Search and share travel destinations and experiences in Thailand Sign up Log in
 
เที่ยวอุทยานฯ ห้วยต้นไฮ และบ้านนาต้นจั่น ภายในสองคืน โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น
    • Posts-1
    Ajung •  December 31 , 2017

    มาสุโขทัยเป็นครั้งแรก ก็มารถโดยสารกันเลยทีเดียว

    เริ่มจากนั่งเครื่องมาลงพิษณุโลกค่ะ แล้วนั่งแท็กซี่มาลงขนส่งอันใหม่ด้วยราคา 200 บาท แต่ถ้ามาลงขนส่งเก่าแท็กซี่จะคิดแค่ 150 บาท เพราะระยะทางใกล้กว่า แต่แอดเลือกมาลงขนส่งใหม่เพราะคิดว่าน่าจะมีรถให้เลือกมากกว่า สุดท้ายได้นั่งรถตู้ ตาก-พิษณุโลก ในราคา 70 มาลงที่ตัวเมืองสุโขทัย รถออกตามเวลา ไม่ต้องรอคนเต็ม

    แอดได้จองเกสเฮาส์ไว้ที่ตัวเมืองใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แต่ก่อนจะเข้าเช็คอิน แอดขอลงหน้าร้าน "บ้านจันทร์ฉาย" ก่อน เพราะทางผ่านอยู่แล้ว และก็กำลังหิว

    บ้านจันทร์ฉายเป็นร้านอาหารที่มีเมนูมากกว่า 150 รายการ เป็นสไตล์ไทย อิสาน สรรค์สร้างความอร่อยโดยเชฟผู้มากประสบการณ์กว่า 20 ปีในไทย และต่างประเทศอีก 20 ปี แอดคอนเฟิร์มความอร่อยว่าอร่อยอย่างที่กล่าวจริง

    เมื่อเสร็จจากของคาว เราก็ไปต่อของหวานและเครื่องดื่มกันอีกสักเล็กน้อยกันที่ร้านกาแฟที่แยกตัวไปอีกหลังนึง แต่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ร้านตกแต่งได้น่ารัก ที่นั่งกว้างขวางและมีหลายมุม เราใช้เวลาอยู่ที่นี่อยู่นานพักใหญ่ ถ้ามีโอกาสมาเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ฯ อีกครั้ง คิดว่าจะมาลิ้มรสอาหารรสเลิศที่บ้านจันทร์ฉายอีกแน่นอน

    ร้านอยู่ตรงริมทางหลวงหมายเลข 12 ถนนจรดวิถีถ่อง อยู่ตรงปากทางเข้าวัดตระพังทองหลาง (เยื้องโรงแรมเลเจนท์ด้า) พูดง่ายๆ คืออยู่ริมถนนที่เป็นทางตรงไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ฯ นั่นเอง

     

    เมื่ออิ่มท้องแล้วที่ร้านก็เรียกตุ๊กๆ ให้ พาไปส่งที่ "เวียงตะวันเกสเฮาส์" ในราคา 50 บาท

    เวียงตะวันสุโขทัยเกสเฮาส์ อยู่ห่างจากอุทยานฯ เพียง 1.5 กม. ด้วยราคาเพียงคืนละ 850 บาทเท่านั้น

    เราสามารถปั่นจักรยานจากเกสเฮาส์ไปยังอุทยานฯ ได้ค่ะ ค่าเช่าจักรยานอยู่ที่คันละ 50 บาทต่อวัน ซึ่งจักรยานมีหลายคันและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ 100%

    ที่เวียงตะวันดูแลเราดีมากๆ ขาดเหลืออะไรเขาแก้ปัญหาให้เราได้หมด สุภาพเรียบร้อย มีคำตอบให้กับทุกคำถาม ประทับใจมากๆ ค่ะ ขอบอก

