สามเรา สองคืน กับหนึ่งเขา โหดๆ ฮาๆ เดินป่า @ ภูสอยดาว
สายฝน ไอหมอก ดอกหงอนนาค ภูสอยดาว... แค่คิดก็ฟินแล้ว ดูรีวิวมาตั้งหลายปียังไม่สบโอกาสไปเที่ยวสักที จนปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเมื่อเพื่อนซึ่งเพิ่งเดินป่าด้วยกันที่ ดอยหลวง-ดอยหนอก พะเยา (อ่านรีวิวทริปนั้น >>> http://bit.ly/2bZx47z) ทักมาว่ากระหายอยากจัดทริปลำบากอีกครั้ง ผมเลยยื่นข้อเสนอทันที “ไปภูสอยดาวมั้ยน่าจะกำลังสวย”
ทริปของเรามีสามคนครับ เลือกเดินทางกันวันธรรมดาพุธถึงศุกร์ เพื่อหลีกเลี่ยงนักท่องเที่ยวแออัดในวันหยุด จุดนัดพบคือ บขส.พิษณุโลก เพราะแม้ตามที่อยู่ทางราชการ อุทยานแห่งชาติภูสอยดาวจะอยู่ในเขตอำเภอน้ำปาด อุตรดิตถ์ ทว่าที่ตั้งจริงๆ คาบเกี่ยวกินพื้นที่ร่วมกับอำเภอชาติตระการ พิษณุโลก และสะดวกกว่าในการเดินทางจากฝั่งชาติตระการ เป็นเส้นทางตามนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วไป
เลือกเดินทางกันวันธรรมดาพุธถึงศุกร์ พบกันที่ บขส.พิษณุโลก ประมาณตีสาม เราบังเอิญเจอหนุ่มนักเรียนนายร้อยห้าคนจะไปภูสอยดาวเหมือนกัน เลยตกลงว่าควรรวมกันหารถเหมาที่อำเภอชาติตระการ โดยขั้นแรกต้องนั่งรถโดยสาร พิษณุโลก-ชาติตระการ วิ่งเที่ยวแรกประมาณตีห้า ค่าตั๋ว 84 บาท รถ ป.2 ติดแอร์ ขึ้นปุ๊บก็หลับผล็อยได้เลย
รถวิ่งผ่านอำเภอนครไทย เข้าสู่อำเภอชาติตระการ ผมมีข้อมูลมาว่าให้ไปต่อรถสองแถวที่ตลาดเทศบาลตำบลป่าแดง หรือหารถเหมาแถวนั้น แต่หลังออกจาก บขส.นครไทย แป๊บเดียว เจ๊กระเป๋ารถก็แนะนำว่าพวกเรามีกันแปดคนเหมารถไปเลยสะดวกที่สุด แถมเจ๊แกยกโทรศัพท์ติดต่อรถให้เราทันทีแบบไม่ถงไม่ถามสักคำไม่มีการตกลงราคาอะไรทั้งนั้น เรามองหน้ากันเหรอหราว่าจะโดนฟันหัวแบะหรือเปล่านะ (ฮา...)
