เที่ยวเมืองเลยแบบคนไม่เอาถ่าน(ภูป่าเปาะ-ด่านซ้าย-เชียงคาน)
เที่ยวเมืองเลยแบบคนไม่เอาถ่าน(ภูป่าเปาะ-ด่านซ้าย-เชียงคาน)
เที่ยวเมืองเลยแบบเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม ลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์
ไม่ว่าจะเป็นทั้งที่เที่ยว ที่กิน ที่พัก ล้วนมีการดูเเลเอาใจให้เกิดก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยที่สุด
เราจะไปดูกันว่าคนไม่เอาถ่านเค้าเที่ยวกันที่ไหนบ้าง
ที่แรกที่เราจะไปคือ สวนภูห้อมหรือฟาร์มภูห้อม ที่นี้เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์
เมื่อเรามาถึงที่นี่ เราได้รับเวลคัมดริ๊งเป็นน้ำฟักข้าวที่ปลูกเอง
ที่สวนภูห้อมเราจะได้มารู้เรื่องราวเกี่ยวกับพีชผักสวนครัว ซึ่งบางชนิดเราสามารถเอาไปปลูกในเมืองได้นะครับ
หรือสถานที่ที่มีพื้นที่น้อยๆอย่างในคอนโดก็ได้นะครับ
จากนั้นเราเดินทางต่อไปที่ ชุมชนบ้านผาฝ้าย อ.หนองหิน
ที่นี่มีกิจกรรมสนุกๆสำหรับครอบครัว คือการวาดลวดลายลงกระปุกออมสินไม้ไผ่
เราสามารถที่จะวาดเอง,ลอกลายหรือเขียนแคปชั่นเก๋ๆ ลงกระปุกออมสินตามใจชอบ
จึงถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่มาเป็นครอบครัว
และคราวนี้เราจะไปยังจุดที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของแหล่งท่องเที่ยวบริเวณนี้
นั่นคือภูป่าเปาะครับ
การเดินทางเพื่อขึ้นไปยังภูหอนั้นเราจำเป็นที่จะต้องใช้รถอีแต๊กเพราะทางขึ้นมีความลาดชั้น และลื่นมากครับ
และการใช้บริการรถอีแต๊กนี่เองก็เป็นการช่วยให้ชุมชนมีรายได้และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไปในตัว
ซึ่งภูป่าเปาะนี้เองเป็นจุดชมวิวภูเขายอดตัดที่เรียกว่า "ภูหอ" หรือที่รู้จักกันในนาม"ฟูจิเมืองเลย"
ถ้าใครโชคดีอาจจะได้เจอทะเลหมอกครับ
หลังจากขึ้นไปถ่ายรูปภูหอกันมาแล้วเราลงไปทานอาหารด้านล่าง ตรงบริเวณจุดบริการขึ้นรถอีแต๊กนั่นแหละครับ
มีทั้งน้ำพริกผักต้มหน่อไม้บง แพนงหมู ต้มจืด ไข่เจียว แต่ที่เด็ดสุดคือ สับปะรดไร่ม่วงครับ หวานฉ่ำ ไม่กัดปาก
กินเท่าไหร่ก็ไม่พอจริงๆ
หลังจากทานข้าวเสร็จแล้วพวกเรานั่งรถต่อไปที่ อ.ด่านซ้าย ทันที เพราะในช่วงนี้
เป็นวันงานบุญเลี้ยงหอของชาวด่านซ้าย จะมีการทำต้นผึ้งและน้ำไปถวายแก่พระธาตุศรีสองรัก
สถานที่ที่เราจะไปทำต้นผึ้งนั่นคือบ้านของเจ้าแม่นางเทียมครับ
เจ้าแม่นางเทียมนั้นเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวด่านซ้ายอยู่คู่มากับเจ้าพ่อกวน
ซึ่งทั้งสองท่านจะมีบทบาทสำคัญในงานประเพณีต่างๆของชาวด่านซ้าย
การทำต้นผึ้งนั้นก็เพื่อที่จะนำไปบูชาและขอพรต่อพระธาตุศรีสองรักนั่นเองครับ
