Search and share travel destinations and experiences in Thailand Sign up Log in
 
เที่ยววิถีชุมชน ณ ชุมชนออนใต้ หมู่บ้าน CIV จ.เชียงใหม่ เทศบาลตำบลสันกำแพง (Sub-District Municipality, San Kamphaeng) จ.เชียงใหม่
    • Posts-1
    CHAILAIBACKPACKER •  March 17 , 2017

    หลงเสน่ห์ "ออนใต้" เที่ยววิถีชุมชน หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์(CIV) จ.เชียงใหม่

    เมื่อได้ยินชื่อ ชุมชนออนใต้ ครั้งแรก ดูเหมือนว่า.. จะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูกับพวกเรามากนัก ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้เราได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่อยู่บ่อยครั้ง แต่เรามักจะเลือกไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต และเป็นที่นิยมกันมากกว่า

    นี่จึงเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่พวกเราได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปเปิดหูเปิดตากับการท่องเที่ยว ที่เรียกได้ว่า.. เข้าถึงวิถีชีวิต และเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชนได้เป็นอย่างดี กับ ชุมชนออนใต้ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์(CIV)

     

    ติดตามการเดินทางของเรา ได้ที่..

    CHAILAIBACKPACKER : https://www.facebook.com/chailaibackpacker

     

    CIV : หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คืออะไร?

     

    หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) คือ  หมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ของสินค้าที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว และบริการหรือกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ใหม่จากการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดมูลค่าใหม่ทางเศรษฐกิจบนแนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

    หมู่บ้าน CIV เป็นงานบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐมากกว่า 10 หน่วย โดยมอบหมายให้ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยประสานในการจัด กิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรม ภายใต้ โครงการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม

    ในการดำเนินงานระยะแรก คณะทำงานซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานร่วมและจังหวัดทั่วประเทศ ได้คัดเลือกชุมชนจำนวน 9 พื้นที่ให้ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ คือ ชุมชนออนใต้ แห่งนี้

     

     

    มาทำความรู้จัก กับ ชุมชนออนใต้

     

    ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ ชุมชนออนใต้ กันเสียก่อน โดย ตำบลออนใต้(ชุมชนออนใต้) นั้น เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นเมืองเก่าที่มีตำนานมากมาย ในลักษณะ “ร้อยเรื่องเล่า” และ ยังรักษาวิถีชีวิตพื้นบ้านมีความผูกพันภายในชุมชน มีความโอบอ้อมอารีมีน้ำใจ และ วิถีชีวิตแบบ “บ้านจุ้ม เมืองเย็น” (บ้านที่อุดมสมบูรณ์ เมืองที่สงบร่มเย็น)  ทำให้ตำบลออนใต้มีเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปเยี่ยมเยือน

    หนึ่งใน “ร้อยเรื่องเล่า” คือ การค้นพบศิลาจารึกในวัดเชียงแสน เป็นหลักฐานที่บอกว่าชาวบ้านที่นี่ อพยพมาจาก พันนาพูเลา แขวงเมืองเชียงแสน (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดเชียงราย) มาตั้งอยู่ริมน้ำแม่ออน ก่อตั้งบ้านเมือง ผลิตเครื่องถ้วยชาม สร้างถิ่นฐานอยู่บนผืนดินแห่งนี้จนกระทั่งถึงกาลล่มสลาย พื้นที่แห่งนี้คือ ตำบลออนใต้ ในปัจจุบัน

    และ อีกเรื่องราวหนึ่งที่นับว่าเป็นขวัญกำลังใจและมีคุโณปการต่อชาวออนใต้จนทุกวันนี้ คือการได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนในพื้นที่จำนวน 9 ครั้ง

    “บ้านจุ้ม เมืองเย็น” (=บ้านที่อุดมสมบูรณ์ เมืองที่สงบร่มเย็น)

    สัญลักษณ์ชุมชนออนใต้ คือ ลายปลาว่ายวนนำมาจากลวดลายบนภาชนะเครื่องถ้วยสันกำแพง ปลาสามตัวว่ายเวียนไปทางขวา หมายถึง ชุมชนที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ใบไม้หรือลายพรรณพฤกษาตรงกลาง หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ โดยมี สโลแกน ที่ว่า “พันนาพูเลา ร้อยเรื่องเล่า เมืองเก่าออนใต้”

     

     

    • Posts-2
    CHAILAIBACKPACKER •  March 17 , 2017

    DAY #1 ออกเดินทาง!

