Day 1 : 4 สิงหาคม 2560
แม้ว่าจะเปียก จะลื่น จะแฉะ แต่ว่าป่าหน้าฝนก็เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่น่าค้นหา ... " เสน่ห์ป่าฝน มนต์ขลังที่ซ่อนเร้น " รีวิวประสบการณ์การเดินขึ้นสู่ยอดเขา ณ พิกัดที่ : 16°53'48.9"N 99°38'51.4"E ที่ความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความชันอยู่ที่ 45° - 60° ตลอดระยะทางประมาณ 3.7 กิโลเมตร กับสภาพอากาศปริมาณของฝนที่ 40% สัมภาระที่แบกขึ้นเองประมาณ 14 กิโลกรัม กับเวลาที่ใช้ไปประมาณ 4 ชั่วโมง แลกกับค่าที่พักราคา 70 บาท เพื่อตามหา “ทะเลหมอก”
ที่นั่นก็คือ “เขาหลวงสุโขทัย” ของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ทริปนี้เริ่มต้นในคืนวันที่ 3 สิงหาคมที่หมอชิต ผมใช้การเดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศของ “วินทัวร์” เที่ยว (VIP) 22.30 น. ปลายทาง บขส. สุโขทัย ในราคา 361 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชม.
พอถึงก็ประมาณ 05.30 น. ก็จัดการตัวเองที่ห้องน้ำของ บขส. แล้วเหมารถออกมาไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติรามคำแหงต่อ
โดยได้รถเก๋งของ “ลุงเท่ง” เหมาในราคา 200 บาทต่อเที่ยว สำหรับผมแล้วไม่แพงเลยครับ กับการบริการของลุง ลุงแกบริการดีมากเลยครับ พาไปแวะตลาดตอนเช้าในตัวเมืองและร้าน 7-11 ให้เราได้เตรียมอาหารกับของใช้ที่ยังขาด ตามที่เราต้องการ ก่อนที่จะต้องเดินทางขึ้นเขา
ซึ่งหลาย ๆ คน คงจะรู้แล้วว่าข้างบนเขาหลวงนั้นจะมีร้านค้าเล็ก ๆ ของอุทยานฯ ขายพวกมาม่า น้ำอัดลม และขนม ในราคาที่ชาร์จอยู่แล้วแน่นอน ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็จะเน้นประหยัดโดยถือคติที่ว่า “กินเพื่ออยู่” จึงจัดเตรียมอาหารการกินขึ้นไปเอง อันดับแรกคือ น้ำดื่ม เอาขวดใหญ่ไปก็เพียง 1 ขวดก็พอ สำหรับคนที่คิดว่าจะไม่พอ ไม่ต้องห่วงนะครับ เพราะมีตาน้ำธรรมชาติให้เติมได้เรื่อย ๆ ระหว่างทางที่เดิน ส่วนบนยอดก็ทั้งน้ำฝน และตาน้ำธรรมชาติ ให้เติมอีก ส่วนอาหารสำหรับมื้อเที่ยงเป็นอาหารง่าย ๆ ข้าวเหนียวนึ่งหมู 2 อย่างแล้วห่อด้วยใบตอง ราคา 20 บาท / มื้อเย็นเป็นมาม่าคัพ + ไส้กรอก (เวฟมาแล้วเรียบร้อย) / และมื้อเช้าขนมปัง + กาแฟดำ (มื้อเย็น ,มื้อเช้า กับน้ำดื่มขวดใหญ่ ผมซื้อจาก 7-11) ของครบก็เดินทางครับ