7.40 น. มาถึงหน้าป้อมตำรวจบ้านศรีสงคราม ตำบลป่าแดง อำเภอชาติตระการ มีรถตู้มาจอดรออยู่แล้ว ลงรถโดยสารปุ๊บ หยิบกระเป๋าลงปั๊บ ขนของขึ้นรถตู้ทันทีจนผมเกือบเหวอต้องโร่เข้าไปถามราคากับลุงคนขับรถตู้ “แปดคนใช่มั้ย ลุงคิดพันนึง” ลุงแกว่า บวกลบคูณหารเท่ากับคนละร้อยนิดๆ ค่อยโล่งอกหน่อย ราคามาตรฐานไม่โดนฟันให้เสียความรู้สึก (ใครมาคนสองคนจะใช้บริการสองแถว ดูข้อมูลการเดินทางได้ตอนท้ายครับ)
รถตู้พาเราไปตลาดเทศบาลตำบลป่าแดงซื้อของเตรียมเสบียง เสร็จสรรพแล้วเดินทางต่อสู่ภูสอยดาว เลี้ยวเข้าซอยตรงข้ามป้อมตำรวจจุดที่เราลงรถนั่นเอง เป็นเส้นทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการด้วย
รถตู้นั่งสบาย แล่นฉิวผ่านท้องทุ่ง เข้าเขตภูเขาซับซ้อน มีชุมชนบ้านเรือนห่างๆ ตามรายทาง ผ่านมาครึ่งชั่วโมงก็แล้ว หนึ่งชั่วโมงก็แล้ว ทำไมมันไกลอย่างนี้นะ กระทั่งหนึ่งชั่วโมงครึ่งนั่นแหละจึงมาถึงอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ถามคุณลุงได้ความว่าเมื่อกี้เราวิ่งกันมาตั้ง 70 กิโลเมตร โอ้โฮ... เงินร้อยกว่าบาทที่จ่ายเป็นค่ารถแต่ละคนถือว่าสมเหตุสมผลแล้วล่ะ
บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว นอกจากมาติดต่อขึ้นภูและลูกหาบ ยังมีร้านอาหารสวัสดิการติดลำธาร มีลานกางเต็นท์สำหรับใครที่มาไม่ทันขึ้นภูตอนบ่ายสองโมงแล้วต้องการพักด้านล่างก่อนคืนหนึ่ง เอาล่ะ เตรียมตัวขึ้นภูกัน ขั้นแรกติดต่อจ่ายค่าธรรมเนียมค้างแรม ค่ามัดจำขยะ ค่ามัดจำบัตรรายการเช่าของที่ต้องใช้ด้านบน ต่อมาคือลูกหาบ ที่นี่คิดกิโลกรัมละ 30 บาท (อย่างน้อย 20 กิโลกรัม ซึ่งถ้ามาพร้อมกันหลายกลุ่มก็รวมกันไปได้) ตัวผมยังคงคอนเซ็ปต์เดิมคือแบกเองทั้งหมด ชั่งน้ำหนักได้เท่านี้ 16.2 กิโลกรัมอ้อ... บอกนิดครับว่าเราเลือกเช่าเต็นท์และเครื่องนอนต่างๆ ได้สองแบบ อย่างแรกคือรับของด้านล่างที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แบบนี้เสียแค่ค่าเช่าแต่เราต้องแบกขึ้นเอง อย่างที่สองคือรับของด้านบน นอกจากค่าเช่าปกติจะบวกเพิ่มค่าลูกหาบตามน้ำหนักสิ่งของด้วย (แม้จริงๆ ของจะอยู่ข้างบนภูแล้วก็ตาม)
กลุ่มเราเช่าอย่างเดียวแบบรับข้างบนคือเบาะรองนอนหนึ่งแผ่น 20 บาท สองคืนเท่ากับ 40 บาท น้ำหนักสองกิโลกรัม คิดเป็นค่าลูกหาบ 60 บาท รวมแล้วเบาะรองนอนหนึ่งชิ้นสำหรับสองคืน 100 บาทพอดี
จุดเริ่มต้นเดินขึ้นยอดภูอยู่ตรงน้ำตกภูสอยดาวห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 1 กิโลเมตร หากเราเตรียมตัวเรียบร้อยแล้วบอกเจ้าหน้าที่ได้เลย เขาจะเอารถไปส่ง