    พวกเราเริ่มต้นออกเดินทางจาก กรุงเทพฯ สู่ จ.เชียงใหม่ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด ตามการนัดหมายของคณะผู้ร่วมเดินทางที่ไปด้วยกันในทริปนี้

    ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษ ก็เดินทางมาถึง สนามบินเชียงใหม่ แวะรับประทานอาหารเที่ยงกันที่ ร้านอาหารสโมสรวิทยุการบิน

    จากนั้น จึงเดินทางมุ่งหน้าไปยัง ชุมชนออนใต้ อำเภอสันกำแพง ซึ่งไม่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่มากนัก ใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงก็เดินทางมาถึง โดยพวกเรามาหยุดเช็คอินที่  ร้านอยากกาแฟ กันเป็นจุดแรก

    ร้านอยากกาแฟ เป็นร้านกาแฟ ที่มีขนมและเครื่องดื่มร้อน/เย็น ให้เลือกดื่ม ตั้งอยู่ริม หนองพญาพรหม ซึ่งเป็นหนองน้ำที่มีบรรยากาศดี

    ถ้าเป็นในช่วงตอนเช้า หรือ เย็น ที่บรรยากาศเย็นสบาย หนองพญาพรหม ก็เป็นสถานที่ที่เหมาะกับการมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ หรือ ออกกำลังกาย

    ทั้งนี้.. เราสามารถซื้ออาหารปลา มาให้ปลาใน หนองพญาพรหม ได้ มีปลาเยอะมากๆ ครับ

    พวกเราเปลี่ยนมานั่งรถรางเที่ยวกันต่อ โดยรถรถรางจะพาไปตามจุดสำคัญ รอบๆ ชุมชนออนใต้ แห่งนี้

    ซึ่งตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ นี่เองที่จะมีป้ายบอก เป็น แผนที่ของชุมชนออนใต้ ว่ามีจุดท่องเที่ยวไหนที่น่าสนใจบ้าง

    ไม่นานก็มาถึง วัดป่าตึง มาเข้าวัดไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคลกันก่อน ซึ่ง วัดป่าตึง เป็นวัดที่มีอายุร้อยกว่าปี สร้างขึ้นเมื่อปี 2425 มีชื่อเสียงเรื่อง “หลวงปู่หล้าตาทิพย์” (พระครูจันทสมานคุณ) พระสายวัดป่าที่ชาวบ้านศรัทธา ว่ากันว่าก่อนการบูรณะวัดครั้งใหญ่ มีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ และของมีค่ามากมาย อาทิ เครื่องถ้วยชามสังคโลก พระพุทธรูปต่างๆ และโบราณวัตถุอื่นๆ ในรอบบริเวณวัด

    เราเดินเข้ามากันที่ อาคารหลวงปูหล้า ที่สร้างขึ้นใหม่ โดยมีความโดดเด่นของสถาปัตยกรรม และความสวยงามของลายฉลุสีทอง แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากเราก็คือ ภาพวาดบนฝาผนัง และ คาน ในอาคารแห่งนี้ ซึ่งเป็นภาพวาดที่ถ่ายทอดเรื่องราว ประวัติความเป็นมาของวัด ตลอดจนวิถีชิวิตของชุมชนโดยรอบบริเวณวัด

