หากลองหลับตานึกถึงจังหวัดตรัง ผมก็คงนึกถึงทะเล เกาะต่างๆ ที่งดงาม
และในความนึกคิดของผม ถ้าจะให้เลือกเดินทางท่องเที่ยวมาซักหนึ่งจังหวัด
“ตรัง” คงจะไม่ใช่เป้าหมายในลำดับต้นๆ ในความรู้สึกนัก...
........แต่แล้วความคิดของผมก็ต้องเปลี่ยนไปเมื่อได้มาเยือน “ตรัง” อย่างจริงจัง..........

อีกหนึ่งพื้นที่การเดินทางในแบบฉบับของผม ม่วงมหากาฬ LIFE FOR TRAVEL 
https://www.facebook.com/PEESAT.PANTIP
บันทึกการเดินทางฉบับนี้ของผมเริ่มต้นที่ ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ  จ.ตรัง
สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ที่มีชื่อว่า “วังผาเมฆ”
เส้นทางจากถนนใหญ่สู่ถนนลูกรังที่สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นปาล์มและยางพารา
บ่งบอกถึงอาชีพของชาวบ้านในแถบนี้ที่นอนสำหรับเราในคืนนี้เมื่อพวกเรามาถึงในช่วงเย็นย่ำ
อาจจะไม่เลิศหรูแต่แฝงไว้ด้วยความจริงใจและน้ำใจอันใสสะอาด

“วังผาเมฆ” เป็นการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านที่จัดตั้งกลุ่มอาสาเพื่อพิทักษ์ผืนป่า

ควบคู่ไปกับการจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมียอดเขาวังผาเมฆเป็นจุดเด่น

ที่นี่ไม่มีเงินเดือน มีเพียงเงินทุนที่เรี่ยไรจากความรักในผืนป่าแห่งนี้เพื่อก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ที่นี่ไม่มีบ้านพัก มีเพียงศาลากันฝน มีเต็นท์ให้ค้างแรม มีห้องน้ำที่สะดวกสบาย
และมีรอยยิ้มด้วยความดีใจเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือน...

อาหารเย็นสำหรับวันนี้ถูกจัดเตรียมปรุงกันสดๆ ด้วยวัตถุดิบพืชผักที่หาได้ในท้องถิ่นเพื่อให้พวกเราได้ลิ้มลอง
สำรับถูกจัดตั้งบนโต๊ะหินอ่อนในศาลาบริเวณที่ทำการฯ วังผาเมฆ
ศาลาที่เป็นทั้งห้องประชุม ที่ทำการ ที่ทำอาหาร ที่ทานอาอาหาร และที่รวมเอาไว้ซึ่งความผูกพันของชุมชน
ต้มส้มใบส้มม่าวอาหารพื้นบ้านของภาคใต้ที่รสชาติออกเปรี้ยวนิดๆ
เป็นเมนูแนะนำที่ผู้ใหญ่บ้านชักชวนให้พวกเราลองทาน
อรุณรุ่งของวันใหม่ท่ามกลางความหนาวเย็นประหนึ่งเหมือนได้อยู่ในภาคเหนือ
ตี 5 เป็นเวลานัดหมายที่พวกเราจะได้เริ่มต้นเดินเท้าไต่ระดับความสูงสู่ยอดเขาวังผาเมฆกัน
เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นชาวบ้านเปลี่ยนหน้าที่จากพ่อครัวมาเป็นคนนำทาง
เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างลำบากและลื่นเพราะสายฝนที่ตกลงมาตั้งแต่เมื่อวานเย็น
ระยะทางเดินเท้าราว 700 เมตรแต่ใช้เวลาร่วมหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ
คงเพราะต้องปีนป่ายไต่ไปตามเชือกที่ค่อนข้างชัน ทำให้รู้สึกเหนื่อยพอสมควร
แต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าทำให้ผมรู้สึกหายเหนื่อยขึ้นมาทันที
“ครั้งหนึ่งในชีวิตเราคือผู้พิชิตวังผาเมฆ” ป้ายบอกความภูมิใจเมื่อได้มาถึงยอดเขาสุดปลายทาง
ในความรู้สึกตอนนี้มันเป็นความสุขผสมไปกับความภูมิใจอย่างบอกไม่ถูก
ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าตรังจะมีทะเลหมอก
ไม่เคยคิดว่าตรังจะมีที่เที่ยวในแบบที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก
เพียงเพราะโบรชัวร์ใบหนึ่งที่พี่คนหนึ่งส่งมาให้...
ในโบรชัวร์เป็นภาพของทะเลหมอกที่งดงามจนผมต้องตกอยู่ในภวังค์
ภาพใบนั้นได้จุดประกายความรู้สึกให้อยากเข้าไปสัมผัส
ภาพความฝันที่ในวันนี้ได้กลายเป็นความจริงและสัมผัสได้จริง
พี่เจ้าหน้าที่นำทางเล่าให้พวกเราฟังว่าผืนป่าแห่งนี้แต่ก่อนมีอาณาเขตที่กว้างขวางกว่าปัจจุบัน
บ่อยครั้งที่โดนบุกรุกตัดไม้เพื่อเอาพื้นที่มาทำสวนยางพาราและสวนปาล์ม

