ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
กะเปอร์ อำเภอมหัศจรรย์ : ถอยหลังเข้าป่า เดินหน้าโดดทะเล จังหวัดระนอง (Ranong Province) จ.ระนอง
    • โพสต์-1
    นายสองสามก้าว •  พฤษภาคม 12 , 2559

    กะเปอร์ อำเภอมหัศจรรย์ : ถอยหลังเข้าป่า เดินหน้าโดดทะเล

    “อะไรนะเขาหลวงปิด” ผมถึงกับคิ้วขมวดเมื่อรู้ข่าวว่าด้วยปัญหาภัยแล้งทำให้อุทยานแห่งชาติรามคำแหง ประกาศปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินป่าขึ้นยอดเขาหลวงในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา เป็นการดับความฝันของพวกเราที่วางแผนเสียดิบดีว่าหยุดพิเศษวันแรงงานจะรวมพลไปพิชิตยอดเขาสูงแห่งสุโขทัยด้วยกัน

    พวกเราที่ผมว่าหมายถึงมิตรสหายสิบกว่าชีวิตที่เพิ่งรวมตัวรู้จักกันตอนปีนเขาผาหินกูบ จันทบุรี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (ดูรีวิวคราวนั้น http://wp.me/p7ca93-Ra) เพียงทริปเดียวเท่านั้นแหละที่ร่วมทาง พวกเราสนิทชิดเชื้อจนชวนกันจัดทริปใหม่ตามมาทันที แต่เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขาหลวงทำให้ต้องวางแผนกันใหม่

    คุยไปคุยมาคำตอบสุดท้ายจิ้มมาที่อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง หนึ่งในจังหวัดสุดรักที่ผมเองนิยามให้ว่า “หันหลังพิงป่าหันหน้าหาทะเล” หมายถึงด้านหนึ่งมีผืนป่าเขียว ภูเขาใหญ่ น้ำตกสูง แต่อีกด้านหนึ่งก็มีทะเลสวยงาม ใครเคยไปเที่ยวเกาะช้าง เกาะพยาม หมู่เกาะกำ มาแล้วคงต้องพยักหน้าเห็นด้วย

    ทริปนี้มาเที่ยวกับขาลุยย่อมไม่อยากทำให้มันธรรมดา ว่าแล้วเลยยัดคอนเซ็ปต์ลงไปว่าขอเหมาทั้งป่าทั้งทะเล ยอดเขาสูงสุดของระนองชื่ออะไรนะ อ้อ... เขาพ่อตาโชงโดงนั่นไง เป็นหนึ่งจุดหมายในฝันของผมเลยแหละเพราะเคยได้ยินชื่อมานานมาก

    นั่นแหละครับที่มาของทริปนี้ซึ่งพวกเราทั้งสิบห้าคนคงต้องยิ้มกริ่มทุกครั้งที่คิดถึงมันแน่นอน

    ----------------------------------------------------------------

    ภาคหนึ่ง : ถอยหลังเข้าป่า พิชิตเขาพ่อตาโชงโดง

    ทริปนี้ตามจริงพวกเราแทบไม่ต้องจัดการอะไรเลย เพราะเพียงกริ๊งเดียวที่โทรศัพท์ไป อบต.กะเปอร์ ขอสายรองนายกฯ สุมนต์ จันทร์สว่าง (08-1607-5750) บอกว่าพวกเราอยากเที่ยวกะเปอร์ อยากขึ้นเขาพ่อตาโชงโดง อยากนอนค้างบนเกาะสักแห่ง มีเวลาสามวันสองคืน แค่นี้รองฯ สุมนต์ ก็ประสานงานส่วนอื่นให้หมด เหลืออย่างเดียวเพียงเรากำเงินแน่นๆ ไปให้ถึงที่ตามเวลานัดก็พอ

