เที่ยวเมืองไทย ไปเมื่อไหร่ก็เท่.. คำนี้ใช้ได้จริง ๆ ครับ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวในไทยสวยงามทุกที่
เท่ทุกเวลา ไม่ว่าฤดูไหน ๆ อย่างน้ำตก ป่า เขา ทะเล และอีกหลาย ๆ ที่ ที่รอการไปเยือน
สำหรับทริปนี้ผมเลือกที่จะเที่ยวแบบชิลล์ ๆ แต่แฝงไปด้วยความคลาสสิกแบบข้ามจังหวัด เพื่อตอบโจทย์
นักเดินทางให้ได้ท่องเที่ยวแบบจุใจ จากจังหวัดพังงาถึงภูเก็ต
สายฝนโปรยปรายต้อนรับการมาเยือนจังหวัดพังงาในเช้าวันนี้ ทำให้สภาพอากาศค่อนข้างเย็น
บริเวณโดยรอบค่อนข้างชุ่มฉ่ำ เป็นการต้อนรับของธรรมชาติที่งดงาม
วันนี้ผมจะมุ่งไปที่บ่อน้ำร้อน เพื่อไปเติมโอโซนและสูดอากาศบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ ไปมือเปล่าไม่ได้นะครับ
ต้องมีเสบียงติดไม้ติดมือไปด้วย
นี่ครับไข่ไก่ แหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยม
จุดแรกของการเที่ยวพังงาในวันนี้ผมอยู่ที่ “บ่อน้ำร้อนปลายพู่”
บ่อน้ำพุร้อนที่เกิดจากธรรมชาติไหลลง ลำธารต่อเนื่องไปลงคลองกะปง ระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร
น้ำพุร้อนของที่นี่จะรวมกันกับน้ำเย็นในลำธารเดียวกัน แบ่งเป็นน้ำเย็นอยู่ฝั่งซ้าย น้ำร้อนอยู่ฝั่งขวา
มหัศจรรย์มากครับ
จะแช่น้ำพุร้อนควรระมัดระวังสักหน่อยนะครับ เพราะแต่ละบ่อ อุณหภูมิจะไม่เท่ากัน บางบ่อถึงกับร้อนมากก็มี อย่างบ่อนี้อุณหภูมิน้ำโดยเฉลี่ยประมาณ 75 องศาเซลเซียส แต่ทุกบ่อมีคุณสมบัติรักษาโรคเหมือนกัน
เช่น โรคเหน็บชา ไขข้ออักเสบ
เป็นธรรมเนียมของการมาบ่อน้ำพุร้อนที่จะต้องเอาไข่ไก่มาลวกในน้ำร้อนด้วยนะครับ
แน่นอนผมก็ไม่ลืม จัดแจงนำไข่ที่เตรียมมาหย่อนลงไปลวกได้เลย ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ไข่ก็สุกได้ที่
อื้ม…เหยาะซอสอีกสักนิดอร่อยมากครับ
อิ่มกำลังดี ขอนั่งพักแช่น้ำร้อนสักแปบ ก่อนไปตื่นตากับความสวยงามของเมืองไทย
"กะปง แกรนด์แคนยอน" อยู่ในหุบเขาบนพื้นที่กว่า 50 ไร่ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีประติมากรรมธรรมชาติ
รูปร่างแปลกตา เกิดขึ้นจากการยุบตัวของดินเป็นภูเขาสูงต่ำไม่เท่ากัน
ระหว่างทางเห็นคุณป้ากำลังก้ม ๆ เงย ๆ กำลังทำอะไรอยู่ เดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็ถึงบางอ้อ...