แหม... แต่ยังไม่ทันเริ่มต้นเดินผมก็หมดเวลาไปกับการถ่ายน้ำตกภูสอยดาวเสียแล้ว น้ำกำลังเยอะสวยเชียว
ป้ายบอกชัดเจนครับว่าต้องเดินเป็นระยะทาง 6.5 กิโลเมตร มาจับเวลากัน เริ่มต้นที่ 10.40 น. เป็นกรุ๊ปแรกที่ขึ้นไปวันนั้น การเดินช่วงแรกเป็นทางเลียบน้ำตกภูสอยดาว มีขึ้นบ้างลงบ้างแต่ไม่หนักหนา เราเดินไปพักไปคุยเฮฮากันไป ไม่มีใครรู้สึกว่ายากลำบาก... แต่นั่นเพราะของจริงยังไม่มาถึงต่างหากล่ะเดินมาประมาณสองกิโลเมตร เราจะมาถึงทางขึ้นเขาจริงๆ แล้ว ที่นี่แบ่งระยะทางเป็นห้าเนิน เริ่มตั้งแต่ เนินส่งญาติ เนินปราบเซียน เนินป่าก่อ เนินเสือโคร่ง และสุดท้ายคือเนินมรณะ
จุดแรกคือเนินส่งญาติ... เสียงคุยเสียงหัวเราะชักเริ่มเหือดหาย มีอาการกลืนน้ำลายและปาดเหงื่อเข้ามาแทนที่ เฮ้ย... มันไม่ใช่เล่นๆ เลยนะ
สัมภาระของผมชักถ่วงหลังมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณเที่ยงต้องปลดลงจากบ่านั่งพักกินข้าวโดยยังไม่พ้นเนินส่งญาติกันเลย กลุ่มนายร้อยที่ตามหลังมาแซงหน้าไปเรียบร้อย เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวสองคนอีกสองกลุ่ม รวมถึงลูกหาบหนุ่มอีกสองคน และลุงลูกหาบคนนี้อีกหนึ่ง กลายเป็นสิบสองคนแล้วครับที่แซงหน้าเราไป (ฮา...) น้องผู้หญิงในกลุ่มชักไม่ไหวกับรองเท้าคอนเวิร์สซึ่งไม่เกาะพื้นเอาเสียเลย จึงเพิ่มระดับความแอ็ดวานซ์เป็นรองเท้าแตะหูคีบดาวเทียม! เอ่อ... ความสามารถเฉพาะตัวไม่ควรลอกเลียนแบบนะครับพ้นจากเนินส่งญาติก็มาถึงเนินปราบเซียน ต่อด้วยเนินป่าก่อ และเนินเสือโคร่ง อ่านป้ายบอกความสูงแล้วรู้สึกเหนื่อยใช่เล่น เพราะบนเนินเสือโคร่งซึ่งเป็นเนินที่สี่ เรายังอยู่ที่ความสูงแค่ 1,150 เมตร แต่ลานสนบนภูสอยดาวสูงกว่า 1,600 เมตร
เจอเจ้าถิ่นตัวนี้ด้วย อูย...
ใกล้บ่ายสาม เรากระดี๊บๆ มาหยุดอยู่ก่อนทางขึ้นเนินมรณะซึ่งเป็นเนินสุดท้ายแล้วล่ะ มีป้ายบอกอีก 1.5 กิโลเมตรจะถึงที่หมาย หายใจลึกๆ แล้วฮึดอีกเฮือกนะ ทีละก้าวอย่างช้าๆ ด้วยความยากลำบาก เนินมรณะโหดเหี้ยมสมชื่อทีเดียว นอกจากชันแล้วยังลื่นอีกต่างหาก แต่พอขึ้นมาสูงเราก็เริ่มเห็นวิวสวย หมอกขาวปกคลุมทั่วทั้งขุนเขา ภาพตรงหน้าช่วยให้คลายเหนื่อยได้ไม่น้อย และในที่สุดอย่างอ่อนระโหยโรยแรง 16.08 น. พวกเราจึงมายืนอยู่ตรงนี้สำเร็จ ใช้เวลาประมาณห้าชั่วโมงครึ่ง นับว่าโชคดีที่ฝนไม่ตกลงมาเป็นอุปสรรคให้ลำบากขึ้นอีก ส่วนระยะเวลาเรียกว่าเร็วหรือช้าเราไม่สนหรอกครับ แค่มาถึงก็สุขใจแล้ว (โว้ย..)จากป้ายนี้เดินอีกนิดเดียวก็ถึงที่กางเต็นท์ ภารกิจที่พวกเราต้องรีบทำคือเบิกเช่าอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ในการใช้ชีวิตบนภูสอยดาว ถังกับขันสำหรับตักน้ำมาใช้เข้าห้องน้ำ เตากับถ่านสำหรับหุงข้าว (มีเตาแก๊สและแก๊สกระป๋องด้วยนะ เลือกตามถนัดได้เลย) และจากนั้นก็หาที่กางเต็นท์ เราสามคนมีเต็นท์หนึ่งหลัง เปลอีกสอง