    อุโบสถของวัด ด้านหน้ามีบันไดนาค

    ในบริเวณ วัดป่าตึง ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก เมื่อครั้ง อาจารย์ไกรศรี นิมมนานเหมินทร์ มาสำรวจเตาเผาในปี 2495 พบว่ามีจำนวน 83 เตา จึงได้ทำการเผยแพร่ในปี 2503 เรียกว่า  เตาสันกำแพง ภายหลังทางกรมศิลปากรได้มาสำรวจขุดเพิ่มเติมพบว่ามีมากกว่า 300 เตา

    เครื่องถ้วยสังคโลกแบบสันกำแพง เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยในราวปี พ.ศ. 1984 จากการขุดค้นสำรวจทางวิชาการ และพิสูจน์ทางเคมีเนื้อดินภาชนะที่พบเขตตำบลออนใต้ มีการบันทึกเป็นหลักฐานว่าแหล่งโบราณคดีกลุ่มเตาเผาต่างๆ นี้น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 19

    เครื่องถ้วยส่วนใหญ่ที่พบ เป็นรูปแบบไห อ่างทรงสูง ถ้วย ชาม ครก มีสีเขียวอ่อน หรือสีเทาอมเขียว ไหเคลือบสีน้ำตาล บางแหล่งเป็นภาชนะสีดินออกน้ำตาลแดง บ้างเคลือบสีเดียวตลอดภาชนะ เช่น สีเขียวไข่กา สีเทา จนถึงสีเขียวออกเหลือง บางภาชนะเขียนลายปลาเดี่ยว ปลาคู่ ปลาเป็นกลุ่มปลาว่ายวนเป็นวงกลม ทั้งบริเวณด้านในกลางชามหรือด้านข้างชาม และเขียนลายพฤกษา

    ที่นี่เราได้เรียนรู้ขั้นตอนในการทำเครื่องถ้วยแบบโบราณ และได้สนทนากับ “ลุงวี” ชาวบ้านป่าตึงที่พบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยสันกำแพงจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะได้ชมด้วยตาเปล่าแล้ว ก็ยังมีเครื่องถ้วยที่เก็บรักษาไว้บางส่วน ที่อนุญาตให้เราใช้มือจับ และสัมผัสกับพื้นผิวของชิ้นงานได้อีกด้วย

    เดินมาถึงอีกหนึ่งอาคาร เป็นอาคารเรือนไม้สักหลังใหญ่ ที่เก็บร่างสังขารของ หลวงปู่หลวงปู่หล้าตาทิพย์

    สำหรับสมญานามเรียกขาน “หลวงปู่หล้าตาทิพย์” นั้น มีเรื่องเล่ามาว่า.. วันหนึ่ง ฝนตั้งเค้าจะตกหนัก หลวงปู่หล้าบอกให้พระและเณรรีบออกจากกุฏิเพราะกุฏิเก่าทรุดโทรม มีต้นลานใหญ่อยู่ด้านข้าง ปรากฎว่าวันนั้นฝนตกหนัก ต้นลานหักโค่นทับกุฏิพัง แต่พระเณรทุกรูปปลอดภัย จึงพากันสรรเสริญว่าหลวงปู่มีตาทิพย์..

    ภายในพระวิหารแห่งนี้เป็นที่เก็บร่างสังขารของ “หลวงปู่หล้าตาทิพย์” เมื่อท่านมรณภาพลง สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา ศิษยานุศิษย์และผู้เลื่อมใสศรัทธา ได้ร่วมกันเก็บร่างสังขารของท่านไว้ในโลงแก้ว ไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้มากราบไหว้

     

