“ดอยอินทนนท์” เดิมใช้ชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” ทั้งสองชื่อนี้มีความหมายเดียวกันว่า “ดอยที่มีความใหญ่” เนื่องจากขนาดอันใหญ่โตของดอยอินทนนท์นั้นเอง ซึ่งคำว่า “หลวง” ในภาษาเหนือนั้นแปลว่า “ใหญ่” ส่วนคำว่า “อ่างกา” นั้นเป็นภาษาปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) แปลว่า “ใหญ่” เหมือนกันนั่นเอง ดอยอินทนนท์อยู่ในเขตความดูแลของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงลดหลั่นกัน และด้วยความสูงถึง 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงทำให้สภาพภูมิประเทศบริเวณนี้มีอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี และมีสภาพป่าที่หลากหลายประกอบกับมีพืชพรรณนานาชนิด ดังนั้นดอยอินทนนท์จึงมีเสน่ห์อันน่าอัศจรรย์ที่ดึงดูดให้เหล่านักท่อง เที่ยวเดินทางมาเยี่ยมเยือนกันอย่างไม่ขาดสาย
เราเริ่มต้นกันที่บริเวณ “ยอดดอยอินทนนท์” กับอุณหภูมิ 14 องศา ในเดือนกรกฎาคม โดยบริเวณนี้นอกจากจะเป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทยแล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐาน “สถูปเจ้าอินทวิชยานนท์” เจ้าผู้ครองนคร เชียงใหม่องค์สุดท้ายอีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าใครที่มีโอกาสขึ้นมาถึงบนยอดดอยอินทนนท์แล้วก็แนะนำว่าควรมาสักการะที่สถูปแห่งนี้ซักครั้ง
ไม่ห่างจากบริเวณทางเดินขึ้นไปยังสถูปเจ้าอินทวิชยานนท์มากนัก เราจะเห็นทางเข้า “เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติอ่างกา” เส้นทางนี้เป็นสะพานไม้มีความยาวประมาณ 360 เมตร ซึ่งจะใช้เวลาเดินทั้งหมดไม่เกิน 30 นาที ความมหัศจรรย์ของสภาพป่าบริเวณนี้มีความน่าสนใจมาก โดยเฉพาะบางจุดที่มีลักษณะเป็นป่าดิบเขตอบอุ่น บางแห่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าพรุ มีพรรณไม้หายากหลายชนิด ที่สำคัญยังมีทัศนียภาพที่สวยแปลกตาจนสามารถกล่าวได้ว่าป่าแห่งนี้เป็นป่า ที่มีความงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพียงแค่เดินลงมาจากทางเดินที่เชื่อมต่อกับถนนใหญ่เพียงเล็กน้อยเราก็จะเริ่มเข้าสู่เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
ซึ่งความมหัศจรรย์ของภาพที่เห็นทำให้เราตกตะลึงไปกับผืนป่าที่ถูกปกคลุมไปด้วยมอสอย่างหนาแน่น ราวกับได้หลงเข้าไปอยู่ในป่าดึกดำบรรพ์เลยทีเดียว ยิ่งตลอดทางเดินเราจะพบเห็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีอายุนับร้อยปียืนต้นอยู่ท่าม กลางเศษซากไม้ที่ค่อยสลายตัวทับถมกันอยู่บนดิน แม้จะเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเพียงระยะทางสั้น ๆ แต่ทุกย่างก้าวเราก็ได้รับรู้ถึงความอัศจรรย์ของธรรมชาติได้เต็มเปี่ยม