คำบรรยายภาพ
เหลืองอะไรอยู่เชียงราย?
ในช่วงอากาศร้อนมากที่สุด เดินทางไปปฏิบัติงานที่จังหวัดเชียงราย ระหว่างเส้นทางกลับจากไปดูงานที่ หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ สะดุดตากับต้นไม้ที่มีดอกเหลืองอร่าม ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนถึงเหลืองอินเดีย แต่ดูไปดูมาที่เห็นอยู่ข้างทางนั้นไม่ใช่เหลืองอินเดีย เพราะมีฝัก แต่นั่นคือเหลืองเชียงราย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tabebuia chrysotricha
ในขณะที่เหลืองอินเดีย Tabebuia chrysantha ชื่อสามัญคือ Golden Trumpet ต้องไม่มีฝักอย่างนี้
ทำให้นึกถึงอีกหนึ่งเหลือง คือเหลืองปรีดิยาธร (Tabebuia argentea Britt.) ชื่อสามัญคือ Silver trumpet tree เพราะมีจะมีใบสีเงิน และทั้งหมดอยู่ในจีนัสเดียวกันคือTabebuia อยู่ในวงศ์ Bignoniaceae
แหล่งกำเนิดของเหลืองเชียงรายคือประเทศบราซิล เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง การขยายพันธุ์ที่เหมาะสมคือการเพาะเมล็ดและเสียบยอด นิยมปลูกมากทางภาคเหนือของไทยเรา อันเป็นที่มาของชื่อว่า “เหลืองเชียงราย” ชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Dwarf Golden Trumpe
ความแตกต่างระหว่างเหลืองเชียงรายกับเหลืองปรีดิยาธร สามารถสังเกตได้ชัดว่าเหลืองเชียงรายจะมีดอกเป็นกระจุกแต่ไม่หนาแน่นเท่าเหลืองปรีดิยาธร
สำหรับใบก็แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยที่เหลืองปรีดิยาธรมีผิวใบสีเขียวเหลือบสีเงินทั้งสองด้าน แต่เหลืองอินเดียกับเหลืองเชียงรายนั้นคล้ายกันมากจนแทบจะแยกไม่ออกนอกจากใบของเหลืองอินเดียจะไม่มีขน และไม่ติดฝัก ยิ่งแห้งแล้งมากเหลืองเชียงรายจะผลัดใบจนหมด เหลือแต่ดอกสีเหลืองๆ ดูสวยงามมาก แต่ลึกๆ สะท้อนกลับมาว่าแถวนั้นจะต้องแห้งแล้งขาดน้ำมากๆ เพราะพืชชนิดนี้ถ้าน้ำอุดมสมบูรณ์จะออกดอกน้อยมาก จะมีใบมากกว่าดอกเรียกว่าบ้าใบ
ถ้าปลูกที่บ้านและอยากให้ออกดอกมากๆ ก็คืองดให้น้ำ แต่ต้องแน่ใจว่าไม่มีน้ำใต้ดิน แนะนำว่าถ้าที่บ้านมีเนื้อที่สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี ดูแลรักษาง่ายเพราะไม่ชอบน้ำ
การแยกแยะเหลืองเชียงรายกับเหลืองอินเดีย นอกจากการติดฝักของเหลืองเชียงรายแล้ว อาจสังเกตได้จากลักษณะของดอก
ข้อแตกต่างด้านลักษณะที่เห็นได้ชัดก็คือ ฐานรองดอก เหลืองเชียงรายมีฐานรองดอกที่มีขนปกคลุมอยู่มาก แต่เหลืองอินเดียจะไม่มีขน นอกจากนั้นลักษณะของต้น คือขนาดของต้นเหลืองเชียงรายต้นไม่ใหญ่นัก อีกทั้งขนาดของต้นขึ้นอยู่กับสภาพแสง คือถ้าแสงแดดจัดต้นจะเล็ก แต่ถ้าแดดน้อยต้นก็จะสูง แต่เหลืองอินเดียเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดแต่ไกล
การขยายพันธุ์ของเหลืองเชียงรายและเหลืองปรีดิยาธร สามารถใช้เมล็ดหรือกิ่งตอนได้ แต่ถ้าจะปลูกเหลืองอินเดียคงต้องใช้กิ่งตอนอย่างเดียว
ว่าแต่จะเหลืองอะไรก็ตาม ก็สวยงามทั้งสิ้น มองไปไกลๆ ทำให้ดูสดใสดีจริงๆ แทบไม่ต้องสนใจว่าจะเหลืองอะไร
ข้อมูลสื่อ
ชื่อไฟล์: 375-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 375
เดือน/ปี: กรกฎาคม 2553
คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า
นักเขียนหมอชาวบ้าน: ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์
ความคิดเห็น