    • Posts-3
    CHAILAIBACKPACKER •  March 17 , 2017

    เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน เที่ยวทั่วออนใต้

    จาก วัดป่าตึง พวกเรานั่งรถราง มากันต่อที่ วัดเชียงแสน ตั้งอยู่ในหมู่ 7 บ้านป่าตึง ตามหลักศิลาจารึกที่ค้นพบ ได้กล่าวว่า ในสมัย พระเจ้าศรีธัมมังกูร มหาจักรดิราช หรือ พระเจ้ายอดเชียงราย กษัตริย์นครเชียงใหม่ ได้โปรดให้ เจ้าอติชวญาณบวรสิทธิ (หมื่นดาบเรือน)  ราชมนตรี ชักชวนชาวบ้านมาช่วยกันสร้างพระเจดีย์ หล่อพระพุทธรูป สร้างหอพระไตรปิฏก และปลูกไม้มหาโพธิ์ พระพุทธรูปที่หล่อขึ้นเรียกกันแบบชาวบ้านว่า “พระเจ้าฝนแสนห่า” เมื่อสร้างเสร็จจึงขนานนามวัดว่า “สาลกัลญาณมหันตาราม” เป็นภาษาบาลีตามสมัยนิยมในขณะนั้น หมายถึง วัดที่ยิ่งใหญ่มีต้นสาละเป็นเอกลักษณ์  ต่อมา ชาวบ้านเรียกว่า วัดเชียงแสน ปัจจุบันหลักศิลาจารึกดังกล่าวตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพงซึ่งอยู่ในวัดป่าตึง

    จากการที่ หมื่นดาบเรือน มีคุณอเนกอนันต์ต่อชาวอำเภอสันกำแพง ซึ่งนับถือท่านเสมือนหนึ่งบรรพบุรุษผู้สร้างบ้านแปงเมือง และเป็นผู้นำทางศาสนา จึงสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ หมื่นดาบเรือน โดยนำเค้าหน้าของพระพุทธรูปฝนแสนห่าที่หมื่นดาบเรือนสร้างขึ้น มาเป็นภาพใบหน้าของรูปปั้นหมื่นดาบเรือน มือขวาถือจอบ หมายถึง ผู้บุกเบิกแผ่นดิน ส่วนมือซ้ายถือพาน มีเทียนชัยปัก หมายถึง ผู้นำศาสนาและแสงสว่างแห่งปัญญา

    ที่ วัดเชียงแสน ยังพบเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พบศิลาจารึก และ ซากเตาเผาเครื่องถ้วยสันกำแพง (ซึ่งมีอายุอยู่ในยุคเครื่องถ้วยสังคโลก) ชาวบ้านจึงช่วยกันบูรณะวัดเชียงแสน เมื่อปี 2497 เพื่อให้กลับมาเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวออนใต้

    บรรยากาศด้านหลังของวัดเชียงแสน มีทิวเขาทอดยาว หากเติมจินตนาการเข้าไปสักหน่อย จะคล้ายกับช้างที่นอนหมอบอยู่ จึงถูกเรียกขานว่า ผาหัวช้าง

    มาเรียนรู้ขั้นตอนการทำเครื่องถ้วยสังคโลก กับ เตาเผาเก่า หนึ่งใน เตาเผาสันกำแพง ที่ยังคงรูปร่างให้พอได้เห็น

    ส่วนขั้นตอนในการเผา ก็คือ เริ่มจากนำเครื่องถ้วยต่างๆ ที่ปั้นเสร็จเรียบร้อยไปวางไว้ภายในบริเวณกลางเตา(หมายเลข 2) จากนั้นเติมฟืนไฟ เข้าทางช่อง (หมายเลข 1) ความร้อนจะผ่านเข้าไปในเตาเผา และ ปล่อยควันออกมาทางปล่อง(หมายเลข 3) ทั้งนี้ นิยมสร้างเตาเผาในบริเวณเชิงเขา เพราะจะได้อาศัยทิศทางลมในการช่วยเผาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

