ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
วัดบวรนิเวศวิหาร...สุดยอดสถาปัตยกรรมแห่งสยาม พระอารามแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (Wat Bowonniwet Ratchaworawihan) จ.กรุงเทพมหานคร
    • โพสต์-1
    Jerdja •  มิถุนายน 07 , 2560

         “บางลำพู” หนึ่งในย่านท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพมหานคร ด้วยตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวังและเขตพระนครชั้นใน มีอาคารเก่าแก่ ร้านอาหาร ที่พัก และสถานบันเทิงตั้งเรียงราย ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังย่านเก่าแห่งนี้ไม่ขาดในแต่ละวัน

         และในพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้เอง ปรากฏพระอารามหลวงสำคัญตั้งอยู่ ๒ แห่ง หนึ่งคือ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร พระอารามที่ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท และเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิเจ้านายในสายสกุลฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า

         ส่วนอีกแห่งนั้น มีนามว่า “วัดบวรนิเวศวิหาร”

    • โพสต์-2
    Jerdja •  มิถุนายน 07 , 2560

    วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

         

         วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แต่แรกสร้างนั้นมีนามว่าวัดใหม่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ติดกับวัดรังษีสุทธาวาส ซึ่งต่อมาได้รวมเป็นวัดเดียวกัน วัดใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงอาราธนา พระมหาวชิรญาณเถร(เจ้าฟ้ามงกุฎ) มาครองวัด นามที่พระราชทานใหม่นั้น แปลตรงตัวได้ว่า “ที่อยู่อันประเสริฐ” ทว่าซ่อนความหมายแฝงในฐานะของที่ประทับ “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” หรือผู้ที่จะขึ้นครองราชย์เป็นลำดับต่อไป

         เมื่อพระมหาวชิรญาณเถร ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมสืบต่อมา หากพระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ทรงผนวชเมื่อใด ก็จะเสด็จมาประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แห่งนี้

         งานศิลปกรรมต่างๆ ที่ปรากฏภายในวัด จึงงดงามวิจิตร รังสรรค์ให้สมพระเกียรติกับฐานะของ “พระอารามแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์”

    • โพสต์-3
    Jerdja •  มิถุนายน 07 , 2560

    กราบสองพระประธาน...ชมงานจิตรกรรมที่ไม่เหมือนที่ไหน

         พระอุโบสถ เป็นอาคารที่มีผังตรีมุข หน้าบันรูปพระมหามงกุฎอย่างไทย ประดับกระเบื้องถ้วยและตุ๊กตาหินอย่างจีน เสาหินอ่อนพร้อมลวดลายภายในอย่างตะวันตก ศิลปะสามชาติผสานกันอย่างลงตัว

         ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยจากเมืองพิษณุโลก และ พระสุวรรณเขต พระพุทธรูปสมัยอยุธยาจากเมืองเพชรบุรี ประทับซ้อนกันอย่างสวยงาม มีเพียงไม่กี่วัดที่มีพระประธานองค์ใหญ่ถึง ๒ องค์

         องค์พระพุทธชินสีห์นั้นมีความพิเศษ นอกจากจะเป็นที่ศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แล้ว ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ยังเป็นที่บรรจุ พระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

         และล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้มีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มาบรรจุใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ จึงนับว่า วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๙

         เบื้องหน้าฐานพระประธาน ประดิษฐานรูปหล่อของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่เคยจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ๓ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาปวรเรศวิริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

         ผนังภายในทั้งหมดตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ไม่เหมือนกับที่ไหน เพราะ ขรัวอินโข่ง จิตรกรผู้วาด ใช้หลักการแบบตะวันตก ผลักระยะ แสงเงาสมจริงมาใช้ บุคลลในภาพก็แต่งกายอย่างชาวตะวันตก ไม่ได้เป็น ภาพแบน อย่างไทยประเพณี และที่สำคัญ เนื้อหาที่วาดเป็นภาพ ปริศนาธรรม สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยผ่านการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ อาทิเช่น แพทย์ ไม้หอม ดวงอาทิตย์ ดอกบัว ฯลฯ ที่สร้างประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ไม่ได้เล่าแบบตรงๆ เป็นเรื่องราวเหมือนงานศิลปะในอดีต ถือว่าเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์จิตรกรรมไทยยุคใหม่เลยทีเดียว

    • โพสต์-4
    Jerdja •  มิถุนายน 07, 2560
    • โพสต์-5
    Jerdja •  มิถุนายน 07 , 2560

    พระเจดีย์..."ไพรีพินาศ"

         ถัดมาด้านหลังพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของ พระเจดีย์ สีทององค์สูงใหญ่ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้านในเป็นห้องคูหาเดินวนรอบได้ ประดิษฐานเจดีย์องค์เล็กซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

         ที่ซุ้มทางเข้าองค์เจดีย์ จะมีรูปปั้นสัตว์ประจำซุ้มละ ๑ ตัว เป็นสัญลักษณ์แทนอาณาจักรประเทศราชของสยามในอดีต

    ม้า แทนพม่า, นก แทนโยนก, ช้าง แทนล้านช้าง และ สิงโต แทนสิงคโปร์

         บนลานรอบพระเจดีย์ทางทิศเหนือ มีเก๋งจีนหลังหนึ่ง ประดิษฐาน พระไพรีพินาศ พระพุทธรูปปางประทานพระ ในสมันศรีวิชัย มีผู้นำมาถวายพระมหาวชิรญาณเถร (รัชกาลที่ ๔) ขณะยังทรงผนวช ก็ปรากฏว่า สถานการณ์ทางการเมืองภายในที่วุ่นวายก็ได้สงบลง จึงทรงพระราชทานนามพระพุทธรูป อันหมายถึง พระพุทธรูปที่ทำให้ศัตรูพ่ายแพ้ไป