นั่งรถของ “ลุงเท่ง” มาไม่นานก็ถึงทางเข้าอุทยานฯ โดยเราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน 40 บาท/คน จ่ายค่าผ่านทางเสร็จ ลุงเท่งก็พาผมมาส่งที่ในตัวอุทยานฯ แล้วก็นัดแนะให้มารับผมอีกในวันลงจากเขา (ต้องบอกว่าคุ้มครับเพราะวันที่ลงมานั้น ฝนตกอย่างหนัก ถ้าไม่ได้รถลุงเท่ง เปียกแน่ ๆ เพราะผมต้องกลับเข้าไปนอนในเมืองอีกคืน) หลังจากร่ำลาลุงเท่งเสร็จ ก็ไปกินมื้อเช้าง่ายๆ ที่ร้านค้าด้านล่างของอุทยานฯ พร้อมกับจัดของสัมภาระ (อาหาร) ที่ซื้อมาให้เรียบร้อยอีกครั้ง ก่อนจะไปลงชื่อ,ติดต่อ จนท. ก่อนที่เริ่มเดินทางจริง ๆ ซักทีส่วนถ้าใครจะจ้างลูกหาบที่อุทยานฯ ก็มีนะครับ โดยติดต่อเองได้เลยหรือจะให้ทาง จนท. ติดต่อให้ก็ได้ และอีกอย่างครับที่นี่ มีบริการให้เช่าเต็นท์, ถุงนอน, แผ่นปูรอง และผ้าห่ม ติดต่อ จนท. แล้วนำใบเสร็จไปยื่นต่อ จนท. ด้านบนได้เลยครับ การปล่อยให้ขึ้นเขาหลวงฯ นั้น ที่นี่เปิดให้ขึ้นได้ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไปนะครับ ส่วนผมรอบนี้อย่างที่บอกไปในตอนต้น ก็แบกของเองหมด โดยสัมภาระที่แบกขึ้นเองในครั้งนี้ประมาณ 14 กิโลกรัม เอาละครับ เวลาตอนนี้ก็เริ่มจะสายมากแล้ว ... R u Ready? เริ่มต้นการเดินทาง.. ปากทางเข้ามาด้านขวามือมีศาลให้เคารพสักการะ ส่วนตัวก็ไม่ลืมที่จะแวะกราบพระขอพรให้คุ้มครองทุก ๆ คนตลอดการเดินทางครั้งนี้ ตรงทางที่เราจะเดินไป จะมีไม้ค้ำยันมากมาย เตรียมไว้ให้เราหยิบ กรุณาถือไปเถอะครับ แม้ว่าคุณจะแข็งแกร่งแค่ไหนก็ตาม แต่มันจะช่วยคุณในช่วงที่ชันได้มาก
โดยการเดินทางครั้งนี้จะมีพิกัดย่อย ๆ หลายพิกัด แต่ผมขอเลือกหลัก ๆ คือ ประดู่งาม - มออีหก - จุดชมวิว - น้ำดิบผามะหาด - ไทรงาม - ปล่องนางนาค ซึ่งมีพิกัดย่อย ๆ อีก ตามรูป ทางเดินประมาณ 200 เมตรแรก เป็นทางราบเรียบ ๆ เดินง่ายๆ นอกนั้นคือ “ชัน” โดยเริ่มไต่ระดับไปเรื่อย ๆ ทางเดินส่วนใหญ่เป็นดิน ปนก้อนหินภูเขาตะปุ่มตะป่ำ พร้อมข้างทางที่มีต้นใหญ่มากมาย ๆ ดูแล้วร่มรื่น ให้ความสบายใจ (รึเปล่า? ฮ่า ๆ) เริ่มเดินไม่นาน ก็จะพบจุดนั่งพักไปเรื่อย ๆ โดนจะมีแคร่ไม้ไว้ให้นั่งห้อยขา และถังน้ำดื่ม (เป็นถังน้ำที่จนท.ต่อท่อมาจากด้านบน สะอาดแน่นอน น้ำเย็นชื่นใจ ดื่มได้ครับ) เพราะด้วยความที่เป็นทางชันตลอด ๆ จึงไม่ค่อยมีทางราบให้ยืนหรือนั่งพักสบาย ๆ จึงแนะนำให้พักตลอดที่เจอจุดพัก แต่อย่าพักนานจนเกินไป เพราะขาอาจตายได้ และยุงเยอะมาก (แนะนำให้เอายาพ่นไล่ยุงมาด้วยนะครับ) อีกอย่างคอยจิบ ๆ น้ำดื่มไปด้วยนะครับ โดยสภาพทางจะค่อย ๆ ชันขึ้นทีละนิดทีละนิด ขั้นบันไดธรรมชาติจากหิน ดิน และรากไม้ สลับกันไป มีแต่ขึ้นกับขึ้น