    เราเดินทางมาพบปะกับ ผู้ประกอบการต้นแบบในโครงการหมู่บ้าน CIV ซึ่งถือว่าเป็นการนำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิม มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ของสินค้าที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว และบริการได้เป็นอย่างดี เราได้เรียนรู้ และชมการสาธิตขั้นตอนการสร้างสรรค์ชิ้นงานต่างๆ ได้ทดลองลงมือทำเอง ซึ่งหากสงสัยขั้นตอนใดก็สามารถสอบถามได้ตลอดเวลา และในทุกๆ บ้านที่เราได้เข้าไปชมก็จะได้รับการต้อนรับด้วย ผลไม้ ขนม และน้ำ เป็นอย่างดี

     

    อารีย์ผ้าทอ (กลุ่มทอผ้าบ้านปง)

     

    ศูนย์เรียนรู้และสาธิตการทอผ้า เป็นการรวมกลุ่มสตรีครูภูมิปัญญาที่พัฒนามาเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนออนใต้ เพื่อเปิดบ้านให้เรียนรู้การทอผ้า และการแปรรูปผ้าทอ ตั้งแต่การเก็บฝ้าย การอีดฝ้าย ปั้นด้าย จนถึงการทอผ้า

     

    กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บ้านปง-ห้วยลาน

    การรวมตัวของกลุ่มที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน เนื่องจากอยู่ใกล้ทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว และใช้เวลาว่างในการทำงานจักสานใบลาน การทำบายศรี และ การทำลูกประคบ

    เข้าสู่ช่วงแดดร่มลมตก.. เราก็เดินทางมาถึง ออนใต้ฟาร์ม เป็นฟาร์มที่ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์แบบธรรมชาติ มีสวนผักอินทรีย์ที่บูรณการความรู้ ในการทำเกษตรแบบดั้งเดิมและการทำเกษตรแนวใหม่ ตามปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถเลือกชมแปลงผักอินทรี และหาซื้อผักปลอดสารพิษ ได้จากที่นี่

    พืชออแกนิค นำเสนอแนวคิดการปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมดำเนินงาน และไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในทุกขั้นตอน

    ออนใต้ฟาร์ม ต้อนรับด้วยผลไม้ และน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เย็นชื่นใจ

    โชคดีได้มาเจอ ต้นกัลปพฤกษ์ ในออนใต้ฟาร์ม ช่วงสุดท้ายก่อนร่วงโรย ซึ่งต้นกัลปพฤกษ์จะมีดอกสีชมพู ไม่มีกลิ่น ออกกระจายอยู่ตามกิ่งแซมไปกับใบอ่อน ดอกจะออกช่วง กุมภาพันธ์-เมษายน  เมื่อแรกบานดอกจะเป็นสีชมพูจากนั้นสีชมพูจะเข้มขึ้นก่อนที่จะจางเป็นสีขาวก่อนดอกจะร่วงโรยไป

    พระอาทิตย์เริ่มคล้อยตัวลงต่ำ ซึ่งออนใต้ฟาร์มแห่งนี้ ก็เป็นจุดหนึ่ง ที่มีบรรยากาศ นั่งชิลๆ สบายๆ ชมพระอาทิตย์ส่องแสงสีทองยามเย็น ได้ดีเหมือนกัน

    ก่อนจะสิ้นแสงสุดท้ายของวัน เราเดินกลับขึ้นรถรางไปชมวิวธรรมชาติยามเย็นกันต่อ รถพาวิ่งไปตามถนนที่ตัดผ่านทุ่งนา ทำให้เห็นบรรยากาศผืนนาสองข้างทาง ที่ทำให้เผลอคิดว่าถ้ามาถูกช่วงถูกเวลา คงได้พบกับบรรยากาศท้องนาอันเขียวขจีเป็นแน่แท้

    วิถีชีวิตของคนในชุมชน มีให้พบเห็นได้ตลอดสองข้างทาง ที่รถรางเคลื่อนตัวผ่านไป

    เมื่อมองไปทางฝั่งซ้ายมือ จะพบกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามอีกแห่งหนึ่งของออนใต้ คือ ดอยม่อนจิ๋ง ที่ได้รับการขนานนามว่า  “ฟูจิออนใต้” บนเขามีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นตัวอำเภอแม่ออน อำเภอสันกำแพง และเมืองลำพูน ซึ่งการขึ้นไปที่จุดชมวิวนี้ จะต้องเดินขึ้นเขาโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

