เล่ากันต่อถึง เส้นทางศึกษาธรรมชาติโคกนกกระบา ที่ถ้าใครมา บอกเลยว่าห้ามพลาดเด็ดขาด เพราะเส้นทางนี้เราจะได้พบทั้งพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงาม เหล่ากล้วยไม้ป่าที่หายาก รวมถึงสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ทั้งสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครอง เส้นทางเดินนี้จะต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นบริเวณที่พักนักท่องเที่ยว แยกไปได้สองทางคือไปทางผาช้างผ่าน หรือ ลานสุริยัน แต่ในช่วงฤดูหนาว ลานสุริโดยเริ่มจากโหล่นมนยันไม่ค่อยน่าไปเท่าไหร่ เนื่องจากไม่มีดอกไม้ที่สวยงามให้ชม และยังมีโอกาสเจอช้างได้อีกด้วย ผมจึงเลือกไปทางผาช้างผ่าน ผาสมเด็จ ผาเตลิ่น ไปจบที่รอยเท้าไดโนเสาร์แทน ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร
ระหว่างทางไปผาช้างผ่านนี้ เราก็พบพันธุ์ไม้ และกล้วยไม้ป่าต่าง ๆ จึงเหมาะกับผู้ต้องที่ต้องการศึกษาธรรมชาติ มีเวลาทั้งวันไม่เร่งรีบ สภาพป่าเป็นป่าดิบแคระมีพรรณไม้เด่นจำพวกก่อ เช่น ก่อดำ, ก่อหนู, ส้มแปะ, กุหลาบแดง, กุหลาบขาว, ส้มสา ซึ่งจะขึ้นสลับตามลานหินและมีกล้วยไม้ต่าง ๆ เช่นเอื้องตาเหิน, เอื้องสำเภางาม, เอื้องพลายงาม, สิงโตสยาม, สิงโตใบพาย, สิงโตรวงข้าว, เอื้องขยุกขยุย รวมถึงกระทือ มอสเฟิร์นต่างๆแม้แต่ฝอยลมก็มี เป็นต้น **เส้นทางนี้จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางเท่านั้น**
เมื่อมาถึงผาช้างผ่าน ก็พบมูลช้างจำนวนมาก สังเกตได้จากมูลที่ก้อนใหญ่ และมีเศษหญ้าปะปนอยู่ บางก้อนก็ยังสด ๆ ใหม่ ๆ เหมือนช้างเพิ่งผ่านไป บางก้อนก็ดูแห้งนานเป็นเดือน ใจนึงก็อยากจะเจอช้างบ้างแต่อีกใจก็คิดว่าไม่ดีกว่า ช้างป่าอันตรายกว่าที่เราคิดไว้ ไม่เหมือนช้างในสวนสัตว์ที่มาวาดรูปโชว์แน่นอน ผาช้างผ่านอยู่ทางทิศตะวันออกของโคกนกกระบาระยะทาง เดินประมาณ 1 กม. เป็นจุดดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่สวยงาม แต่บางทีพระอาทิตย์ไม่มาตามนัดก็จะเจอแต่หมอกที่ปกคลุมทั่วบริเวณ และอากาศหนาวเย็นจับใจ
ถัดจากผาช้างผ่านก็จะถึงผาสมเด็จ ถัดจากผาช้างผ่านไปประมาณ 1.2 กม.เป็นจุดชมวิวมีความสูงประมาณ 1,480 เมตรซึ่งมองออกไปจะเห็นแนวเทือกเขา และแนวชั้นหินของผาเตลิ่นเป็นเนินหญ้าลาด เป็นชั้นๆลงไปบริเวณหน้าผาเป็นป่าไม้พุ่มเตี้ยๆสลับกับโขดหินสวยงาม ที่ชื่อผาสมเด็จนี้มาจากที่ มีต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่เรียกว่าต้นสร้อยสมเด็จ ค้นพบเป็นแห่งแรกในประเทศไทย อีกทั้งสมเด็จพระราชินียังเคยเสด็จประทับที่ผานี้ถึง 2 ครั้งเมื่อพรองค์เสด็จมาก็จารึกพระนาม สิริกิตต์ไว้บนหินริมหน้าผานี้ด้วย ที่ผาสมเด็จนี้เราจะพบเฟิร์นและมอสขึ้นตามโขดหินเป็นจำนวนมาก เพราะจุดนี้มีลมพัดตลอด มีทั้งความชื้นและอากาศที่เหมาะสม
