ย้อนรอยอดีตเส้นทางกันตัง สถานีรถไฟปลายทางสายใต้ฝั่งทะเลอันดามัน เพลินกับห้องสมุดรถไฟ แล้วเดินไปเที่ยวชมจวนเก่าเจ้าเมืองตรัง
ในแต่ละสถานที่แต่ละจังหวัดของไทยนั้น ต่างก็มีเรื่องราวทั้งทางประวัติศาสตร์ เทศกาล ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันให้นักท่องเที่ยวอย่างเราออกค้นหา เก็บเรื่องราวต่าง ๆ จากในอดีตผ่านมาจนปัจจุบัน สำหรับจังหวัดตรังนี้ เป็นจังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย ทำให้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศตั้งแต่สมัยก่อนรัตนโกสินทร์ และยังเป็นเมืองท่าที่สำคัญของไทยอีกด้วย นอกจากการติดต่อค้าขายทางเรือแล้ว ตรังก็มีเส้นทางรถไฟเก่าแก่อายุราวกว่า 100 ปี ที่ใช้ขนส่งสินค้าภายในประเทศ และต่างประเทศ สถานีรถไฟแห่งนี้คือ "สถานีรถไฟกันตัง"
สถานีรถไฟกันตังเป็นสถานีรถไฟสุดทาง ของทางรถไฟสายใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งอยู่บนถนนหน้าค่ายตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ตัวสถานีเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาล แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ตัวอาคาร และชานชาลา ด้านหน้าอาคารมีมุขยื่นประดับมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุ ประตูบานเฟี้ยมแบบเก่าคงเอกลักษณ์เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีความสวยงามเป็นพิเศษ ปัจจุบันสถานีรถไฟกันตังได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร
ในอดีตถูกใช้เป็นที่รับส่งสินค้ากับต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีรางรถไฟต่อไปเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร จากตัวสถานีถึงท่าเทียบเรือกันตังซึ่งเป็นท่าเรือเก่าแก่ตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันทางรถไฟส่วนนี้ถูกชาวบ้านรุกล้ำที่ และไม่มีรางรถไฟส่วนนี้แล้ว แต่ภายในสถานียังพอมีข้าวของเครื่องใช้ในอดีตคงเหลืออยู่บ้าง โดยภาพรวมแล้วยังรักษาเอกลักษณ์เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ไว้ได้เป็นอย่างดี
ในห้องถัดไปมีโต๊ะนายสถานีให้นักท่องเที่ยวเขียนแสดงความรู้สึกต่อสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งนี้ และยังมีห้องจำหน่ายตั๋ว และตารางการเดินรถไฟที่ใช้จริงในปัจจุบันให้เราได้เห็นด้วย