โคตรทริป “ทูเล” สวยสุดใจยังไงก็ต้องโดน
เริ่มปีใหม่ทั้งทีอยากมีทริปดีๆ สักหน่อย ว่าแต่จะไปไหนดีล่ะ เพื่อนฝูงคนนั้นคนนี้เสนอกันเข้ามา สุดท้ายใครสักคนโหวตความเห็นมาว่า “อยากไปม่อนทูเล” เป็นการยุติการชิตแชตสนทนาโดยทันที เพราะชื่อของภูเขาสีทอง แห่งอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก กำลังโด่งดังมาแรงสำหรับขาลุย โอเคตกลงที่นี่แหละ ม่อนทูเล – คลุยหลวง – ม่อนคลุย ลุยสักแค่ไหนเดี๋ยวรู้กัน
อธิบายสักนิดเพื่อความเข้าใจว่า ม่อนทูเล คลุยหลวง และม่อนคลุย เป็นยอดเขาสามลูกบนแนวเทือกเขาเดียวกัน ในอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ใกล้กับแม่น้ำเมย ชายแดนไทย-พม่า โดยปกติทริปสามวันสองคืน เราจะเดินทางแบบนี้ครับ
จุดเริ่มต้น > เดินไป > ม่อนทูเล > เดินไป > คลุยหลวง > เดินไป > ทางลงจุดตัดถนน > เดินหรือรถไป > ม่อนคลุย > รถไป > จุดสิ้นสุด
ขึ้นทางม่อนทูเลมาลงม่อนคลุย หรือนั่งรถขึ้นทางม่อนคลุยแล้วเดินมาลงทางม่อนทูเล ก็ตามใจเลือก ถ้าต้องการเดินป่าเต็มๆ แนะนำนอนม่อนทูเลคืนนึง คลุยหลวงคืนนึง ส่วนม่อนคลุยข้ามไปได้เลย เพราะยังไงเราต้องนั่งรถผ่านไม่ขาไปก็ขากลับ
ส่วนการจองทริปง่ายๆ แค่โทรศัพท์ไป อบต.ท่าสองยาง รายละเอียดทุกอย่างและเบอร์โทรอยู่ในเฟซบุ๊กของเขาตามนี้ > www.facebook.com/DoiTuLay
โม้นิดหน่อยถึงเรื่องชื่อ ตามที่ถามจากคนในพื้นที่ “ม่อน” ภาษาเหนือคือภูเขา เนินเขา (ไม่ใหญ่มากเหมือนดอย) “ทู” ภาษากะเหรี่ยงคือทอง “เล” คือหน้าผา “ม่อนทูเล” หรือ “ดอยทูเล” จึงมีความหมายว่าภูเขาสีทอง ต่อมา “คลุย ภาษากะเหรี่ยงคือหัวโล้น “หลวง” ภาษาเหนือคือใหญ่โต “คลุยหลวง” หมายถึงเขาหัวโล้นลูกใหญ่ ชาวบ้านบางคนเรียกติดปากว่า “ม่อนหลวง” และสุดท้ายคือ “ม่อนคลุย” คือภูเขาหัวโล้นนั่นเอง
----------------------------------------------------
(1) จากแม่จวาง ขึ้นม่อนทูเล
ทริปนี้เราลุยกันหลังปีใหม่ สมาชิกห้าคน เขาหยุดยาวถึงวันที่สาม เพราะฉะนั้นเราเที่ยววันที่สี่ทันที (ฮา...) บังเอิญดันลืมนึกไปว่าวันที่สามคนเดินทางเยอะ เลยผิดแผน รถทัวร์ กทม. - แม่สอด เหลือตอนจองรอบเดียวคือสี่ทุ่ม ดึกไปนิดแต่ก็ช่วยไม่ได้
หลับๆ ตื่นๆ กว่าจะถึงแม่สอดเกือบเจ็ดโมงเช้า พลาดสองแถว แม่สอด-แม่สะเรียง ซึ่งต้องใช้เดินทางไป อบต.ท่าสองยาง รอบหกโมง วิธีแก้มีสองอย่างคือนั่งสองแถวระยะสั้นสองต่อ หรือเหมารถรวดเดียว ดูนาฬิกาแล้วพวกเราตัดสินใจว่าต้องเหมาล่ะนะ ค่าเสียหาย1,800 บาท เล่นเอาตัวเบาโหวง
