริ่มออกเสียงเตือน เพราะตั้งแต่เช้ามั่วแต่รีบ กลัวว่าจะขึ้นเครื่องไม่ทันเลยยังไม่มีอะไรตกท้อง ถัดจากชายหาด เลยแยกวชิราจนถึงแยกสนามกีฬาติณสูลานนท์ เลี้ยวซ้ายเข้าเมืองเพื่อจะไปตลาดเรือนจำ หรือตลาดใหม่ (ชื่อนี้ก็มีที่มา) หาอะไรอร่อยๆ กระแทกปากดีกว่า
ในตลาดมีขนมคุ้นตามากมาย ณ เวลานี้อยากกินไปซะทุกอย่าง ดูปริมาณกับราคามันช่างเชื้อชวนให้ลองลิ้มเสียจริง... สุดท้ายมาสะดุดตรงข้าวยำ กลิ่นหอมของน้ำเคยแท้ชวนให้ลิ้มลอง บวกกับภาชนะที่ใส่คือใบตองตานีใบใหญ่ ปริมาณกับราคาพอเหมาะไม่แพงเกินไป เลยจัดการไปซะคนละ 2 ห่อ เอาให้หายอยาก 555กลับมาบ้านรอบนี้ ขอหยุดยาวหลายวันเพื่อเพิ่มพลังใจให้มีแรงกลับไปสู้ต่อ ได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ให้หายคิดถึง บวกกับได้ย้อนรอยความทรงจำดีดี
เช้าวันที่ 2 ตื่นเช้าสุดในรอบ 10 ปี เพื่อทักทายหาดสมิหลาขอสูดอากาศให้เต็มปอด บิดมอเตอร์ไซด์ฮ่างเลียบชายทะเลอีกครั้ง ยังคงเห็นบรรยากาศผู้คนในวัยเกษียณ เดิน-วิ่ง ออกกำลังกาย ช่างน่าอิจฉาเป็นที่สุด
พระอาทิตย์ออกมาทักทายยามเช้า คลื่นลมเริ่มสงบนิ่ง ยั้งใจไว้ไม่อยู่ต้องขอไปนอนลอยคอปล่อยใจและกายให้ผ่อนคลายไปตามกระแสคลื่นลมท้องฟ้าสว่างมากขึ้น หลังจากเหนื่อยจากการดำผุดดำว่าย ขอมานอนเกลือกกลิ้งชายหาด ดีใจได้เห็นปลาดาวนอนเรียงรายกลิ้งเกลือกกัน เลยต้องจัดท่าใหม่ให้สวยงามนิดส์นึงนะ ^^
จากหาดหลังสนามกีฬาติณสูลานนท์ ไปตามชายหาดจะสุดทางเชื่อมต่อแหลมสมิหลา จุด Check In ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสงขลาคือรูปปั้นนางเงือกทอง เขาว่ากันว่าใครอยากกลับมาสงขลาและต้องการเป็นเขยหรือสะใภ้ชาวสงขลาต้องอย่าลืมจับนมนางเงือกด้วยนะ 555 ตรงจุดนี้ขอไม่รับรองแต่ถ้าใครอยากพิสูจน์ก็ขอเชิญนะค่ะ^^ ใกล้กันมีวงเวียนหลังโรงแรม BP สมิหลา บีช มีรูปปั้นประติมากรรมคนอ่านหนังสือ เคยได้ยินมา จุดประสงค์ของผู้สร้างต้องการสื่อว่าเมืองสงขลาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ บรรยากาศสบายๆ เลยขอจัดสัก 1 ท่าระหว่างกำลังชื่นชมธรรมชาติ สะดุดตากับคู่นี้ คิดแล้วก็ไม่รู้ว่าเราจะมีอายุยืนยาวพอที่จะมีใครมานั่งคุยอย่างนี้หรือเปล่า ^^
เวลาเช้ายังเหลือ เลยบิดมอเตอร์ไซด์คันเก่งไปตระเวณแหลมสนอ่อนที่ร่มรื่นไปด้วยทิวสนทะเล บริเวณปลายแหลม สมิหลา เป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ แต่ต้องแวะระหว่างทางที่เป็นจุด Check In ที่ 2 ใกล้กับวงเวียนนางเงือก เป็นประติมากรรมประตูเมืองสงขลาจำลอง(ประตูเมืองนี้ก็มีเรื่องราว) ข้างหลังมีรูปปั้นแมวกับหนูซึ่งเปรียบกับเกาะหนูเกาะแมวที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองสงขลาตั้งอยู่ด้านหลังเสมือนเป็นฉากที่มีชีวิตอีกจุดที่ขอแวะคือช่องเขาตังกวน-เขาน้อย เพราะจะไปเยี่ยมครอบครัวเจ้าจ๋อที่มารอต้อนรับ จุดนี้ถือเป็นบ้านของเหล่าน้องจ๋อ เขาตังกวนเป็นอีกจุดที่อยาก Check In แต่ด้วยยังเช้ามาก ลิฟท์ที่จะขึ้นเขายังไม่เปิดบริการ จะเดินขึ้นไปทางบันไดก็สงสารสังขารตัวเอง แต่ก็ถือว่าได้ย้อนรอยความทรงจำแล้วล่ะ สบายใจ อิอิ ย้อนกลับมาผ่านสระบัวที่อยู่เชิงเขาตังกวน เห็นประติมากรรมที่ไม่คุ้นตาเลยขอแวะทักทาย บิดมอเตอร์ไซด์ไม่กี่นาทีก็ถึง สวนสองทะเล ซึ่งเป็นแหลมที่คั่นระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลา เป็นที่ตั้งของประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำเป็นสัญลักษณ์ของเมืองสงขลา