he best and most beautiful things in the world cannot be seen or even touched.
They must be felt with the heart.
– – Helen Keller – –

 

เนื่องในโอกาศวาระดิถีวันปีใหม่ไทย ขอนำพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านนับถือ ดลบันดาลให้ท่านและครอบครัวมีความสุข สมหวังดังใจตลอดไป 

วันหยุดที่ผ่านมา PaiNaidee ได้มีโอกาสไปสัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมชาวไตหรือชาวไทใหญ่ ดินแดนหลายพันโค้ง แต่จริงๆแล้วมีแค่สองโค้งคือ  โค้งซ้ายกับขวาเท่านั้น ..... แม่ฮองสอน  

การเดินทางช่างแสนทรหดและเมามันส์ ก่อนออกเดินทาง ต้องเตรียมอุปกรณ์การนอนและสิ่งบันเทิงให้พร้อม คาดว่างานนี้นั่งยาวแน่ๆ หมอนรองคอ และ  DAP เครื่องใหม่อัดเพลงเต็ม 128 GB กล้องถ่ายรูป พร้อมออกเดินทาง 20.30 น.

พักถ่ายรูป "สวนสนบ่อแก้ว” หรือ "สถานีวนวัฒนวิจัยบ่อแก้ว" ตั้งอยู่ที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ริมเส้นทางสายฮอด-แม่สะเรียง

มีสมาชิกในทริป กระซิบบอกว่าเป็นแฟนคลับ The TripPacker พี่ไพโรจน์แอบกระซิบว่า อย่าลืมลงรูปผมนะครับ....จัดให้ครับ 

หลังจากที่เราถ่ายรูป พักเมื่อยในอริยาบทแล้ว ก็ออกเดินทางเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน...

ในระหว่างทางมีควันไฟที่เกิดจากไฟป่า ยังดูคุลกรนตลอดเวลา

 

สถานที่จัดงานอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

- วันที่ 20 – 23 มีนาคม 2558  ณ วัดปางหมู

- วันที่ 1 – 4 เมษายน 2558 ณ วัดจอคำ

- วันที่ 3 – 6 เมษายน 2558 ณ วัดหมอกจำแป่

- วันที่ 8 – 11 เมษายน 2558 ณ วัดบ้านห้วยขาน

สถานที่จัดงานอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

- วันที่ 1 – 3 เมษายน 2558 ณ วัดป่าขาม

สถานที่จัดงานอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

- วันที่ 2 – 5 เมษายน 2558 ณ วัดศรีบุญเรือง

ประเพณี "ปอยส่างลอง" หรือที่เรียกว่า“งานบวชลูกแก้ว”เป็นงานประเพณีประจำของชาวไต หรือไทยใหญ่ ซึ่งได้มีการจัดสืบทอดกันมายาวนาน คำว่า ปอย แปลว่า งาน ซึ่งหมายถึง งานเทศกาล งานรื่นเริง งานมงคลต่าง ๆ ส่าง แปลว่า พระ-เณร และ ลอง มาจาก คำว่า อะลอง แปลว่า กษัตริย์ ราชา เกี่ยวกับเจ้าแผ่นดิน เมื่อรวมกันก็หมายถึง งานเตรียมบวชเป็นพระเณรของเด็กที่แต่งดาเป็นกษัตริย์หรือราชานั่นเอง งานประเพณีส่วนใหญ่นิยมจัด 3-5 วัน คือวันรับส่างลอง วันแห่ครัวหลู่ และวันข่ามส่าง หรือวันหลู่

ถือว่าเป็นความงดงามทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวท้องถิ่น ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ชาวบ้านมีเวลาว่างเว้น หลังจากเก็บเกี่ยวผืชผลเกษตรในไร่นา

นับเป็นโอกาสดี เป็นช่วงปิดเทอมปิดเทอมฤดูร้อนของเด็กๆ ได้มีโอกาสบรรพชาเป็นภิกษุสามเณรเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วชายชาวไทยใหญ่ที่นับถือพระพุทธศาสนา ล้วนจะได้ผ่านการบวชเป็นพระหรือสามเณรจากงานประเพณีปอยส่างลองนี้กันมาทั้งสิ้น 

วันรับส่างลอง

 

วันแรกของปอยส่างลอง หรือ ที่เรียกกันว่า วันเอาส่างลอง พิธีเริ่มแต่เช้าเจ้าภาพส่างลองพาเด็กชายไปวัด เพื่อแต่งชุดส่างลองด้วยการนุ่งโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วยเข็มขัดนาคหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอน เสื้อปักฉลุลายดอกไม้สีต่างๆ

ศีรษะโพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่น ดอกเอื้องคำ หรือดอกไม้อื่นๆ แต่งหน้าส่างลองด้วยการ เขียนคิ้ว ทาปาก  สีแดง  และสวมถุงเท้าสีขาว  ถือเป็นการแต่งตัวอลองเต็มตัว พระสงฆ์ให้ศีลให้พร อบรมสั่งสอน  

