ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร แวะสักการะมุกดาวดี ยอดนารีศรีถลาง อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร (Thep Kasatri & Si Sunthon Heroines Monument) จ.ภูเก็ต
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  ตุลาคม 03 , 2556

    จากสะพานสารสินนั่งรถมุ่งหน้าไปยังเส้นทางสายหลักถนนเทพกระษัตรี เส้นทางหลวงหมายเลข 402 เพื่อเข้าตัวเมืองภูเก็ตด้วย จุดหมายของการเดินทางครั้งนี้คือการไปนมัสการ อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ที่บ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง หรือที่ชาวภูเก็ตรู้จักกันดีในนาม “อนุสาวรีย์คุณหญิงจัน คุณหญิงมุก” ซึ่งเป็นนามเดิมของท่านทั้งสองนั่นเอง

    หากเปรียบสะพานสารสินเป็นทางเดินเข้าสู่เมืองภูเก็ต อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ก็เปรียบได้ดั่งประตูบ้านก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าใครจะเดินทางเข้าออกเกาะแห่งนี้ ย่อมต้องผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีทั้งขาไปและขากลับ ก่อนที่จะไปนมัสการขอพรจาก ย่าจัน ย่ามุก เรามาทำความรู้จักอนุสาวรีย์คู่บ้านคู่เมืองแห่งนี้กันสักเล็กน้อยดีกว่าครับ


    • โพสต์-2
    theTripPacker •  ตุลาคม 03 , 2556

    พ.ศ.2328 ประเทศไทยถูกพม่ารุกรานโดยศึกครั้งนั้นเรียกกันว่า “สงครามเก้าทัพ” และมีทัพหนึ่งของพม่าบุกมาทางภาคใต้หมายจะตีเมืองถลางให้สำเร็จ ขณะนั้นเจ้าเมืองถลางสามีของคุณหญิงจันเพิ่งเสียชีวิตลงไม่นานทำให้เมือง ถลางครานั้นขาดผู้นำ  คุณหญิงจันและคุณหญิงมุกผู้เป็นน้องจึงอาสาเป็นผู้บัญชาการรบด้วยตัวเอง โดยคุณหญิงจันได้รวบรวมผู้คน อาวุธปืน และประชุมวางแผนป้องกันเมืองกับทหารชาย แต่ถึงอย่างไรทหารที่มีก็น้อยเหลือเกิน คุณหญิงจันและคุณหญิงมุกจึงคิดอุบายให้พม่าถอยทัพกลับโดยเร็วที่สุด โดยการรวบรวมผู้หญิงในเมืองถลางราว 500 คน มาแต่งตัวเลียนแบบชายชาตรี ทั้งการเดิน บุคลิกท่าทาง และที่สุดแห่งอุบายคือการให้ผู้หญิงทั้งหมดแสร้งทำเป็นว่าถือดาบ โดยให้เอาไม้ทองหลางเคลือบดีบุกถือต่างอาวุธ เพื่อลวงข้าศึกทำทีว่าจะยกพลเข้าตีทัพพม่า อีกกลยุทธ์ที่เด็ดดวงไม่แพ้กันคือรู้ว่าตนมีกำลังน้อย จึงทำทีจัดขบวนไพร่พลเดินตระเวนและประชุมพลถ่ายเทคนเข้าออก เป็นการลวงให้เห็นว่าทัพไทยมีพลกำลังเสริมเข้ามาตลอดเวลา ทำให้พม่าลังเลใจที่จะเข้าตี นับเป็นการหน่วงเหนี่ยวเวลาที่ได้ผลและแสบสันต์ที่สุด ระยะเวลาที่ยาวนานส่งผลให้กองทัพพม่าขาดเสบียงอาหาร บาดเจ็บล้มตายเป็นประจำทุกวัน เมื่อไม่เห็นทางจะตีเมืองถลางให้แตกได้กอปรกับขาดเสบียง ความอ่อนล้าจากสงครามและการเดินทาง ซึ่งกินเวลาราว 5 เดือน ส่งผลให้กองทัพปั่นป่วนและสูญเสียทหารไปมากกว่า 400 คน พม่าจึงตัดสินใจยกทัพกลับไป

    วีรกรรมของคุณหญิงจัน คุณหญิงมุกในครั้งนี้ทำให้รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ คุณหญิงจัน เป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณหญิงมุก เป็น ท้าวศรีสุนทร เป็นการเทอดพระเกียรติแก่คุณงามความดีที่มีต่อประเทศไทย ต่อมาชาวภูเก็ตได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เมื่อ พ.ศ. 2509

    • โพสต์-3
    theTripPacker •  ตุลาคม 03, 2556
    • โพสต์-4
    theTripPacker •  ตุลาคม 03 , 2556