เทียบกับอีกหนึ่งภูยอดฮิตคือภูกระดึง ลานกางเต็นท์ที่ภูสอยดาวมีขนาดไม่ใหญ่ แต่ด้วยเราขึ้นมาวันธรรมดา นักท่องเที่ยวทั้งหมดแค่สิบกว่าคน พื้นที่น้อยๆ จึงดูกว้างขวาง พอหาทำเลได้แล้วก็ช่วยกันเตรียมที่ทางให้เรียบร้อย
อุทยานฯ จัดทำที่กางเต็นท์แบบมีบังลมบังฝนด้วยนะ แต่ถ้าจะใช้พื้นที่ต้องเสียเงินเพิ่ม ลำธารที่เราจะไปตักน้ำมาใช้เข้าห้องน้ำอยู่หลังห้องน้ำนั่นแหละ ส่วนน้ำกินจะมีถังเก็บน้ำฝนอยู่ตรงบ้านพักเจ้าหน้าที่ เราไปกรอกได้ตลอดเวลา แนะนำว่าถ้าไม่ลำบากเกินไปนำมาต้มสักหน่อยก็ดี เย็นวันนี้ฟ้าระเบิดหลังพระอาทิตย์ตกสวยมาก แต่พวกเรากำลังง่วนกับการจัดข้าวของและก่อไฟเลยไม่ได้เดินไปถ่ายรูปเต็มๆ ที่จุดชมพระอาทิตย์ตก ขอเอาแบบนี้มาฝากกันแทนแล้วกัน อาหารที่เตรียมมาก็ง่ายมาก กับข้าวสำเร็จรูปซึ่งหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต เราแค่หุงข้าวแล้วก็แกะซองกับข้าวกินกันง่ายๆ ไม่หรูหราแต่อิ่มท้องและมีความสุขกับเพื่อนร่วมชะตากรรมใกล้สองทุ่มฟ้ามืดสนิท แหงนหน้ามองฟ้าดาวพราวระยับ จากข้อมูลที่รู้คือช่วงนี้ทางช้างเผือกขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ตอนหัวค่ำ ผมออกมายืนตรงลานกว้างหันหน้าเข้าหามุมที่พระอาทิตย์เพิ่งตก ยกมือซ้ายขึ้นแล้วหมุนคอตาม... นั่นเลยสุดยอด แค่เพียงตาเปล่าก็เห็นช้างเผือกกลุ่มสีขาวเป็นทางยาว
และแล้วผมก็ได้มาสอยดาวที่ภูสอยดาว
คืนนั้นฝนกระหน่ำลมโหมหนักช่วงตีหนึ่ง ผมนอนเปลไม่มีปัญหาแต่น้องที่นอนเต็นท์นี่สิ ตื่นมาพร้อมกับน้ำท่วม (แต่ยังนอนอยู่ได้ไม่รู้สึกรู้สานะ ฮา...) มีเต็นท์ของอุทยานฯ สองหลังปลิวละลิ่วไปกองอยู่กลางทุ่งดอกหงอนนาค ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นทุลักทุเลพอกัน
อาหารเช้าวันนี้ง่ายๆ ขนมปังหมูหยอง เสร็จแล้วจึงได้เวลาสำรวจความงามบนภูสอยดาว ที่นี่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทางวนรอบสองกิโลเมตร เริ่มต้นจากด้านหลังบ้านพักเจ้าหน้าที่หรือทางไปชมพระอาทิตย์ขึ้นวนกลับมาด้านหน้าหรือจุดชมพระอาทิตย์ตก
เดินไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึงหลักหมุดไทย-ลาว มีภูเขาซึ่งเป็นยอดสูงสุดของภูสอยดาวเรียกกันว่าเนิน 2,100 เป็นฉากหลัง เรียกแบบนี้เพราะมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 2,102 เมตร เป็นยอดสูงสุดอันดับสี่ของบ้านเรา สายหมอกกำลังคลอเคลียยอดเขาสวยงามมากเราสามารถขึ้นไปพิชิตเนิน 2,100 ได้นะครับแต่ไม่ใช่ช่วงนี้ เพราะอุทยานฯ เปิดให้ขึ้นเฉพาะหน้าแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป และจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่หรือลูกหาบนำทาง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต่างหาก คราวนี้เราตั้งใจมาดูดอกหงอนนาคเลยต้องฝากเนิน 2,100 ไว้ก่อน
เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูสอยดาวบรรยากาศดีเหลือเกิน ดอกหงอนนาคขึ้นเติมสีสันหลายจุด ผมเดินเล่นถ่ายรูปเล่นแบบสุขใจเป็นที่สุด
เราใช้เวลาเชื่องช้าเดินซึมซับธรรมชาติจนวนกลับมาแนวเลียบหน้าผาฝั่งพระอาทิตย์ตก หมอกขาวยังลอยปกคลุมอยู่บนยอด 2,100 เป็นภาพน่าประทับใจมาก ส่วนฝั่งหน้าผาหมอกหนาสดชื่นไม่แพ้กัน ทุ่งดอกหงอนนาคเยอะที่สุดอยู่แถวลานกางเต็นท์นั่นแหละ ผมเดินเพลินเก็บรูปตามสบายเพราะบนภูแทบไม่มีคน กรุ๊ปที่ขึ้นมาพร้อมพวกเราเมื่อวานเก็บของลงไปหมดแล้ว และยังไม่มีใครขึ้นมาถึง ทำให้ทั้งภูเป็นของพวกเราหลังกินข้าวเที่ยงแล้วมานอนเล่นตีพุงสักพัก ช่วงบ่ายผมเดินไปเที่ยวน้ำตกสายทิพย์ที่อยู่ก่อนถึงลานกางเต็นท์เล็กน้อย เดินใกล้ๆ แต่ทางลงน้ำตกชันเอาเรื่อง
น้ำตกสายทิพย์เป็นน้ำตกเล็กๆ น้ำที่ไหลก็มาจากลำธารซึ่งเราตักไปใช้ในห้องน้ำ ถึงจะเล็กน้ำไม่เยอะเท่าไหร่แต่ผมว่าสวยโอเคพอตัวนะ โดยเฉพาะตั้งแต่ชั้นห้าลงไป อุทยานฯ ทำทางเดินไว้ให้ มีเชือกให้จับยึดตอนปีนขึ้น ผมเลือกแช่น้ำเล่นแบบแสนจะส่วนตัวที่ชั้นเจ็ด สูงพอประมาณ น้ำแรงกำลังดี สดชื่นสุดๆ
ใกล้สี่โมงเย็นกลับมาลานกางเต็นท์ ปรากฎว่าท้องฟ้าเปิดโล่งสีเข้มปรี๊ด ผมรีบเดินไปเก็บภาพทันที เริ่มแรกทุ่งดอกหงอนนาคแถวลานกางเต็นท์ จากนั้นไปจุดชมพระอาทิตย์ตก มองย้อนกลับมาเห็นเนิน 2,100 แบบเต็มตา มันสุดยอดอย่างนี้เชียวล่ะ วิวฝั่งหน้าผาก็เปิดให้เห็นภาพขุนเขาสลับซับซ้อนวันนี้มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาอีกประมาณสิบคน รวมแล้วบนภูบรรยากาศยังสงบเงียบ แต่น่าเสียดายครับว่าช่วงพระอาทิตย์ตกกลับมีเมฆทะมึนเคลื่อนมาปิดท้องฟ้า นอกจากไม่ได้พระอาทิตย์ตกแล้วตอนกลางคืนยังมองไม่เห็นดาวอีกด้วย พอเรากินข้าวเสร็จนั่งเม้าส์มอยกันสักพักเลยแยกย้ายต่างคนต่างมุดเต็นท์มุดเปลพักผ่อนกันไป
กลางคืนมีฝนตกอีกแล้วแต่ไม่หนักเท่าไหร่ ไม่ต้องว่ายน้ำในเต็นท์เหมือนเมื่อคืน (ฮา...)