    ท่ามกลางบรรยากาศยามเย็น ยืนชมพระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า

    เข้าสู่ช่วงหัวค่ำ.. เราเดินทางไปร่วมกิจกรรมสำคัญที่ศูนย์เด็กเล็กฯ ภายในชุมชนออนใต้ ซึ่งสิ่งแรกที่ได้พบ ก็คือ บรรยากาศความคึกคัก รอยยิ้ม และ มิตรไมตรีของชาวบ้านที่นี่

    กาดมั่วคั่วฮอม กิ๋นหอมต๋อมม่วน กิจกรรมของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลที่จัดในชุมชนทุกวันศุกร์ โดยเด็กๆ จะนำขนมที่พ่อแม่ทำจากบ้านมาจำหน่าย เช่น ขนมลิ้นหมา ขนมจอก ไข่ป่าม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมนี้มีจุดประสงค์ฝึกให้เด็กรู้จักการค้าขาย ช่วยพ่อแม่ และ เรียนรู้เรื่องมารยาท

    เรามีโอกาสได้ลองทานอาหารมื้อเย็นแบบพื้นบ้าน หรือ ที่เรียกว่า กินข้าวแลงแบบขันโตก แบบฉบับชาวเหนือ เมนูอาหารก็เป็บแบบพื้นบ้านหลากหลายชนิด หน้าตาดูน่ารับประทาน ซึ่งเมนูที่ดูจะถูกอกถูกใจเราที่สุด ก็คงจะเป็น แคปหมู จิ้มกับ น้ำพริกอ่อง อร่อยจนต้องขอเพิ่มกันเลยทีเดียว

    เราได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าบ้านด้วย การแสดงแบบพื้นบ้านชาวออนใต้ ชาวบ้านที่นี่ใจดี มีความยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้ผู้มาเยือนอย่างเรา เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจกันเป็นพิเศษ เรารับประทานอาหาร ท่ามกลางบรรยากาศ แสง สี เสียง และ บทเพลงบรรเลงขับกล่อมแบบชาวเหนือ นับเป็นค่ำคืนที่รู้สึกประทับใจ..

    • Posts-4
    CHAILAIBACKPACKER •  March 17 , 2017

    DAY #2 ผู้ประกอบการต้นแบบในโครงการหมู่บ้าน CIV

    ตื่นมากับเช้าวันใหม่  บรรยากาศดีๆ ระเบียงห้องยามเช้าที่ Alpine Golf Resort Chiang Mai แม้ว่า.. ช่วงนี้จะเริ่มเข้าสู่หน้าร้อนแล้ว แต่อากาศในยามเช้าก็ยังสร้างความสดชื่นได้ดีเสมอ

    เมื่อจัดการธุระส่วนตัว อาบน้ำ ทานอาหารเช้ากันเรียบร้อยแล้ว เราก็มีตัวเลือกให้เลือกว่า.. วันนี้เราจะขึ้นรถรางเที่ยวใน ชุมชนออนใต้ เหมือนเดิม หรือ จะใช้วิธีปั่นจักรยานที่สามารถปั่นไปตามเส้นทางที่ระบุไว้ในแผนที่ แต่สุดท้ายแล้ว.. เราก็ยังคงยืนยันตามเดิมด้วยการขึ้นรถรางนั่งไปสบายๆ

    โดยโปรแกรมในวันนี้ จะเน้นไปชมสินค้าจาก ผู้ประกอบการต้นแบบโครงการหมู่บ้าน CIV กันเช่นเดิม ซึ่งก็มีดังต่อไปนี้

     

