แต่ก่อนที่เราจะไปรู้จัก "วาฬบรูด้า" นั้น เรามาทำความรู้จักกับ วาฬ กันก่อนดีกว่า
วาฬ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งด้วยความที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนปลา ทำให้มีผู้คนจำนวนมากมักจะเรียกวาฬว่า “ปลาวาฬ” โดยในประเทศไทยมีการสำรวจพบวาฬทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามันรวมแล้ว 25 ชนิด
ส่วนของ "วาฬบรูด้า" เป็นวาฬชนิดที่ไม่มีฟัน แต่จะมีซี่กรองสำหรับกรองอาหาร ลักษณะลำตัวมีสีเทาดำ รูปร่างค่อนข้างเพรียว มีลายแต้มสีขาวประปรายตรงใต้คาง และใต้คอ บางตัวพบมีแถบสีจางบนแผ่นหลัง และบางตัวก็มีจุดสีจางทั้งตัวคล้ายสีเทาลายกระสีขาว ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน วาฬบรูด้าเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 8-13 ปี ตั้งท้องนาน 11-12 เดือน และเป็นสัตว์ที่ไม่นิยมหากินเป็นฝูง แต่มักจะออกหากินตัวเดียว ยกเว้นวาฬคู่แม่ลูกที่ยังไม่แยกจากกัน วาฬแต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะตัว และทางเจ้าหน้าที่ได้ตั้งชื่อแต่ละตัวไว้ วาฬตัวเมีย จะเรียกว่า "แม่" เช่น แม่ข้าวเหนียว แม่ทองสุข แม่สาคร ถ้าไม่รู้ว่าเพศอะไร ก็จะเรียกว่า “เจ้า” เช่น เจ้าพาฝัน เจ้าบันเทิง เจ้าบางแสน เป็นต้น
สำหรับวาฬบรูด้าในอ่าวไทย โดยเฉพาะที่อ่าว ตัว ก. (อ่าวไทยตอนใน หรืออ่าวไทยตอนบน) ที่กินพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีไปถึงชลบุรี มีลักษณะเป็นหาดเลน มีแม่น้ำหลายสายไหลลงสู่ทะเล ถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของวาฬบรูด้า ทำให้เราสามารถพบวาฬบรูด้าออกหากินที่อ่าวไทยได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาทองที่มีโอกาสจะพบวาฬบรูด้าออกหากินมากเป็นพิเศษถึง 80% นั้นก็คือในช่วงระหว่างเดือน กันยายน-พฤศจิกายน โดยในช่วงราว ๆ เดือนกันยายนขึ้นไป น้ำจืดจากแม่น้ำจะไหลพัดพานำธาตุอาหารต่าง ๆ ลงสู่อ่าวตัว ก. ก่อนจะตกตะกอนเป็นหาดเลน และเป็นอาหารจานโปรดของเหล่าแพลงก์ตอน
การสังเกตวาฬบลูด้าว่าจะโผล่ขึ้นมาตอนไหนนั้น เราสามารถสังเกตจากฝูงปลากะตัก ปลาทู รวมถึงปลาเล็กปลาน้อยจำนวนมากจะพากันเข้ามากินแพลงก์ตอน จากนั้นวาฬบรูด้าก็จะเข้ามากินพวกปลาเล็กปลาน้อยอีกที โดยอ้าปากงับน้ำทะเล และปลาไปพร้อม ๆ กัน และแทบทุกครั้งก็จะมีนกนางนวลมาบินวนคอยฉกอาหารอยู่เสมอ ถือเป็นวิถีธรรมชาติของสัตว์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน แต่บางทีการโผล่ขึ้นมานั้นก็อาจขึ้นมาหายใจเฉย ๆ เพียงชั่วครู่ และถ้าเราสังเกตุดี ๆ นั้นเราจะเห็นวาฬบางตัวที่โผล่ขึ้นมามีส่วนด้านล่างของหางเป็นสีชมพูอ่อนจนถึงเข้มจัด นั่นเป็นเพราะมันต้องใช้เลือดมาหล่อเลี้ยง และใช้พลังงานอย่างมากในการยกส่วนแพนหางตีน้ำให้เหยื่อรวมกลุ่ม หรือในขณะที่ต้องการดำน้ำลึก
คนขับเรือเล่าให้ผมฟังว่า "วาฬบรูด้าเป็นสัตว์ไม่ดุร้าย แต่เป็นสัตว์ขี้สงสัย มันมักจะว่ายตามเรืออยู่บ่อย ๆ ด้วยความสงสัย บางทีว่ายวนรอบเรืออยู่หลายรอบ ยิ่งเจ้าตัวลูกนี่แหละตัวซนเลย” ผมฟังยังไม่ทันจบประโยคดีก็เห็นวาฬตัวนึงว่ายมุดใต้ท้องเรือที่ผมกำลังนั่งอยู่จนผมรู้สึกว่าเรือเอียง แต่ที่เรือเอียงจริง ๆ แล้วเป็นเพราะทุกคนในเรือตื่นเต้นจนพากันกรูไปดูข้างเดียวมากกว่า ไม่ใช่เพราะเจ้าวาฬหรอก
มีการสำรวจว่าพบวาฬบรูด้าทั้งหมด 53 ตัวในอ่าวไทย และล่าสุดพบลูกวาฬเกิดใหม่จากแม่ข้าวเหนียว และแม่ทองดี และในปัจจุบันทางกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ได้ผลักดันให้ขึ้นทะเบียนสัตว์ทะเลหายาก และใกล้สูญพันธุ์อย่าง “วาฬบรูด้า” เป็นหนึ่งในสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ของประเทศไทย ในพ.ร.บ.สงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากล่องเรือชมวาฬบรูด้า ทาง ททท.สำนักงานเพชรบุรี มีข้อแนะนำ และข้อควรปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว และคนขับเรือนำชมวาฬบรูด้ามาแนะนำ ดังต่อไปนี้
- ไม่ควรนำเรือเข้าใกล้วาฬมากกว่ารัศมี 300 เมตร ควรนำเรือเข้าดูด้านข้างของวาฬ
- ถ้าวาฬบรูด้าเข้ามาใกล้เรือควรดับเครื่องยนต์ ไม่ควรเปลี่ยนทิศทาง และความเร็วเรือ
- เมื่อมีโอกาสอยู่ใกล้วาฬควรชลอหรือดับเครื่องยนต์ ห้ามกระโดดน้ำลงไปถ่ายรูปกับวาฬ
- เมื่อวาฬว่ายน้ำออกจากตำแหน่งที่เราสังเกตุเห็น ไม่ควรเร่งเครื่องยนต์ตาม จะทำให้วาฬตกใจว่ายน้ำหนีได้
- วาฬจะใช้คลื่นเสียงในการสื่อสาร หาอาหาร และเดินทาง ดังนั้นงดใช้เสียงหรือใช้เสียงให้น้อยที่สุด
- นักท่องเที่ยวที่จะเหมาลำเครื่องบินมาดูวาฬควรอยู่ในระยะความสูงระหว่าง 300 – 500 เมตร จากผิวน้ำ
สรุปการเดินทางครั้งนี้เราใช้เวลาอยู่บนเรือเกือบ 5 ชั่วโมงในการเฝ้าชมความยิ่งใหญ่ของวาฬบรูด้า หากใครยังไม่เคยมานั่งเรือชมวาฬแบบนี้แนะนำเลยว่าต้องมาสักครั้งแล้วจะติดใจกับความน่ารักของวาฬอย่างแน่นอน ที่สำคัญอย่าลืมกล้องถ่ายรูปด้วยนะ จะได้เก็บจังหวะสวย ๆ ของวาฬไปฝากเพื่อนได้