ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
    • โพสต์-1
    Jerdja •  ตุลาคม 31, 2558

    เพราะชลบุรี ไม่ได้มีแค่พัทยา บางแสน สัตหีบ

    ชลบุรีก็มีวัดโบราณ อาคารเก่า ชุมชนประวัติศาสตร์ ที่ยังมีลมหายใจ...

    • โพสต์-2
    Jerdja •  ตุลาคม 31 , 2558

    เพราะชลบุรีไม่ได้มีแค่...

         ปฏิเสธไม่ได้เลย หากหลายคนจะนึกถึง พัทยา เกาะล้าน หาดบางแสน เกาะแสมสาร หาดทราย ทะเล เกาะ แสงสีและความเจริญสมัยใหม่ หากถามว่า "ชลบุรี...มีอะไรให้เที่ยว"

         และปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกัน ว่าที่เที่ยวเหล่านั้น เป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นที่หมายของนักท่องเที่ยวทั้งใน และนอกประเทศ  ชลบุรีจึงกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งไปด้วยเหตุนั้น

         ทว่า...กลับมีบางสิ่งที่ถูกลืม

         สถานที่ทางประวัติศาสตร์ชลบุรี มีใครพอจะรู้จักบ้าง...

         ...

         ชลบุรี ที่นี่มีประวัติยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคทวารวดี มีหลักฐานคือเมืองพระรถ (อ.พนัสนิคม) ที่ทุกวันนี้ยังหลงเหลือคูเมือง และสถูปให้ได้เห็น

         ประวัติศาสตร์ดำรงต่อไป กับการเป็นหัวเมืองจัตวาของกรุงศรีอยุธยา และเป็นทางผ่านของกองทัพพระเจ้าตากสิน ที่มุ่งหน้าไปยังเมืองจันทบุรี

         ช่วงระหว่างนี้เอง ที่บรรดาโบราณสถานก่อสร้างขึ้น เกิดชุมชนริมชายฝั่ง และคงอยู่เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน

         ทุกวันนี้ หลายสิ่ง หลายสถานที่ เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ถูกรื้อถอนบ้าง ดัดแปลงไปบ้าง แต่อย่างน้อย ก็ต้องมีสิ่งเล็กๆ อาจมีเพียงชิ้นเดียว ที่ฉายภาพอดีตอันรุ่งโรจน์ของสถานที่นั้น ภาพอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับมา...

         วัดเก่าเมืองชลบุรีก็เป็นเช่นนั้น 

    • โพสต์-3
    Jerdja •  ตุลาคม 31 , 2558

    เดิน...ปั่น... สองวิธียลเมืองชล

         อาณาเขตเทศบาลเมืองชลบุรี มีขนาดกลางๆ ไม่เล็กไม่ใหญ่ การชมสถานที่สำคัญในเทศบาลจึงนับว่าสะดวก เพราะวัดเก่า ชุมชนจะกระจุกกันอยู่ระหว่างถนนเจตจำนงค์ และถนนวชิรปราการ ซึ่งอยู่ใกล้กันไม่เกิน 1-2 กิโลเมตร

         ไหนๆ กระแสสโลว์ไลฟ์ ประหยัดพลังงาน อะไรต่อมิอะไรกำลังมาแรง การชมวัดเก่าเมืองชลในครั้งนี้ จึงใช้วิธี "เดิน" เดินชมไป แวะพักเรี่ยร่ายรายทางไป รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

         แต่ถ้าเดินไม่ไหว จะปั่นจักรยานก็ได้ ระยะทางแค่นี้สบายๆ เข้าซอกเข้าซอยลัดได้ไม่มีปัญหา

         สิ่งที่ต้องระวังก็คือรถ ในเมืองบรรยากาศค่อนข้างพลุกพล่านและวุ่นวาย มีรถสินค้า รถขนส่งแล่นบนถนนตลอดเวลา อย่าลืมที่จะมองสัญญาณไฟจราจร หรือจะข้ามถนนก็ข้ามพร้อมกันเยอะๆ ปลอดภัยแน่นอน

         เพียงเท่านี้ ก็มาเริ่ม ย่างสองเท้า...ยลวัดเก่าเมืองชล กันเลย ! 

    ความวุ่นวายบนถนนเมืองชล

    • โพสต์-4
    Jerdja •  ตุลาคม 31 , 2558

    วัดราษฎร์บำรุง จิตรกรรมงามโทนสีน้ำเงิน

         7.30 น.