ทางราบมีบ้างเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะขึ้นมากกว่า เดินกันไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องรีบ อย่างที่บอกเหนื่อยก็หยุดพัก แต่อย่านาน ขามันตายและยุงเยอะ บอกแล้วนะ !!! ตลอดทางเดินมีจุดพัก แรกๆ ก็ดี หลังๆ เหมือนจะเริ่มท้อ เพราะสองสามร้อยเมตรของที่นี่ ก็เดินกันหืดขึ้นคอเลยทีเดียว ถึงจะสั้น ๆ แต่ชันไปตลอดทาง... เดินมาพักใหญ่ ก็เจอกับ จุดที่พักชมวิว ซึ่งเป็นจุดพักผ่อน จุดเดียวที่มองเห็นวิวทิวทัศน์ด้านล่าง ถ้าเรามาถึงจุดนี้เท่ากับว่าเรามาได้ครึ่งทางแล้วนะครับ ผมจึงแวะพักที่นี่อยู่พักใหญ่ หนทางยังอีกยาวไกล ต้องไปกันต่อครับ ซึ่งหลังจากจุดชมวิว ทางก็จะชันขึ้นอย่างโหด และโหดไปเรื่อย ๆ จังหวะนี้ไม่มีอารมณ์จะหยิบกล้องมาถ่ายอะไรแล้วครับ แค่พาตัวเองไต่ระดับความชันขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้ถึงที่หมายได้ ก็พอครับ เดินแบบหืดขึ้นคอไปเรื่อย ๆ ผ่านจุดต่างๆ แบบไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูเท่าที่ควร ซึ่งมีทั้ง น้ำดิบผามะหาด (จุดเติมน้ำจุดสุดท้าย และคือ “ต้นน้ำ” เราใช้เติมใช้ลูบหน้ากันละครับ) เป็นต้น รู้สึกตัวอีกทีเลยต้องเชคดูเวลาก็ปาเข้าไปเที่ยงครึ่งมาแล้ว จึงตั้งใจว่าจะแวะที่ “ไทรงาม” เพื่อกินข้าวเที่ยง อันที่จริงไม่มีความหิวเลยครับ หลังจากกินข้าวเที่ยงไปได้นิดเดียว ก็นั่งพักกันสักพักใหญ่ บอกไว้เลยครับว่า ถ้าเราถึงไทรงามแล้ว ก็ใกล้จะถึงความจริงแล้วครับ ยังคงเดินต่อไปเรื่อย ๆ พอที่จะรู้สึกว่า ยิ่งใกล้จะถึง "หมอก" ก็เริ่มค่อย ๆ ออกมาต้อนรับการเดินทางครั้งนี้ และแล้วก็ถึงช่วงสุดท้าย จะเป็นเส้นทางเดินชิว ๆ ที่ลดระดับความลาดชันลงบ้าง จนในที่สุด ก็โผล่มาให้เห็น “หลังคาสังกะสี” ของที่ทำการฯ แต่... บททดสอบความอึดในด่านสุดท้ายคือ "มอตะคริว" บันไดเซ็ทสุดท้าย ที่ดูแล้วมีความชันน่าจะพอ ๆ กับเส้นทางจาก จุดชมวิว มายัง น้ำดิบผามะหาด เลยทีเดียว ถึงแม้ระยะทางจะสั้นกว่ามาก แต่จากเส้นทางที่เราผ่านมามันสามารถส่งผลให้ เราเกิดอาการตะคริวได้ ช่วงนี้แนะนำให้ไม่ต้องรีบเดินนะครับ เพราะส่วนตัวคิดว่า ที่หลาย ๆ คนเป็นตะคริวกัน คงเพราะต้องการเร่งให้ถึงด้านบนเร็วเกินไป และสุดท้ายแสงสว่าง ก็ ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ถึงแล้วครับ
พอถึงด้านบน ฝนเริ่มตกหนักเลยครับ ถือเป็นโชคดีที่ไม่ตกในการเดินขึ้น เลยได้นั่งพักให้หายเหนื่อยไปพร้อมกับรอให้ฝนหยุด จะได้หาทำเลเตรียมกางเต็นท์ ในใจคือดีใจครับ เพราะอะไรนะหรอ คือ “ฝนตก” สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ “หมอก” ไง ฮ่า ๆ ... และการขึ้นมาครั้งนี้ มีผู้ที่ขึ้นมาพิชิตเพียงแค่ 12 คนเท่านั้น