เสร็จจากการทำต้นผึ้งเราไปต่อกันที่วัดโพนชัย เพื่อไปชมพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน
วัดโพนชัยนั้นเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอด่านซ้าย ซึ่งในเดือน 7 (กรกฏาคม)
จะมี งานบุญหลวง หรือที่เราอาจจะรู้จักกันในงานเทศกาลผีตาโขนนั้นเอง
ในวัดแห่งนี้จึงมีพิพิธภัณฑ์ผีตาโขนตั้งอยู่ด้วย
เมื่อเราไปถึงที่วัดเหล่ามัคคุเทศก์น้อยก็รอตอนรับเราอยู่แล้ว
พวกน้องๆได้พาเราเดินชมพิพิธภัณฑ์
พร้อมๆ กับการบรรยายเรื่องราวความเป็นมาของผีตาโขน และฮีตสิบสองคลองสิบสี่
หลังจากนั้นเรามาทำของที่ระลึกของเมืองด่านซ้ายกันนั้นคือการวาดหน้ากากผีตาโขนเล็กกันแล้วครับ
งานนี้ก็มีพี่ๆคอยให้คำแนะนำในการวาดให้ด้วย ถึงจะไม่เหมือนก็ไม่เป็นไร เพราะยังไงก็เป็นผีมือของเรา
จากนั้นเราเดินทางไปที่ภูนาคำรีสอร์ท ภูนาคำรีสอร์ทก็เป็นอีกแห่งนึงที่เข้าร่วมโครงการโลว์คาร์บอนด้วยเช่นกัน
แต่ในวันนี้เราจะมาชิมอาหารกันที่ภูนาคำรีสอร์ทครับ ซึ่งเป็นอาหารตำหรับด่านซ้ายทั้งนั้น
ทั้ง เมี่ยงน้ำผักสะทอน ขนมจีนเส้นสด ด๊องแด๊ง ไข่ปาม อาหารทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็น Raw Food ครับ
เพราะมีการปรุงแต่งรสชาติน้อยมาก
เมื่อวานเราได้ทำต้นผึ้งกันไปแล้วมาในวันนี้เราจะนำต้นผึ้งมาถวายแก่พระธาตุศรีสองรักครับ
ข้อห้ามที่สำคัญของพระธาตุศรีสองรักคือ ห้ามใส่เสื้อผ้าสีแดง รวมถึงสิ่งของสีแดงขึ้นไปยังองค์พระธาตุ
เพราะสีแดงหมายถึงเลือด การสู้รบ การเป็นศัตรู
ซึ่งขัดกับความหมายของพระธาตุที่สร้างขึ้นเพื่อความรักและความสามัคคี
จากพระธาตุศรีสองรักเราเข้าเมืองด่านซ้ายเพื่อมาร่วมงานบุญเลี้ยงหอหลวง หนึ่งในงานบุญเดือนเจ็ด
เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวด่านซ้าย โชคดีจริงๆที่เราได้มีโอกาสมาร่วมงานนี้ด้วย
ซึ่งผ็นำในการทำงานประเพณีนี้คือเจ้าพ่อกวนครับ
เราไปต่อที่สวนลุงวุฒิ เพื่อไปทำกิจกรรม "ปลูกต้นไม้ในใจคน" เป็นการหัดปลูกแคคตัสและจัดสวนเล็กๆลงกระถาง
ซึ่งขอเพียงแค่มีที่ว่างนิดๆหน่อยๆเราก็สามารถนำสวนเล็กๆของเรานี้ไปวางได้
นอกจากนี้สวนลุงวุฒิยังมีดอกไม้สวยๆให้เราเลือกชม เลือกซื้ออีกมาก ไม่ว่าจะเป็น
สับปะรดสี กุหลาบหิน กุหลาบพันปี โบตั๋น ล้วนแต่น่ารักๆทั้งนั้นเลย
สำหรับมื้อเที่ยงในวันนี้เราไปกันที่ "ภูเรือนไม้รีสอร์ท" ครับเป็นอาหารแบบผูกปิ่นโต
ซึ่งอาหารในมื้อนี้เป็นผลผลิตจากทางรีสอร์ทแทบทั้งสิ้น
จากนั้นเราไปนาโยนกันต่อ เป็นการทำนาวิธีโบราณ
ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ประหยัดพันธุ์ข้าว ลดขั้นตอนจากการทำนาดำ
ใช้ทุนและแรงงานน้อยกว่าการทำนาดำด้วยครับ
กิจกรรมที่ "ภูเรือนไม้รีสอร์ท" ยังไม่หมดแต่เพียงแค่นี้ครับ
เสร็จจากงานหว่านไถ..มาร้อยมาลัยใบข้าว...