    สานคำสุข

    กลุ่มผู้สูงอายุที่นำโดย “ลุงคำสุข” ที่ถนัดงานจักสานเครื่องมือประมง ไม้กวาดทางมะพร้าว ทดลองทำของใหญ่ให้กลายเป็นของเล็กๆ ซึ่งสามารถแวะไปเรียนรู้งานหัตถกรรมพื้นบ้านได้

    บ้านปลาคู่นก

    คู่สามี-ภรรยา “พี่ปลากับพี่นก” ที่ถนัดงานเซรามิกเขียนลายเชิงอนุรักษ์ แนวเครื่องถ้วยสันกำแพง ปรับแนวใหม่ที่ตราสัญลักษณ์ “ปลาคู่นก” กลายเป็นงานที่ถูกใจนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ที่ยังสามารถแวะชมเทคนิคการเขียนสีบนเครื่องปั้นได้

     

    ซะป๊ะ (Sapa)

    ซะป๊ะ หมายถึง สารพัด สอดคล้องกับสินค้าผ้าแปรรูปที่หลากหลาย ทั้งตุ๊กตาผ้า พวงกุญแจ สายหอยตุ้งติ้ง ฯลฯ โดยนำสัญลักษณ์ชุมชนออนใต้ ที่เป็นรูปปลา มาปรับเป็นสินค้าที่ระลึกชองชุมชน

     

    ถักทอ (กลุ่มกระเป๋าถักจากเชือกร่ม)

    กลุ่มสตรีที่ถนัดงานถักเชือกร่มเป็นกระเป๋ารูปแบบต่างๆ ซึ่งเชือกร่มเป็นวัสดุราคาไม่แพง 

     

    ข้าวแต๋นคำสวย

    ข้าวแต๋นน้ำแตงโมสูตรกวนน้ำตาลในตัว ไม่ต้องโรยหน้า แต่ทำพิมพ์เป็นรูปปลา คล้ายกับสัญลักษณ์ชุมชนออนใต้ เพื่อให้เป็นของฝากที่ไม่เหมือนใคร

     

    กลุ่มแม่บ้านป่าตึง

    กลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกันทำน้ำพริก สำหรับจัดในสำรับรับนักท่องเที่ยว และจำหน่ายในชุมชน 

     

    เกษม ชาสมุนไพรรางจืด (วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านป่าตึง)

    “ลุงเกษม” ชวนแวะสวนสมุนไพรเพื่อเรียนรู้การใช้สมุนไพร เพื่อรักษาสุขภาพของชาวออนใต้

     

    • Posts-5
    CHAILAIBACKPACKER •  March 17 , 2017

    พันนาพูเลา ร้อยเรื่องเล่า เมืองเก่าออนใต้

    ท่ามกลางบรรยากาศอบอ้าวในช่วงเที่ยงวัน เราก็เดินทางมาถึง อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ซึ่งเป็น โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินบริเวณห้วยลาน บ้านปง หมู่ที่ 8 และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2530 และวันที่ 5 มีนาคม 2530 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ดำเนินการพัฒนาบริเวณพื้นที่ห้วยลาน อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พิจารณาก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำห้วยลาน เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ในเขตตำบลออนใต้ให้แล้วเสร็จสามารถเก็บกักน้ำให้ทันในฤดูฝน และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำดอยโต และอ่างเก็บน้ำห้วยป่าไร่ เพื่อส่งน้ำให้กับกิจกรรมพัฒนาด้านป่าไม้และด้านประมง

    และ ที่แห่งนี้ ยังมีประเพณีที่สำคัญ อย่าง ประเพณีบ้องไฟ เป็นการขอน้ำขอฝนซึ่งเดิมเคยจัดในหลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมายกเลิกเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากการขยายตัวของเมือง การจัดบ้องไฟอาจเป็นอันตราย ปัจจุบัน ประเพณีบ้องไฟมีจัดเพียงที่เดียว คือ ตำบลออนใต้ โดยใช้บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยลานเป็นพื้นที่จุดบ้องไฟในพิธี