บริเวณรอบ ๆ ด้านบนจะมีลานกางเต้นท์ มีม้านั่งยาว จัดวางไว้โดยรอบ ส่วนพื้นที่ตรงกลางไว้สำหรับจุดไฟ (รอบกองไฟ) ได้ครับ ส่วนเต้นท์ หากกลางคืนฝนตกหนักสามารถยกเต้นท์หลบเข้าไปใต้หลังคาได้ และมีศาลาให้ได้นั่งพักกัน ซึ่งผมเลือกบริเวณใกล้ ๆ ศาลาเป็นจุดกางเต็นท์ เพื่อจะได้ที่นั่งสำหรับนั่งเล่น กับชมวิวเวลากินข้าว ที่สำคัญตรงศาลามีไฟให้ความสว่าง และปลั๊กไฟ ให้ด้วยนะครับ แต่ไฟจะมาตอน 1 ทุ่มถึง 4 ทุ่ม เท่านั้น ส่วนห้องน้ำก็แยกชายหญิง อย่างชัดเจน ค่อนข้างสะอาด ที่สำคัญน้ำเย็นมากครับ (ส่วนใครที่ติดต่อเช่าเต็นท์และอุปกรณ์เครื่องนอนไว้ตั้งแต่ด้านล่าง ก็นำใบเสร็จที่ติดตัวมา ยื่นแสดงต่อ จนท. ด้านบนได้เลย) หลังจากกางเต็นท์และเก็บสัมภาระเรียบร้อยแล้ว ก็รอเวลาเพื่อไปชมพระอาทติย์ตก สิ่งหนึ่งที่คิดมาตลอดในการเดินทางครั้งนี้คือ “จะเจอหมอกไหม” และแล้วคำตอบก็คือ เวลาประมาณ 16.50 น. ณ จุดที่กางเต็นท์นะครับ มันคือความรู้สึกที่ ฟินสุดๆ ควันขาวไปหมดหลังจากยืนฟินอยู่ที่ลานกางเต็นท์อยู่พักนึง ก็เลยสะพายกล้องออกไปจุดชมวิวพระอาทิตย์ตก ซึ่งแน่นอนไม่ต้องลุ้นหรอกครับ ไม่เห็นแน่นอน ส่วนตัวแล้ว ผมไม่เสียใจเลยสักนิด เพราะการเดินทางครั้งนี้มีแค่ “ทะเลหมอก” เท่านั้น ด้านบนเราสามารถเดินชมเขาแต่ละลูกได้ เส้นทางไม่ไกลกันมากนัก เดินเป็นวงกลมแล้วกลับมาจุดเดิมได้ โดยบริเวณลานกางเต็นท์นั้น ยังไม่ใช่ จุดสูงสุดของเขาหลวงนะครับ จึงถือว่า ยังไม่พิชิตความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล
อย่างที่บอกไปด้านบนเราสามารถเดินชมเขา โดยเดินเป็นวงกลมแล้วกลับมาจุดเดิม แล้วแต่เราจะเริ่มเดินทางไหนเอง ซึ่งด้านบนจะมีจุดต่างๆ ดังนี้ เขาเจดีย์ - เขาภูกา - เขาแม่ย่า - ผาชมปรง - ผานารายณ์ โดยไฮไลต์ที่หลายๆ คนขึ้นไปชมกัน ง่าย ๆ ก็คือ ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ “ผานารายณ์” กับ ไปดูพระอาทิตย์ตกที่ “ขาแม่ย่า” ส่วนจุดอื่นถ้ามีเวลาก็ไปเดินสำรวจได้เลยครับ อยากบอกว่าจัดสรรเวลาให้ดี ก็เดินครบได้ครับ ไหนก็ขึ้นกันมาแล้ว จะได้ไม่ต้องมาเก็บซ้ำอีก ฮ่า ๆ