คุณป้ากำลังร่อนแร่ดีบุก อาชีพเสริมของชาวบ้านที่นี่ ที่มีแร่ดีบุกก็เพราะ สืบเนื่องมาจากสมัยก่อนมีการทำเหมืองแร่ โดยระบบเหมืองฉีด จึงทำให้มีกองทรายอยู่จำนวนมหาศาล เมื่อผ่านไปหลายปีถูกน้ำกัดเซาะ ยุบตัวและพังทลายของหน้าดิน แร่ดีบุกจึงกระจายอยู่ในลำธารแห่งนี้แหละครับ หาได้มากได้น้อยก็ต้องขึ้นอยู่ที่ความอดทนและความพยายามของแต่ละคนครับ
ล่องใต้ทั้งที ก็ต้องไปให้ครบ หลังจากที่เดินลุยท่ามกลางสายฝนที่พังงากันมาทั้งวัน
เย็นนี้เราไปตะลุยภูเก็ตกันต่อดีกว่าครับ เริ่มต้นที่ไปหาของกินอร่อย ๆ กินที่ตลาด “Chillva market”
ตลาดนัดน้องใหม่ของชาวภูเก็ตที่กำลังได้รับความนิยม ที่นี่มีอาหารหลากหลาย รวมไปถึงมีดนตรีสด
ฟังเพลิน ๆ แก้เหงา มาที่นี่ต้องทำท้องให้ว่างเยอะสักหน่อยครับ เพราะของกินเยอะแยะเต็มไปหมด
ขากลับบ้านอาจได้หอบหิ้วขนมเต็มมือสองข้างอย่างไม่รู้ตัว ก็ได้นะครับ
เช้าวันนี้ผมตั้งใจจะไปลิ้มรสชาติความอร่อย ขนมจีนน้ำยาใต้เจ้าอร่อย อย่างน้ำยาก็มีให้เลือกหลากหลาย
สามารถตักเองได้เลยครับ ชอบแบบไหนก็จัดไป สบายพุงแล้วครับวันนี้
นี่ครับ มาทั้งทีต้องกินให้ครบไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะมาไม่ถึงภูเก็ต
อิ่มแล้ว ก็มาเดินย่อยสักหน่อย ความสวยงามของตึกเก่า ชิโน-โปรตุกีส ที่ผสมผสานเอาความเป็นศิลปะตะวันตกและตะวันออก เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน จนเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเมืองภูเก็ตตึกเก่าเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วตัวเมืองภูเก็ต สวยงามดึงดูดใจ เลยขอเดินชมย้อนรอยในอดีต เก็บภาพถ่ายไปพลาง ๆ
แม้แต่ถนนหนทางยังมีเอกลักษณ์ เป็นระเบียบ และให้กลิ่นอายความเก่าแก่แบบคลาสสิก
ตรงช่วงนี้จะมีอาคารตึกแถวเก่าที่มีรูปแบบเดิม ๆ เกาะกลุ่มกันอยู่เป็นจำนวนมากรวมถึงร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ
ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการทาสีใหม่ แต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ เป็นอีกสถานที่ ๆ ใครมาภูเก็ตต้องมาให้ได้ครับ
อีกอย่างที่พลาดไม่ได้เมื่อมาถึงภาคใต้ นั่นก็คืออาหารทะเล มาที่นี่ เราจะได้กินอาหารทะเลสด สะอาด
และราคาไม่แพงด้วย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมง หาปู หาปลา
เป็นเสน่ห์ของทางภาคใต้ เมื่อมาเยือนถิ่นนี้ก็จะได้เห็นวิถีชีวิตอันเรียบง่ายแบบนี้แหละครับ
ตอนนี้ผมอยู่ที่ “ราไวย์มาร์เก็ต” แหล่งค้าขายอาหารทะเล ทั้งกุ้ง ปู ปลาหมึกรอบ ๆ หาดยังมีร้านอาหารหลากหลายร้านให้เราได้เลือก กินทั้งอาหาร กินทั้งบรรยากาศ
เดินเลือกซื้ออาหารเพลินเลยครับ ได้หมึก และกุ้งตัวใหญ่ ๆ กลับไปฝากคุณแม่บ้านด้วย
การเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ต่อให้เป็นสถานที่เดิม ถึงแม้กาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป แต่ผมว่า..
ทุกอย่างยังคงชัดเจนในความทรงจำเหมือนเดิม
บนโลกยังคงมีสิ่งที่น่ามหัศจรรย์อยู่อีกมาก รอให้เราได้ออกเดินทางไปค้นหามัน
นี่แหละครับเหตุผลว่าทำไมผมถึงรักการเดินทาง
ชมรายการเที่ยวไทยไม่ตกยุค ตอน เที่ยวเมืองในหุบเขา เยือนเมืองเก่าสุดคลาสสิก จากพังงาถึงภูเก็ต
ได้ที่นี่ค่ะ https://youtu.be/2yNbc4nyAxA
ติดตามชมรายการเที่ยวไทยไม่ตกยุค
ทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 15.30 – 16.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส