โรงเรียนการเมืองการทหาร ร่องรอยประวัติศาสตร์การเมือง เรื่องของคนต่างอุดมการณ์
ห่างจากตัวที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินล่องกล้าออกไปประมาณ 6 กิโลเมตร พื้นที่ป่ารกทึบอันหนาแน่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การสู้รบของกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง และด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เปรียบเสมือนป้อมปราการทางธรรมชาติ จึงทำให้ในช่วง พ.ศ.2511-2525 ที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้เป็นบริเวณนี้เป็นฐานที่ตั้งในการวางแผนและพักฟื้นจากการสู้รบ และคราวนี้เราก็จะพาทุกคนไปย้อนรอยพื้นที่ประวัติศาสตร์กันที่ “โรงเรียนการเมืองการทหาร”
บริเวณโรงเรียนการเมืองการทหาร ในอดีตเคยเป็นสถานที่สำหรับให้การศึกษาตามแนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะประกอบไปด้วยบ้านฝ่ายพลเรือน บ้านฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายสื่อสาร และสถานพยาบาล รวมทั้งหมด 31 หลัง แต่ละหลังเป็นบ้านเล็กๆ ที่มีเพียงแคร่สำหรับนอนและโต๊ะเขียนหนังสือเท่านั้น ปัจจุบันบ้านบางหลังก็ผุพังไปตามเวลาเพราะถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ตั้งแต่คราวที่มวลชนเข้ามอบตัวแล้ว นอกจากการเดินชมรอบๆ บริเวณที่เคยเป็นฐานที่ตั้งของพวกคอมมิวนิสต์แล้ว เรายังได้เดินชมนิทรรศการบอกเล่าถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์การเมือง และที่ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนการเมืองการทหาร เราสามารถเดินไปดู “กังหันน้ำ” ที่ออกแบบและสร้างขึ้นโดยนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หนีเข้าป่าช่วงหลังเหตุกการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 กังหันน้ำนี้ใช้หล่อเลี้ยงคนหลายพันคนบนภูหินล่องกล้า ในอดีตบริเวณนี้เปรียบเสมือนโรงสีข้าวของ ผกค. เพราะกังหันน้ำจะใช้พลังน้ำขับเคลื่อนหมุนแกนกระเดื่องตำข้าวนั่นเอง
ออกจากโรงเรียนการเมืองการทหารแล้ว ไม่ไกลกันมากนักยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อีกแห่งให้เราได้ตามรอยเที่ยวชม ซึ่งที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นที่หลบภัย หลบระเบิดจากการโจมตีทางอากาศ โดยความได้เปรียบของสภาพภูมิประเทศที่มีก้อนหินขนาดใหญ่เรียงตัวสลับซ้อนกันไปมา ทำให้มีซอกหลืบที่สามารถใช้เป็นที่หลบภัยได้หลายจุด ส่วนเส้นทางการเดินผ่านหินแต่ละลูกก็มีความแคบและลาดชัน ขณะที่เราเดินลัดเลาะไปตามทางไม้แคบๆ ที่วางพาดระหว่างหิน เราก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินอยู่ไม่น้อย ทำให้รู้สึกได้ว่า ในอดีตผู้คนที่หลบหนีมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ คงจะมีความเป็นอยู่ลำบากมากเลยทีเดียว