    เดินทางทั้งหมดสิบห้าชีวิตครับ มีสิบเอ็ดคนนัดพบกันที่สายใต้ใหม่หัวค่ำวันศุกร์ 29 เมษา ขึ้นรถ ป.1 บขส. กรุงเทพ-ระนอง-กะเปอร์ เที่ยวสองทุ่มครึ่ง ค่าตั๋วไป-กลับ ประมาณ 850 บาท กลับมารวมตัวกันคราวนี้ความสนิทย่อมมากกว่าทริปแรกและเฮฮามากกว่าครั้งก่อนด้วย

    รถวิ่งผ่านค่ำคืนแบบไม่เร่งรีบจนมาฟ้าสว่างที่ระนอง กระทั่งสุดสายหน้าสถานีตำรวจภูธรกะเปอร์ รองฯ สุมนต์เดินยิ้มเผล่เข้ามาพาพวกเราขึ้นรถกระบะไปตั้งหลักกันที่ อบต.กะเปอร์ อาบน้ำอาบท่า ให้ยืมมอเตอร์ไซค์ขี่ไปตลาดซื้อข้าวกิน ตุนเสบียง พร้อมกับรอพรรคพวกอีกสี่คนที่เดินทางด้วยรถส่วนตัวมาจากพัทยา จนประมาณเก้าโมงครึ่งเมื่อรวมกันครบสิบห้าชีวิตก็ได้ฤกษ์เดินทางจริงจังแล้วล่ะ

    พ่อตาโชงโดงเป็นยอดเขาสูงสุดของระนอง 975 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง คำว่าโชงโดงหมายถึงกระโดงเรือ คือบนยอดเขานั้นสูงลิบมองเห็นโดยรอบเหมือนอยู่บนกระโดงเรือนั่นไง หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อมาบ้างเพราะทุกปี อบต.กะเปอร์ เขาจะจัดกิจกรรมวิ่งพิชิตยอดเขาในเดือนกุมภาพันธ์ คุยกันว่าเคยมีชาวเคนย่าทำสถิติวิ่งจากหน้าอบต.ไปถึงยอดเขาด้วยเวลาแค่ 1.45 ชั่วโมง (ทางราบจาก อบต.ถึงตีนเขาบ้านหินขาวสิบสองกิโลเมตร ตีนเขาถึงยอดเขาอีกแปดกิโลเมตร) บอกเลยว่าซูเปอร์แมนยังอาย

    แต่ไม่ต้องตกใจเพราะเราไม่ต้องเดินถึงยี่สิบกิโลเมตร แบบพ่อยอดมนุษย์เคนย่าหรอก และไม่ต้องเดินขึ้นสูงถึง 975 กิโลเมตรด้วยซ้ำ เพราะทางท้องถิ่นเขาพัฒนาทำถนนขึ้นไปจนใกล้ยอดเขา ระยะทางเดินจริงๆ แค่ประมาณสามกิโลเมตร

    กระบะจาก อบต. พาพวกเราสิบห้าคนพร้อมสัมภาระพะรุงพะรังขึ้นไปส่งจนสุดทางรถวิ่ง มีลูกหาบสามคนรอเราล่วงหน้า ที่จริงเราไม่ต้องการหรอกครับแต่เป็นระบบจัดการของที่นี่ซึ่งกำหนดให้นักท่องเที่ยวจะต้องจ้างลูกหาบช่วยขนของขึ้นไปด้วยเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมให้คนในชุมชน ด้วยแนวคิดแบบนี้บอกเลยว่าเรายินดีช่วยเหลืออยู่แล้ว

    เราต้องเดินเท้าต่อประมาณสามกิโลเมตร แหม... สำหรับกรุ๊ปที่เพิ่งพิชิตหกกิโลเมตรที่ผาหินกูบมาหมาดๆ ต้องบอกว่าระยะแค่นี้จิ๊บจ๊อย บางคนถึงกับบอกว่าทริปนี้เบาๆ มาพักขากันเลยทีเดียว แต่ยังไม่ทันไรไอ้ที่ว่าจะมาพักขาก็กลายเป็นต้องลากขาพาสังขารกระดึ๊บทีละสิบเมตรยี่สิบเมตรแล้วหยุดหอบเสียแล้ว (ฮา...)

