ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
ดอกไม้ปันโดง : ประเพณีแห่งศรัทธา งานบุญยี่เป็งแห่งชาวไทลื้อ วัดร้องแง อำเภอปัว จังหวัดน่าน
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 06 , 2563

    ความเชื่อเกี่ยวกับ ประเพณีลอยกระทง หรือ คืนวันเพ็ญเดือน 12 ของในแต่ละพื้นที่นั้นล้วนแตกต่างกันไป บางที่เชื่อว่าเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บ้างก็ว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา และในคราวเดียวกันยังเป็นการต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลก บางแห่งก็บอกว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้บูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึก ส่วนความเชื่อที่เราคุ้นหน่อยก็จะเป็นเรื่องของการขอขมาพระแม่คงคานั่นเอง

    แต่สำหรับความเชื่อของ ชุมชนไทลื้อ แห่ง วัดร้องแง ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน ชาวบ้านต่างพากันเข้าวัดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสสบายอกสบายใจ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ หมดทุกข์หมดโศก พร้อมด้วยการถวาย ดอกไม้ปันโดง 

    *ปันโดง เป็นสำเนียงการออกเสียงของชาวลื้อ ซึ่งหมายถึง ดอกไม้พันดวง หรือดอกไม้จำนวนกว่าพันดอกนั่นเอง

    ประเพณีการถวายดอกไม้พันดวง เป็นการสืบทอดความเชื่อที่มีเพียงหนึ่งเดียว ณ วัดร้องแงแห่งนี้เท่านั้น ซึ่งถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของชุมชนชาวไทลื้อ ปกติแล้วเราอาจเคยได้ยินมาบ้างว่า ช่วงลอยกระทงของชาวล้านนาโดยปกติแล้วจะเรียกว่า "ยี่เป็ง" ซึ่งหมายถึงเดือนสอง แต่สำหรับชาวไทลื้อ จะเรียกช่วงเวลานี้ว่า "เกี๋ยงเป็ง" ซึ่งหมายถึงเดือนหนึ่ง โดยถือเป็นช่วงเวลาแห่งการนับหนึ่งเพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ สำหรับชาวล้านนาเมื่องานบุญใหญ่มาถึง ก็จะมีการ ตั้งธรรมหลวง หรือ เทศน์มหาชาติ ซึ่งมีความเชื่อว่าหากใครได้ฟังเทศน์มหาชาติครบทั้ง 13 กัณฑ์ สุดท้ายก็จะได้ไปสวรรค์ มีบุญบารมีล้นเหลือซึ่งจะหนุนนำไปสู่พบภูมิที่ดี

    ก่อนจะเริ่มการเทศน์มหาชาติชาวบ้านก็จะมารวมตัวกันทำดอกไม้พันดวงเพื่อเป็นเครื่องบูชา ซึ่งดอกไม้ที่ใช้จะเป็นดอกไม้ที่ชาวบ้านหาได้ง่าย ๆ ตามท้องไร่ท้องนาในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น ดอกดาวเรือง ดอกทองอุไร ดอกบานไม่รู้โรย ดอกหงอนไก่ หรือดอกไม้อะไรก็ได้ที่สามารถหาได้ จากนั้นก็จะนำมาจัดเรียงในภาชนะไม้ไผ่สานทรงสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า “แต๊ะ”  โดยหนึ่งครอบครัวก็จะทำขึ้นมาคนละหนึ่งอันเท่านั้น   เมื่อเสร็จแล้วชาวบ้านก็จะนำดอกไม้พันดวงที่รวมกันอยู่ในแต๊ะไปแขวนไว้ภายในวิหาร และจะแขวนไว้เช่นนั้นจนกว่าประเพณีนี้จะเวียนมาอีกครั้งในปีถัดไป ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวภายในวิหารก็จะอบอวลไปด้วยดอกไม้นานาชนิดที่ส่งกลิ่นหอมไปทั่วบริเวณ  