ชาวบ้านที่รักและเห็นผืนป่าแห่งนี้มาตั้งแต่เกิด เล็งเห็นความสำคัญและคุณประโยชน์ของผืนป่า

จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มอาสาพิทักษ์ผืนป่าวังผาเมฆขึ้นมา ทำให้ปัญหาการบุกรุกป่าลดน้อยลง
พี่เจ้าหน้าที่ยังเล่าต่ออีกว่า ปัจจุบันผืนป่าวังผาเมฆมีเนื้อที่ประมาณ 700 กว่าไร่
มีสัตว์ป่าชุกชุมและมีพืชพรรณที่หายากอยู่หลายชนิด 
“พี่เดินขึ้นมาบนนี้แทบทุกวัน แล้วแต่ว่ามีนักท่องเที่ยวหรือไม่
บางทีก็ขึ้นมาปรับแต่งทางเดินเท้า ถามว่าเหนื่อยไหมก็รู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน
 ทางมันไม่ดี อยากทำทางเดินให้ดีๆ มีราวจับดีๆ แต่ก็ไม่มีงบประมาณ
ที่เห็นสภาพทางขึ้นแบบนี้ก็ทำกันเอง ออกค่าใช้จ่ายกันเอง
บางทีก็มีรายได้บ้างจากค่านำทางที่นักท่องเที่ยวหยิบยื่นให้
แต่บางครั้งก็ไม่มี ไม่ให้ ก็ไม่ได้ว่าอะไร” พี่เจ้าหน้าที่เล่าให้พวกเราฟังขณะกำลังชมวิวอยู่ด้านบน
“จริงแล้วก็อยากให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแลบ้าง จัดตั้งเป็นวนอุทยานฯ ก็ว่ากันไป
แต่ก็ไม่คืบหน้า ทุกวันนี้ก็ดูแลกันตามมีตามเกิด” พี่เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังต่อ
“ฝากน้องช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยนะ อยากให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันเยอะๆ
“ที่นี่มันสวยจริงๆ แต่ไม่มีใครรู้จัก และไม่ค่อยมีใครมาเที่ยว”
บรรยากาศที่งดงาม กับการสนทนาที่กลั่นออกมาจากใจ ทำให้ผมรับรู้ถึงความรู้สึกได้เป็นอย่างดี

ด้านบนของวังผาเมฆในวันนี้อากาศค่อนข้างเย็น
มีหมอกไม่มากนักเพราะลมค่อนข้างแรง แต่ก็งดงามเพียงพอที่จะทำให้รู้สึกประทับใจ 
เมื่อหันหลังกลับมามองในอีกด้านหนึ่งทางฝั่งทิศตะวันตกจะเห็นทิวเขาหินปูนที่มีรูปทรงสวยงาม
แนวทิวเขาลักษณะแบบนี้คงมีให้เห็นที่ภาคใต้ที่เดียวเท่านั้น
เป็นความรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติทั้งสองรูปแบบ
ด้านฝั่งทิศตะวันออกงดงามด้วยทะเลหมอกสีทอง
ส่วนด้านฝั่งทิศตะวันตกอลังการด้วยทิวเขาหินปูน