    ทางขึ้นเขาแม้จะสั้นแต่ก็ค่อนข้างชันเชียวล่ะ ประกอบกับสัมภาระแบกกันค่อนข้างเยอะให้เราต้องก้าวช้าๆ โชคดีว่าอากาศไม่ร้อนมากร่มไม้ครึ้มเขียว อยากพักตรงไหนเลยนั่งพักกันได้สบาย ที่จริงเพราะเห็นว่าระยะทางไม่ไกลด้วยแหละเลยไม่รีบร้อน อย่างไรเสียก็ขึ้นถึงก่อนเย็นแน่นอน

    เอาล่ะ... พักเหนื่อยแล้วก็ไปกันต่อ หลายช่วงต้องปีนป่ายไต่เชือกให้พอสนุกสนานเล็กๆ

    และในที่สุดหลังจากเริ่มต้นเดินตอนสิบโมงครึ่ง ใกล้บ่ายโมงตรงพวกเราทีละสองสามคนก็ทยอยมาถึงจุดสูงสุดของจังหวัดระนอง ยอดเขาพ่อตาโชงโดง ช้าไปหน่อยเพราะมัวแต่พักโอ้เอ้เรื่อยเปื่อย หากเดินกันจริงจังคงไม่นานขนาดนี้ครับ


    แต่บริเวณยอดสูงสุดยังไม่ใช่ที่พักแรมนะ จุดชมวิวและโซนแคมปิ้งต้องเดินต่ออีกห้าร้อยเมตร พอถึงแล้วค่อยหาที่ทางกันตามสะดวก บางคนผูกเปลนอน บางคนใช้เต็นท์ บางคนกางผ้าใบรองใช้ฟลายชีตคลุมนอนกับถุงนอนง่ายๆ

    อ้อ... บนนี้มีห้องน้ำแบบแก้ขัดให้ใช้อยู่หนึ่งห้องด้วย น้ำรองจากน้ำฝนเผื่อให้ใช้กรณีฉุกเฉิน แต่เรื่องน้ำดื่มสะอาดต้องขนมาเองทั้งหมด

    ทะลุโผล่จากจุดพักแรมก็เป็นจุดชมวิวครับ ทางขวาเป็นทะเลอันดามันและเกาะในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อำเภอเมือง ทางซ้ายจะเป็นป่าเขตอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร น่าเสียดายว่าอากาศขมุกขมัวเมฆมากฟ้าไม่แจ่ม ทัศนียภาพเลยไม่อลังการเท่าไหร่ เมฆหมอกลอยไปสักพักเดี๋ยวก็ลอยมา มีช่วงหนึ่งฝนโปรยซู่ซ่าจนเราต้องวิ่งหาที่หลบจ้าละหวั่น แต่ถึงอย่างไรทุกคนก็มีความสุขใจกับการพิชิตยอดสูงสุดแห่งระนอง

    พักผ่อนถ่ายรูปเล่นเฮฮาตามประสา ใกล้เย็นทีมแม่บ้านพ่อบ้านที่ทำอาหารเป็นค่อยลงมือก่อกองไฟ หุงข้าว ทำกับข้าวง่ายๆ ไข่เจียว ผัดมาม่า หมูย่าง แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

    ใกล้เวลาพระอาทิตย์ตก ผมไปนั่งเพลินๆ อยู่ที่จุดชมวิว ฟ้าปิดสนิท ทั้งเมฆทั้งหมอกห่มคลุมยอดเขาแบบไม่เห็นวิวอะไร ผมไม่ได้หวังว่ามันจะเปิดแค่มานั่งเล่นคุยจิปาถะกับเพื่อนสองสามคน แต่แล้วในขณะที่ไม่ได้หวังอะไรจู่ๆ แสงสีชมพูอมส้มก็ฉาบฉายอาบทุกสิ่งทุกอย่างแบบสะใจสุดๆ แต่ละคนรีบหยิบกล้องมาลั่นชัตเตอร์เป็นพัลวัน พระอาทิตย์อาจจะหลบอยู่หลังเมฆหนาทว่ายังเปล่งแสงสวยๆ ย้อมสีเมฆให้เราได้ยลเป็นบุญตา