    หลังจากเช็คอินแล้วเรียบร้อย แอดกับเพื่อนก็รอจนประมาณสี่โมงเย็น จึงได้พากันปั่นจักรยานไปเที่ยวอุทยานฯกัน ค่าเข้าอุทยานฯ อยู่ที่คนละ 20 บาท ปั่นตรงเข้าไปในอุทยานฯ ผ่านวัดมากมายแต่ยังไม่แวะที่ใด ขอมุ่งไปวัดศรีชุมก่อนเลยดีกว่า วัดไม่ได้อยู่ในกำแพงเมือง แต่หากอยู่ด้านนอก แอดต้องปั่นออกทางประตู "ศาลหลวง" (ด่านนี้ไม่มีการเก็บค่าบัตร) ซึ่งออกมาเจอถนนจรดวิถีถ่อง ก็เลี้ยวซ้ายไป ปั่นไปได้สักระยะ มองทางขวามือจะมีทางแยกไปทางขวา ปั่นเข้าไปทางนั้น ตรงไปเรื่อยๆ ไปตามทาง เราจะเจอวัดศรีชุม ซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่ มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา ตัวโบราณสถานจะอยู่ด้านหลังวัดนี้ โดยให้ปั่นเลยวัดไปหน่อย ไปตามโค้งซ้าย แล้วจะเจอทางเข้าทางด้านซ้าย เป็นที่จอดรถและมีร้านค้าด้วย เราจะแลเห็น “พระอจนะ” ที่เป็นโลโก้แห่งเมืองสุโขทัย งดงามแต่ไกลเลย

    "วัดศรีชุม" มาจากคำเรียกพื้นเมืองเดิม ซึ่งหมายถึง ต้นโพธิ์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ มี “พระอจนะ” เป็นพระประธานอยู่ในมณฑป มณฑปในวัดศรีชุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่เต็มมณฑป ซึ่งสันนิษฐานว่าในอดีตตัวมณฑปน่าจะมีหลังคาคล้ายโดม ด้านหน้าเปิดเป็นช่องแคบๆ แลเห็นพระพักตร์ของ “พระอจนะ” ซึ่งเป็นพระประธาน งดงามแต่ไกล

    คำว่า “อจนะ” หมายถึง ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง หรือ ผู้ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้

    “พระอจนะ” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อกว่า ๗๐๐ ปีมาแล้ว เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ วัสดุปูนปั้น แกนในก่ออิฐและศิลาแลง ประดิษฐานภายในมณฑปวัดศรีชุมแห่งนี้มาเป็นเวลายาวนาน

    ในสมัยอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกาศอิสรภาพในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ ที่เมืองแครง ทำให้หัวเมืองต่างๆ ยกเลิกการส่งส่วยให้กับพม่า แต่ยังมีเมืองเชลียง (สวรรคโลก) ที่ไม่ยอมทำตามพระราชโองการของพระองค์ พระองค์จึงนำทัพเสด็จมาปราบเมืองเชลียง และด้วยการรบในครั้งนั้นเป็นการรบระหว่างคนไทยกับคนไทยด้วยกัน ทำให้เหล่าทหารไม่มีกำลังใจในการรบ สมเด็จพระนเรศวรจึงได้วางแผนสร้างกำลังใจให้กับทหาร โดยการให้ทหารคนหนึ่งปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังขององค์พระอจนะ และให้ทหารผู้นั้นเปล่งวาจาดังๆ ให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร ทำให้ทหารเกิดกำลังใจในการต่อสู้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดตำนานพระพูดได้ที่วัดศรีชุมแห่งนี้ และพระนเรศวรฯ ยังได้มีการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาขึ้นที่วัดแห่งนี้ด้วย

     

    หลังจากชมวัดนี้เสร็จแล้ว ก็ปั่นกลับไปยังโบราณสถานที่อยู่ในกำแพงเมือง เนื่องจากจะมืดค่ำแล้ว และแมลงก็เยอะมาก จึงไม่สามารถเก็บได้หมดทุกวัด

    และแล้วก็มืดค่ำ ได้เวลากลับไปพักผ่อนนอนหลับซักที วันแรกก็หมดลงไปอย่างรวดเร็ว ผ่านไปอย่างคุ้มค่า ทุกเวลานาที คราวนี้ดูไม่ทั่ว คราวหน้าว่าจะมาอีกแน่นอนค่ะ

    ตื่นแต่เช้ามาตลาดเช้ากันค่ะ ตลาดอยู่ก่อนถึงอุทยานฯ ซึ่งอยู่ติดกับวัดตระพังทอง เลยแวะไปเดินเล่นที่วัดก่อนแล้วค่อยมาหาอะไรกินที่ตลาด