    ในรุ่งเช้าของวันต่อมา (ตี 3 - ตี 4 โดยประมาณ) ชาวบ้านจะช่วยกันเตรียม "ข้าวพันก้อน" โดยจะทำการนึ่งข้าวเหนียวหม้อใหญ่  แล้วปั้นเป็นก้อน ๆ ให้ครบพัน จากนั้นนำใส่กระบุงจนเต็ม เสร็จแล้วชาวบ้านก็จะยกเข้าไปทำพิธีต่อในวิหาร หากชาวบ้านคนไหนมาไม่ทันถวายข้าวพันก้อนก็สามารถนำข้าวเหนียวจากบ้านมาร่วมใส่บาตรก็สามารถทำได้ หลังจากถวายข้าวพันก้อนแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนของการฟังเทศน์มหาชาติทั้งหมด 13 กัณฑ์  (ระยะเวลาในการเทศน์ทั้ง 13 กัณฑ์อยู่ที่ประมาณ 16 ชั่วโมง)

    ช่วงท้ายของการเทศน์ดำเนินมาถึงในตอนหัวค่ำ ก่อนจะเป็นการจุด "สีสาย" ขั้นตอนที่ชาวบ้านจะได้สะเดาะเคราะห์ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่สบายใจ รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ให้พ้นผ่านไปในวันนี้ โดยสิ่งที่เรียกว่า "สีสาย" จริง ๆ แล้วก็คือเชือกฝ้ายที่มีความยาวประมาณ 1 วา (จะใช้ 1 เส้น ต่อ 1 สิ่งที่ต่องการสะเดาะเคราะห์ พ่อ แม่ พี่ น้อง หมา วัว ไก่ รวมถึงทรัพย์สินอย่าง บ้าน รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ก็สามารถทำได้เช่นกัน) เมื่อตั้งจิตอธิษฐานแล้วชาวบ้านก็จะนำสีสายที่ชุบน้ำมันก๊าซไปแขวนแล้วจุดไฟเผาก็เป็นอันเสร็จประเพณีดอกไม้พันดวง  

    สำหรับงานประเพณีดอกไม้พันดวงเป็นงานประเพณีที่จัดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นักท่องเที่ยวอาจพลาดโอกาสในการเข้าร่วมประกอบพิธี แต่ถึงอย่างไรแล้วผู้ที่สนใจก็ยังสามารถเดินทางมาเยี่ยมชมดอกไม้พันดวงที่แขวนอยู่ภายในวิหารของวัดร้องแงอันวิจิตรในแบบไทลื้อแห่งนี้ได้ตลอดทั้งปี   โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานน่าน โทร. 054-711-217, 054-711-218
    • โพสต์-2
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 06, 2563

    Editor's Comment

    • จุดเด่น:
    • นอกจากตัวประเพณีดอกไม้ปันโดงจะเป็นประเพณีที่หาชมได้ยากแล้ว ในแง่ของศิลปะ และสถาปัตยกรรมพื้นเมืองของวัดร้องแงก็ยังมีความโดดเด่นที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ไหน
    • จุดด้อย:
    • เนื่องจากเป็นชุมชนเล็ก ๆ การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลของงานประเพณีอาจยังไม่แพร่หลาย หรือเป็นที่รู้จักเท่าที่ควร ทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัด หรือพื้นที่ใกล้เคียง อาจพลาดโอกาสในการเข้าชมไปอย่างน่าเสียดาย
    • ข้อสรุป:
    • ประเพณีดอกไม้พันโดง ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีในช่วงวันเพ็ญเดือน 12 ของชาวล้านนาที่น่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นประเพณีที่หาชมได้ยากเนื่องจากมีเฉพาะที่วัดร้องเเงแห่งนี้ที่เดียวเท่านั้น
    คะแนน
    • โพสต์-3
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 06 , 2563

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ :  วัดร้องแง ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน

    GPS : 19.175716, 100.935936

    เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 06.00 - 17.00 น.

    ที่จอดรถ : มีลานจอดรถให้บริการ

    • โพสต์-4
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 06 , 2563

    วิธีการเดินทาง

    จากอำเภอปัว ผ่านธนาคารกสิกรไทย กลับรถตรงเกาะกลาง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทาง 1256 ทางเข้าจะอยู่ตรงข้าม โรงเรียนวรนคร เข้าไปอีกประมาณ 200 เมตร และแยกซ้ายอีก 200 เมตร  ผ่านวัดพระธาตุเบ็งสกัด หลังจากนั้นขับตรงไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงบ้านร้องแงจะเห็นวัดร้องแงอยู่ทางซ้ายมือ

    • โพสต์-5
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 06, 2563