เสร็จจากกิจกรรมนาโยนเราขึ้นมาทำข้าว-งากันต่อ
ซึ่งข้าว-งานั้นเป็นอาหารพื้นเมืองโบราณของไทเลยที่นำ งาเจียง น้ำอ้อย และข้าวเหนียว มาโขลกให้รวมเป็นเนื้อเดียวกัน
เป็นของบ้านๆแต่หากินยากของชาวไทเลยครับ (ปล.รูปตอนเสร็จไม่มีอ่ะ..เพราะอร่อยมาก..กินหมดแล้วก็ลืมถ่าย)
จากนั้นเราจะเดินทางไปที่เชียงคานกันต่อแต่เราจะแวะไปที่ พระธาตุสัจจะ อ.ท่าลี่ จ.เลย ก่อนครับ
ดูๆแล้วองค์พระธาตุสัจจะนี้เหมือนกับองค์พระธาตุพนมเลย
นั่นก็เพราะว่า พระธาตุสัจจะนั้น สร้างขึ้นมาจากความเชื่อที่ว่าเป็นการ ต่อชะตาให้กับองค์พระธาตุพนมที่ได้พังทลายลง
เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ และเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันต์ธาตุ และพระปถวีธาตุพนม (ดินจากพระธาตุพนม)
พระธาตุสัจจะนี้เองก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ อ.ท่าลี่ ด้วยครับ
เมื่อเรามาถึงเชียงคานแล้วสิ่งที่เราได้รับจากต้อนรับแบบโบราณของชาวเชียงคาน นั่นคือการทำ
"ผาสาดลอยเคราะห์" และการ "รับขวัญ"
"ผาสาดลอยเคราะห์" นั้นทำเพื่อเป็นการปล่อยทุกข์-ลอยโศก
ลอยสิ่งไม่ดีทิ้งไป เพื่อที่จะได้รับสิ่งดีๆเข้ามา และมีความเชื่อว่า
เมื่อลอย ผาสาดไปแล้ว ห้ามหันหลังกลับไปมอง
เพราะไม่อย่างนั้นสิ่งไม่ดีที่เราลอยไปนั้นจะย้อนกลับมาอีก
เมื่อเราลอยเคราะห์เสร็จแล้วจากนั้นก็ได้เวลาทำพิธีบายศรีเอิ้นขวัญ จากหมอพราหมณ์
เพื่อเป็นการเรียกสิ่งดีๆให้เข้ามาในชีวิตเรา
เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วเราก็มีเวลาพอที่จะเก็บภาพสวยๆยามเย็นของเมืองเชียงคานกันครับ
ยามเช้าที่เชียงคาน
สิ่งที่เราไม่ควรจะพลาดเลยคือการใส่บาตรพระยามเช้าครับ
ที่เชียงคานนั้นเป็นการใส่บาตรพระที่ดูอ่อนน้อมมากครับ เพราะผู้ใส่จะนั่งกับพื้น
เมื่อพระมาจึงนำข้าวของที่เตรียมมาใส่บาตรแตกต่างจากเมื่องกรุงที่แสนจะเร่งรีบจริงๆ
หลังทานอาหารเช้าที่เชียงคาน เราลงมาที่ชุมชนนาอ้อ อ.เมืองจังหวัดเลยครับ
ที่นี่เค้ามีกิจกรรมทำผ้ามัดยอมจากสีธรรมชาติ สอนเราตั่งแต่การทำริ้วลายของผ้า
การมัดหนังยาง สีที่ออกมาเหลืองสดใสเลยทีเดียว
ซึ่งนอกจากการทำผ้ามัดย้อมแล้ว
ที่บ้านนาอ้อยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของชาวนาอ้อในสมัยก่อน
และประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวนาอ้อกับชาวฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคมด้วยนะครับ
จากนั้นเราไปต่อกันที่โรงแรมเลยพาวิลเลี่ยน เป็นโรงแรมที่ได้รับรางวัลกรีนโฮเต็ล
ซึ่งที่นี่มีการสอนทำน้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู
และที่ด้านหลังโรงแรมยังมีสวนเล็กๆเเบบพอเพียงแต่พอดี
ให้เราได้ศึกษาดูงานทั้งการทำสวนครัวแบบพึ่งต้นเอง หมูหลุม การทำน้ำส้มควันไม้
หลังจากดูการทำงานต่างๆของของโรงแรมก็ได้เวลาขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพกันแล้วครับ
เพราะไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะตกเครื่องกันซะก่อน ก็เป็นอันปิดทริป เที่ยวเมืองเลยแบบคนไม่เอาถ่าน
และผมต้องขอขอบคุณโครงการดีๆลดการใช้คาร์บอนจาก
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.เลย โทร.042 861 116-8, 081 261 4961
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเลย โทร. 0 4281 2812, 0 4281 1405 หรือ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย
และผู้ประกอบการทุกท่านครับ