สองแถววิ่งฉิวออกจาก บขส. แม่สอด แวะให้เราซื้อของสดที่ตลาดแม่ระมาด จากนั้นเข้าสู่เขตอำเภอท่าสองยาง ดูเวลามันแป๊บเดียวเอง เหมาราคานี้แพงนะเนี่ย แต่เอ๊ะ... รถไม่จอดแฮะ ยังเหยียบคันเร่งบึ่งไปตามถนนเรื่อยๆมารู้เอาทีหลังว่าท่าสองยางเป็นอำเภอประหลาด คือชื่ออำเภอท่าสองยาง แต่ตัวอำเภอเป็นเขตตำบลแม่ต้าน ส่วนตำบลท่าสองยางจริงๆ อยู่ห่างจากตัวอำเภออีกตั้ง 50 กิโลเมตร
ถ้าชาวบ้านคุยกันเอง ท่าสองยางจะหมายถึงตำบลท่าสองยาง ส่วนตัวอำเภอเรียกว่าแม่ต้าน สรุประยะทางจาก บขส.แม่สอด ไป อบต.ท่าสองยาง เบ็ดเสร็จ 140 กิโลเมตร นั่งยาวๆ หลับแล้วหลับอีกยังไม่ถึงเลย
ต้องโน่นแหละครับ 9.45 น. เราจึงมาถึง อบต.ท่าสองยาง รถกระบะรับ-ส่ง จอดรออยู่เรียบร้อย จัดแจงเปลี่ยนถ่ายสัมภาระ ชำระค่าธรรมเนียมกับ อบต. ซึ่งมีแค่ค่าสถานที่ 200 บาท ต่อกลุ่มห้าคน ส่วนค่ารถรับ-ส่ง 1,800 บาท กับค่าลูกหาบคนละ 1,000 บาท เราจ่ายกับเจ้าตัวเอง
เราแวะกินข้าว ก่อนเดินทางไปบ้านแม่จวาง หมู่บ้านกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ทริปนี้มีลูกหาบตั้งสองคนเพราะผิดแผนเรื่องจำนวนสมาชิกนิดหน่อย เราเลยสบายตัวแบกเป้แค่เบาๆ และกระเป๋าสตางค์ก็เบาไปด้วยเหมือนกัน
ลูกหาบชาวกะเหรี่ยงบางคนพูดไทยได้ บางคนพูดไม่ได้ แล้วแต่ดวงครับ ของผมคุณลุงพูดไทยไม่ได้ ยังดีน้องเด็กหนุ่มพอคุยกันรู้เรื่อง ถามว่าเริ่มเดินตอนนี้ (11.15 น.) จะถึงกี่โมง ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร น้องรับหน้าที่เป็นล่ามคุยกับลุงแล้วตอบมาว่า... ห้าโมงเย็น
เอ่อ... งั้นเรารีบเดินกันดีกว่านะ
เราเริ่มเดินจากหมู่บ้านแม่จวาง ผ่านทุ่งนาซึ่งตอนนี้มีแค่ดินแห้งๆ เห็นยอดทูเลอยู่ตรงหน้า พอขึ้นมานิดหน่อยมองย้อนกลับไปวิวสวยดีนะนี่ ช่วงนาเขียวคงสดชื่น เท่าที่ฟังจากใครหลายคนต่างบอกว่าม่อนทูเลโหดใช้ได้ แต่ตอนเริ่มเดินผมไม่ค่อยอยากเชื่อเท่าไหร่ เพราะหนุ่มลูกหาบของเราล่อรองเท้าแตะแบบนี้เลย พอเริ่มเข้าเขตป่า ทางจึงเริ่มชันขึ้น เดินไป ชันไป หอบไป ลิ้นห้อยไป เหนื่อยเอาการครับ ถือว่าโหดสมคำร่ำลือ ทางราบและทางลงพอมีอยู่บ้างบางช่วงไม่มากนัก ดีนะที่อากาศแปรปรวนช่วงนี้ครึ้มฟ้าครึ้มฝน หากแดดดีเหมือนฤดูหนาวปกติคงต้องมีตายกันไปข้าง เราเดินแบบไม่เร่งมาก เหนื่อยก็พัก เมื่อยก็นั่ง จนบ่ายสองโมงสี่สิบ มาถึงตรงนี้เป็นขอนไม้พิเศษครับ จุดให้เรานั่งพักทำใจเพราะจากนี้เป็นต้นไประดับความชันจะอัพเลเวลขึ้นอีกเท่าตัว (ฮา...) หนักแค่ไหน ดูสภาพกันเอาเอง พอสูงขึ้นเรื่อยๆ วิวเริ่มสวย ความเหนื่อยไม่หายไปไหนหรอกนะ แต่ได้ความตื่นเต้นอะดรีนาลีนสูบฉีดช่วยกระตุ้นให้มีกำลังขึ้นนิดหน่อย วิวสวยๆ ทำให้ต้องหยุดพักถ่ายภาพบ่อยๆ ช่วยได้เหมือนกันและแล้ว 16.15 น. ห้าชั่วโมงผ่านมาพอดีเป๊ะ เราจึงขึ้นมาถึงจุดกางเต็นท์
ลานกางเต็นท์มีสามจุดใหญ่ จุดแรกด้านล่างเมื่อพ้นชายป่า จุดที่สองขึ้นมาอีกนิดติดลำธาร จุดที่สามคือข้างบนเนินธง สองจุดแรกมีห้องน้ำส้วมหลุมให้ใช้กรณีจำเป็น แต่บรรบากาศพื่นที่ไม่ดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะจุดสองมีที่เผาขยะด้วย ข้อเสียทุกจุดคือขยะเยอะมาก ตลอดทั้งทางเดิน ที่กางเต็นท์ จุดชมวิว ฯลฯ มากมายจนเกินกว่าจะช่วยเก็บให้หมด เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเพราะเราขึ้นมาหลังปีใหม่ ถึงอย่างไรก็พาลหงุดหงิดใจไม่ได้
เรามาถึงขนาดนี้ต้องเลือกนอนบนเนินธง เป็นลานโล่งๆ ติดจุดชมวิว คืนนี้มีสองกลุ่ม เรากับน้องวัยรุ่นอีกกลุ่มที่ขึ้นมาถึงไล่เลี่ยกัน กางเต็นท์ตั้งแคมป์กันให้เรียบร้อย อ้อ... เรื่องน้ำกินน้ำใช้ไม่ต้องกังวล ลูกหาบเขาจัดการให้เราเต็มที่ ผมไม่ได้เดินไปดูจุดกรอกน้ำหรอกนะ แต่ดูจากน้ำในขวดถือว่าสะอาดใสใช้ได้ครับ ตรงจุดเนินธงยังไม่ใช่ยอดทูเลนะ เรารอขึ้นพรุ่งนี้ทีเดียว ดูวิวแถวนี้กันก่อน มองออกไปนี่แผ่นดินพม่าทั้งนั้น ส่วนฝั่งม่อนคลุยบ้านเราหมอกเยอะเป็นพิเศษแม้เป็นเวลาเย็น ก่อนค่ำมาทำกับข้าวกันดีกว่า ไม่มีเชฟมืออาชีพแต่ช่วยกันทำครึ้นเครงดี อยู่บนเขาในป่าแบบนี้ทำอะไรออกมาก็ไม่มีทางเลือก (ฮา...)กินข้าวอิ่มหนำ ค่ำๆ ยังไม่ทันไรต่างแยกย้ายเข้านอนเพราะสภาพโทรมกันเหลือเกิน ที่สำคัญคือฟ้าปิดไม่เห็นเดือนเห็นดาว เหมาะกับการนอนเก็บแรงไว้ลุ้นพรุ่งนี้เช้า
ตีห้าครึ่งตั้งนาฬิกาปลุก รวมพลสลัดขี้ตาแล้วเดินขึ้นยอด จากลานกางเต็นท์ขึ้นไปราว 400 เมตร แต่ระยะสั้นๆ ยอดดอยอยู่ตรงหน้าแค่นี้ เดินยังไงก็ไม่ถึงสักทีแฮะ
เหนื่อยหอบเชียวแหละกว่าจะถึงยอดทูเล เราสามารถเดินไปอีกยอดที่ต่อกันได้ วิวสดชื่นมาก แม้ไม่มีทะเลหมอกอลังการหรือแสงเช้าพระอาทิตย์ขึ้น แค่ฝนไม่ตกหมอกไม่ขาวฟุ้งก็ดีใจแล้ว