    ค่ำคืนนี้ตั้งวงกันเล็กน้อย วงดื่มนะครับไม่ใช่วงนับเลข (ฮา...) ด้วยความเป็นกรุ๊ปเดียวบนเขา เราเลยหัวเราะกันลั่นป่าเชียวล่ะ

    ผมตื่นนอนประมาณตีห้าห้าสิบ อันดับแรกที่ทำคือหยิบกล้องแล้วเดินไปจุดชมวิวเพื่อดูว่ามีทะเลหมอกหรือเปล่า... ตามที่เห็นในภาพนี่แหละ

    แม้จะไม่ได้ฟูฟ่องหนานุ่มตระการตามาก แต่เมื่อคิดถึงสภาพอากาศที่ผ่านมาประกอบกับเป็นช่วงปลายหน้าร้อนก็ถือว่าค่อนข้างน่าพอใจนะ หากมีโอกาสไว้จะมาแก้มือใหม่ตอนปลายฝนต้นหนาวเอาให้เจิดสุดๆ ไปเลย

    หลังมื้อเช้าแบบง่ายๆ ก็ถึงเวลาจัดแจงช่วยกันเก็บข้าวของ เก็บขยะ พร้อมกับแช้ะภาพกลุ่มร่วมกันบนยอดเขาไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย

    ขากลับย่อมเร็วกว่าขาขึ้น และเจ็บเข่ามากกว่า (ฮา...) คุณลุงรถกระบะมารอรับพวกเรากลับไปส่งที่ อบต.กะเปอร์ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าให้สดชื่นสักหน่อย และจัดแจงของสำหรับโปรแกรมต่อไปคือการลงทะเล

     ----------------------------------------------------------------

    ภาคสอง : เดินหน้าโดดทะเล เกาะส่วนตัวที่ปากอ่าวกะเปอร์


    พวกเกาะพยาม เกาะกำ นั้นสวยน่าไปเที่ยวมากนะ แต่มันก็เป็นเกาะที่ใครต่อใครเขาไปกัน (เพราะผมเองก็เคยไปมาแล้ว) ที่พวกเราอยากทำคือเที่ยวเกาะซึ่งไม่ค่อยมีใครไปและอยากค้างแรมสักคืนด้วย เราบอกกับลุงคนเรือแบบนั้นและมันนำไปสู่เกาะที่เราก็ไม่รู้ว่าเคยมีใครไปเที่ยวหรือเปล่านอกจากพวกเราสิบห้าคน

    กลับมาครั้งนี้ทำให้ผมรู้ว่านอกจากการเริ่มต้นเที่ยวทะเลระนองที่ท่าเรือบางเบน อุทยานแห่งชาติแหลมสน เรายังสามารถมาตั้งหลักที่ตัวอำเภอกะเปอร์ได้ด้วย มีท่าเรือเล็กๆ อยู่ข้าง อบต.กะเปอร์ ตามปกติเรือที่นี่จะรับนักท่องเที่ยวประมาณเจ็ดคน ราคาต่อลำต่อวัน 3,500 บาท แพงกว่าเรือหางที่หาดบางเบน 1,000 บาท แต่จะได้สัมผัสกับบรรยากาศป่าชายเลนและชุมชนชาวเลระหว่างทาง

    อย่างที่บอกครับว่าปกติคือเจ็ดคน แต่ไม่รู้คนของเราไปคุยออดอ้อนกับรองฯ สุมนต์ อีท่าไหนเลยทำให้รองฯ จัดการหักคอลุงคนเรือให้เราขึ้นลำเดียวตั้งสิบห้าคนมาได้ (ฮา...) แถมยังไม่รวมน้ำหนักกระเป๋ากับของอะไรอีกหลายอย่าง แถมค้างคืนด้วยการเพิ่มเงินอีกนิดเดียวด้วย