ผาเตลิ่น อยู่ห่างจากโคกนกกระบาไปประมาณ 3.5 กม เป็นหน้าผาสูงราว 1,055 เมตรตั้งอยู่แนวโขดหินริมผาด้านตะวันออก ก่อนจะถึงผาเตลิ่นก็จะมีทุ่งหญ้าเล็ก ๆ กั้นอยู่ มีพรรณไม้แคระ กุหลาบแดง กุหลาบขาว และมีบีโกเนียแซมอยู่ตามชะง่อนหิน จุดนี้เป็นจุดที่ถ่ายรูปออกมาสวยงามราวกับเที่ยวเมืองนอก เมื่อถึงริมผาเราสามารถ มองเห็นยอดภูกระดึงและภูเรือได้อย่างชัดเจน ถ่ายรูปเพลิน ๆ กำลังจะไปจุดต่อไปก็เหลือบไปเห็นเจ้าตัวดำ ๆ ลักษณะคล้ายกวางเด็ก กำลังยืนเล็มใบหญ้าอยู่ พอสังเกตดีๆจึงเห็นว่าเป็น เลียงผา 1 ใน 15 ชนิดของสัตวืป่าสงวนในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ที่นำทางเราไปเล่าว่า "ปกติเลียงผาจะหาตัวเจอยากมาก บางคนมาเฝ้าเป็นอาทิตย์ก็ไม่ได้เห็น แถมบางทีเห็นแค่แวบเดียวก็หลบเข้าชายป่า ถ่ายรูปไว้ไม่ทัน" แต่ครั้งนี้แปลกมาก ที่อยู่ให้เราถ่ายรูปเป็น 10 นาที ไม่กลัวคนเลย อาจจะไม่เคยรู้ถึงอันตรายจากมนุษย์ก็เป็นได้ แต่ถือว่าเราโชคดีมากที่ได้เจอสักครั้งในชีวิต
จุดสุดท้ายที่เราจะแวะตามแพลนของเรา คือไปชมรอยเท้าไดโนเสาร์ที่มีอายุ 100 - 140 ล้านปีพบบนแผ่นหินทรายจำนวน 15 รอย เป็นพวกคาร์โนซอร์ หรือไดโนเสาร์กินเนื้อเป็นอาหาร ถือได้ว่าเป็นการพบรอยเท้าครั้งแรกแถบเอเชียอาคเนย์
หลังจากเพลินกับการวัดขนาดรอยเท้าไดโนเสาร์ ก็ถึงเวลาต้องเดินกลับแล้วก่อนฟ้ามืด เพราะยิ่งใกล้พระอาทิตย์ตกแค่ไหน ช้างก็จะออกมามากขึ้นเป็นอันตรายแก่นักท่องเที่ยว เส้นทางกลับของเราต้องผ่านเข้าป่าทึบกันนิดหน่อยก่อนจะไปโผล่ที่ร่องต้นสน ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร เรียกว่าจะมีเสียเหงื่อนิดหน่อยก็ตอนนี้แหละ จากร่องต้นสนก็มีรถของเจ้าหน้าที่มารอรับนักท่องเที่ยวกลับสู้ส่วนกลาง เส้นทางระหว่างกลับก็ผ่านทุ่งหญ้าบ้าง เนินเขาบ้าง เป็นอีกมุมที่สวยงามของภูหลวง
จุดชมพระอาทิตย์บนภูหลวงมีอยู่ที่เดียว อยู่ใกล้กับศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพียง 220 เมตรเท่านั้น เดินง่ายติดริมหน้าผา หากวันใดฟ้าเปิดกผ้จะได้เห็นพระอาทิตยืดวงกลมโตกำลังลับของฟ้า ช่วงเย็น ๆ ก็อาจจะมีโอกาสได้เจอไก่ฟ้าออกมาหากินด้วย