หลังจากส่างลองได้ทำพิธีรับศีลแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่รวมถึงเจ้าภาพจะจัดเลี้ยงอาหาร 12 อย่าง เป็นมื้อแรกแก่ส่างลอง จากนั้นจะนำส่างลองแห่รอบวิหาร 3 รอบ และแห่ไปกราบคารวะศาลหลักเมือง จากนั้น ในช่วงบ่ายก็จะนำส่างลองไปคารวะตามวัดต่างๆ

วันนี้เสียดายมากกว่ามาถึงงานเกือบบ่ายโมง เลยเก็บภาพได้นิดหน่อย เสร็จแล้วเข้าที่พัก ก่อนที่ตอนเย็นเราไปเดินเที่ยว สะพานซูตองเป้

 

สะพานซูตองเป้ สะพานไม้ที่ปูด้วยไม้ไผ่กว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 500 เมตร เชื่อมระหว่างสวนธรรมภูสมะข้ามแม่น้ำแม่สะงาผ่านทุ่งนาของชาวบ้านไปถึงหมู่บ้านกุงไม้สัก

เสียดายเป็นครั้งที่สองอีก ถ้ามาช่วงหน้าทำนาคงจะได้ภาพสวยๆอย่างนี้แน่นอน และที่สำคัญถ้ามาตอนเช้าๆ คงได้ภาพพระบิณฑบาตร....เสียดาย

วัดจองคำและวัดจองกลางเปรียบเสมือนวัดแฝด ด้วยตั้งอยู่ในกำแพงเดียวกัน เมื่อมองจากด้านหน้า วัดจองคำ จะอยู่ด้านซ้ายมือ ส่วนวัดจองกลางจะอยู่ทางขวามือ วัดจองคำและวัดจองกลางตั้งอยู่กลางเมืองแม่ฮ่องสอน และ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองไทใหญ่แห่งนี้ เพราะนอกจากความงดงามทางศิลปะแล้ว วัดทั้งสอง ยังเป็น ศูนย์กลางของกิจกรรมทางวัฒนธรรม และประเพณีของชาวแม่ฮ่องสอน พื้นที่ด้านหน้าของวัดซึ่งเป็น สวนสาธารณะหนองจองคำ

วัดพระธาตุดอยกองมู เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์์คู่่บ้านคู่เมืิองของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาช้านาน ตั้งอยู่บน ดอยกองมู ทาง ทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเพียง 3 ก.ม.เดินทางโดยแยกจากทางหลวงสาย 108 ขึ้นไปทางซ้ายมือ เป็นทางลาดยางขึ้นภูเขาไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณวัด พระธาตุดอยกองมูเดิมมีชื่อเรียกว่า วัดปลายดอย ประกอบด้วยพระธาตุเจดีย์ที่สวยงาม 2 องค์

จากวัดพระธาตุดอยกองมูนี้สามารถมองเห็นภูมิประเทศและสภาพตัวเมืองแม่ฮ่องสอนได้อย่างชัดเจน และสวยงามมากวัดนี้ในยามค้ำคืน ลองมองดวงจันทร์ดีๆนะครับ วันนั้นเกิดเหตุการณ์จันทรุปราคา

พระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ของวัดพระธาตุดองกองมู ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ ประดับลวดลายปูนปั้น มีฐานแปดเหลี่ยมซ้อนสามชั้น บริเวณฐานด้านล่างประดับด้วยซุ้มพระตาม ทิศทั้งแปด

พระธาตุเจดีย์องค์เล็กของวัดพระธาตุดอยกองมูสร้าง พญาสิงหนาทราชา เจ้าผู้ครอง แม่ฮ่องสอนคนแรกเพื่อ เป็นที่ี่ระลึกในการขึ้นครองแม่ฮ่องสอน เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระ ซึ่งนำมาจากพม่า เจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ มีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนสามชั้น ตรงมุมทั้งสี่ของฐานมีปูนปั้นรูปสิงห์ประดับอยู่ บริเวณฐานด้านล่างประดับด้วยซุ้มพระแบบศิลปะมอญ ซุ้มประธานมีหลังคาประดับเรือนยอดสามยอด แต่ละยอด เป็นทรงประสาทซ้อนสามชั้น ประดับลวดลายปูนปั้นสวยงามวิหารวัดพระธาตุดอยกองมู อยู่ติดกับ พระธาตุเจดีย์ องค์ใหญ่ สร้างขึ้นพร้อมกัน มีลกษณะเป็นอาคารทรงโรงเปิดโล่ง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาซ้อนสามชั้น มุงด้วย กระเบื้องไม้และตกแต่งโลหะ ฉลุลวดลายตามแบบศิลปะไทใหญ่

ไม่ไหวแล้วเริ่ม ง่วงมาก วันนี้ขอตัวกลับที่พักนอนก่อน นัดหมายพรุ่งนี้ ตีห้าครึ่งล้อหมุน เรามีโปรแกรมไปงานวันที่ 2 คือวันแห่ครัวหลู่

วันแห่ครัวหลู่

เราถึงที่สถานที่ตั้งขบวนแห่ก่อนเวลา เจ้าภาพส่างลอง เริ่มมาสมทบเรื่อยๆ  เสียงบรรเลงเครื่องดนตรีชาวไทใหญ่เริ่มกระหึมดังอีกครั้ง ไม่ใช่น่าว่าเราเก็บภาพไปเต้นไปตามเสียงเพลง ไม่ใช่เพราะเสียงเพลงแต่ไม่ทราบโดนตัวอะไรมากัด คันแขนขายุบยิบไปหมดเลย ใช่ครับ น่าจะโดนตัวคุ่นจู่โจมซะแล้ว  

 

การแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานไปวัด มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมขบวนมากมายเพื่อช่วยกันแบกหามเครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรม ทั้งเล็กและใหญ่

องค์ประกอบงานบวช “ปอยส่างลอง”


ชุดส่างลอง (เครื่องแต่งกายต่างๆ)

ร่มทอง (สำหรับกางให้ส่างลอง) "กลดทอง" หรือ “ทีคำ” แบบพม่าไว้บังแดด


ตะแป - พ่อส้าน แม่ส้าน (ผู้คอยปรนนิบัตร) เป็นผู้ที่ดูแลให้ส่างลองขี่คอตลอดงาน ขาส่างลองต้องไม่แตะพื้นที่ดิน ผู้เป็น ตะแป หรือ พ่อส้าน จะคอยดูแลโดยให้ขี่คอ และโดยมี ตะแป อีกคนคอยกางร่มให้ตลอดเวลา

จีวร

อัฐบริขาร (ประกอบด้วย เครื่องใช้ต่างๆ)


ต้นเงิน


สังฆทาน


ต้นข้าวตอก หรือ ต้นข้าวแตก

นอกจากนี้ในขบวนมี

ม้าเจ้าเมือง

วันข่ามส่าง หรือวันหลู่ เป็นสุดท้ายของการจัดงาน ซึ่งพวกเราไม่ได้ไปร่วมงาน เพราะต้องเดินทางกลัีบกรุงเทพ เป็นวันบรรพชาสามเณร..... เสียดายเป็นครั้งที่สามครับ ช่วงบ่ายวันที่สองเราเดินทางเข้าที่พักลีไวน์รักไทยรีสอร์ท อันแสนโรแมนติกมาฝาก

ลีไวน์รักไทยรีสอร์ท  หมู่บ้านรักไทย รีสอร์ทบ้านดินทีี่รีโนเวทไร่ชาเก่าให้กลายเป็นบ้านพักกลางไร่ชา ในบรรยากาศคล้ายลักษณะแบบจีนยูนนาน การเลือกใช้ดินสร้างบ้านพักเพื่อรักษาอุณหภูมิให้ไม่หนาวมากในฤดูหนาว และไม่ร้อนมากในฤดูร้อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติแสนพิเศษของบ้านดิน ที่พักตั้งอยู่บนเนินสูงไล่ระดับขั้นบนเขา ทำให้ที่นี่มีวิวงดงาม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของที่นี้

หลังคาทรงจีนยูนาน ใช้สีส้มเข้มออกแดง ภายในตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบล้านนา เปิดหน้าต่าออกมา จะเห็นวิวต้นชาเรียงรายกันเป็นทิวแถว เขาบอกว่าตอนเช้าเราอาจเห็นวิถีชีวิตประจำวันของคนที่นี้ เก็บยอดชา... ตอนเราไปไม่มีนะ มีแต่คุ่นเยอะพอสมควร แต่ไม่ต้องห่วงหลังจากผ่านประสบการณ์คุ่นในงานปอยส่างลองมาแล้ว ครั้งนี้แต่งตัวเต็มยศ เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้่าผ้าใบ งานนี้ไร้คุ่นมากวน

แต่วิวหน้าระเบียงเป็นที่ชอบมาก เรานั่งเก้าอี้ตรงริมระเบียงมองวิวสวยๆ บรรยากาศเย็นสบาย

ชื่อบ้านพักที่นี้ ตั้งตามชื่อชา อาทิ บ้านชาเขียว บ้านหอมหมื่นลี้ บ้านโสมอูหลง บ้านชาก้านเดียว บ้านชามะลิ บ้านอูหลง บ้านสี่ฤดู บ้านชาผู๋เอ่อ บ้านชากุหลาบ บ้านทิพย์กวนอิมฯ

 

ข้อมูลการติดต่อ :

งานปอยส่างลอง

เทศบาลตำบลปาย            โทร.053 - 699195

เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน    โทร.053 - 612016

เทศบาลตำบลขุนยวม          โทร.053 - 691019

เทศบาลตำบลแม่สะเรียง      โทร.053 - 681231

ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน  โทร +66 5361 2982-3

ลีไวน์รักไทยรีสอร์ท

3 หมู่ 6 บ้านรักไทย ตำบลหมอกจำแป๋ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58000 
เบอร์ติดต่อ : 08 9552 9650, 08 9950 0955, 08 9262 1335 
Website : http://www.leewinerukthai.com

(หมายเหตุ รูปกับข้อความอาจไม่ตรงความหมายกัน กราบขออภัยด้วยครับ)