    วัดตระพังทอง (Wat Traphang Thong)
    _____________________________

    เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คำว่า “ตระพัง” แปลว่า สระน้ำ หรือ หนองน้ำ วัดตระพังทองตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำ ปัจจุบันสิ่งที่เหลืออยู่คือพระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ด้านหน้าของเจดีย์มีมณฑปขนาดเล็ก รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น และเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทหินสีเทาปนดำ ซึ่งย้ายมาจากเขาพระบาทใหญ่ จากหลักฐานทางศิลาจารึกกล่าวว่า วัดตระพังทองสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าลิไท เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๓

    เจดีย์ประธานทรงระฆัง

    ตั้งอยู่ด้านหลังมณฑปจัตุรมุข เป็นเจดีย์ทรงระฆัง บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ด้านบนเป็นฐานกลม ซ้อนลดหลั่นขึ้นไป ส่วนบนเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตรและปลียอด

     

    รอยพระพุทธบาท

    เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองสมัยสุโขทัย เป็นรอยพระบาทเบื้องขวา ที่ขอบมีดอกจันโดยรอบ ๕๔ ดอก ภายในรอยพระบาทจำหลักเป็นลายชาดกต่างๆ ตามประวัติ พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงให้จำลองมาจากประเทศศรีลังกา ประมาณปี พ.ศ. ๑๙๐๒ แล้วได้นำมาประดิษฐานไว้ที่เขาพระบาทใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) ของตัวเมืองเก่า ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ พระราชประสิทธิคุณ อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่เกาะกลางสระน้ำ โดยสร้างเป็นมณฑปครอบไว้ แล้วได้มีการจัดงานนมัสการเป็นต้นมาประจำทุกปี คือวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ จนถึงปัจจุบัน 

     

    พระอุโบสถ

    ตั้งอยู่ด้านหลังเจดีย์ประธาน เป็นพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน สร้างขึ้นด้วยศรัทธาของชาวสุโขทัย โดยการเรี่ยไรทรัพย์ เมื่อครั้ง พญารณชาญ (ครุฑ) เจ้าเมืองสุโขทัย ได้มาอุปสมบทที่วัดแห่งนี้

     

    หลังจากชมวัดกลางน้ำอันสวยงามแล้ว เราก็มุ่งไปตลาดทันที มีเล็งๆ ไว้หลายอย่าง ที่น่าสนใจก็เป็นข้าวเหนียวหน้าหมู มีทั้งหมดสามรส ห่อละ 20 บาทค่ะ

    ต่อด้วยขนมจีบ สามลูกสิบบาท

    และขนมครกอีก 20 บาท

    จกกินกันในวัดเลย อร่อยทุกอย่าง เมื่ออิ่มท้องแล้ว เราก็กลับเกสเฮาส์เพื่อเตรียมตัวเช็คเอาท์ แล้วมุ่งหน้าไป อ.ศรีสัชนาลัย กันต่อ เพื่อไปพักที่ "บ้านนาต้นจั่น" อันเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ใช้ชีวิตแบบพอเพียง

     

     

    • Posts-2
    Ajung •  December 31 , 2017

    บ้านนาต้นจั่น Ban Na Ton Chan ชุมชนในหุบเขา แหล่งอารยธรรมและภูมิปัญญา

    จาก อ.เมืองสุโขทัย เราไปต่อกันที่ อ.ศรีสัชนาลัย เพื่อไปเยี่ยม "บ้านนาต้นจั่น" อันเป็นหมู่บ้านตัวอย่างแห่งการใช้ชีวิตพอเพียง เลี้ยงตัวเองด้วยข้าวในนาปลาในน้ำ แอดเล็งที่นี่มาหลายปีละ ครั้งนี้ได้มาจริงๆ ซักที มีโอกาสได้พักกับชาวบ้าน ได้กินข้าวร่วมกัน เม้ากันอย่างสนุก เหมือนมาเยี่ยมบ้านญาติเลยก็ว่าได้ ได้กินของพื้นถิ่น และได้ปั่นจักรยานชมวิถีชาวบ้าน ตบท้ายด้วยชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น โห.. ชีวิตที่ใฝ่ฝันเลยเนี่ย..

    ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณชายแดนในสมัยอยุธยา ที่เชื่อมต่อกับอาณาจักรล้านนาบริเวณเมืองลำปาง ปรากฏในพงศาวดารชื่อเมือง “ด้งนคร” การตั้งถิ่นฐานในยุคปัจจุบัน เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีก่อน มีประชาชนประมาณ ๔ ครอบครัว อพยพมาจากนครลำปาง เพื่อบุกเบิกหาที่ดินทำกินใหม่ และมีผู้นำในการอพยพคือพ่อขานวน กับแม่ขาไว ได้เดินทางข้ามเขาจากลำปางมาบริเวณบ้านนาต้นจั่น พบว่าเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ มีภูเขาตั้งอยู่ใจกลาง โดยมีต้นจั่นล้อมรอบ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านนาต้นจั่น” ซึ่งเป็นดินแดนที่เหมาะสมในการทำเกษตรและอยู่อาศัย ต่อมาภายหลังมีกลุ่มคนอพยพมาจาก อ.ลับแล และอุตรดิตถ์ เข้ามาในหมู่บ้านอีกประมาณ ๓๐ ครัวเรือน

    ในปัจจุบัน ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยกันดุจพี่น้อง โดยยึดหลักการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ยึดการทำนาทำไร่เป็นอาชีพหลัก ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านในหุบเขา จึงเกิดการหล่อหลอมภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต เช่นการเก็บพืชผักผลไม้ที่ตนปลูกมาเพื่อใช้หุงหาอาหาร จนกลายเป็นอาหารประจำถิ่น เช่น การกินข้าวเปิ๊บ เครื่องนุ่งห่มจะนิยมทอใช้เองในครัวเรือนและพัฒนาขึ้นเป็นผ้าหมักโคลน มีความเชื่อเฉพาะตน เช่น การอัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าพ่อพญาแก้วมาปกปักรักษาคนภายใน

     

    แอดได้พักโฮมเสตย์ของป้ารำพรค่ะ เมื่อได้เจอคุณป้าแล้ว แกก็พามาเจิมที่ "ข้าวเปิ๊บล้มยักษ์" ก่อนเลย  

    พลาดไม่ได้กับข้าวเปิ๊บชามนี้ 

     

    แล้วต่อด้วยหมี่พัน

     

    แต่จะชอบอันนี้ที่สุด "ก๋วยเตี๋ยวแบ"

     

    มาต่อกันที่ร้านกาแฟ ราคาไม่แพงด้วย

    ที่สำคัญ มีโอกาสได้เจอและสนทนากับป้าเสงี่ยม ประธานหมู่บ้านแห่งนี้

    เมื่อรองท้องกันแล้วเรียบร้อย ก็เดินตามป้ารำพรเข้าบ้าน เพื่อไปพักผ่อนก่อนที่จะออกไปปั่นจักรยานชมทุ่งในยามเย็น

    บ้านคุณป้ากว้างขวางดีทีเดียวค่ะ สำหรับการมาพักที่นี่ ราคาอยู่ที่หัวละ 600 พร้อมอาหารสองมื้อเย็นเช้า และมีค่าเช่าจักรยานคนละ 30 บาท ค่าไกด์ที่พาไปปั่นก็ให้ตามสินน้ำใจค่ะ ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน

    นั่งพักตรงนี้ก่อนออกไปปั่น

     

    เย็นแล้ว เริ่มการปั่นจักรยานชมหมู่บ้าน แวะที่แรกคือที่หลังนี้ เป็นโฮมเสตย์ของลูกสาวของป้าเสงี่ยม เป็นหลังที่น่าอยู่ที่สุด เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของที่นี่เลย

     

    แวะชมตุ๊กตาบาโหน ซึ่งคิดค้นโดยคุณตาวงค์ เป็นเครื่องบริหารมือซึ่งประดิษฐ์คิดทำมาหลายปีแล้ว เป็นงานแฮนด์เมด เสียดายที่ไม่เจอคุณตา เพราะคุณตาเสียไปแล้วเมื่อต้นปีนี่เอง เจอแต่ลูกชายที่ได้สืบทอดวิชาทำตุ๊กตานี้ต่อไปและได้ออกแบบในรูปลักษณ์ใหม่ๆ ตามแบบของเขาเองด้วย ในหนึ่งวันเขาทำได้เพียง 3-4 ตัวเองค่ะ เพราะมันต้องใช้เวลาในการทำมีรายละเอียดเยอะมาก

