หนาวนี้ไม่เหงาแล้ว...จากเชียงคำสู่เชียงราย ตอนที่ 2 เชียงราย

 

กลับมาแล้ว กับตอนที่2 หลังจากห่างหายไปนาน ภาคก่อนเราพาไปเที่ยวกันที่พะเยากันไปแล้ว

กดลิ้งค์ เข้าไปชมกันได้ที่ หนาวนี้ไม่เหงาแล้ว...จากเชียงคำสู่เชียงราย ตอนที่ 1 เชียงคำ-ภูซาง

คราวนี้เรากลับมาพร้อมกับที่เที่ยวในเชียงราย  

โดย2จังหวัดนี้มีเขตติดต่อระหว่างอำเภอเชียงคำจังหวัดพะเยา กับอำเภอเทิง จังหวัดเชียงรายนั่นเอง

 

ที่แรกที่เราตรงไปคือ ไร่ชาฉุยฟง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

เป็นของ บริษัท ฉุยฟงที จำกัด ซึ่งป็นผู้ผลิตใบชารายใหญ่ที่สุดใน จังหวัดเชียงราย โดยมีประสบการณ์ยาวนานในการเพาะปลูกชามานานกว่า 40 ปี  ไร่ชามีอยู่ด้วยกัน 2 แห่ง คือ อำเภอแม่จัน เชียงราย และบ้านพญาไพร ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง แต่ในที่นี้จะพูดถึง ไร่ชาฉุยฟงที่ อำเภอแม่จัน ไร่ชาตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ บรรยากาศโดยรอบสีเขียวชะอุ่ม ไร่ชาขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเนินเขาปลูกลดหลั่นกันเป็นขั้นบันได แล้วที่นี่ยังมีร้านอาหาร และเครื่องดื่ม เบเกอรี่ ไว้บริการ เมนูยอดนิยม เช่น สปาเก็ตตี้ยูนาน หมั่นโถวชาเขียว ชาเขียวเย็น เค้กชาเขียว เป็นต้น นอกจากนี้ที่ไร่ชาฉุยฟงยังสามารถชิมชาและเลือกซื้อชาคุณภาพดีหลากสายพันธุ์ เป็นของฝากได้


การเดินทาง
ไร่ชาฉุยฟง อำเภอแม่จัน จะถึงก่อนอำเภอแม่ฟ้าหลวง จากถนนสายหลักเชียงราย - แม่สาย มาถึงเขตอำเภอแม่จัน ตรงแยกป่าซาง ที่จะไปดอยตุง แม่สลอง ให้เลี้ยวเข้าไปจากนั้นขับรถตรงไปเรื่อย มีป้ายบอกตลอดทางขับตรงไปประมาณ 15 จะถึงทางเลี้ยว มีป้ายบอกไปไร่ชาฉุยฟงตรงทางเลี้ยว ให้เลี้ยวขวาขับไปตามเส้นทางเรื่อยๆ 
จะถึงไร่ชา

พิกัด:97 ม. 8 บ้านป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย 57110 (ระหว่างทางไป อ.แม่สาย บริเวณ ต.ป่าซาง อ.แม่จัน เชียงราย

 

 

 

มาถึงเชียงราย ถิ่นศิลปวัฒนธรรมล้านนาทั้งที ก็คงพลาดไม่ได้ 

ที่นี่มีวัดวาอารามที่สวยงาม วิจิตรตระการตามากมาย ทั้งยังออกแบบและสร้างอย่างประณีตมาก

มาวัดแรกกันเลย คือวัดร่องขุ่นนั่นเอง ออกแบบและก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งปรารถนาจะสร้างวัดให้เหมือนเมืองสวรรค์ที่มนุษย์สัมผัสได้ 

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างวัดมาจาก 3 สิ่งต่อไปนี้คือ