    • โพสต์-6
    Jerdja •  มิถุนายน 07 , 2560

    สองพระวิหาร...นมัสการ ๗ พระปฏิมา (๑)

         ด้านหลังองค์พระเจดีย์ มีกลุ่มอาคารบนฐานไพทีที่ยกสูงขึ้นจากพื้น

         พระวิหารหลังเล็ก เรียกว่า พระวิหารเก๋ง ลักษณะอาคารตามชื่อ คือ เป็นอาคารแบบเก๋งจีน ตกแต่งทุกส่วนตามแบบศิลปะจีนทั้งหมด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ อดีตเจ้าอาวาส และสมเด็จพระสังฆราชเจ้าทั้งสามพระองค์ของวัดแห่งนี้ ได้แก่ พระพุทธวชิรญาณ พระพุทธปัญญาอัคคะ และพระพุทธมนุสสนาค

         จิตรกรรมฝาผนังภายในวาดเป็นเรื่อง สามก๊ก ตั้งแต่ตอนซีซีลาเล่าปี่ไปเมืองฮูโต๋ จนถึงตอนกวนอูปล่อยโจโฉหนีไป วาดด้วยลายเล้นแบบจีนทั้งหมด เนื้อหา ฉาก และตัวละครที่ถอดแบบอย่างไม่ผิดเพี้ยน เหมาะแก่การมาเยี่ยมชม เพราะภาพจิตรกรรมของวรรณกรรมเรื่องนี้ในไทย ที่นี่(อาจจะ)วาดได้สมบูรณ์ที่สุด

         พระวิหารเก๋งมีมุขยื่นออกมาสองด้าน ด้านทิศตะวันตก ประดิษฐาน พระพุทธปฏิมาฑีฆายุมงคล ใต้ฐานบรรจุพระสรีรางคารของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ส่วนด้านทิศตะวันออก ประดิษฐาน พระพุทธชินสีห์(จำลอง) ใต้ฐานบรรจุพระสรีรางคารของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ

    • โพสต์-7
    Jerdja •  มิถุนายน 07 , 2560

    สองพระวิหาร...นมัสการ ๗ พระปฏิมา (๒)

         พระวิหารหลังใหญ่บนฐานไพที เรียกว่า พระวิหารพระศรีศาสดา อันเนื่องมาจากเป็นที่ประดิษฐาน พระศรีศาสดา พระพุทธรูปสำคัญจากเมืองพิษณุโลก ที่หล่อพร้อมกับพระพุทธชินราช และพระชินสีห์ ประทับบนฐานชุกชีที่ตกแต่งด้วยลวดลายพฤกษาแบบตะวันตก

         ผนังในห้องพระศรีศาสดา เหนือหน้าต่างวาดเป็นเรื่อง ตำนานพระพุทธชินราช โดยปรากฏภาพวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดใหญ่ อยู่ตรงข้ามองค์พระ ส่วนผนังระหว่างหน้าต่าง วาดภาพ ธุดงควัตร หรือวัตรปฏิบัติอันเข้มงวดของพระภิกษุ โดยสอดแทรกภาพวิถีชีวิต และธรรมชาติในสมัยนั้นได้อย่างสวยงาม

         หลังพระศรีศาสดา มีห้องเล็กๆ อีกห้องหนึ่ง ประดิษฐาน พระพุทธไสยา พระพุทธรูปปางปรินิพพานจากเมืองสุโขทัย บรรทมไสยาสน์หลับพระเนตรสนิท รอบๆ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพระสาวก เทวดา และพุทธบริษัทเดินทางมาเข้าเฝ้าครั้งสุดท้าย

         ใต้ฐานองค์พระพุทธไสยา บรรจุพระสรีรางคารของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้มีบทบาทต่อการปฏิรูปคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ ๖

    • โพสต์-8
    Jerdja •  มิถุนายน 07, 2560
    • โพสต์-9
    Jerdja •  มิถุนายน 07 , 2560

    เขตสังฆาวาส...ประวัติศาสตร์พระราชวงศ์

         

         เขตพุทธาวาสและสังฆาวาสของวัดบวรนิเวศวิหาร แบ่งคั่นด้วยคูน้ำ เลี้ยงปลาและเต่าแหวกว่ายไปมา

         ในเขตสังฆาวาส จะเงียบสงบเพราะเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ แต่ก็มีพระตำหนัก และหมู่กุฏิที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกให้เดินชม อาทิ พระตำหนักเพ็ชร์ ท้องพระโรงและห้องประชุมของวัด พระปั้นหย่า อดีตที่ประทับของรัชกาลที่ ๙ คราวทรงผนวช ตำหนักคอยท่า-ปราโมช ที่ประทับของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อาคารมนุษยนาควิทยาทาน หอสมุดและพิพิธภัณฑ์อดีตเจ้าอาวาส เขตพุทธาวาสเดิมของ วัดรังษีสุทธาวาส อดีตวัดข้างเคียงที่ยุบรวมกันไปแล้ว

         แต่ละอาคารล้วนมีประวัติเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ บ้างก็เป็นที่ประทับ บ้างเคยเป็นที่ทรงงาน หรือบ้างก็เป็นอาคารที่ทรงสร้างถวายแด่ผู้ครองวัด ซึ่งทั้งหมดก็สื่อถึงความสำคัญของพระอารามหลวงแห่งนี้ พระอารามแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

    • โพสต์-10
    Jerdja •  มิถุนายน 07, 2560
  1. โหลดเพิ่ม