    ส่วนมากเรือจะพาเที่ยวหมู่เกาะกำ แต่ด้วยความพิเศษที่เราร้องขอลุงคนเรือจึงจัดให้แบบเอ็กซ์คลูซีฟสุดๆ จุดหมายเป็นที่ไหนเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำแม้กระทั่งเรือออกแล้ว รู้เพียงแค่ว่าเป็นเกาะที่ไม่มีคนอาศัยอยู่และมันจะเป็นเกาะส่วนตัวของพวกเรา

    เรือแล่นเอื่อยมาตามคลองกะเปอร์ บรรทุกเยอะครับเลยต้องแล่นช้า พาเราชมวิวมาเรื่อย ช่วงแรกอยู่ในคลองแคบๆ ก่อนจะขยายความกว้างมากขึ้นเมื่อถึงปากคลอง วิวทิวทัศน์สองข้างทางสวยมาก จนผ่านมาชั่วโมงหนึ่งเราก็มาถึงปากอ่าวกะเปอร์ เห็นเกาะเล็กเกาะใหญ่อยู่ข้างหน้า หากหันหน้าออกอันดามัน แผ่นดินทางขวามือจะเป็นอุทยานแห่งชาติแหลมสน หรือหาดบางเบน ส่วนทางซ้ายจะเป็นอำเภอสุขสำราญ

    จากอ่าวกะเปอร์มองเห็นยอดเขาพ่อตาโชงโดงที่เราเพิ่งลงมาด้วย แหลมปรี๊ดแบบนี้ไม่แปลกใจเลยทำไมทางถึงชันนัก

    เรือพาเรามาแวะที่แรกคือบ้านแหลมนาว เขตอำเภอสุขสำราญ เป็นชุมชนชาวมุสลิมเล็กๆ ปลายแหลมแผ่นดินที่ไม่มีถนนเข้าถึง มาได้ด้วยเรือเท่านั้น เราสามารถมาเที่ยวได้นะเพราะเขามีเปิดให้พักโฮมสเตย์ มาตกปลา ตกหมึก อยู่กินกับชาวบ้าน ผมรู้จักชื่อที่นี่ตอนมาเที่ยวเกาะกำคราวก่อน ยังได้คุยกับผู้ใหญ่บ้านอยู่เลย ใครสนใจอยากลองไปเที่ยววิถีชุมชนแบบนี้ ติดต่อสอบถามข้อมูลผู้ใหญ่กบ 08-1078-5094 เอาแล้วกัน

    พวกเราเดินเล่นที่บ้านแหลมนาวสักพักใหญ่ก็กลับขึ้นเรือ ลุงคนเรือพาเราไปเทียบเรือหาปลาที่ลอยคออยู่ปากอ่าวเผื่อจะมีใครขายอาหารทะเลให้เราได้บ้าง แต่ปรากฏว่าต้องรับประทานแห้วแทนเพราะเขามีแต่ตัวใหญ่บิ๊กเบิ้มราคาเกินเราแตะไหวทั้งนั้น

    ไม่ได้ซีฟู้ดก็ไม่เห็นเป็นไร กินมาม่าของเราน่ะดีแล้ว (ฮา...) เรือพาพวกเรามาขึ้นฝั่งที่เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งเยื้องกับบ้านแหลมนาว มีแนวชายหาดทอดยาวเหมาะกับการพักแรม ผมขอเล่านิดหนึ่งเรื่องชื่อของเกาะเพราะค่อนข้างสำคัญและอาจทำให้สับสน

    ลุงคนเรือบอกว่าเกาะที่เรามาพักชื่อว่า “เกาะพร้าว” เป็นเกาะซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแหลมสน แต่มีคนถือครองเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาค้นข้อมูลอีกครั้งหลังจากจบทริป ผมพบว่าเกาะดังกล่าวมีชื่อว่า “เกาะเทา” อ้างอิงจากข้อมูลหลายแห่งตรงกัน ส่วนเกาะพร้าวนั้นมีอยู่จริงแต่ไม่ใช่เกาะนี้ จึงไม่แน่ใจว่าลุงจะจำผิด หรือชาวบ้านเรียกผิดๆ ติดปากมาตลอดจนกลายเป็นความเคยชินว่าเกาะเทาคือเกาะพร้าวหรือเปล่า (ว่าแต่แล้วเกาะพร้าวจริงๆ ชาวบ้านจะเรียกว่าเกาะอะไรล่ะ?)