  • ชาติ : ด้วยความรักบ้านเมือง รักงานศิลป์ จึงหวังสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน
  • ศาสนา : ธรรมะได้เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์เฉลิมชัยจากจิตที่ร้อนกลายเป็นเย็น จึงขออุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนา
  • พระมหากษัตริย์ : จากการเข้าเฝ้าฯ ถวายงานพระองค์ท่านหลายครั้ง ทำให้อาจารย์เฉลิมชัย รักพระองค์ท่านมาก จากการพบเห็นพระอัจฉริยะภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ท่าน จนบังเกิดความตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงปรารถนาที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ถวายเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลพระองค์ท่าน

การเดินทาง

วัดร่องขุ่น อยู่ในท้องที่ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวัดบ้านเกิดของอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ วัดร่องขุ่นอยู่ก่อนตัวเมืองเชียงรายประมาณ13 กิโลเมตร ตรงสามแยกไฟแดงทางเข้าน้ำตกขุนกรณ์ จะเป็นที่ตั้งของวัดร่องขุ่น ซึ่งห่างถนนใหญ่เพียง100 เมตร เท่านั้น

พิกัด

ตำบล ป่าอ้อดอนชัย อำเภอเ มืองเชียงราย เชียงราย 57000

 

วัดต่อมา.. วัดห้วยปลากั้ง

ตั้งอยู่บนเขา และมีเนินเขารายรอบวัดสามารถเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามสิ่งที่โดดเด่นของวัดนี้ คือ " พบโชคธรรมเจดีย์"   ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สูงถึง 9 ชั้น รูปทรงแปลกตาลักษณะเป็นทรงแหลม ศิลปะจีนผสมล้านนา หลังคาสีแดงมีรูปปั้นมังกรทอดยาวทั้งสองข้างบันได ล้อมรอบด้วยเจดีย์ เล็กๆ 12 ราศี

นอกจากพบโชคเจดีย์แล้ว พระอาจารย์พบโชคสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิมตามนิมิตองค์ใหญ่ ที่มีขนาด ความสูง 69 เมตร 23 ชั้น ขึ้นด้วยลิฟท์ ชั้น 22-23 มองเห็นภูมิทัศน์ของเชียงราย  นอกจากนี้ยังมี ภัตตาคารพบโชค เป็นโรงอาหาร สำหรับเด็กกำพร้าและคนชราประมาณ 200 กว่าชีวิตที่พระอาจารย์พบโชคท่านอุปการะเลี้ยงดู นอกจากภัตตาคาร พบโชคที่กินฟรี แล้วพบโชคคลีนิคยังรักษาโรคฟรี

 

การเดินทางไปวัดห้วยปลากั้ง
ใช้เส้นทางจากถนนพหลโยธินฝั่งขาขึ้นสู่จังหวัดเชียงราย ผ่านห้าแยกอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำกก ลงสะพานให้ชะลอความเร็ว เลี้ยวซ้ายตรงบริเวณแยกไฟแดงเข้าสู่บ้านใหม่ตำบลริมกก มุ่งหน้าผ่านร้านอาหารเอกโอชาจนเจอ 3 แยก ให้เลี้ยวขวาไปทางตำบลแม่ยาว ผ่านไปประมาณ 1 กิโลเมตร สังเกตุจากป้ายบอกทาง ทางเข้าวัดจะอยู่ฝั่งขวามือของถนน ขับไปตามเส้นทางที่ป้ายบอกไว้ วัดห้วยปลากั้งอยู่ซ้ายมือ

 

พิกัด 553 หมู่ 3 ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 

เปิดตั้งแต่เวลา 07.00 น.-21.30 น.ทุกวัน โทร.053-150274, 086-6200647  

ที่จีนมีกำแพงเมืองจีน ที่ไทยก็มีกำแพงเมืองไทยเช่นกัน

 

อีกวัดที่ พลาดไม่ได้ ก็เป็น วัดร่องเสือเต้น

ความโดดเด่นของวันร่องเสือเต้นที่เห็นได้ชัดคือ วิหารวัดร่องเสือเต้น สร้างและออกแบบโดยศิลปินพื้นบ้านชาวเชียงราย นายพุทธา กาบแก้ว หรือที่คนรู้จัดในนาม สล่านก หลังจากที่จบการศึกษาใหม่ๆก็มีโอกาสได้มาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในการสร้างวัดร่องขุ่น จนได้ซึมซับศิลปะแนวพุทธศิลป์มาจากอาจารย์เฉลิมชัย