ส่วนเย็นนี้ ผมเริ่มวนทางขวาครับ คือ เดินขึ้นไปที่ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เพื่อไป “ผาชมปรง” ก่อนเลย เพราะอย่างที่บอก “หมอก” มันอลังการมาก ไม่เห็นแน่ๆ พระอาทิตย์ตก เดินที่นี่ไม่ต้องกลัวหลงนะครับ เพราะมีป้ายบอกทาง อีกทั้งอย่างที่บอก ทางมันเป็นวงกลมครับ เดินตามป้ายมาก็ถึงครับ “ผาชมปรง” ช่วงเวลาที่ผมไปนั้น จุดนี้ มีลมแรงมาก นั้นเพราะจุดนี้เป็นช่องลมพอดี จึงแนะนำว่า “ไม่ควรบ้าระห่ำ” ยืนตรงหินใกล้หน้าผาจนเกินไป เพราะ ลมมันแรงมาก อาจเกิดอันตรายได้เลย จึงฝากเตือนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษหลังจากนั้นก็เดินจะเดินต่อ โดยตั้งใจว่าจะไป “เขาแม่ย่า” แต่ด้วยเวลาที่เหมือนจะเริ่มมืดกับไม่ได้นำไฟฉายมาด้วย ประกอบกับทางที่ต้องเดินต่อไปนั่น ต้องเดินลงเข้าไปในป่า คิดแล้ว ถ้าไปต่อคงเดินกลับที่พักมืดแน่ๆ ถึงต้องเปลี่ยนแผน กลับไปอาบน้ำ กินข้าวเย็น พักผ่อนก่อนดีกว่า จึงเดินย้อนกลับมาทางเดิมเพื่อกลับที่พัก
มาถึงที่พัก แนะนำว่า ให้นั่งพักสักครู่ก่อน แล้วค่อยไปอาบน้ำ เพราะน้ำที่นี่เย็นมาก ร่างกายเราอาจจะปรับตัวไม่ทัน เดี๋ยวจะไม่สบายเอาได้นะครับ นั่งพักพอได้ ผมก็เดินถือไฟฉาย ไปอาบน้ำ ต้องบอกว่า “มืด” จริงครับ ใครกลัวก็รอตอน 1 ทุ่มครับ เพราะจะมีไฟฟ้า แต่ผมไม่ไหว ยื่งนานจะยิ่งหนาว หลังจากอาบน้ำเสร็จ ก็มาเตรียมอาหารเย็นพร้อมกับที่นั่งกินข้าว พร้อมชมวิวระดับ 5 ดาว ฮ่าๆ โดยอาหารเย็นมื้อนี้ อาหารญี่ปุ่นราคาถูก “มาม่าคัพ” ที่ได้รับความอนุเคราะห์น้ำร้อน จากพี่จนท. ที่ต้มไว้ให้ กับไส้กรอก 7-11 ที่จัดเตรียมไว้ช่วงเวลานี้ครับ ผมไม่ได้จับโทรศัพท์เลย (อาจเพราะเครือข่ายที่ผมใช้ไม่มีสัญญาณเลย ฮ่า ๆ) เวลาผมไปเที่ยวนั่น ผมมักจะชอบนั่งคิดอะไรหลาย ๆ อย่าง ไปพร้อมกับจดบันทึกเรื่องราวระหว่างทางที่เราพบเจอมา เพราะ “จุดหมายมันไม่ได้สำคัญเท่ากับรายละเอียดระหว่างทาง” ทั้งได้นั่งคุยกับมิตรภาพข้างบนกับคนที่เราไม่รู้จัก แต่มาเจอกันเพราะเรามีเป้าหมายเหมือนกัน หนึ่งในนั่นคือ “พี่ติ๊ก” จนท. ที่ประจำอยู่ด้านบน ผมก็คุยซับเพเหละไปเรื่อย ได้ความรู้หลาย ๆ อย่างจากพี่เขา ไปพร้อมกับฝนที่ตกมาในค่ำคืนนั้น ผมคุยกับพี่เขาจนได้ลาภ เพราะอะไรนะหรอครับ ผมไปชวนคุยเรื่องอาหาร พี่ติ๊กเลย บอกว่า พรุ่งนี้เช้าจะ “ยำปลากระป๋องสูตรพิเศษ” ให้กินในมื้อเช้า ฮ่าๆ เห็นไหมครับได้ลาภจริงๆ คุยสักพักยังไม่ถึง 4 ทุ่มเลย ผมต้องขออนุญาตลาพี่เขา เข้านอนก่อน เพราะพรุ่งนี้ตั้งใจไปชมพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งแน่นอน ไม่เห็นอีกแน่ ๆ เพราะฝนตกแบบนี้ ส่วนตัวอย่างที่บอกผมไม่แคร์อยู่แล้ว ฮ่า ๆ “ทะเลหมอก” อลังการมาก็พอแล้ว ... ค่ำคืนนี้อากาศกำลังเย็น แต่ไม่หนาว ฝันดีครับ