    โดยอนุสาวรีย์ ตั้งอยู่กลางวงเวียนท่าเรือ บนถนนเทพกระษัตรี อำเภอถลาง เป็นอนุสาวรีย์ยืนลอยตัว สูง 10 เมตร เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และที่ยกย่องสรรเสริญถึงวีรกรรมความกล้าหาญ ความเสียสละเพื่อชาติ สำหรับชาวภูเก็ตวีรกรรมของท่านทั้งสองยิ่งใหญ่เหลือเกิน ดังจะเห็นได้จากชื่อของสถานที่ว่าตำบลเทพกระษัตรี และ ตำบลศรีสุนทร เมื่อเอ่ยถึงชื่อตำบลชาวภูเก็ตทุกคนย่อมรำลึกถึงความเสียสละของท่านที่ทำให้ชาวภูเก็ตมีที่อยู่อาศัยอย่างสงบร่มเย็นมาจนถึงปัจจุบัน 

    • โพสต์-5
    theTripPacker •  ตุลาคม 03, 2556
    • โพสต์-6
    theTripPacker •  ตุลาคม 03 , 2556

    เชื่อกันว่าหลายคนที่ได้มานมัสการขอพรต่อท่านก็มักจะได้อย่างที่ขอ อีกทั้งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจจากความทุกข์เศร้า ส่วนใครที่มาบนบานสานกล่าวเชื่อเถอะครับว่าไม่นานท่านต้องได้กลับมาแก้บน อย่างแน่นอน รู้เช่นนี้แล้วใครที่กำลังมีแพลนจะมาเที่ยวภูเก็ตก็อย่าลืมแวะมานมัสการอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เป็นที่แรก เพื่อความเป็นสิริมงคลเอาฤกษ์เอาชัย  ก่อนจะไปยลความงามของหาดทรายสวย น้ำทะเลใส  ชมความงามของพระอาทิตย์อัสดง ณ แหลมพรหมเทพ หรือ เมืองเก่าโบราณสไตล์ชิโน – โปรตุกีส และสถานที่ท่องเที่ยวอันน่าสนใจอีกมากมายของเมืองภูเก็ต

    • โพสต์-7
    theTripPacker •  ตุลาคม 03 , 2556

    Note

    - มีความเชื่อว่าหากถวายดอกดาวเรืองต่ออนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษตรี ท้าวศรีสุนทร จะทำให้ชีวิตเกิดความเจริญรุ่งเรือง

    - ชื่อท้าวเทพกระษัตรีผู้คนมักเข้าใจว่า กษัตริย์ที่เป็นผู้หญิง แต่ความหมายจริงของชื่อนี้ มีความหมายว่าผู้หญิงธรรมดาเท่านั้นเอง

    - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปพงศ์ประพันธ์ เคยแต่งบทกวีสรรเสริญวีรกรรมของย่าจัน ย่ามุก ไว้ในหนังสือ  "นารีเรืองนาม"

    - ทุกๆ ปีของเดือนมีนาคมชาวภูเก็ตจะจัดงาน วัฒนธรรมท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนในชาติเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตน เอง

    • โพสต์-8
    theTripPacker •  ตุลาคม 03, 2556

    ความคิดเห็นของผู้เขียน

    • จุดเด่น:
    • สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองภูเก็ต ที่ใครผ่านไปมาย่อมต้องแวะสักการะสักครั้งเพื่อเป็นสิริมงคลของชีวิต ด้วยวีรกรรมการป้องกันรักษาเมืองถลางไว้ ไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เป็นวีรกรรมอันควรค่าแก่ชนชาวเมืองถลางตลอดจนชาวไทยทั่วกันยกย่องสรรเสริญ
    • จุดด้อย:
    • แม้ที่ตั้งของอนุสาวรีย์จะโดดเด่นเป็นสง่า แต่กลับไม่ง่ายเลยที่จะหาที่จอดรถและลงไปสักการะ เพราะการจราจรบริเวณสี่แยกท่าเรือแน่นขนัดไปด้วยรถรา รวมถึงรถบัสรับ-ส่งนักท่องเที่ยวของบริษัททัวร์
    • ข้อสรุป:
    • อยากบอกว่าอนุสาวรีย์วีรสตีแห่งนี้คือประตูบ้านของชาวภูเก็ตก็ว่าได้ ใครไปใครมาเมืองนี้ย่อมต้องผ่าน ต้องแวะมาสักการะ จะดีไม่น้อยถ้าหากเรามาในฐานะนักท่องเที่ยวแล้วได้ไหว้สักการะเจ้าของบ้านเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย ก่อนจะไปพักผ่อนเติมความสุขในส่วนอื่นๆ ของบ้านหลังนี้
    คะแนน
    • โพสต์-9
    theTripPacker •  ตุลาคม 03 , 2556

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : วงเวียนสี่แยกท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

    GPS : 7.98119003, 98.36383296 

    ช่วงเวลาแนะนำ : เช้าตรู่ก่อน 7.00 น.ของทุกวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่แออัด

    กิจกรรม : สักการะอนุสาวรีย์อันศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งชีวิต

    • โพสต์-10
    theTripPacker •  ตุลาคม 03 , 2556

    วิธีการเดินทาง

    จากตัวเมืองให้ขับรถตรงมาทางถนนสายหลักเทพกระษัตรี เส้นทางหลวงหมายเลข 402 ซึ่งอนุสาวรีย์จะตั้งอยู่ที่วงเวียนสี่แยกท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอ ถลาง เป็นที่สังเกตได้อย่างชัดเจน

  1. โหลดเพิ่ม