รีวิวนี้จะขอแนะนำ 12 สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตจังหวัดสกลนคร ยิ่งถ้าได้มาช่วงวันออกพรรษา เพื่อนๆ จะได้ชมประเพณีแห่ปราสาทผึ้งร่วมด้วย 1 ปีมีหนเดียว หาชมได้ที่ สกลนคร ที่เดียวเท่านั้น !!!
1. พระธาตุเชิงชุม
วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาช้านานแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ยอดฉัตรเหนือพระธาตุทำด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 247 บาท ภายในมีรอยพระพุทธบาท 4 พระองค์ นับตั้งแต่พระกุสันทะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคดม มีคำกล่าวว่า “จะมีครั้งไหนที่ได้อานิสงส์มากไปกว่าการได้มาบูชา พระธาตุที่สร้าง ครอบรอยพระบาทแห่งพระพุทธเจ้าถึง 4 พระองค์” เชื่อกันว่าผู้ที่มาสักการบูชาองค์พระธาตุเชิงชุม จะได้รับอานิสงส์ให้เกิดความเป็นสิริมงคลสูงสุดแก่ตนเองและครอบครัว ให้มีความเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดปราศจากอันตรายทั้งปวงครับ
ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระองค์แสน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร คู่มากับพระธาตุเชิงชุมครับ ด้านหลังหลวงพ่อพระองค์แสน จะมีประตูเปิดอยู่ ผมคาดเดาว่าน่าจะเป็นพระธาตุองค์เดิมที่ถูกพระธาตุองค์ใหม่ที่เราเห็นอยู่ด้านนอกสร้างครอบเอาไว้ ตรงจุดนี้ผู้หญิงดูได้แต่ด้านนอกนะครับ แต่ผู้ชายสามารถเข้าไปด้านในประตูได้
ด้านข้างองค์พระธาตุเป็นที่ตั้งของอุโบสถ ซึ่งพระอุโบสถหลังเดิมสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2370 มีลักษณะเป็นสิมแบบโถง โครงสร้างเป็นไม้ก่ออิฐถือปูน แต่ตอนหลังได้รับการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง ภายในมีจิตรกรรมเป็นภาพเถาไม้เลื้อยเป็นแนวรอบอาคาร ผนังเป็นรูปเทพบุตรและเทพธิดา ดาวประจำยาม มังกร และเถาไม้เลื้อย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ครับ
ด้านหน้ามีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มาพร้อมองค์พระธาตุ เดิมมีน้ำพุผุดขึ้นมาเนื่องจากเป็นปลายทางของลำน้ำใต้ดินที่ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน แล้วไหลมาผุดที่นี่ ชาวบ้านเรียกกันว่า “ภูน้ำลอด” เมื่อน้ำน้อยลงเรื่อยๆ จึงมีการทำผนังกั้นไม่ให้ดินพังลงไป ในอดีตจะนำน้ำจากบ่อนี้ไปประกอบพิธีเมื่อมีพิธีกรรมที่สำคัญๆ ครับ
2. วัดป่าสุทธาวาส
วัดป่าสุทธาวาส วัดป่ากลางเมืองที่มีความร่มรื่น เงียบสงบ เหมาะกับการมาปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมากครับ เป็นวัดที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระเลือกที่จะมาพักอาพาธ ปัจจุบันวัดแห่งนี้เป็นสำนักเรียนสำคัญของพระภิกษุสงฆ์ในสกลนครครับ
เนื่องจากวัดป่าสุทธาวาสเป็นสถานที่ในการละสังขารของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ทางวัดจึงได้สร้างพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่นขึ้น ภายในอาคารมีอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น บรรจุอยู่ภายในหุ่นขี้ผึ้งด้วย รวมทั้งจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารมากมาย ตัวอาคารสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมแบบเรียบง่าย และดูใกล้ชิดกับธรรมชาติ อันเป็นการสะท้อนถึงการใช้ชีวิตของท่านตลอดทั้งชีวิตการอุปสมบทครับ
นอกจากพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่นแล้ว ยังมีพระอุโบสถที่มีความงดงามแบบไทยๆ มีกำแพงแก้วรายรอบ ก่อสร้างขึ้นในสถานที่ที่เคยเป็นกุฏิที่ท่านมรณภาพ และยังเป็นที่ใช้ในการประชุมเพลิงพระอาจารย์ด้วย ภายในประดิษฐานพระประธานประจำวัดครับ
3. อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ
อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ ภายในมีบึงบัวขนาดใหญ่กว่า 10 ไร่ ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้า โดยทางอุทยานได้ทำสะพานไม้สีแดงที่ทอดยาวเชื่อมต่อกันให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมบัวในบึงอย่างใกล้ชิด มีศาลาทรงไทยอยู่กลางบึงบัวสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจครับ
จุดประสงค์ของการสร้างอุทยานบัวแห่งนี้ เพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมบัวพันธุ์ต่างๆ กว่า 34 สายพันธุ์ เช่น บัวสาย บัวผัน-เผื่อน บัวฝรั่ง และรองรับการประชุมวิชาการบัวนานาชาติ เมื่อปี 2553 ที่จัดขึ้นที่วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนครครับ เห็นว่าอุทยานบัวแห่งนี้เป็นอุทยานบัวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศด้วยนะครับ การเข้าชมที่นี่ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ นะครับ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้ปั่นจักรยานรอบบึงบัวด้วย โดยจะมีรถจักรยานให้เช่าปั่นชมบรรยากาศ รวมถึงมีร้านกาแฟให้เติมความสดชื่นด้วยครับ
4. จุดชมวิวหนองหาน
หนองหาน เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 123 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมเขตเทศบาลเมืองสกลนครกับอีก 10 ตำบลของอำเภอเมืองสกลนคร และ อ.โพนนาแก้ว เนื้อที่กว่า 77,000 ไร่ นับเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ สันนิษฐานว่าหนองหานเกิดจากการยุบตัวของแผ่นเปลือกโลก อันเนื่องมาจากการถูกชะล้างของชั้นหินเกลือใต้ดินจนเกิดโพรงขนาดใหญ่ และเกิดการพังทลาย ยุบตัวลงเป็นหนองน้ำในเวลาต่อมา
จุดชมวิวหนองหาน อยู่เยื้องๆ กับอุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติครับ
มาช่วงกลางวัน แดดมันก็จะเปรี้ยงขนาดนี้ ร้อนจนขนหัวลุกครับ ที่นี่เหมาะกับการมานั่งตากลมชมวิวช่วงพระอาทิตย์ตกดิน หรือมาวิ่งออกกำลังกายยามเช้าเป็นอย่างมาก
5. โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล แห่งหมู่บ้านท่าแร่
หมู่บ้านท่าแร่ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์มากที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนนับถือศาสนาคริสต์ จึงไม่แปลกใจเลยที่แถวนี้จะเห็นโบสถ์อยู่มากมาย อีกหนึ่งโบสถ์ที่น่าสนใจ ไม่แวะไม่ได้ นั่นคือ "โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล" โบสถ์ขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายเรือ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการอพยพมาตั้งถิ่นฐานของคริสตชนในหมู่บ้านนี้ เสียดายที่วันที่ผมไป ด้านในโบสถ์กำลังประกอบพิธีกรรม ผมเลยไม่มีโอกาสได้เข้าไปชมด้านในครับ