มีการสร้างขึ้น 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งหัวพญานาค ส่วนที่สองสะดือพญานาค และส่วนที่สามหางพญานาค แต่ต้องลองค้นหาตามเส้นทางนะค่ะ เพราะจะอยู่ในเขตเมืองสงขลาทั้งหมด นี้เป็นกลยุทธ์ให้นักท่องเที่ยวท่องทั่วสงขลาเลยนะเนี้ยะ 555 พญานาคพ่นน้ำจะมีความสวยงามที่แตกต่างกันทั้งกลางวันและกลางคืน ถัดไปอีกนิดใกล้กันคืออนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นอีกจุดที่มีวิวทะเลที่สวยงาม กลับมาครั้งนี้จึงขอแวะสักการะเสด็จเตี่ยเพื่อเพิ่มขวัญและกำลังใจสักหน่อย หลังเพิ่มพลังใจจากอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ขอเดินหน้าต่อไปยังท่าแพขนานยนต์ระหว่างตัวเมืองสงขลากับหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร ค่าบริการ รถยนต์ 20 บาท ตั้งแต่ตีห้าถึง 4 ทุ่มของทุกวัน แต่ต้องมาสะดุดกะประติมากรรมที่แปลกตาเพราะสมัยเด็กยังไม่มี ที่ตั้งตระหง่านอยู้ติดทะเลฝั่งทะเลสาบซึ่งอยู่ไม่ไกลจากท่าแพ จะมีที่นั่งตลอดเส้นทางของสวนสองทะเลและยังคงเห็นผู้คนปั่นจักรยาน เดิน-วิ่งตามเส้นทาง เรามาถึงผู้คนยังคงบางตา เลยได้เห็นบรรยากาศสงบเงียบ สบายๆ ทำให้ย้อนถึงสมัยวัยละอ่อน ลุ้นมากตอนรถกำลังขึ้นแพ แต่ก็หมดความกลัวเมื่อเรือแพเริ่มออกจากท่า ลมพัดเย็นๆ ล่อใจให้ต้องลงจากรถไปสัมผัส สูดกลิ่นน้ำเค็มผสมกลิ่นเหงื่อของผู้คนที่ร่วมเดินทาง ไม่ถึง 10 - 15 นาทีก็ถึงฝั่งหัวเขาแดง ต้องกลับมาลุ้นอีกครั้งในรถก่อนที่จะขึ้นฝั่ง แดดเริ่มแรง ต้องรีบกลับบ้านไปอาบน้ำอีกรอบ เพราะเริ่มเหนียวตัว แต่ขอบอกเมื่อเช้าที่เล่นน้ำไป มีห้องน้ำสาธารณะอยู่ใกล้หาด ก็ได้ใช้บริการอาบน้ำจืดเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วนะค่ะ ไม่งั้นตะลอนขนาดนี้ตัวคงขึ้นเกลือและเป็นปอดบวมตาย 555 บรรยากาศยามเย็นของบริเวณท่าแพฯ ก็สวยงามไปอีกแบบ หากมีเวลาว่างๆ มานั่งชมพระอาทิตย์ตกดินตรงหัวเขาแดง จะเห็นบรรยากาศผู้คนนั่งตกเบ็ดเป็นกิจกรรมยามว่าง หรือชาวประมงที่หาปลาหากุ้งเป็นอาชีพ สามารถซื้อหาต่อรองราคากันได้ ขอบอกงานนี้เจอของสด ตัวเป็นๆ จริงๆ แต่จะได้แค่บริเวณนี้เท่านั้นเพราะใกล้อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ เป็นเขตอภัยทานห้ามจับสัตว์น้ำทุกชนิด หลังจากเปลี่ยนองค์ทรงเครื่องเรียบร้อยแล้ว น้ำย่อยเริ่มกระตุ้นอีกครั้ง คิดสิว่าอยากกินอะไรเพราะที่สงขลามีของกินอร่อยๆ ทั้งนั้น ใจนึกเป็นตัวเลือกแรกคือ "เต้าคั่ว" นึกถึงป้าจวบร้านอร่อยระดับ 10 ดาว ว่าแล้วก็ต้องเสี่ยงดวงไปดูว่าขายหมดหรือยัง ตามถนนนางงามเป็นถนนสายวัฒนธรรมย่านใจกลางเมืองเก่า ที่มีเรื่องเล่าว่าผู้ที่ได้รับตำแหน่งนางงามสงขลาคนแรกในขณะนั้นอาศัยอยู่ถนนสายนี้ เดิมชื่อถนนเก้าห้องจึงเรียกติดปากว่าเป็นถนนของนางงาม ในถนนนางงามเป็นแหล่งของกินที่อร่อยหลายร้าน เช่น ร้านขนมไทยสองแสน ร้านขนมไทยแม่ฉวี ร้านไอติมยิว (จิ่น กั้ว หยวน) ร้านไอติมโอ่ง ร้านอาหารแต้เฮี้ยงอิ้ว ร้านก๋วยเตี๋ยวใต้ถุนโรงงิ้ว ร้านเกียดฟั่งข้าวสตู เป็นต้น ร้านเหล่านี้เป็นร้านที่มีชื่อเสียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงขอแวะวันหลัง ด้วยขณะนี้ใจอยากกิน เต้าคั่ว เลยพุ่งตรงประเด็นมาที่ร้านป้าจวบ ซึ่งอยู่บนถนนยะหริ่ง เป็นถนนตัดจากถนนนางงามเลี้ยวซ้ายเข้าไปไม่ถึง 200 เมตรก็เจอ หน้าตา "เต้าคั่ว" อร่อยสมใจอยาก นอกจากเต้าคั่วแล้วยังมีก๋วยเตี๋ยวกระดูกหมูก็รสชาติอร่อยไม่แพ้กันนะ