มาถึงชุมชนเกาะกลางทั้งที ก็ต้องออกไปเรียนรู้วิถีชุมชุน เที่ยวรอบเกาะกลางกันสักหน่อย ซึ่งกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจจะมีอะไรบ้าง? ก็ลองตามมาดูกันครับ!
ชมวิถีชีวิตชาวประมงชุมชนเกาะกลาง
นั่งเรือออกมาชมวิถีชีวิตชาวประมงการจับสัตว์น้ำเพื่อหาเลี้ยงชีพ ซึ่งรูปแบบในการจับสัตว์น้ำก็แตกต่างกันไปตามแต่ละประเภท โดยใช้วิธีการจับที่หลากหลาย เช่น การทอดแห ซึ่งใช้วิธีการทอดแห เพื่อจับกุ้ง ได้กุ้งกันมาเยอะเลยทีเดียว
นั่งเรือพลีสไปลอบปู
เรือพลีส เป็นเรือขนาดเล็กกะทัดรัด นั่งได้ 2 คน มีความยาวประมาณ 3 เมตรครึ่ง กว้าง 75 เซนติเมตร ทำด้วยไม้ และติดเครื่องยนต์ไว้ด้านหลัง สามารถใช้พายก็ได้(ตอนอยู่น้ำตื้น) หรือใช้เครื่องยนต์ก็ได้(ตอนอยู่น้ำลึก) แล้วแต่สถานการณ์ เพราะ ขนาดเรือที่เล็กจึงแทรกตัวไปได้ทุกที่ เพื่อไปทำการวาง ลอบปู โดยใช่เหยือล่อเอาไว้ภายใน แล้วปล่อยทิ้งไว้ จากนั้นเมื่อได้เวลาก็เข้าไปเก็บอีกรอบ ได้ปูตัวใหญ่มาเยอะเหมือนกัน..
หาหอยริมหาด
เป็นกิจกรรมหาหอยในบริเวณชายหาดที่น้ำลด ในช่วงเช้า หรือ เย็น หอยที่พบส่วนมาก เช่น หอยหลักไก่ หอยจุ๊บแจง หอยหวาน หอยปากหนา หอยแครง เป็นต้น สามารถใช้มือเปล่าจับได้เลย ซึ่งหอยที่ได้มา จะนำมาประกอบอาหาร โดยมีเมนูที่น่าสนใจอย่าง หอยต้มตะไคร้ ซึ่งได้ลองชิมแล้ว กินเพลินเลยทีเดียวล่ะ ต้องลอง!
การสักหอย
การ “สักหอย” ซึ่งเป็นวิธีการหาหอยที่น่าสนใจ ของวิถีชุมชนบ้านเกาะกลาง โดยขั้นตอนการสักหอย จะนำไม้แหลมกลมๆ ยาวพอเหมาะ มาเดินแทงลงบนพื้นชายหาด เพื่อให้กระทบกับเปลือกหอย ซึ่งต้องใช้วิธีสังเกตกันพอสมควร..
การผลิตเรือหัวโทงจำลอง
ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มเรือหัวโทงจำลอง เกาะกลาง กลุ่มนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการสืบสานวิถีชีวิตของชาวเกาะกลางสมัยก่อน ซึ่งในปัจจุบันเริ่มพบเห็นได้น้อยลง เรือหัวโทงแบบดั้งเดิมเริ่มจะหายไป ชาวบ้านเลยรวมกลุ่มกันเพื่อทำเรือหัวโทงจำลองขึ้น เพื่ออนุรักษ์ และพัฒนา เรือหัวโทงจำลอง จนมาเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัด และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน..
การทำผ้าปาเต๊ะ
การรวมกลุ่มกัน เพื่อผลิตผ้าปาเต๊ะ ส่งขายหารายได้เสริม ขั้นตอนการผลิตผ้าปาเต๊ะ ตั้งแต่เริ่มต้นจากผ้าสีขาว นำมาปั๊มลายด้วยเทียน แล้วนำมาขึงให้ตึง วาดลวดลายเติมสีสันลงไป จากนั้นต้องทิ้งไว้ 1 วันให้สีแห้ง ก่อนจะนำไปย้อมทั้งผืน แล้วผึ่งให้แห้งอีกครั้ง ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะออกมาไว้จำหน่าย สร้างรายได้ให้กับชุมชน ทั้งนี้.. สามารถทดลองทำผ้าปาเต๊ะขนาดเล็กได้ ในราคา 50 บาท นำมาลงสีสันได้ตามใจชอบ..
การแข่งขันนกกรงหัวจุก
จะมีการแข่งขันนกกรงหัวจุก ในทุก วันศุกร์ และ วันอาทิตย์ หากสนใจสามารถแวะไปดูได้ครับ
ข้าวสังข์หยด
ข้าวสังข์หยดของชาวเกาะกลาง เป็นข้าวที่ผ่านกระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยว โดยคนในชุมชนเอง ซึ่งมีความพิเศษตรงที่พื้นที่ปลูกข้าวนั้นมีความเค็มของน้ำทะเลผสมอยู่ ทำให้มีความแตกต่างจากที่อื่น หุงแล้วนุ่ม มีรสชาติดี และ มีคุณค่าทางอาหารสูง
โป๊ะน้ำตื้น
โป๊ะน้ำตื้น เป็นวิธีการจับปลาโดยอาศัยน้ำขึ้น น้ำลง อุปกรณ์ก็มี.. อวนขนาดยาวขึง เป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่มาก เปิดโล่งไว้หนึ่งด้าน พอช่วงน้ำขึ้นปลาก็เข้ามาว่ายเวียนวนอยู่ข้างใน แต่พอถึงช่วงน้ำลง น้ำค่อยๆ ลดลงช้าๆ บรรดาปลาทั้งหลาย ก็ค่อยๆ ไหลไปกองรวมกันตรงมุมปลายอวนที่อยู่ลึกที่สุด.. ที่เรียกว่า ลูกขัง ข้างในจะเต็มไปด้วยสัตว์น้ำที่มากองรวมกัน อย่างปลา ปูม้า หมึกกล้วย กุ้ง เป็นตัน
ปัจจุบัน ทางการได้สั่งให้ชาวบ้านยุติการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีนี้ เพราะ ทำให้สัตว์น้ำตัวเล็กๆ หรือ ตัวโตไม่เต็มที่ ถูกจับไปด้วย แต่ทั้งนี้.. ก็หาทางออกร่วมกันโดยการผ่อนปรนให้ใช้อวนตาข่ายที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อไม่ให้สัตว์น้ำตัวเล็กๆ ถูกจับไปด้วย
ชมพระอาทิตย์ตก
กิจกรรมส่งท้ายยามเย็น.. ด้วยการไปชม พระอาทิตย์ตก นั่งมองทะเล ท้องฟ้าสวยๆ ในบรรยากาศเงียบสงบ ดูพระอาทิตย์ค่อยๆ ลับขอบฟ้าไป
จะเห็นว่า.. กิจกรรมท่องเที่ยวบนเกาะกลางมีมากมาย.. ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา และ ฤดูกาล ด้วย บางกิจกรรม ต้องอาศัยน้ำขึ้น น้ำลง ต้องไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยรวมๆ แล้วก็สนุก แถมได้ความรู้ไปในตัวด้วยครับ ทั้งนี้.. กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโดยตรงกับพี่มัตถ์ได้เลยนะครับ(คิดถึง คอทเทจ – kidthung cottage)
การได้มาเยือน “เกาะกลาง” และได้มีโอกาสมาพักที่ “คิดถึงคอทเทจ” ในครั้งนี้ ทำให้ผมได้รับประสบการณ์มากมาย และได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการมาเที่ยววิถีชุมชนของจังหวัดกระบี่ ผมได้มิตรภาพที่ดีจากเจ้าบ้าน อย่าง พี่มัตถ์ และ พี่มูนา ที่คอยดูแลอย่างดี เหมือนเป็นคนหนึ่งในครอบครัว รู้สึกอบอุ่น และมีความสุขมากๆ ซึ่งถ้ามีโอกาสต้องกลับเยือนอีกครั้งแน่นอน.. ครับ!
และ.. หากใครกำลังมองหาสถานที่พักผ่อนสบายๆ ท่ามกลางวิถีชุมชน เช่นนี้ ก็ขอแนะนำ "เกาะกลาง" เลยครับ แล้วจะ.. เข้าใจ ความหมายที่ว่า.. กี่ครั้ง.. ก็ยัง “คิดถึง”
ติดตามการเดินทางทริปอื่นๆ ได้ที่..
การท่องเที่ยวเชิงไฉไล | CHAILAIBACKPACKER
Fanpage : https://www.facebook.com/chailaibackpacker
Instagram : CHAILAIBACKPACKER
Twitter : @chailaibackpack / goo.gl/VIBXC9