6. หมู่บ้านท่าแร่
อีกหนึ่งกิจกรรมที่มาถึงหมู่บ้านท่าแร่แล้วไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง นั่นคือการเดินชมบรรยากาศความสวยงามของบ้านโบราณที่มีอายุมากกว่า 100 ปี อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ในชุมชนท่าแร่ถูกสร้างขึ้นแบบตึกปูนทรงยุโรปในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสผสมเวียดนาม อาคารแต่ละหลังถูกสร้างขึ้นด้วยการใช้ภูมิปัญญาช่างและประสบการณ์การก่อสร้างบ้านแบบก่ออิฐฉาบปูน ไม่มีช่างใดทำได้และไม่ค่อยพบเห็นที่ไหน ปัจจุบันเทศบาลตำบลท่าแร่ได้ใช้ตึกเหล่านี้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านสถาปัตยกรรมของบ้านท่าแร่ ใครอยากรู้ว่า “ตึกฝรั่งช่วงญวน” เป็นอย่างไร ลองไปเดินหาคำตอบที่หมู่บ้านท่าแร่ดูนะครับ
หากสังเกตดีๆ บ้านเกือบทุกหลังจะประดับประดาด้วยโมบายเป็นรูปดาว เพราะ“ดาว” คือ สัญลักษณ์ของการเสด็จลงมาประสูติบนโลกมนุษย์ของพระเยซูเจ้า และทุกๆ ปีในช่วงวันคริสต์มาส จะมีการจัด เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส ที่หมู่บ้านท่าแร่แห่งนี้ เพื่อเฉลิมฉลองการบังเกิดมาของพระเยซูเจ้า ตามตำนานที่เล่าว่า ในช่วงเวลาที่พระเยซูประสูตินั้น โหราจารย์ได้มองเห็นดาวลักษณะพิเศษดวงหนึ่งที่มีความสุกสว่างกว่าดาวทั่วไป ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าเป็นที่น่าอัศจรรย์ จึงออกเดินทางตามแสงแห่งดวงดาว จนไปพบกับสถานที่ประสูติของพระเยซูเจ้าที่เมืองเบธเลเฮม ประเทศปาเลสไตน์ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความเชื่อความศรัทธา การส่งมอบความสุขความรื่นเริง ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคริสตชนในช่วงเทศกาลคริสต์มาสด้วยครับ
สำหรับการเดินทางก็ไม่ยากเลยครับ ถ้าใครอยากเดินชมบรรยากาศช้าๆ ก็จอดรถไว้ที่โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล แล้วเดินออกทางประตูด้านหลังได้เลย ตลอดสองข้างทางมีบ้านเก่าๆ ให้ชมมากมาย
7. พระธาตุนารายณ์เจงเวง
พระธาตุนารายณ์เจงเวง เป็นพระธาตุเก่าแก่สมัยเดียวกันกับพระธาตุเชิงชุมซึ่งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองสกลนคร แต่ศิลปะการก่อสร้างนั้นผิดไปคนละแบบ พระธาตุองค์นี้สร้างด้วยหินทราย ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ แบบเดียวกับปราสาทหินพิมาย แต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นปรางค์แบบขอม ปัจจุบันบริเวณหลังคาและยอดหักพังหมดแล้ว แต่ยังคงเหลือแต่องค์พระธาตุครับ บริเวณซุ้มประตูแต่ละด้านมีรูปสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ยังค่อนข้างสมบูรณ์
8. วัดถ้ำผาแด่น
วัดถ้ำผาแด่น ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน เห็นว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่มีความเป็นมาเฉียดๆ ร้อยปี โดยมีชื่อตามทะเบียนสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2483 ครับ แต่วัดนี้น่าจะเริ่มมีชื่อเสียง ติดตลาดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ด้วยความโดดเด่นเรื่องงานแกะสลักบนหน้าผาหินที่มีเอกลักษณ์แบบวิจิตรศิลป์ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวพุทธประวัติต่างๆ ในอดีตวัดแห่งนี้ได้มี พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนาหลายองค์มาจำพรรษาปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี่ อย่างหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ก็เคยมาจำพรรษาที่นี่ด้วย ต่อมาช่วงปี 2550 พระอาจารย์ปกรณ์ กนฺตวีโร เจ้าอาวาสคนปัจจุบัน ได้เข้ามาพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมะ เพื่อดึงประชาชนและกลุ่มวัยรุ่นให้เข้าวัดมากขึ้น ต้องนับถือท่านจริงๆ ที่สามารถดึงประชาชนให้เข้ามาเที่ยววัดได้แบบล้นหลาม ตามที่ท่านตั้งใจได้จริงๆ
บริเวณลานนาคราช สามารถชมวิวเมืองสกลนครและบึงหนองหานได้ด้วยครับ
นอกจากความสวยงามของงานแกะสลักหินแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่จะลืมกล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือสวนสวยๆ ที่จำลองสวรรค์ชั้นต่างๆ มาไว้บนเทือกเขาภูพานแห่งนี้ เรียกได้ว่ายกป่า ยกน้ำตก มารวมไว้ที่นี่ที่เดียว รับรองเลยว่าไม่น้อยหน้าสวนนงนุชแน่นอนครับ
การจะขึ้นไปเที่ยวชมวัดถ้ำผาแด่น ต้องจอดรถไว้ที่ลานจอดรถ จากนั้นจะต้องนั่งรถสองแถวทอยขึ้นไปด้านบน สำหรับค่าโดยสารขึ้นลงคนละ 20 บาท แนะนำว่าให้มาเที่ยววันธรรมดา เพราะวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ คนเยอะมาก ช่วงที่ผมไปนักท่องเที่ยวล้านแปดตลาดแตกเลยครับ นี่ถ้าเป็นวันหยุดยาวแล้ว เลี่ยงได้ก็เลี่ยงครับ จะได้ไม่เสียเวลารอคิวนานครับ
9. พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร
พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร ตั้งอยู่ในวัดป่าอุดมสมพร ซึ่งเป็นวัดที่พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานเคยจำพรรษาอยู่ เจดีย์พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อสร้างขึ้นในปี 2523 รัชกาลที่ 9 เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ และได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2525 ลักษณะตัวพิพิธภัณฑ์เป็นรูปเจดีย์ฐานกลมกลีบบัวสามชั้น ภายในมีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้น ในท่านั่งห้อยเท้าและถือไม้เท้าไว้ในมือ ขนาดเท่ารูปจริง ตั้งอยู่กลางพิพิธภัณฑ์ รายล้อมด้วยตู้กระจกที่ใช้เก็บเครื่องอัฐบริขารที่ท่านใช้เมื่อยามมีชีวิต รวมทั้งประวัติความเป็นมาตั้งแต่ท่านเกิดจนมรณภาพ ด้านหน้าของรูปปั้นมีตู้บรรจุอัฐิของท่านด้วยครับ
10. พระธาตุโพนทอง
พระธาตุโพนทอง พระธาตุที่หลายคนมองข้าม ดูจากรูปทรงและลักษณะแล้ว น่าจะเป็นพระธาตุเก่าแก่เอามากๆ คือมีความขลังอยู่ในตัวครับ ผมแอบนึกน้อยใจแทนองค์พระธาตุโพนทองเหมือนกัน เพราะอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจารโร เพียง 400 เมตร แต่บรรยากาศนี่คนละเรื่องเลย ที่พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น มีคนเข้ามาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย ผิดกับพระธาตุโพนทอง ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวโดยไร้ผู้คนเข้ามาสักการะครับ กลับมาจากทริป ผมพยายามหาข้อมูลของพระธาตุองค์นี้ แต่หาข้อมูลไม่ได้เลยครับ
11. โรงต้มเกลือ ที่บ้านกุดเรือคำ
ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าแผ่นดินที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอยู่ห่างไกลกับทะเลนับร้อยๆ กิโล จะสามารถผลิตเกลือได้ แถมยังผลิตและส่งมาจำหน่ายใน กทม.ด้วยนะในละแวกบ้านกุดเรือคำ อ.วานรนิวาส นับเป็นแหล่งผลิตเกลือที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานครับ โดยจะเป็นวิธีการผลิตเกลือแบบโบราณที่ทำกันมาหลายชั่วอายุคน มีทั้งแบบเป็นหม้อต้ม และแบบผึ่งตากคล้ายๆ การผลิตเกลือแถวแม่กลองและมหาชัย
และวันนี้ผมเลือกที่จะไปดูการผลิตเกลือแบบหม้อต้มครับ หลายคนอาจจะเคยเห็นการต้มเกลือที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน มาบ้างแล้ว ที่นี่ก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่หม้อเกลือนี่คนละแบบกัน หม้อเกลือที่ อ.บ่อเกลือ จะเป็นกระทะขนาดใหญ่ แต่หม้อเกลือที่บ้านกุดเรือคำจะเป็นกระบะเหล็กทรงสี่เหลี่ยม ความสูงของหม้อต้มไม่มากนัก แต่ความกว้างและยาวนั้น ใหญ่และยาวมาก ขอบอก
ณ จุดนี้ คล้ายๆ เป็นโรงงานสังกะสีขนาดย่อม แต่ละหลังก็จะมีหม้อต้มอยู่ด้านใน 1 หม้อ โรงงานที่เห็นแต่ละหลัง ชาวบ้านเรียกว่า “สางเกลือ” กะด้วยสายตามีประมาณ 20 หลังครับ
ผมได้มีโอกาสคุยกับพี่วิลัยวรรณ เป็นแรงงานที่ต้มเกลือ แกเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนก็ไม่มีใครรู้ว่าละแวกนี้จะมีบ่อน้ำเค็ม จนมีฝรั่งได้เดินทางมาสำรวจหาบ่อน้ำมัน ผ่านมาทางบ้านกุดเรือคำเลยมาลองขุดเจาะ ปรากฏว่าไม่พบน้ำมัน แต่พบน้ำเค็มแทน ชาวบ้านก็เลยนำน้ำมาต้มเกลือจนถึงปัจจุบันนี้ แต่เดิมชาวบ้านจะใช้แกลบในการเผา แต่แกลบไม่พอใช้ ปัจจุบันเลยใช้ไม้ยางพารามาเป็นฟืนแทน เพราะหาได้ง่ายกว่าแกลบครับ
ชาวบ้านจะสูบน้ำเกลือที่อยู่ใต้ดิน ลึกจากพื้นประมาณ 100 เมตร คล้ายๆ บ่อบาดาล สูบน้ำขึ้นมาไว้ในบ่อพัก จากบ่อพักก็จะนำมาต้มในหม้อต้มขนาดใหญ่ ต้มไปเรื่อยๆ จนเดือดปุดๆ และเกิดฝ้าบนผิวน้ำ สักพักฝ้าจะตกตะกอนนอนก้นเป็นผลึกเกลือ จากนั้นชาวบ้านจะตักเกลือที่นอนก้นขึ้น รอจนเกลือสะเด็ดน้ำ แล้วจึงนำมาเก็บไว้ที่เก็บเกลือ รอการกรอกลงกระสอบ ราคาเกลือที่ได้ประมาณกิโลกรัมละ 2-3 บาทครับ
ขอบอกเลยว่าตรงหน้าเตาร้อนมากๆ ผมอยู่ได้แป๊บเดียวก็ต้องถอยแล้ว นับถือคนที่ประกอบอาชีพนี้จริงๆ ครับ พี่วิลัยวรรณเล่าให้ฟังว่า แกจะเริ่มกระบวนการต้มกันตั้งแต่ราวๆ ตี 2 จะเสร็จสิ้นกระบวนการก็ช่วงประมาณ 5 โมงเย็น ผมได้ยินถึงกับต้องร้อง โห้.. แล้วถามแกว่าพี่อยู่กันได้อย่างไรเนี่ย ไม่ร้อนแย่เหรอ แกตอบกลับมาว่า แกไม่ได้อยู่หน้าหม้อตลอด แต่จะสลับสับเปลี่ยนกับสามี แค่มาคอยดูเกลือในหม้อบ้าง คอยมาเติมฟืนบ้าง พอทำเสร็จ แกก็จะนอนพักผ่อนหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อได้ หม้อต้มหนึ่งจะได้เกลือประมาณ 2 ตัน ได้ค่าแรงตามจำนวนเกลือ ตกเฉลี่ยครอบครัวหนึ่งประมาณ 600 บาท/วันครับ
ที่นี่อาจจะไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่ถ้าหากใครชอบเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน ผ่านไปผ่านมาแถววานรนิวาส แนะนำว่าไม่ควรพลาดครับ
12. ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง
การทำปราสาทผึ้งในภาคอีสานทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อตั้งความปรารถนาไว้ว่าหากเกิดในภพมนุษย์ขอให้มีปราสาทราชมณเฑียรอาศัยอยู่ด้วยความมั่งมีศรีสุข ถ้าเกิดในสวรรค์ขอให้มีปราสาทอันสวยงาม มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นบริเวณจำนวนมาก โดยจะรวมพลังสามัคคีทำบุญทำกุศลร่วมกัน ใครไม่มีฝีมือก็บริจาคเงินตามศรัทธา ใครมีฝีมือก็จะมาช่วยกันทำปราสาทผึ้ง โดยกำหนดเอาเทศกาลออกพรรษาเป็นวันจัดงาน เพราะมีความเชื่อกันว่าวันออกพรรษาหรือวันเทโวโรหนะ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากการแสดงธรรมแก่พระพุทธมารดาในสวรรค์ ก่อนที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ พระองค์ได้พิจารณาโลกทั้งสาม อันได้แก่ มนุษยโลก เทวโลก และ ยมโลก จะสามารถมองเห็นความเป็นอยู่ซึ่งกันและกันในวันนี้ และด้วยพุทธานุภาพของพระองค์จะทำให้ได้เห็นหอผึ้งที่ชาวบ้านมาถวายในงานบุญวันออกพรรษาครับ
สำหรับปราสาทผึ้งที่ใหญ่โตสวยงาม จนเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสประเพณีอันงดงามอยู่นี้ ได้พัฒนารูปแบบมาจากปราสาทผึ้งโบราณ ซึ่งเป็นการสร้างแบบง่ายๆ โดยใช้วัสดุพื้นบ้านอย่างกาบกล้วย นำมาทำเป็นโครงปราสาทร้อยติดกันด้วยตอกไม้ไผ่ จากนั้นจะประดับประดาตัวปราสาทด้วยดอกไม้ที่ทำจากเทียนขี้ผึ้ง ที่เรียกว่าดอกสำมะลี หรือ สิมลี โดยหน้าตาของปราสาทผึ้งโบราณจะดูคล้ายกับศาลพระภูมิที่ประดับประดาด้วยดอกไม้ (จากเทียนขี้ผึ้ง) ครับ
สำหรับปราสาทผึ้งที่ใหญ่โตสวยงาม จนเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสประเพณีอันงดงามอยู่นี้ ได้พัฒนารูปแบบมาจากปราสาทผึ้งโบราณ ซึ่งเป็นการสร้างแบบง่ายๆ โดยใช้วัสดุพื้นบ้านอย่างกาบกล้วย นำมาทำเป็นโครงปราสาทร้อยติดกันด้วยตอกไม้ไผ่ จากนั้นจะประดับประดาตัวปราสาทด้วยดอกไม้ที่ทำจากเทียนขี้ผึ้ง ที่เรียกว่าดอกสำมะลี หรือ สิมลี โดยหน้าตาของปราสาทผึ้งโบราณจะดูคล้ายกับศาลพระภูมิที่ประดับประดาด้วยดอกไม้ (จากเทียนขี้ผึ้ง) ครับ
ลวดลายที่ดูซ้ำๆ กันแบบนี้ มีการนำแม่พิมพ์ซิลิโคนมาช่วยเพื่อสร้างลวดลาย ทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้เร็วขึ้น และได้มาตรฐานเดียวกัน
ส่วนลวดลายที่อยู่ด้านล่างประสาทผึ้ง คาดว่าน่าจะเป็นการแกะสลักด้วยฝีมือของช่างแต่ละคนครับ
และปราสาทผึ้งหลังนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สวยงามจริงๆ
แถมท้ายด้วยร้านอาหารเด็ดของสกลนคร กับร้านเลิศรสไข่กระทะครับ
ร้านเลิศรสไข่กระทะ ร้านอาหารเช้าขึ้นชื่อของเมืองสกลนคร ร้านนี้เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันด้วยนะครับ
เริ่มที่ข้าวเปียกเส้นหมู มาชามใหญ่ มีทั้งหมูชิ้น หมูยอ
ตามมาด้วยข้าวต้มปลากะพง ปลากะพงชิ้นโตๆ
เกาเหลาปลากะพง ปลาเป็นปลาจริงๆ ชิ้นใหญ่ ให้เยอะด้วยครับ
ไข่กระทะ ที่นี่ ไม่เหมือนที่อื่น ที่จะใส่เฉพาะกุนเชียง หมูยอ แต่ที่นี่จะปรุงคล้ายๆ หมูสับผัด และมีเครื่องเคียงเป็นข้าวโพดอ่อน แครอท เม็ดถั่วลันเตา แตงกวา
ปิดท้ายด้วยขนมปังยัดไส้ มื้อนี้จ่ายไปแค่ 180 บาท ผลพวงจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันครับ
จริงๆ แล้ว สกลนครยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายจุดนะครับ ไว้วันหลังผมได้ไปเจาะเที่ยวที่สกลนครอีก แล้วจะนำข้อมูลมาแบ่งปันกันอีกครั้งครับ
ท้ายสุดนี้ เพื่อนๆ สามารถเข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