    เรือเทียบเกาะเทา ไม่มีผู้คน ความสวยภาพรวมอาจถือว่าไม่มากเพราะเป็นเกาะปากอ่าวไม่ใช่กลางทะเลเปิด แต่สงบมากเป็นเกาะส่วนตัวของเราอย่างแท้จริง หาดทรายนุ่มเนียนละเลียดเท้าแม้สีไม่ขาว น้ำทะเลสะอาดใสพอใช้ พวกเรากระโจนกระโดดน้ำเล่น พักผ่อน ถ่ายรูป หัวเราะเริงร่า สลับกับช่วยกันทำอาหารจนกระทั่งพระอาทิตย์ตกเลยทีเดียว

    ยามค่ำก็เฮฮาล้อมวงเช่นเดิม ลุงเอาเรือออกไปตกหมึกโดยมีสมาชิกติดสอยไปด้วยสี่ห้าคน ไม่ได้หมึกกลับมาครับแต่ได้ปลาตัวเล็กๆ เพียบเลย เราเก็บเอาไว้เป็นกับข้าวสำหรับวันพรุ่งนี้ คืนนี้เกาะของพวกเรา ดังนั้นเลยหัวเราะกันสนั่นเกาะตามฟอร์ม

    ประมาณเที่ยงคืนกว่าๆ ฟ้ากระจ่างพร้อมกับการปรากฏตัวเต็มๆ ของโขลงช้างแห่งจักรวาล งามขนาดไหนน่ะหรือ... ผมไม่รู้หรอกเพราะทะลึ่งหลับอุตุอยู่ในเต็นท์น่ะสิ! เป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ครับ ขอจิ๊กภาพเพื่อนร่วมทริปมาให้ยลแทนแล้วกัน (ภาพถ่ายโดย Fabebook : Tim Timm) สัญญาว่าคราวหน้าจะไม่เอาแต่นอนทำแบบนี้อีกแล้ว (เศร้า...)

    อย่างไรก็เถอะเกาะเทามีข้อเสียสุดๆ อย่างหนึ่งคือพวกตัวริ้นดูเลือดเยอะมหาศาล หลายคนโดนกันระนาวกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ขึ้นเม็ดขึ้นผื่นแดงเต็มไปหมด ส่วนผมปกติเป็นพวกแพ้แมลงเหล่านี้อยู่แล้วจึงป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ด้วยยาทากันยุงกันแมลงไม่เป็นอะไรมาก

    เช้าวันใหม่ฟ้าใสกระจ่างใสสุดๆ เผยให้เห็นน้ำทะเลสวยของเกาะเทาชัดตาขึ้น สวรรค์ของจริงเลย

    ลุงคนเรือบอกไว้ว่าหากเช้าวันนี้คลื่นลมสงบอาจจะพาเราไปไกลถึงเกาะกำ ปกติเรือเขาพาไปเที่ยวอยู่แล้วแต่ด้วยความกรุ๊ปเราพิเศษมากคือคนเยอะเหลือเกินเลยต้องดูสถานการณ์ก่อน สรุปว่าต้องผิดหวังเพราะทะเลไม่นิ่ง เรือแบกน้ำหนักเยอะขนาดนี้คงโต้คลื่นไม่ไหว

    แต่อย่างนั้นเราก็ยังเที่ยวต่อที่อื่นได้นี่ครับ หลังเสร็จสรรพอาหารเช้าเก็บข้าวของเรียบร้อย สิบโมงเราก็ขึ้นเรือมุ่งหน้าออกสู่ทะเลเปิดไปยังอีกฝากของแหลมนาวที่ เป็นชายหาดทอดยาว ผืนทรายสีน้ำตาลนวลสะอาดบและนิ่มเท้ามากๆ เด็กเรือบอกว่าคนถิ่นเรียกแถวนี้ว่าแหลมแทงจีน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแหลมสนเหมือนกัน ถ้าอยากเล่นคลื่นต้องตรงนี้เลย