         เรามาเริ่มกันที่วัดแรกนั่นคือ วัดราษฎร์บำรุง วัดเก่าแก่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มาถึงแล้ว พุ่งตรงไปที่อุโบสถกันเลย

         อุโบสถวัดราษฎร์บำรุง มีเสาพาไลล้อมรอบ ด้านหน้ามีการสร้างมุขยื่นขึ้นมาใหม่ หน้าบันเป็นภาพเทวดา ส่วนหน้าบันด้านหลังเป็นปูนปั้นประดับถ้วยกระเบื้อง

         นั่งรอเวลาทำวัตร จะมีพระที่ถือกุญแจมาเปิดอุโบสถเตรียมความเรียบร้อย ใช้โอกาสนี้ขออนุญาตเข้าชมด้านในได้

         ภายในอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระประธาน ซึ่งใครจะรู้บ้างว่า นี่ไม่ใช่พระประธานองค์จริง องค์จริงนั้นประดิษฐานอยู่ด้านหลังอีกที

         จุดที่น่าสนใจของวัดนี้คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เต็มพื้นที่ผนังทั้ง 4 ด้าน สิ่งที่สะดุดตาคือการใช้สีฟ้า - น้ำเงินมากเป็นพิเศษ ทำให้พอคาดเดาได้ว่า จิตรกรรมที่นี่วาดราวๆ สมัยรัชกาลที่ 4 - 5 ที่นิยมใช้สีน้ำเงินในการวาด

         เรื่องราวเป็นเรื่องพุทธประวัติ ผนังแรกอยู่ทางขวาขององค์พระ เวียนมาจบที่ผนังตรงข้ามกัน ด้านหลังบานประตูหน้าต่างวาดเป็นภาพเทวดา ทวารบาล

         ผนังด้านหลังพระประธาน เป็นภาพเทพยดาเหาะมานมัสการองค์พระ วาดเป็นภาพกลีบเมฆ ลงสีอ่อน - แก่ ราวกับท้องฟ้าจริงๆ

         เป็นการเริ่มต้นที่สวยงามสุดๆ !

    • โพสต์-5
    Jerdja •  ตุลาคม 31, 2558
    • โพสต์-6
    Jerdja •  ตุลาคม 31 , 2558

    Tips

    - ใครที่เอารถมา จอดไว้ที่วัดนี้ก็ได้ ขากลับค่อยเดิน หรือนั่งรถโดยสารกลับมา (เสียค่าจอดรถ)

    - ต้องทำเวลาสุดๆ ระหว่างอยู่ในโบสถ์ เพราะพระจะมาทำวัตรเมื่อไรเราไม่รู้เลย

    - ใครหิว หน้าวัดมีตลาดเช้า แนะนำปาท่องโก๋สเปน แป้งทอดร้อนๆ จิ้มนมข้นหวาน ไม่มีอะไรจะบรรยาย  

         
    • โพสต์-7
    Jerdja •  ตุลาคม 31 , 2558

    ตะลุย 4 วัดรวด

         8.20 น.

         เดินลงตามถนนราษฎร์ประสงค์มาไม่ถึงร้อยเมตร ก็จะถึงย่านตลาด ที่มีวัดเก่าถึง 4 วัดอยู่ในย่านนั้น 

         วัดกลาง หลายคนคงรู้จักจากการเป็นที่ตั้งของตลาดผ้าวัดกลาง สิ่งก่อสร้างยุคโบราณหลงเหลือเพียงศาลาการเปรียญ และพระปรางค์หน้าอุโบสถหลังใหม่เท่านั้น

         ถัดมาคือ วัดกำแพง วัดเก่าที่มีกำแพงค่อนข้างแปลก (ที่มาของชื่อวัด) อุโบสถติดกับกำแพงด้านทิศเหนือ เป็นทรงโบราณ ซุ้มหน้าต่างแบบบันแถลง เจาะซุ้มเสมาที่ผนัง

         ในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่สันนิษฐานว่าเป็นรุ่นเดียวกันกับวัดราษฎร์บำรุง ซึ่งได้ถูกบูรณะจนเป็นภาพสมัยใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว น่าเสียดายที่อุโบสถหลังนี้ไม่เปิดให้เข้าชม ยกเว้นเวลาทำวัตร หรือวันสำคัญทางศาสนา

         ในรั้ววัดยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์อธึก สวัสดีมงคล ที่รวบรวมวัตถุโบราณหลายชิ้น ไม่เสียค่าเข้าชม

