วัดอุโบสถาราม ศาสนสถานเก่ากาล สถาปัตยกรรมงดงามริมแม่น้ำสะแกกรัง
หากพูดถึง “วัดอุโบสถาราม” เราเชื่อว่าคนกรุงน้อยคนนักที่จะรู้จัก แต่สำหรับชาวอุทัยฯ แล้วคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักวัดเก่าแห่งนี้อย่างแน่นอน สังเกตได้จากร้านรวงต่างๆ ในตัวเมืองอุทัยธานี ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าเล็กๆ ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งร้านขายยาจีน ก็มักจะมีภาพของวัดอุโบสถารามประดับอยู่ที่ผนังทั้งนั้น ซึ่งสามารถกระตุกต่อมอยากรู้อยากเห็นของเราได้ดีเหลือเกิน เห็นทีจะต้องแวะไปเที่ยวชมวัดอุโบสถารามเป็นขวัญตาตัวเองให้ได้ซะแล้ว
“วัดอุโบสถาราม” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดโบสถ์” เดิมทีมีชื่อว่า “วัดโบสถ์มโนรมย์ ” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง จัดเป็นศาสนสถานเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น บรรยากาศของวัดเงียบสงบชนิดที่ว่าถ้าเราลองหลับตาเงี่ยหูฟังดีๆ ก็จะได้ยินเสียงลมหายใจของตัวเองได้ถนัดถนี่ชัดเจนกว่าปกติแน่นอน เราเริ่มต้นจาก “พระอุโบสถ” ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย 5 องค์ ผนังทั้ง 4 ด้านในพระอุโบสถงดงามไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังสรรค์สร้างโดยจิตรกรสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเรื่องราวในภาพจิตรกรรมฝาผนังจะบอกเล่าถึงประวัติของพระพุทธองค์ตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน แม้บางส่วนของจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้จะชำรุดหลุดลอกบ้างตามกาลเวลา แต่ลวดลายอันอ่อนช้อยเหล่านี้ยังคงทรงเสน่ห์เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ถัดจากพระอุโบสถไปคือ “พระวิหาร” ซึ่งตั้งอยู่คู่กัน ลักษณะภายนอกใกล้เคียงกับพระอุโบสถ พระประธานภายในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ขนาบซ้ายขวาด้วยพระพุทธรูปฝั่งละหนึ่งองค์ ฝาผนังยังคงมีงานจิตรกรรมทั้ง 4 ด้านคล้ายกับภายในพระอุโบสถ แต่จะเป็นเรื่องของพระมาลัย พระอสีติมหาสาวก และพระอสุภกรรมฐาน 10 ลวดลายมีความวิจิตรงดงามน่าชมไม่แพ้กัน หลังจากที่เพลิดเพลินไปกับการชมจิตรกรรมฝาผนังเรียบร้อยแล้ว เราก็ไม่ลืมเดินชมความงดงามของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของ “เจดีย์สามสมัย” ที่บริเวณด้านหลังพระวิหารกันต่อ ซึ่งเจดีย์ทั้งสามองค์ มีรูปแบบที่แตกต่างกัน เริ่มจากเจดีย์ทรงระฆังเป็นศิลปะแบบอยุธยา เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองซึ่งเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ และเจดีย์ทรงระฆังเหลี่ยมศิลปะแบบผสมผสานระหว่างอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งเรียงรายอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน ถึงแม้ว่าเจดีย์สามองค์นี้จะมีชื่อเรียกว่าเจดีย์สามสมัยก็ตาม แต่จากการสันนิษฐานนั้นพบว่า เจดีย์ทั้งสามองค์นี้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกันในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น