เช้าวันใหม่ หมอกบางปกคลุมลานสน อาจไม่มากนักแต่พอได้บรรยากาศอยู่
พวกเราหุงข้าวจัดการอาหารทั้งหมดที่เหลืออยู่ จากนั้นช่วยกันเก็บสัมภาระ นำของที่เช่าไปคืนเจ้าหน้าที่ เก็บขยะใส่ถุงดำ ขาลงหากใครจะใช้ลูกหาบก็ติดต่อได้นะ ส่วนพวกเราเลือกแบกเองทั้งหมดรวมทั้งขยะที่ต้องเอาลงไปทิ้งข้างล่าง
ก่อนลงจากภูเราพยายามติดต่อลุงสิทธิ์ – คนขับรถตู้ ให้มารอรับด้านล่างเพราะไม่มีใครให้เราติดรถออกไปได้ เดินหาสัญญาณจุดที่เคยโทรศัพท์ได้แต่ปรากฎว่าวันนี้หาอยู่นานก็โทรไม่ได้สักที เลยต้องวัดดวงหวังว่าลุงคงมาส่งนักท่องเที่ยวแล้วรอพวกเรา แม้ไม่ได้คอนเฟิร์มว่าจะใช้บริการแกก็ตามเถอะ
เราเริ่มเดินลงตอนสิบโมงนิดๆ ขาลงย่อมเร็วกว่าขาขึ้น ระหว่างทางมีคนสวนขึ้นมาตลอดเพราะเป็นวันศุกร์ (ถึงด้านล่างเรานับคนขึ้นไปได้ร้อยกว่าคน) พอถึงเนินปราบเซียนฝนก็กระหน่ำ ทางทั้งชันและลื่นต้องใช้ความระมัดระวังสุดๆ พวกเราน่ะขาลงยังไม่เท่าไหร่ คนขาขึ้นนี่สิรับประกันว่าโหดขนาด
ถึงด้านล่างบ่ายโมงเศษด้วยสภาพเปียกปอนมอมแมมถ้วนหน้า เจ้าหน้าที่ขับรถกระบะมาส่งตรงร้านอาหารสวัสดิการ กินข้าว อาบน้ำ ขอคืนค่ามัดจำต่างๆ ก็เป็นอันเสร็จภารกิจพิชิตภูสอยดาวอย่างสมบูรณ์แบบ
ส่วนรถที่จะเข้าไปอำเภอชาติตระการน่ะหรือ... ลุงแกจอดรออยู่แล้วล่ะ นับว่าโชคดีไป
ขามาแปดคนลุงคิดพันนึง ขากลับเหลือสามคนลุงคิดแปดร้อย ตกคนละสองร้อยกว่าบาท เทียบกับระยะทาง 70 กิโลเมตร ถือว่าไม่แพงเกินไปนะ ลุงขับมาส่งเราที่จุดขึ้นรถชาติตระการ-พิษณุโลก เที่ยวรถช่วงบ่ายมีแค่สองรอบคือ บ่ายสองครึ่ง กับห้าโมงสิบห้า ดังนั้นแนะนำว่าถ้าต้องนั่งรถโดยสารกลับ หากไม่รีบลงแต่เช้าตรู่ก็รอลงสักสิบเอ็ดโมงจะดีกว่า ไม่อย่างนั้นต้องมาเสียเวลารอรถเหมือนพวกเรา
รถโดยสารมาถึง บขส.พิษณุโลก ใกล้สองทุ่ม เราต่างคนต่างแยกย้ายต่อรถกลับบ้าน เป็นอีกหนึ่งทริปที่โหดน่าดูแต่ก็สนุกสุดๆ ไม่แพ้กัน และสำหรับเนิน 2,100 ที่ติดค้างเอาไว้ สักวันเราคงได้เจอกันนะ
----------------------------
การเดินทางสู่ภูสอยดาวด้วยรถโดยสาร
- นั่งรถทัวร์ไปลงพิษณุโลก บขส.ใหม่ หรือ บขส.เก่า ก็ได้ หากนั่งรถไฟให้ต่อสองแถวหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างไป บขส.เก่า เพื่อขึ้นรถโดยสารไปอำเภอชาติตระการ รถจะออกจาก บขส.เก่า แล้วแวะรับผู้โดยสารเพิ่มที่ บขส.ใหม่
