โบราณสถานสระมรกต เยือนถิ่นทวาราวดี บูชารอยพระพุทธบาทคู่
วันนี้เราจะพาไปเที่ยวโบราณสถานสำคัญ ในจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดเล็กๆ ใกล้กรุงเทพ สามารถไปเที่ยวแบบไปเช้ากลับเย็นได้สบายๆ ซึ่งโบราณสถานในเมืองปราจีนนั้นจัดว่ามีความสำคัญและน่าสนใจไม่แพ้ที่ไหนๆ เลย ทั้งอายุที่เก่าแก่นับพันปี ไปจนถึงอาณาบริเวณที่กว้างขวางจนจัดว่าเป็นกลุ่มโบราณสถานที่สามารถใช้เป็นต้นแบบของการศึกษาปราสาทหินได้อีกด้วย เราเลยหาโอกาศมาเยี่ยมชมอารยธรรมโบราณด้วยตัวเองซักครั้ง จะได้รู้ว่าดินแดนแถบนี้ในอดีตมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง
พอเข้าสู่อำเภอศรีมโหสถ เราก็มุ่งหน้าสู่ “โบราณสถานสระมรกต” ภายในบริเวณ “วัดสระมรกต” กันเลย ไฮไลท์แรกที่ไม่ควรพลาดเลยก็คือ “รอยพระพุทธบาทคู่” ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุราวๆ พุทธศตวรรษที่ 14 รอยพระพุทธบาทคู่นี้เป็นรอยสลักในพื้นหินศิลาแลงธรรมชาติมีลักษณะเหมือนรอยเท้ามนุษย์ ที่กลางฝ่าพระบทแต่ละข้างสลักเป็นรูปธรรมจักร ระหว่างพระบาทแกะเซาะเป็นร่องรูปกากบาทหรือสวัสดิกะ เครื่องหมายแห่งความโชคดี มีหลุมอยู่ตรงกลางสันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับปักเสาฉัตร ขุดพบเมื่อปี พ.ศ. 2529 ปัจจุบันมีการสร้างหลังคาครอบเอาไว้อย่างถาวร ซึ่งชาวบ้านในบริเวณนี้รวมถึงนักท่องเที่ยวให้ความเคารพศรัทธา และนิยมมากราบไหว้รอยพระพุทธบาทแห่งนี้เป็นจำนวนมาก บริเวณใกล้กันกับรอยพระพุทธบาทมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และร่องรอยของกลุ่มศิลาแลงกระจายตัวอยู่เป็นกลุ่มๆ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเป็นที่แห่งนี้เคยมีอาคารต่างๆ สร้างอยู่ และจากการสังเกตุและศึกษาตามรูปแบบผังของอาคารแล้ว พื้นที่บริเวณนี้จะมีลักษณะตรงกับ“อโรคยาศาลา” ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นับๆ ดูแล้วกลุ่มโบราณสถานสระมรกตนี้ก็มีอายุมากกว่า 2,000 ปีเลยทีเดียว
ถัดออกไปทางทิศตะวันออกจะมีสระน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่า “สระมรกต” สันนิษฐานจากตำแหน่งที่ตั้งและขนาดแล้ว เชื่อกันว่าสระมรกตนี้เป็นสระน้ำสำคัญมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี ใกล้ๆ กับสระมรกต มี “อาคารนิทรรศการ” ซึ่งภายในจัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ ลักษณะภูมิศาสตร์ และความเป็นมาที่สำคัญของเมืองศรีมโหสถ เพราะนอกจากกลุ่มโบราณสถานในบริเวณสระมรกตนี้แล้ว ภายในเมืองศรีมโหสถนี้ยังมีการค้นพบร่องรอยของโบราณสถานอีกมากมายที่กระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ รวมทั้งยังจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้อีกหลายชิ้น และยังมีแบบจำลองเมืองโบราณอยู่ด้านหน้าอาคารด้วย ทำให้เราพอจะเห็นภาพได้ว่าในบริเวณนี้เคยมีลักษณะผังอาคารเป็นเช่นไรบ้าง