         ข้ามถนนมาแล้วเดินตามถนนโพธิ์ทองไม่ไกล จะเจอกับ วัดนอก วัดเก่าสมัยรัชกาลที่ ๔ มีสองสิ่งให้ชมคือ อุโบสถหลังเก่า หรือวิหารในปัจจุบัน ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ (ชื่อเหมือนทางภาคเหนือ) ที่เพดานเขียนลายทองเป็นรูปดอกไม้และนก ส่วนในศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์เก่าให้ชม

         ออกมาที่หน้าประตูวัดนอก ก็จะมองเห็นประตู วัดเครือวัลย์ วัดนี้โด่งดังเรื่องวัตถุมงคลพระปิดตา อุโบสถมีขนาดใหญ่และสูง มีอาคารไม้โบราณเล็กๆ ข้างประตูฝั่งถนนเจตน์จำนง

         อย่างที่บอกไปว่า ทั้ง 4 วัดนี้อยู่ใกล้กันมาก ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวก็เดินครบแล้ว

    • โพสต์-8
    Jerdja •  ตุลาคม 31, 2558
    • โพสต์-9
    Jerdja •  ตุลาคม 31 , 2558

    Tips

    - การข้ามถนนต้องระวัง เพราะตรงนี้เป็นย่านตลาด และท่ารถ มีรถแล่นไปมาตลอดเวลาบางจุดไม่มีสัญญาณจราจร

    - สภาพในแต่ละวัดค่อนข้างเงียบ เปลี่ยว ระมัดระวังเรื่องทรัพย์สินด้วย

    - ไหนๆ มาถึงย่านตลาด แวะช๊อปสักหน่อยก็ได้

     

    • โพสต์-10
    Jerdja •  พฤศจิกายน 01 , 2558

    วัดใหญ่อินทาราม เพชรเม็ดงามของเมืองชล

         09.15 น.

        จากวัดเครือวัลย์ ออกกำลังขาเดินลงมาเรื่อยๆ ตามถนนเจตน์จำนง ระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นรั้ววัดสำคัญประจำจังหวัด นั่นคือ วัดใหญ่อินทาราม

         จากลักษณะของพระอุโบสถที่มีฐานแอ่นโค้งเหมือนเรือสำเภา ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเคยเป็นที่พักทัพพระเจ้าตากสิน ระหว่างการเดินทางไปเมืองจันทบุรี ภายหลังทางวัดได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชบริเวณทางเข้าวัด

         สิ่งที่งดงามเป็นที่ร่ำลือในบรรดาผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย อยู่ในพระอุโบสถนี้เอง...     องค์พระประธาน และหมู่พระพุทธรูปลงรักปิดทองอร่าม ประทับลดหลั่นดูงามตา เสาไม้ด้านในเขียนลายทองรูปพุ่มข้าวบิณฑ์

         ผนังทั้ง 4 ด้านตกแต่งด้วย ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ด้วยการคงความงามแบบดั้งเดิม แทบไม่ผ่านการบูรณะแบบสมัยใหม่ ลวดลายสายเส้นจึงยังคงความโบราณ ความมีมนตร์ขลังไว้อย่างน่าทึ่ง

         หากลองดูที่ละผนัง จะพบว่า บางผนังวาดคนละยุคสมัยกัน ผนังส่วนใหญ่วาดในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่บางผนังวาดในสมัยรัชกาลที่ 5 ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือการลงสีน้ำหนักอ่อน - แก่ การผลักระยะแบบตะวันตก

         เรื่องราวเป็นแบบประเพณีนิยม ผนังเหนือหน้าต่างเป็นเทพชุมนุมนั่งซ้อนกันเป็นแถว ผนังระหว่างหน้าต่างเป็นเรื่องทศชาติชาดก และพุทธประวัติบางตอน ผนังตรงข้ามองค์พระเป็นภาพมารผจญ และด้านหลังเป็นภาพไตรภูมิ

         

         อย่าลืมมองหาภาพปลาอานนท์ที่หนุนเขาพระสุเมรุ ภาพนี้เป็นที่กล่าวถึงทั้งความสวยงาม และปริศนาธรรมที่แฝงไว้

         จิตรกรรมฝาผนังของที่นี่ อุดมไปด้วยความงามทั้งเนื้อหาของภาพ ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา แฝงด้วยภาพวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต คุณค่าทางด้านศิลปะ ด้วยฝีมือประดุจช่างหลวง นั่นจึงทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดใหญ่อินทาราม เปรียบได้กับเพชรเม็ดงามในด้านประวัติศาสตร์ของชลบุรี

         แม้จะถูกลืมเลือนบ้าง หรือเข้าถึงได้ยากก็ตาม...

  1. โหลดเพิ่ม