พี่เจ้าหน้าที่ยังเล่าต่ออีกว่า ที่มาของชื่อ วังผาเมฆ คือแนวทิวเขาในภาพนี้
วันไหนที่ทุกอย่างเป็นใจเราจะได้เห็นสายหมอกสีขาวนวลเข้าไปอยู่ในแอ่งภูเขาจนเต็มแอ่ง
อันเป็นที่มาของชื่อ วังผาเมฆ และจากจุดนี้ถ้าวันไหนฟ้าเปิดเราก็ยังสามารถมองเห็นทะเลอันดามันได้อีกด้วย
ส่วนทางด้านฝั่งทิศตะวันออกถ้าสายหมอกเจือจางลง
เราจะสามารถมองเห็นตึกรามบ้านช่องของตัวเมืองตรัง

นอกจากความสวยงามของธรรมชาติแล้ว
ประสบการณ์อันมีค่ากับชีวิตที่คลุกคลีอยู่กับผืนป่าแห่งนี้
ได้ถูกถ่ายทอดจากพี่เจ้าหน้าที่ส่งต่อสู่คนต่างถิ่นอย่างพวกเรา
ทำให้พวกเราได้รับความรู้เป็นอย่างมาก
หนึ่งชั่วโมงกว่าที่เดินขึ้นมากับความรู้สึกที่ได้อยู่บนนี้ไม่กี่นาที
ต่อให้ต้องใช้เวลาเดินกันเป็นวันผมก็ยังคิดว่ามันคุ้มค่าอยู่ดี
สายหมอกยังคงหนาแน่นมากขึ้นสวนทางกลับเวลาแห่งความสุขที่กำลังจะหมดลงไป
ผมใช้เวลาอยู่ที่นี่ราวๆ ชั่วโมงเศษและคงต้องรีบลงไปข้างล่าง
ทางลงยังคงใช้เส้นทางเดิมแต่มีความรู้สึกว่าลงง่ายและไวกว่าตอนขาขึ้น
หลายสิ่งที่พวกเราได้รับนอกเหนือไปจากธรรมชาติที่สวยงาม
คงเป็นความรักความสามัคคีในชุมชนที่มีต่อผืนป่าแห่งนี้
ต้องขอขอบคุณกลุ่มอาสาพิทักษ์ผืนป่าวังผาเมฆที่ทำให้เราได้ประสบการณ์อันมีค่าที่สุด
ถ้ามีโอกาสผมคงได้กลับมาเยือนที่นี่อีกครั้ง อาจจะเป็นวันที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
หรืออาจจะเป็นวันที่วังผาเมฆได้กลายเป็นวนอุทยานฯ สมดังความตั้งใจ