    มาถึงแล้วก็ลุยโลดสิ โดดน้ำกันตูมตาม คลื่นม้วนตีแรงเล่นกันสนุกจนสะใจกันไปเลย

    เล่นน้ำพอใจก็กลับขึ้นเรือ กินผัดมาม่าที่ผัดเตรียมเอาไว้ตั้งแต่เช้าเป็นข้าวเที่ยงระหว่างแล่นกลับเข้าสู่คลองกะเปอร์ แต่ยังไม่กลับไปท่าเรือนะครับเพราะลุงยังมีชายหาดแวะให้เราเล่นน้ำอีกแห่ง

    มองแล้วผมก็สงสัยอยู่ว่าเรือแล่นจากทะเลกลับเข้าไปปากคลองจะมีชายหาดได้อย่างไร ปรากฏว่ามีจริงครับ แต่ไม่ใช่ชายหาดแบบริมทะเล เป็นเหมือนสันดอนทรายน้ำตื้นกลางคลอง ตอนเราไปน้ำสูงประมาณเกินหัวเข่ามาหน่อยเดียว บริเวณนี้มีหอยตลับ (คนใต้เรียกหอยขาว) เยอะมาก ควานหาหอยกันสนุกไปเลย แต่ก็ไม่ได้กินกันหรอกเพราะจะเอาครัวที่ไหนไปทำ ต้องยกให้เด็กเรือไป


    ประมาณบ่ายสามเรือจึงแล่นกลับมาถึงท่าเรือ รถกระบะมารับเราไปส่ง อบต. พักผ่อนอาบน้ำให้เรียบร้อย รอเวลาราวหกโมงเย็นทาง อบต. จึงไปส่งพวกเราที่คิวรถทัวร์เดินทางกลับสู่เมืองกรุง

    กะเปอร์ อาจอำเภอที่หลายคนไม่รู้จัก แต่หลังจากเที่ยวมาหลายครั้งผมขอยืนยันดังๆ ครับว่าที่นี่มีของดีอัดแน่นมากมาย นอกจากสถานที่ต่างๆ ที่ผมบรรยายมาในรีวิวนี้ ยังมีอีกหลายน้ำตก หลายภูเขา รอให้ไปเยี่ยมไปสัมผัส และผมคงต้องวนเวียนมาเที่ยวที่นี่อีกหลายครั้งแน่ๆ

    คงไม่เกินไปหรอกนะครับหากจะขอทิ้งท้ายว่า... กะเปอร์ อำเภอนี้ช่างมหัศจรรย์จริงๆ

     ----------------------------------------------------------------


    ค่าใช้จ่ายในการนำเที่ยวผ่าน อบต.กะเปอร์ ของพวกเราสิบห้าคน

    • ค่ารถรับ-ส่ง เขาพ่อตาโชงโดง              1,500
    • ค่าลูกหาบสามคน คนละ 500 บาท       1,500
    • ค่าเรือนำเที่ยวแบบค้างคืน                    4,000
    • ค่ารถรับ-ส่ง บขส.-ท่าเรือ-อบต.             500
    • รวม                                                        7,500 บาท

     ----------------------------------------------------------------

    ใครอยากคุยกับผมเรื่อยเปื่อยเรื่องท่องเที่ยว สอบถามข้อมูล (ถ้าผมมีให้นะ) หรือชวนเที่ยว ยินดียิ่งนะครับ

    >>> www.facebook.com/alifeatraveller

     ----------------------------------------------------------------

    ปิดท้ายกับคลิปวีดีโอทริปพิชิตยอดเขาพ่อตาโชงโดงที่เก็บมาฝากกันเล็กน้อยครับ

    • สายล่อฟ้า  มันส์สุดๆไปเลย...เห็นแล้วอยากไปด้วยเลย... 12 พฤษภาคม 2559 15:46:15
    • โพสต์-2
    นายสองสามก้าว •  พฤษภาคม 12, 2559