ถ่ายรูปเล่นแบบไม่ต้องเร่งรีบ หามุมไปเรื่อย ผมชอบที่นี่ตรงมองไปทางไหนล้วนเป็นป่าและภูเขา แทรกด้วยหมู่บ้านเล็กๆ เท่านั้น ถือว่าวิวสวยคุ้มค่า ฝั่งหมอกหนาตาคือม่อนคลุย ท่าทางคนอยู่ที่นั่นคงมองอะไรไม่ค่อยเห็น ถ่ายรูปเล่นกันมาตลอดครับ กลับมาถึงเนินธง ชัตเตอร์ของผมยังทำหน้าที่อยู่ ----------------------------------------------------(2) ต่อไปคลุยหลวง แล้วลงม่อนคลุย
ประมาณสิบเอ็ดโมงหลังจากทำกับข้าวกินและเก็บแคมป์ เราเดินต่อสู่จุดพักแรมที่สอง คลุยหลวง หรือม่อนหลวง ระยะทางสัก 5 กิโลเมตร น้องลูกหาบบอกว่าไม่เกินสามชั่วโมง ขึ้นๆ ลงๆ ราบๆ มีหลายลักษณะ เดินขาขวิดพอประมาณ
เที่ยงสี่สิบเดินลงมาถึงธารน้ำตรงนี้ครับ กรอกใส่ขวดกันให้เต็มที่ (ลูกหาบจัดการ) จากตรงนี้เหลืออีกนิดเดียวจะถึงยอดคลุยหลวง แต่เป็นช่วงทางชันโหดสุดๆ เล่นเอาต้องพักหลายรอบ ทั้งที่ระยะทางไม่กี่ร้อยเมตร บ่ายโมงครึ่ง มาถึงแล้วลานกางเต็นท์ เห็นสภาพตอนแรกอึ้งไปเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะหมอกหนาขาวโพลนและฝนตกพรำๆ นะครับ ทว่าเพราะขยะเจ้าปัญหากระจัดกระจายเต็มลานยิ่งกว่าที่ทูเลเสียอีก จะจัดการให้หมดคงต้องจัดเป็นทริปเก็บขยะโดยเฉพาะล่ะนี่ บ่ายสามโมงท้องร้อง หลังช่วยกันตั้งแคมป์ก็ต้มมาม่าดีกว่า ฟ้ายังปิด ลมพัดพา ฝนตกเป็นระยะอยู่ตลอด จนกระทั่งห้าโมงครึ่งหมอกถึงเริ่มบางลงบ้าง เราต้องฉกฉวยโอกาสให้มากที่สุด ช่วงฟ้าเปิดหลังหมอกฝนพ้นผ่านนี่สวยงามทุกครั้งจริงๆ บนคลุยหลวงไม่มีใครอื่นนอกจากกลุ่มเรา เป็นเจ้าของภูเขากันเลย ถึงฝนตกก็ไม่มีปัญหาครับ แออัดหลบอยู่กันใต้ฟลายชีทอบอุ่นดีตลอดค่ำคืนนอนฟังเสียงฝนตกดังเปาะแปะ บางช่วงลมหวนพัดแรงจนเต็นท์สั่นพั่บๆ สภาพแบบนี้บอกตามตรงว่าคิดว่าเปิดเต็นท์มาตอนเช้าคงเห็นเพียงสีขาวแน่นอน
แต่ธรรมชาติคาดเดาไม่ได้จริงๆ ตื่นตอนเช้าหกโมง เฮ้ย... ทะเลหมอก ผมตะโกนปลุกทุกคนทันที เหตุผลตามภาพนั่นแหละ ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ
ผมเดินชมทะเลหมอก เลาะจากลานกางเต็นท์ถ่ายรูปแกะรอยความสวยมาเรื่อยๆ จนถึงยอดเขา บอกได้เลยว่าดั่งสวรรค์ แม้ไม่มีแสงอาทิตย์ แต่ทะเลหมอกแผ่ขยายกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ครอบคลุมฝั่งทิศตะวันออกเกือบเต็มพื้นที่ ส่วนอีกฝั่งสวยไม่ใช่น้อย สดชื่นกับผืนป่าและภูเขา หมอกวันนี้ห่มคลุมม่อนคลุยจนไม่เห็นอะไรแน่นอน จุดนี้มองกลับไปยังลานกางเต็นท์และเส้นทางเดินมาของเรา เห็นได้ว่าทางชัดเจนมากชมหมอกนุ่มๆ อิ่มหนำสำราญค่อยมาเติมข้าวให้อิ่มท้อง กว่าจะเก็บของทั้งหมดเริ่มเดินจากลานกางเต็นท์เกือบสิบโมงครึ่ง
