ตามรอย โครงการแหลมผักเบี้ยฯ ต้นแบบเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ
แทบทุก ๆ จังหวัดของประเทศไทย ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่มีโครงการพระราชดำริที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงศึกษาวิจัยเพื่อช่วยเหลือราษฏรที่ลำบาก เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างในจังหวัดเพชรบุรีนี้เอง ก็มีโครงการที่น่าสนใจมากมาย และหนึ่งในนั้นคือ "โครงการศึกษา และวิจัยแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ที่ทรงให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และ กรมชลประทานร่วมกันหาวิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับขยะมูลฝอย น้ำเสีย และการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนในจังหวัดเพชรบุรี
โครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ 1,135 ไร่ สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 1 ใน 5 ของเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีประชากรประมาณ 40,000 คน โดยน้ำเสียจะถูกส่งมาตามท่อด้วยความยาวกว่า 18 กิโลเมตร ตามจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูง และเป็นยังมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริที่ได้นำมาใช้ในแหลมผักเบี้ยมีทั้งหมด 4 ระบบ ได้แก่
1. ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นระบบที่อาศัยการกักพักน้ำเสียไว้ในระยะเวลาที่เหมาะสมกับความสกปรกของน้ำ เติมออกซิเจนด้วยการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอน และสาหร่าย อาศัยแรงลมช่วยในการเติมอากาศเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ และกักพักน้ำในแต่ละบ่อเป็นเวลา 7 วัน น้ำเสียแต่ละบ่อจะไหลล้นจากด้านบน และไหลลงสู่ด้านล่างของบ่อถัดไป
2. ระบบพืชและหญ้ากรองนาเสีย เป็นระบบที่ให้พืช หญ้าอาหารสัตว์ ช่วยดูดซับธาตุอาหารจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดิน โดยมีระยะเวลาในการขังน้ำเสีย 5 วัน สลับปล่อยแห้ง 2 วัน ที่ใช้ในการบำบัด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ หญ้าอาหารสัตว์ ได้แก่ หญ้าสตาร์ หญ้าคาลลา และหญ้าโคสครอส พืชทั่วไป ได้แก่ ธูปฤาษี กกกลมและหญ้าแฝกพันธุ์อินโดนีเซีย เมื่อครบตามระยะเวลาก็จะตัดพืชออก แล้วก็นำไปให้กลุ่มแม่บ้านทำเครื่องสานเพื่อเพิ่มประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านได้ด้วย
3. ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม เป็นระบบที่ใช้กลไกการบำบัดเช่นเดียวกับระบบพืช และหญ้ากรอง จะแตกต่างกันที่วิธีการ คือ จะเติมน้ำเสียลงสู่ระบบอย่างต่อเนื่องตลอดวัน โดยอัตราการไหลของน้าเสียเท่ากับปริมาณน้ำเสียใหม่ที่สามารถผลักดันไล่น้ำเสียเก่าออกจากระบบหมดในเวลา 1 วัน พืชที่ใช้ก็เป็นชนิดเดียวกันกับระบบก่อนหน้า
4. ระบบแปลงพืชป่าชายเลน ระบบนี้จะให้ธรรมชาติบำบัดด้วยตัวของมันเองตามระยะเวลาการขึ้นลงของน้ำทะเลในแต่ละวัน อาศัยระบบรากของพืชป่าชายเลนช่วยปล่อยก๊าซออกซิเจนเติมให้กับน้ำเสียและจุลินทรีย์ในดิน หรับสัดส่วนในการผสมระหว่างน้ำเสียและน้ำทะเลจะมีสัดส่วนมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับค่าความสกปรกของน้ำเสีย