    ในช่วงบรรยากาศยามเช้า หรือ ช่วงเย็น อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ก็เหมาะแก่การมาพักผ่อนหย่อนใจ ปั่นจักรยาน หรือวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

    ไม่ไกลจาก อ่างเก็บน้ำห้วยลาน เราก็มาถึง อนุสรณ์ช้างเผือก เป็น อนุสรณ์สถาน “พลายภูบาลรัตน์” ซึ่งเป็นลูกช้างที่ถือกำเนิด เมื่อ วันที่ 30 มกราคม 2508 เวลา 02.00 น. โดยแม่ช้างชื่อ พังคำป้อ และพ่อช้างชื่อ พลายบุญชู ทางสำนักงานพระราชวังได้มาตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ จึงสถาปนาและน้อมเกล้าถวายไว้เป็นช้างเผือกคู่พระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2509 โดยทางสำนักพระราชวังได้กำหนดให้เลี้ยงพลายภูบาลรัตน์ กับพ่อแม่ช้าง ให้ครบ 5 ปี จึงจะเชิญย้ายไปยังกรุงเทพมหานคร แต่ลูกช้างเผือกได้ล้มป่วยลง และได้ละสังขารเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ 2510 รวมอายุได้ 2 ปีเศษ สร้างความโศกเศร้าให้กับประชาชนในพื้นที่ จึงได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานช้างเผือกแห่งนี้ขึ้น

    เราเดินทางกันต่อ โดยไปปิดท้ายทริปนี้กันที่ สวนศิลป์เตาออนใต้ ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ที่น่าสนใจมาก เป็นลานศิลปะของ “อาจารย์อนันต์” ครูภูมิปัญญาที่รอบรู้ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และร้อยเรื่องเล่าของชาวออนใต้ ที่นี่เปิดบ้านให้ผู้สนใจมาเรียนปั้นดิน หรือขีดเขียนงานศิลปะ พร้อมนำกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึก

    ที่นี่.. เราได้เห็น การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในหลากหลายแขนง ได้เห็นน้องๆ เด็กนักเรียนที่ใช้เวลาว่างจากการเรียนในโรงเรียน มาเรียนศิลปะ มาเสริมสร้างจินตนาการถ่ายทอดมาเป็นผลงานศิลปะ ด้วยการ วาด-ปั้น-อ่าน-เขียน-เรียนดนตรี ซึ่งเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีอีกด้วย

    นอกจากกิจกรรมท่องเที่ยวดังกล่าวแล้ว ชุมชนออนใต้ ยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกเยอะแยะมากมาย ทั้งการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การชมสถานที่ประวัติศาสตร์ การเดินป่า และศึกษาธรรมชาติ ที่อยากแนะนำให้ลองไปเที่ยว ลองไปสัมผัสกันสักครั้ง..

    สุดท้าย.. ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องกล่าวคำอำลา ชุมชนออนใต้ แห่งนี้ ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่าน 2 วันของการมาอยู่ที่นี่ เรามีความเห็นว่า ชุมชนออนใต้ แห่งนี้ มีวิถีชีวิต และเรื่องราวที่น่าสนใจ สมดังคำที่กล่าวกันว่า.. “พันนาพูเลา ร้อยเรื่องเล่า เมืองเก่าออนใต้” จริงๆ และ ก็ยังคงมีอีกหลายแง่มุม หลายเรื่องเล่า ที่เรายังไม่ทราบ ซึ่งก็คงต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้มากกว่านี้ ซึ่งเราก็หวังว่าในอนาคตคงได้มีโอกาสกลับมาเยือน และได้มารับฟังเรื่องเล่า เมืองเก่าออนใต้ เพิ่มเติม ในคราวต่อไป..

     

     

    การท่องเที่ยวเชิงไฉไล | CHAILAIBACKPACKER

    Fanpage : https://www.facebook.com/chailaibackpacker

    Instagram : CHAILAIBACKPACKER

    Twitter : @chailaibackpack / goo.gl/VIBXC9