เราเดินจากคลุยหลวงตามทางไปม่อนคลุย ส่วนใหญ่เป็นทางลง ระหว่างทางหมอกเริ่มฟุ้งเพราะลมพัดพามองดูสวยดีอีกแบบ
ก่อนเที่ยงไม่นานก็โผล่พ้นแนวป่าออกมาถึงถนน ตรงนี้เป็นจุดซึ่งรถต้องมารอรับ... แต่เหมือนว่างเปล่า ถึงขนาดลุงลูกหาบที่ไม่เคยคุยกับเรารู้เรื่องยังอุทานออกมาเป็นภาษาไทยว่า “รถอยู่ไหนล่ะ” ที่สำคัญคือไม่มีสัญญาณมือถือสักขีดรอแล้วรอเล่า จนบังเอิญมีมอเตอร์ไซค์ชาวบ้านขี่มา ผมเลยยืมขี่ไปหาจุดมีสัญญาณโทรศัพท์ ถึงได้เรื่องว่ารถมารอรับรอบนึงแล้ว เราไม่ลงมาสักทีเลยกลับไปทำธุระก่อน ตอนนี้กำลังออกจากบ้านท่าสองยางมารับใหม่ ค่อยโล่งอกหน่อยคิดว่าจะโดนเทเสียอีก
ขาลงแวะถ่ายรูป (กับป้าย) ระหว่างทางที่ม่อนคลุยสักหน่อยเก็บไว้เป็นที่ระลึก ถึงจะมองไม่เห็นอะไรเลยนอกจากสีขาว
จากม่อนคลุยลงไปถึงปากทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร ถนนเป็นลูกรังเสียส่วนใหญ่ พอถึงทางหลวงก็เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านท่าสองยาง ระหว่างทางผ่านส่งลูกหาบที่่บ้านแม่จวาง จ่ายสตางค์เขาให้เรียบร้อยคนละ 1,000 บาท แวะกินข้าว อาบน้ำอาบท่าที่ อบต. จ่ายเงินกับคนขับรถเป็นอันเสร็จภารกิจ แต่ยังไม่จบทริปหรอกนะ
เราอาบน้ำเสร็จตอนสี่โมงเย็น ถามว่ารถรอบสุดท้ายจากแม่สะเรียงที่จะเข้าแม่สอดมาถึงที่นี่กี่โมงนะ เอ่อ... บ่ายสาม แล้วรถที่จะออกจากท่าสองยางไปแม่ต้านล่ะ เอ่อ... หมดเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นโบกโลดครับ
ด้วยความที่ถนนแม่สอด-แม่สะเรียง มีด่านตรวจ ตชด. กับป้อมตำรวจเยอะมาก การโบกรถจึงค่อนข้างง่ายเมื่อได้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ เราโบกสามต่อ จากบ้านท่าสองยาง ไปลงแม่ต้าน ต่อไปแม่จะเรา อำเภอแม่ระมาด และต่อสุดท้ายถึง บขส.แม่สอด ทุ่มครึ่ง มีเวลาเหลือเฟือสำหรับรถเข้ากรุงเทพรอบสามทุ่ม
ถือว่า ม่อนทูเล – คลุยหลวง เป็นทริปเปิดหัวปี 2560 ที่สนุกสะใจครบทุกรสชาติ ส่วนเรื่องขยะคิดว่าอนาคตคงมีการแก้ไขให้ดีขึ้น ผมเองได้คุยกับ อบต. รวมถึงเจ้าหน้าที่จากอำเภอท่าสองยาง ซึ่งพอดีมาสำรวจเส้นทางและเจอกันก่อนออกจากคลุยหลวงไว้ด้วย
อ้อ... ถ้ามีใครจะจัดทริปเก็บขยะด้านบนยินดีร่วมทริปเต็มที่ครับ วิวสวยแบบนี้ไม่อยากให้ต้องเสื่อมโทรมเพราะความมักง่ายของคนมาเที่ยวเลยจริงๆ
----------------------------------------------------
ค่าใช้จ่ายกับทาง อบต.