     

    มาต่อกันที่วัดนาต้นจั่น

     

    แล้วมาต่อที่ร้านข้าวเปิ๊บยายเครื่อง มีโอกาสได้พบคุณยายเครื่อง วงศ์สารสิน ต้นตำรับของข้าวเปิ๊บเลยละ เดินมาถึงก้นครัว คุณยายเม้าอย่างอารมณ์ดีและดูมีพลัง ร่างกายแข็งแรง ดีใจค่ะที่ได้มาเจอโลโก้แห่งบ้านนาฯ อีกหนึ่งคน

    จบบทสุดท้ายด้วยการชมพระอาทิตย์ตกดินกลางท้องทุ่งนา สวยงามมากๆ 

    ถามว่าได้อะไรจากการมาที่นี่บ้าง ได้หลายอย่างค่ะ คือระหว่างปั่นจักรยานชมธรรมชาติ แอดได้เห็นชาวบ้านกำลังเก็บผักต่างๆ ที่ปลูกเองเพื่อนำไปทำกับข้าวกินที่บ้าน ใบหน้าของพวกเขายิ้มแย้ม ดูมีความสุขกับชีวิตง่ายๆ ในแบบของเขา ในขณะที่เรายังคงซื้อของกินในตลาด แพงบ้าง ถูกบ้าง ถามว่าชอบแบบไหน แบบที่เราเป็นก็ยังอยู่ได้ในแบบของเรา อยู่อย่างไหนก็มีความสุขได้ อยู่ที่เราเลือกที่จะอยู่ตรงไหน ทำอะไร และเก็บความสุขที่อยุ่รอบตัวเราให้ได้มากที่สุด

    สามารถติดตามการท่องเที่ยวจากเราได้ที่เพจเฟสบุค : ลากแตะไปแชะฝัน

    ยินดีให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์

    แล้วเจอกันทริปหน้าค่ะ

    • Posts-3
    Ajung •  January 01 , 2018

    อุ๋ย ลืมไปว่าไปดอยห้วยต้นไฮ มาด้วย

    ตื่นก่อนตีห้าเพื่อจะไปปีนเขาที่ดอยห้วยต้นไฮค่ะ โดยว่าจ้างรถปิคอัพพร้อมคนขับให้พาไปตรงเริ่มต้นจุดที่ลงเดินขึ้นเขา ด้วยราคา 450 ต่อหลัง ระยะทางไม่ถึงโลนะ แต่ใช้เวลาร่วม 45 นาที เพราะมีความสูงชันมากพอสมควร น้องคนที่มาด้วยมีโรคประจำตัว พอเดินขึ้นได้ซักครึ่งทาง น้องเค้าไม่ไหวละ เลยขอหยุดเพียงเท่านี้ ให้นั่งรอบนแคร่จะปลอดภัยกว่า แม้ตอนนั้นจะยังไม่สว่างแต่ไม่น่ากลัว เพราะมีคนเดินผ่านไปมาตลอด แอดจึงเดินขึ้นไปต่อพร้อมกับไกด์นำทาง

    ในที่สุดก็ถึงยอดเขา ไม่มีความหนาวเลยค่ะ ลมก็ไม่มี เกือบๆ จะร้อนด้วยซ้ำ ตอนนี้ก็ได้แต่นั่งรอพระอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น จำนวนคนมากมายอยู่

    ทะเลหมอกไม่เยอะมาก มีพอหลอมแหลมให้เห็นเหลี่ยมเขาลดหลั่นกันไป

    ไม่เป็นไข่แดงอะ กว่าจะพ้นเหลี่ยมเขาก็แดดจ้าซะแล้ว

    เสร็จสิ้นภารกิจพิชิตหมอกละก็ดื่มกาแฟจากกระบอกไม้ไผ่ก่อนที่จะลงจากดอยเพื่อรีบกลับไปหาน้องที่นั่งรออยู่บนแคร่

    อย่างน้อยครั้งนึงเราก็ได้มาพิชิตห้วยต้นไฮแห่งนี้ ต้นไฮจริงๆ แล้วก็คือต้นไทรนั่นเอง