- ลงรถที่แยกชาติตระการ (หน้าป้อมตำรวจบ้านศรีสงคราม) มีวิธีเดินทางสามแบบ
- เหมารถ ราคาขึ้นอยู่กับจำนวนคนสามารถต่อรองกันได้ กรุ๊ปผมเหมาขาไปแปดคน 1,000 บาท ขากลับสามคน 800 บาท ติดต่อรถตู้ลุงสิทธิ์ โทร. 084-574-6431
- นั่งสองแถวที่ตลาดเทศบาลตำบลป่าแดง มีรถสองสายไปทางนั้นคือ ป่าแดง-รักไทย และ ป่าแดง-ร่มเกล้า มีแค่คิวละคัน ส่วนมากสลับกันวิ่งวันละคัน ออกจากตลาดป่าแดงประมาณเก้าหรือสิบโมงเช้า ทั้งสองคันสุดสายก่อนถึงภูสอยดาวแต่เราสามารถให้ไปส่งที่อุทยานฯ คิดราคาประมาณ 150 บาท (ข้อมูลผมสอบถามมาจากชาวบ้านที่ตลาด หากผิดพลาดคลาดเคลื่อนขออภัยไว้ ณ ที่นี้)
- โบกรถโลด วัดดวงตามระเบียบ เหมาะกับวันหยุดมากกว่าเพราะวันธรรมดานักท่องเที่ยวน้อย
----------------------------
เตรียมตัวพิชิตภูสอยดาว
- ภูสอยดาวมีทากน้อยมาก ใครเจอทากเหมือนถูกล็อตเตอรี่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องใส่ถุงกันทากก็ได้ แต่ถ้าอยากใส่เก๋ๆ ก็ตามสบาย
- ด้านบนไม่มีอาหารขาย เราต้องเตรียมไปเองทั้งหมด
- กางเต็นท์ก็ดี นอนเปลก็ได้ แต่พื้นที่กางเต็นท์มีมากกว่าแนวต้นไม้ที่ใช้ผูกเปล ควรมีฟลายชีตดีๆ ป้องกันด้วยเพราะฝนที่ภูสอยดาวไม่เคยปราณีใคร
- มีสัญญาณโทรศัพท์ (ผมใช้ AIS) สองจุด จุดแรกคือแถวหลักเขตไทย-ลาว อีกจุดคือยอดเนินใกล้กับจุดชมพระอาทิตย์ตก แต่ไม่ใช่ว่าจะเจอสัญญาณเสมอไปนะ อยู่ที่สภาพอากาศและความสามารถในการจับสัญญาณของเครื่อง
- บนภูไม่มีไฟฟ้าสำหรับนักท่องเที่ยว ขณะที่น้ำดื่มมีเหลือเฟือในช่วงฤดูฝนแต่หน้าแล้งจะประสบปัญหาอาจต้องเตรียมขึ้นไปเอง
- ช่วงหน้าฝนทางขึ้นเนินต่างๆ พื้นลื่นมาก ควรใช้รองเท้าที่ยึดเกาะได้ดีป้องกันอุบัติเหตุ
- ก่อนการขึ้นภูควรโทรศัพท์ไปสอบถามสถานการณ์ต่างๆ จากทางอุทยานฯ ด้วยเพื่อจะได้เตรียมตัวถูก โทร. 05-543-6793 หรือ 095-629-9528
-----------------------------------
ใครอยากคุยกับผมเรื่อยเปื่อยเรื่องท่องเที่ยว สอบถามข้อมูล (ถ้าผมมีให้นะ) หรือชวนเที่ยว ยินดียิ่งนะครับ
www.facebook.com/alifeatraveller
-----------------------------------