แผนที่การเดินทางของผมทั้งหมดตลอดการเดินทางที่อยู่ตรัง
จากวังผาเมฆไปยังเขื่อนคลองท่างิ้วสู่น้ำตกต่างๆ และไปชมตะวันลับขอบทะเลที่แหลมหยงสตาร์
ก่อนวกกลับเข้ามาในตัวเมืองตรัง ผ่านสวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้
ตรังในช่วงวันที่ผมไปเยือน สายฝนโปรยปรายชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน
ภาพของสวนยางพาราที่มีให้เห็นโดยทั่วไปรอบๆ จังหวัดตรังยามเมื่อได้รับสายฝน
ดูสดชื่นชุ่มฉ่ำและสบายตาสบายใจในความรู้สึกของผม
“เขื่อนคลองท่างิ้วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ตั้งอยู่ที่ ต.ท่างิ้ว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง
ด้วยความที่เงียบสงบ และวิวทิวทัศน์ที่สวยงามล้อมรอบไปด้วยทิวเขา
ทำให้เขื่อนคลองท่างิ้วกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เริ่มได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น
วัตถุประสงค์หลักของเขื่อนคลองท่างิ้วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
คือเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งให้กับชาวบ้านในพื้นราบ
และยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ นั่งเรือเที่ยวชมความงดงามของขุนเขาและสายน้ำซึ่งเป็นวัตถุประสงค์รองลงไป
หลังสายฝนหยุดตกสายหมอกก็เริ่มต้นชโลมขุนเขาซึ่งเป็นของคู่กัน
คงเหมือนกับคนไทยที่ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ก็ไม่เคยห่างหายจากน้ำพระทัยของพ่อ
เส้นทางสายน้ำตกของจังหวัดตรังที่มีแนวเทือกเขาบรรทัดขนานไปกับเส้นทางหมายเลข 4264
ระยะทางห่างจากตัวเมืองตรังราว 20 กว่ากิโลเมตร
เราจะพบเห็นน้ำตกอยู่หลายแห่งทีเดียว หนึ่งในน้ำตกที่สวยงามไม่เป็นรองที่ไหนๆ คือ “น้ำตกสายรุ้ง” ไป
ในวันที่อากาศดีๆ เราจะเห็นละอองน้ำที่ฟุ้งกระจายเกิดเป็นสายรุ้งที่สวยงาม
อันเป็นที่มาของชื่อน้ำตกสายรุ้ง
จากน้ำตกสายรุ้งห่างออกไปอีกราว 28 กิโลเมตรบนเส้นทางหมายเลข 4264
จะเป็นที่ตั้งของราชินีน้ำตกแห่งภาคใต้ที่มีชื่อว่า “น้ำตกโตนตก”
“น้ำตกโตนตก” เป็นน้ำตกที่ไม่ใหญ่มากนัก จุดเด่นคงเป็นบริเวณโดยรอบที่ค่อนข้างจะร่มรื่น
ตัวน้ำตกไม่ห่างจากลานจอดรถมากนัก ไม่ต้องใช้เวลาเดินไกล
มาถึงจุดนี้ความคิดของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่คิดว่าตรังมีแต่ทะเลที่สวยงาม
ตั้งแต่วังผาเมฆผ่านเขื่อนคลองท่างิ้วเข้าสู่เส้นทางสายน้ำตก
ทุกๆ การเดินทางได้ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดของผม
ถ้าจะมีที่เที่ยวในจังหวัดหนึ่งที่เพียบพร้อมไปหมด ทั้งป่าเขา ทะเล อาหารการกิน
“ตรัง” คงเป็นคำตอบสำหรับผมในตอนนี้ไปเสียแล้ว
ห่างจากน้ำตกโตนตกออกไปเพียง 1 กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของ “น้ำตกโตนเต๊ะ”
น้ำตกที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล
ด้วยความยิ่งใหญ่ของน้ำตกโตนเต๊ะ สายน้ำใสสะอาดที่ไหลจากหน้าผาสูงราว 300 กว่าเมตร
ทำให้ได้รับสมยานามว่าเป็นราชาแห่งน้ำตกแดนใต้
โดยรอบบริเวณที่ค่อนข้างร่มรื่น น้ำที่ใสราวกระจก
ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนกันอย่างไม่ขาดสาย 
จากน้ำตกโตนเต๊ะผมใช้เส้นทางหมายเลข 4125
ระยะทางราว 42 กิโลเมตร สู่แหลมหยงสตาร์ อ.ปะเหลียน