    ต่อจากนี้ไปเราก็ต้องกลับไปเช็คเอ๊าท์ออกจากบ้านนาต้นจั่น แล้วเตรียมตัวกลับกรุงเทพฯ สองคืนนี่ผ่านไปอย่างรวดเร็วเสียจริง แต่มิเป็นไร คราวหน้ามาสุโขทัยอีกแน่ เป็นเมืองที่น่าอยู่ ผู้คนมีน้ำใจ มาที่นี่ไม่รู้สึกว่าเป็นคนอื่นเลยค่ะ

     

    มรดกโลกล้ำเลิศ  กำเนิดลายสือไทย  เล่นไฟลอยกระทง

    ดำรงพุทธศาสนา  งามตาผ้าตีนจก  สังคโลกทองโบราณ

    สักการแม่ย่าพ่อขุน  รุ่งอรุณแห่งความสุข

    .........................................................................................

     

    สรุปค่าใช้จ่าย

    > ค่าแท็กซี่จากสนามบินพิษณุโลก ไปขนส่งใหม่พิษณุโลก 200 บาท หารสองคนๆ ละ 100 บาท

    > ค่ารถตู้จากขนส่งพิษณุโลก ไปร้านอาหาร "บ้านจันทร์ฉาย" เมืองเก่าสุโขทัย คนละ 70 บาท

    > ค่าอาหารที่บ้านจันทร์ฉาย ประกอบด้วยข้าวเปล่า 2 จาน / ต้มยำไก่บ้าน / ผักบุ้งน้ำพริกเผา / น้ำเปล่า 310 บาท หารสองคนๆ ละ 155 บาท

    > ค่ากาแฟร้อน 40 และช็อคโกแลตลาวา 75 บาท (กินเองส่วนตัว)

    > ค่าตุ๊กๆ จากบ้านจันทร์ฉายไปเวียงตะวันเกสเฮาส์ 50 บาท หารสองคนๆ ละ 25 บาท

    > ค่าที่พักที่เวียงตะวัน 850 หารสองคนๆ ละ 425 บาท

    > ค่าเช่าจักรยานที่เวียงตะวันคนละ 50 บาท

    > ค่าเข้าอุทยานฯ คนละ 20 บาท

    > กินก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยมื้อค่ำคนละชาม หมดไป 110 หารสองคนๆ ละ 55 บาท

    > กินโรตี 7 บาท

    > ซื้อของกินในตลาดเช้าตระพังทอง ได้แก่ ข้าวเหนียวหมู 20 ขนมจีบ 10 ขนมครก 20 รวม 50 บาท

    > กินมาม่าคับที่เวียงตะวันอีก 20 บาท

    > ค่าตุ๊กๆ สกายแล็ปไปลงขนส่งสุโขทัย 200 หารสองคนๆ ละ 100 บาท

    > ค่ารถบัสไปลงตลาดหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย 45 บาท

    > ค่ารถคล้ายๆ ซาเล้งจากตลาดหาดเสี้ยวไปลงบ้านนาต้นจั่น 300 หารสองคนๆ ละ 150 บาท

    > กินก่วยเตี๋ยวแบ 25 หมี่พัน 20 บาท

    > เช่าจักรยานที่บ้านป้ารำพร 30 บาท

    > ค่าไกด์พาทัวร์ปั่นชมหมุ่บ้านและทุ่งนา 100 หารสองคนๆ ละ 50

    > ค่าไกด์พาไปดอยห้วยต้นไฮ 450 บาท

    > ชาวบ้านขับรถออกมาส่งที่ตลาดหาดเสี้ยว ให้ค่าเสียเวลาไป 300 หารสองคนๆ ละ 150 บาท

    > ค่ารถบัสไปลงขนส่งพิษณุโลก 78 บาท

    > ค่าแท็กซี่จากขนส่งพิษณุโลกไปสนามบิน 150 หารสองคนๆ ละ 75 บาท

     

    รวมที่แอดได้จ่ายไปสำหรับทริปเมืองเก่านี้คือ 2,265 บาทถ้วน

    ก็โอเคนะ แม้จะหมดไปกับค่ารถเยอะมาก แต่ก็ถือว่าเที่ยวได้ประหยัดงบดี ได้นั่งรถท้องถิ่นแบบเปิดโล่ง อมฝุ่นกันไป

    แล้วเจอกันทริปหน้าเร็วๆ นี้ค่ะ

    จากแอดมินเพจเฟสบุค : ลากแตะไปแชะฝัน