โทนสีที่ใช้เป็นโทนสีน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทองเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับวิหาร โดยสีน้ำเงินฟ้าของตัววิหารนั้นแสดงถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าที่ขจรขจายไปทั่วโลก ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เป็นความจริงตามหลักเหตุและผล เปรียบเสมือนดังท้องฟ้าที่สดใส เป็นศิลปะแนวพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่แฝงด้วยธรรมของพุทธองค์

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงราย ลงสะพานน้ำกก เลี้ยวซ้ายไปทาง ต.แม่ยาว ประมาณ 300 เมตร วัดร่องเสือเต้น จะอยู่ด้านซ้ายมือ
ถ้าหากมาทางแม่จัน ก็จะเจอสามแยกไฟแดง ก่อนขึ้นสะพานน้ำกก ให้เลี้ยวขวา ไปทางตำบลแม่ยาว วัดร่องเสือเต้น จะอยู่ซ้ายมือ

พิกัด 306 หมู่ 2 ชุมชนร่องเสือเต้น ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 

โทร.0820269038

 

ใครที่ผ่านมาแถววัดร่องเสือเต้น ใกล้ๆกันก็จะมีร้านอาหารบรรยากาศดีมากๆ ตั้งอยู่ริมน้ำกก

ชื่อร้าน มโนรมย์ นั่นเอง การดีไซน์ตัวร้านเป็นเรือนกระจกขาวแบบไทยวินเทจ

เน้นโทนสีขาวตัดกับโทนสีเขียวของสนามหญ้า ต้นไม้และไม้ประดับต่างๆ  

ร้านนี้นอกจากจะมีอาหารสไตล์ฟิวชั่นที่อร่อยแล้ว ยังมีเครื่องดื่ม ขนมหวาน ที่ต้องมาลองอีกด้วย

บรรยากาศภายในร้าน เป็นธรรมชาติ สามารถนั่งริมน้ำ ตอนเย็นๆ ก็โรแมนติกไปอีกแบบ

นอกจากนี้ยังมี ต้นกุหลาบ สีขาว เหมือนที่เกาหลี ไว้ให้ถ่ายรูปกันอีกด้วย

การเดินทาง อยู่ติดกับวัดร่องเสือเต้น ทางด้านหลังวัด จะมีป้ายบอกทางมาที่ร้าน

หรือ มาจากตัวเมืองเชียงราย จากห้าแยกพ่อขุนเม็งราย มุ่งหน้าสู่ทางจะไปราชภัฏเชียงราย ข้ามสะพานแม่น้ำกก จะเจอไฟแดงแรกให้เราเลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 1-2 กิโลเมตร จะเจอป้ายร้าน "มโนรมย์" ที่อยู่ติดๆโครงการ และจะมีป้ายชี้เข้าไปในโครงการ. ขับเข้าไปอีก 500 เมตรก็จะเจอร้านเลย  ที่จอดรถกว้างขวาง 

พิกัด:บ้านร่องเสือเต้น ซอย 5 อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

โทร 092 373 7666

บรรยากาศสุดโรแมนติก ณ มโนรมย์ คาเฟ่

จบไปแล้วสำหรับตลอดทริป เชียงคำ สู่ เชียงราย

ใครที่กำลังหาที่เที่ยววันหยุดใหม่ๆ

ก็ขอแนะนำ ให้ลองมาเที่ยวที่ พะเยาและเชียงรายกัน ดู

รับรองว่า จะพบความน่าประทับใจกลับไปมากมายทีเดียว

ขอบคุณสำหรับการติดตาม แล้วพบกันใหม่ค่ะ

ติดตามรีวิวที่เที่ยวอื่นๆ เพิ่มเติมกันได้ที่  https://www.facebook.com/apastelstory/

#เที่ยวไทย2562

#รักเมืองไทยเที่ยวเมืองไทย

#เที่ยวเมืองรอง

#Unseenthailand