ค่าธรรมเนียมต่อกรุ๊ป 4-6 คน 200 บาท
(ราคาขึ้นอยู่กับจำนวนคน ตรวจสอบได้กับทาง อบต.)
ค่ารถกระบะ รับ-ส่ง 1,800 บาท ต่อคัน
(หนึ่งคันนั่งได้ไม่เกิน 9 คน รวมลูกหาบ)
ค่าลูกหาบทริป 3 วัน 2 คืน 1,000 บาท ต่อคน
----------------------------------------------------
รู้สักนิด
- ที่นี่ไม่ใช่อุทยานแห่งชาติ ไม่มีเจ้าหน้าที่ ดังนั้นต้องจ้างลูกหาบเพื่อนำทางและดูแลความปลอดภัยอย่างน้อยหนึ่งคน
- บนม่อนทูเลมีห้องน้ำแบบส้วมหลุมให้ใช้ แต่ที่คลุยหลวงไม่มี
- พื้นที่ทั้งสองดอยโล่งเหมาะกับการเต็นท์ ส่วนทำเลผูกเปลก็มีแต่อยู่คนละโซนกับที่กางเต็นท์
- บนม่อนทูเล และคลุยหลวง มีแหล่งน้ำสะอาดพอสมควร ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับฤดูกาล ควรสอบถามกับ อบต. ก่อนเดินทาง
- เส้นทาง คลุยหลวง – ม่อนทูเล จะง่ายกว่าขึ้นทางทูเลเล็กน้อย แต่ถึงยังไงก็เหนื่อยเหมือนกัน
- สัญญาณโทรศัพท์ด้านบนมีของ AIS กับ True อยู่เป็นบางจุด ส่วนอีกค่ายบอดสนิท
- สามารถขับรถส่วนตัวมายังบ้านท่าสองยาง แล้วจอดไว้ที่ อบต. หรือสถานีตำรวจ
- การเที่ยวม่อนคลุย สามารถใช้รถส่วนตัวเพราะถนนขึ้นถึง แต่แนะนำสำหรับรถกระบะเท่านั้น
- รถสองแถว แม่สอด-แม่สะเรียง นั่งมาถึง อบต. ราคา 120 บาท ต่อคน หากเหมารถมาส่งจากแม่สอด ราคา 1,800 – 2,000 บาท
----------------------------------------------------
แผนเวลาเดินทาง ม่อนทูเล – คลุยหลวง โดยประมาณ
วันแรก
05.30 น. ถึง บขส.แม่สอด
06.00 น. นั่งสองแถว แม่สอด-แม่สะเรียง ไป อบต.ท่าสองยาง
09.30 น. ถึง อบต.ท่าสองยาง เตรียมตัวขึ้นเขา
10.30 น. ไปบ้านแม่จวาง เดินขึ้นม่อนทูเล
16.00 น. ถึงลานกางเต็นท์
วันที่สอง
11.00 น. ออกจากม่อนทูเล ไปคลุยหลวง
15.00 น. ถึงคลุยหลวง
วันที่สาม
09.00 น. ออกจากคลุยหลวง
12.00 น. ถึงจุดรถมารอรับ (นัดเวลาให้ดี ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์)
13.00 น. กลับมาถึง อบต.ท่าสองยาง
15.00 น. นั่งสองแถว แม่สะเรียง-แม่สอด (รถเที่ยวสุดท้าย)
----------------------------------------------------
ใครอยากคุยกับผมเรื่อยเปื่อยเรื่องท่องเที่ยว สอบถามข้อมูล (ถ้าผมมีให้นะ) หรือชวนเที่ยว ยินดียิ่งนะครับ
www.facebook.com/alifeatraveller
----------------------------------------------------