“แหลมหยงสตาร์”เป็นแหลมที่ยื่นออกไปในทะเลตามลักษณะของภูมิประเทศ

กว่า 95 เปอเซ็นต์ของชาวบ้านที่แหลมหยงสตาร์จะเป็นชุมชนมุสลิม
ที่เหลือจะเป็นชาวจีนที่อพยพมาอยู่ตั้งแต่บรรพบุรุษ
 โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงรวมไปถึงการทำสวนยางพารา
หลายๆ บ้านประกอบอาชีพการทำปลาเค็มแดดเดียวโดยใช้วิธีแบบดั่งเดิม
ไม่มีการใส่สารใดๆ ตากแดดแล้วนำออกจำหน่ายเลย
กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนแหลมหยงสตาร์ที่ใครผ่านไปผ่านมาต้องแวะหาซื้อเป็นของฝาก 

คุณลุงคุณป้าเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่จำความได้ก็เห็นอาชีพนี้มาตั้งแต่เกิด
สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

เป็นความผูกพันในวิถีชีวิตบนพื้นฐานของความพอเพียง
แม้ปลาตัวจะไม่ใหญ่มากนัก มีทั้งปลาอินทรีย์และปลาทู
ขายกันกิโลละ 150 บาท หรือจะเป็นมัดที่มีอยู่ประมาณ 3-4 ตัว ก็เพียงมัดละ 20 บาทเท่านั้น

นอกจากการทำประมงและการทำสวนยางพาราแล้ว
บางบ้านก็ยังมีการเพาะเลี้ยงกุ้งให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ

ยามเย็นวันนี้ที่แหลมหยงสตาร์บรรยากาศดูงดงามตระการตา

มีความรู้สึกว่ายิ่งดวงตะวันเริ่มคล้อยต่ำลง ความสวยงามกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น

สะพานที่เป็นท่าเรือทอดยาวออกไปสู่ทะเลอันดามันกลายเป็นศูนย์รวมของความสุข
ผู้คนจำนวนไม่น้อยมารวมตัวกันบริเวณนี้ บ้างก็มาปั่นจักรยาน บ้างก็มานั่งปูเสื่อรับประทานอาหาร กินลมชมวิว

 แสงสุดท้ายของที่นี่บางทีความงดงามอาจจะไม่แตกต่างจากที่อื่นๆ
แต่ความพิเศษสำหรับที่นี่จะมีเทือกเขาบรรทัดทอดตัวเป็นแนวยาวที่ดูแล้วรู้สึกสวยงามอย่างยิ่ง 
ดวงตะวันค่อยๆ ลาลับ เหลือไว้เพียงแสงสีทองสะท้อนผืนน้ำ
ผมไม่แน่ใจนักว่ากลางทะเลเค้าทำการประมงเกี่ยวกับอะไร
แต่ที่ผมแน่ใจในตอนนี้ที่สุดคือภาพที่อยู่เบื้องหน้ามันช่างสวยงามจับใจดีเหลือเกิน

ห้องพักในราคาเพียงครึ่งพันเป็นที่นอนของพวกเราในคืนนี้
น่าแปลกใจตรงที่บริเวณแหลมหยงสตาร์จะไม่ค่อยมีที่พักมากนัก
เท่าที่เห็นก็มีเพียง 2-3 รายเท่านั้นในราคาที่แสนถูกแบบซีวิวมองเห็นทะเลเลย
แต่ก็ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพัก

เช้าวันนี้ผมวกกลับเข้ามาในตัวเมืองตรังอีกครั้งหลังจากในวันแรกไม่ได้แวะเยี่ยมเยือนอย่างจริงจัง
แต่ก่อนจะถึงตัวเมืองอีกราว 12 กิโลเมตร พวกเราแวะที่สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้(ทุ่งค่าย)กันก่อน 
“สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้(ทุ่งค่าย)” จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2529
ในสมัยที่คุณชวน หลีกภัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมอนุรักษ์เอาไว้ซึ่งพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่หายาก
ที่นี่เป็นที่เดียวในประเทศไทยที่มีสะพานเรือนยอดไม้ให้เดินชมธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เส้นทางศึกษาธรรมชาติโดยรอบของ “สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้(ทุ่งค่าย)”
จะแบ่งออกเป็นช่วงๆ รวมระยะทางราว 3 กิโลเมตร หากแต่เป็น 3 กิโลที่ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยเท่าไรนัก
คงเพราะมีความรู้สึกเพลิดเพลินไปกับธรรมชาติทั้งสองข้างทางเสียมากกว่า
ระหว่างทางเดินศึกษาธรรมชาติเรายังสามารถพบเห็นดอกไม้นานาชนิด
ในภาพเป็นดอกยี่โถปีนังที่พบเห็นได้อย่างมากมายระหว่างทางเดิน 
ตัวเมืองตรังในวันนี้ยังคงชุ่มฉ่ำไปด้วยสายฝนเหมือนกับในวันแรกที่ได้มา
บ้านเรือนในแบบโบราณสไตล์ชิโนโปรตุกีสมีให้เห็นโดยทั่วไปรอบตัวเมืองรวมไปถึงต่างอำเภอ
มีความรู้สึกว่าเมื่อได้มายืนอยู่ในตัวเมืองตรังเหมือนได้ย้อนอดีตไปในสมัยก่อน 
โบสถ์โบราณคริสตจักรตรัง” ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบนถนนห้วยยอด สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1915 จวบจนถึงปัจจุบันก็ครบ 100 ปีพอดี เป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็น 1 ใน 20 โบราณสถานของจังหวัดตรัง ที่นักท่องเที่ยวควรแวะเยี่ยมชม

ในตัวเมืองเรายังสามารถพบเห็นรถตุ๊กๆ หัวกบได้โดยทั่วไป
จนกลายเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์อย่างหนึ่งของการมาเยือนตรัง

หากจะไม่กล่าวถึงหมูย่างเมืองตรังที่ขึ้นชื่อก็คงจะดูว่ามาไม่ถึงเมืองตรังซักทีเดียวนัก
หมูย่างเมืองตรังมีร้านทำขายกันอย่างมากมายไม่เฉพาะในตัวเมือง ต่างอำเภอก็ยังพบเห็น
รสชาติอาจจะแตกต่างกันไปแต่ยังคงไว้ซึ่งความหอมของเครื่องเทศและความอร่อย
ติ่มซำหลากหลายเมนูเสริฟมาพร้อมกับน้ำชาร้อนๆ ที่หอมกรุ่น
เป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์อย่างหนึ่งสำหรับอาหารเช้าของคนเมืองตรัง
“อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี” อดีตเจ้าเมืองตรัง บิดาแห่งยางพาราไทย
ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะเขตเทศบาลเมืองตรัง ห่างจากศาลากลางจังหวัดราว 1 กิโลเมตร
โดยรอบบริเวณอนุสาวรีย์จัดเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ
ทุกย่างก้าวที่ได้สัมผัสเมืองตรัง มันเหมือนชีวิตที่เดินไปอย่างช้าๆ บนพื้นฐานของความสุข
จากจุดเริ่มต้นของการเดินทางจนสุดท้ายที่ปลายทางได้เปลี่ยนแปลงความคิดและความรู้สึกของผมไปย่างสิ้นเชิง
“ตรังเมืองแห่งความสุข” และมันก็เป็นความสุขในแบบที่ครบทุกรสชาติของการท่องเที่ยวจริงๆ
เพราะการเดินทางนี่เองที่ทำให้เราได้สัมผัสโลกแห่งความจริงมากกว่าการจินตนาการ
และเพราะการเดินทางที่ทำให้ผมได้รับรู้ว่าตรังสวยงามและบริสุทธิ์เพียงใด
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ไกด์สาวน้อยต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ 

สุดท้ายต้องขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่จัดโครงการ THE AMAZING JOURNEY BLOGGING CONTEST 12 เมืองต้องห้ามพลาด ขอบคุณ NOK AIR ขอบคุณ THAIRENT A CAR ขอบคุณ OUTDOOR ขอบคุณ TTBN และสุดท้ายขอขอบคุณ one22 

แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ


อีกหนึ่งพื้นที่การเดินทางในแบบฉบับของผม ม่วงมหากาฬ LIFE FOR TRAVEL 
https://www.facebook.com/PEESAT.PANTIP