ว่ากันว่า "ค่ำคืนไหนที่มืดมิดที่สุด ค่ำคืนนั้น..ดาวบนท้องฟ้าก็จะเปล่งประกายระยิบระยับสวยงามที่สุดเช่นกัน"
แต่ในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ไม่เคยหลับใหล และไม่เคยมืดสนิทแห่งนี้ โอกาสที่เราจะได้เห็นความงดงามของดวงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนแบบเต็มตาเหมือนกันบนยอดดอยในต่างจังหวัดนั้นช่างมีแสนน้อยนิด แต่เดี๋ยวก่อนครับ อย่าเพิ่งน้อยอกน้อยใจไป...โอกาสมีน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสนั้นนะครับ เพราะทีเด็ดเมืองกรุงฯ ของเราในครั้งนี้ จะพาเพื่อน ๆ ทุกคนไปสัมผัสประสบการณ์ดาวล้านดวงใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่ที่จะเปลี่ยนกลางวันอันร้อนระอุของเมืองกรุงฯ ให้เป็นค่ำคืนที่งดงามในห้วงอวกาศ และที่นี่ก็คือ ... "ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ)"
สถานที่แห่งนี้คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักกันในชื่อ ท้องฟ้าจำลอง แต่ที่จริงแล้วท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เป็นเพียงโซนจัดแสดงหนึ่งที่อยู่ภายใน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เท่านั้น ซึ่งที่นี่ยังมีอีกหลายโซนจัดแสดงที่น่าสนใจซึ่งวันนี้เราจะพาไปชมกันทีละโซนครับ โดยวิธีการเดินทางมาก็ไม่ยากเลย ใครสะดวกนำรถยนต์ส่วนตัวมาที่นี่ก็มีลานจอดรถให้บริการ ด้านหน้ามีป้ายรถเมล์ที่มีให้บริการอยู่หลายสาย หรือใครสะดวกรถไฟฟ้าก็สามารถนั่ง BTS มาลงที่สถานีเอกมัยได้เลย
เมื่อมาถึงแล้วก่อนอื่นเราก็ตรงมาที่ อาคาร 2 อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เพราะด้านหน้าอาคารนี้จะเป็นจุดจำหน่ายบัตรเข้าชมนิทรรศการ และท้องฟ้าจำลอง โดยบัตรจะแยกเป็น 2 แบบ คือ
1. บัตรชมท้องฟ้าจำลอง (ผู้ใหญ่ 30 บาท / เด็ก 20 บาท / **รอบภาษาอังกฤษ ผู้ใหญ่ 50 บาท / เด็ก 30 บาท) โดยมีรอบการแสดงดังนี้
- วันอังคาร 10:00 น. (ภาษาอังกฤษ/สำหรับสถานศึกษา) / 11:00 น. / 13:00 น. (สำหรับสถานศึกษา) / 14:00 น. / 15:00 น.
- วันพุธ - วันศุกร์ 10:00 น. (สำหรับสถานศึกษา) / 11:00 น. / 13:00 น. (สำหรับสถานศึกษา) / 14:00 น. / 15:00 น.
- วันเสาร์ - วันอาทิตย์ 10:00 น. (สำหรับสถานศึกษา) / 11:00 น. / 13:00 น. (สำหรับสถานศึกษา) / 14:00 น. / 15:00 น. / 16:00 น.
2. บัตรชมนิทรรศการ 3 อาคาร ประกอบไปด้วย อาคาร 2 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, อาคาร 3 โลกใต้น้ำ และอาคาร 4 ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ผู้ใหญ่ 30 บาท / เด็ก 20 บาท) สามารถเข้าชมได้ทั้งวัน ตั้งแต่ 09:00 - 16:30 น.
หากใครมีเวลาว่าง 3-4 ชั่วโมงขึ้นไป ผมแนะนำให้ซื้อบัตรทั้ง 2 แบบไปเลยครับ รับรองว่าทั้งคุ้มค่า สนุก และเต็มอิ่มแน่นอน
วันนี้เราได้รอบชมท้องฟ้าจำลอง เป็นรอบ 14:00 น. มีเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ดังนั้นเราก็ขอเช้าไปชมนิทรรศการในอาคารต่าง ๆ กันก่อนดีกว่า โดยเราเริ่มต้นที่อาคาร 2 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เป็นอาคาร 4 ชั้น ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ในชั้นแรกเมื่อเข้ามาถึงแล้วเราจะได้สนุกไปเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เราสามารถลงมือทดลองทำ และพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ใครอยากจะทดลองเป็นนักบินอวกาศ ก็ต้องไม่พลาดเครื่องจำลองสภาวะไร้แรงดึงดูด บอกเลยว่าใครชอบความหวาดเสียวเครื่องเล่นนี้จะสนุก ๆ มาก ๆ เลยครับ ขึ้นมาด้านบนจะเป็นเมืองไฟฟ้า และห้องปฎิบัติการหุ่นยนต์ ใครอยากรู้ว่าไฟฟ้าคืออะไร? มาจากไหน? และมาถึงเราได้อย่างไร? หาคำตอบได้ที่โซนนี้ และเพื่อน ๆ คนไหนที่ชอบหุ่นยนต์ หรืออยากจะลองเป็นนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ ก็สามารถมาเรียนรู้เทคโนโลยีหุ่นยนต์กันได้ ด้านบนสุดจะเป็นนิทรรศการ กาล-อวกาศ ซึ่งเราจะได้ท่องไปในอวกาศกับยานอวกาศ เรียนรู้การกำเนิดจักรวาล รวมไปถึงค้นหาคำตอบเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาอีกด้วย
สวมบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักบินอวกาศเพลินจนเกือบลืมดูเวลา ตอนนี้ใกล้รอบชมท้องฟ้าจำลองแล้ว แนะนำว่าเราควรไปรอที่ทางเข้าก่อนเวลาแสดงประมาณ 15 นาที เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจบัตร และเข้าเลือกที่นั่งชม ซึ่งการแสดงท้องฟ้าจำลองจะแบ่งออกไป 2 ช่วงคือ ช่วงดูดาว (ประมาณ 25 นาที) และช่วงภาพยนตร์ โดยเรื่องที่เข้าฉายอยู่ช่วงนี้คือ เรื่อง New Horizon ขอบฟ้าใหม่ (ประมาณ 25 นาที) ซึ่งภาพยนตร์จะมีสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันแล้วแต่ช่วงครับ ภายในห้องฉายดาวเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้เราถ่ายภาพ หรือบันทึกวีดีโอนะครับ ขอความร่วมมืองดใช้เสียง และแสงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยนะครับ ภายในห้องเป็นลักษณะวงกลมขนาดใหญ่ รองรับได้ 280 ที่นั่ง มีโดมสูงเพื่อฉายดาวอยู่ตรงกลางด้านบนเหนือที่นั่ง ตรงกลางคือเครื่องฉายดาวในตำนาน อย่าง Carl Zeiss Mark IV ที่อายุการใช้งานยาวนานกว่า 55 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันทางท้องฟ้าจำลองได้ปรับปรุงใหม่โดยใช้ระบบควบคุมโดยซอฟท์แวร์ Digistar 5 ที่มีความความชัดสูงสุดระดับ 4K ทำให้การดูดาวในท้องฟ้าจำลองตอนนี้เรียกได้ว่าคมชัด สมจริง และสวยงามอลังการมาก เพราะจากปกติที่เราจะสามารถมองดาวฤกษ์บนท้องฟ้าด้วยตาเปล่าได้เพียง 2,000 ดวงเท่านั้น แต่เจ้าเครื่องนี้ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจนถึง 9,000 ดวงกันเลยทีเดียว บอกได้เลยว่าเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงที่เหมือนเราหลุดไปอยู่ในห้วงอวกาศท่ามกลางหมู่ดาวนับหมื่นนับพันดวง
เราเดินย้อนกลับมาทางด้านหน้าอาคาร 2 ตรงจุดจำหน่ายบัตร ด้านตรงข้ามจะเป็นอาคาร 3 โลกใต้น้ำ ซึ่งจัดแสดง และให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งสัตว์น้ำทะเล และสัตว์น้ำจืด รวมถึงเปลือกหอยหลากหลายชนิดอีกด้วย
อาคารสุดท้ายที่เราจะไปเยี่ยมชมกันในวันนี้คือ อาคาร 4 อาคารธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราต้องข้ามถนนไปอีกฝั่ง โดยระหว่างทางเราจะผ่าน "นิทรรศการความตระหนักรู้ด้านพลังงาน" ด้วย ใครสนใจก็แวะชมก่อนได้นะครับ
อาคาร 4 อาคารธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีทั้งหมด 8 ชั้น โดยชั้นที่ 2-8 จะเป็นโซนนิทรรศการ ประกอบไปด้วย- ชั้น 2 ไดโนเสาร์
- ชั้น 3 ห้องปฎิบัติการจูแรสซิก
- ชั้น 4 ขุมทรัพย์โลกสีเขียว
- ชั้น 5 โลกของแมลง
- ชั้น 6 เมืองเด็ก
- ชั้น 7 ชีวิตพิศวง
- ชั้น 8 มรดกธรรมชาติ
แนะนำว่าให้ขึ้นลิฟต์ไปที่ชั้น 8 ก่อน แล้วเดินวนลงมาเรื่อย ๆ จนถึงด้านล่าง ตึกนี้ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที ก็น่าจะครบทั้ง 7 โซน ซึ่งเราเดินจนเพลินรู้ตัวอีกทีทางเจ้าหน้าที่อาคารก็ประกาศว่าเหลือเวลาอีก 5 นาทีก็จะได้เวลาปิดทำการซะแล้ว
เป็นอย่างไรบ้างครับกับสถานที่ที่เป็น ทีเด็ดเมืองกรุงฯ ของเราในครั้งนี้ ส่วนตัวผมคิดว่านอกจากที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากแล้ว ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) แห่งนี้ ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ เมื่อแลกกับค่าเข้าชมแล้วผมถือว่าเกินคุ้ม เพราะนอกจากจะได้ความรู้ และประสบการณ์ใหม่ ๆ แล้ว ที่นี่ยังเต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจแบบที่หาจากที่ไหนไม่ได้ หากใครไม่รู้ว่าวันว่างจะไปไหนดี ที่เดินทางสะดวก ไม่ไกล ไม่แพง และยังเพลินสุด ๆ ผมแนะนำเลยครับ เพราะที่นี่.... เรื่องเรียน เรื่องเที่ยว คือเรื่องเดียวกัน