" น่าน  น่า นอน "

นครน่าน นครรัฐเล็ก ๆ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน และแม่น้ำสาขาในหุบเขา
ก่อนอื่นสวัสดีทุกท่านที่เข้ามา

การเดินทางในครั้งนี้ ใช้รถส่วนตัวไป-กลับ
ขับจาก ต้นทาง ลำพูน ถึงปลายทาง นครน่าน
รวมระยะทาง ทั้งสิ้น เกือบ 1,000 กิโล

โดยใช้เส้นทาง ลอง เด่นชัย ผ่านจังหวัดลำปาง และแพร่ ซึ่งเจอฝนอย่างหนักหน่วง ในช่วงการสร้างถนน ในเขตอำเภอลอง   และจะเจอการก่อสร้างถนนอีกในช่วงรอยต่อระหว่าง อำเภอร้องกวาง แพร่ กับอำเภอเวียงสา น่าน   เมื่อสุดทางก่อสร้างแถวรอยต่อหว่างแพร่ และน่าน ก็เข้าสู่จังหวัดน่าน


เริ่มต้นขับรถชมเมือง ชมพระอุโบสถจิตกรรมปูนปั้นพญานาคเจ็ดศรีสีทองเหลืองอร่ามซึ่งเป็นจุดเด่นภายในวัดศรีพันต้น

วนในเมืองแบบงง ตรงแต่ล่ะไฟแดง เพราะมีแทบจะทุกแยก แต่ไม่นาน แค่พอระบายรถผ่านแยก

จึงไม่แปลกใจที่ทำไมรถหลายคันมีแผนที่จังหวัดน่านติดท้ายรถ

ก่อนที่จะหาที่พักในคืนแรก โดยเราจะพักกันที่ ห้องพัก" สบายน่าน " Loft Style ราคาปานกลาง พร้อมอาหารเช้า

หลังจากได้ที่ซุกหัวนอนเเล้ว ก็ไปเเวะไปกราบ พระบรมธาตุแช่แห้ง พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน วัดพระบรมธาตุแช่แห้งตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองไปราว 2กม. เส้นทางสายน่าน-แม่จริม

งานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง คนน่าน โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยว จะแห่แหนกันมาทำบุญ นมัสการองค์พระธาตุแช่แห้งกันอย่างเนืองแน่น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์พระธาตุแช่แห้งยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ

บรรยากาศยามเย็นบริเวณหน้าวัดพระธาตุแช่แห้ง

หลังจากนั้นเดินทางจากวัดพระธาตุแช่แห้งมุ่งหน้าสู่ในเมือง
ชมบรรยากาศยามเย็น และหาของกินแบบเมืองๆ เมืองล้านนา ณ ถนนคนเดินหน้าวัดภูมิทร์ 
มีทั้งอาหาร และเสื้อผ้า ของใช้สอย 

เสื้อมัดย้อม ไออุ่น เสียง กระซิบรัก

เสื้อผ้าแฟชั่น เมืองน่าน ยำหมี่ ใส่อั่ว หรือใส้ยัด ไม่รู้ แต่รสชาติอร่อย (ใส้อั่ว=ไส้ยัด ใน ภาษาเหนือ) ขนมครกใบเตย หมึกย่าง อย่างแซ๊ป ซีฟูด อย่างเด็ด ของกิ๋นเมือง ( อาหารพื้นเมือง ) มีทั้ง แอ็บจิ้น แอ็บปลา หมกฮ้า ป๊ะเลอะป๊เต๋อ ( มากมายก่ายกอง ) ลองมาชิมกันดู หรือจะเป็นสลัดผักสด โรตียักษ์ใส่ไข่ ก็อร่อย
  หลังจากอิ่มหนำสำราญเรียบร้อย ก็กลับเข้าที่พักเก็บเเรงวันเดินทางต่อสำหรับวันพุ่งนี้
เริ่มต้น การเดินทางวันที่สองด้วยอาหารเช้าของทางที่พัก " สบายน่าน " เตรียมไว้ให้

วันที่สองแห่งนครน่านเริ่มต้นด้วย สิ่งที่เป็นตำนาน อันหวานเยิ้ม 

ของคำกล่าวบทหนึ่ง
คำฮักน้อง กูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว
จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม
จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้
จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…
นั้นก็คือ " กระซิบรัก บรรลือโลก " ณ วัดภูมินทร์ นั่นเอง
แปลเป็นภาษาภาคกลางว่า

“ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว
จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัว
เมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย
หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอา
ความรักของพี่ไป
เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง
ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”

วัดภูมินทร์ เดิมมีชื่อว่า “วัดพรหมมินทร์” ตั้งตามชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่าน
จุดเด่นของวัดนี้คือ "พระอุโบสถจตุรมุข” สถาปัตยกรรมอันโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะ ที่รวมเอาโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ไว้ในอาคารเดียวกัน
มีพระประธานจตุรทิศปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ ประดิษฐ์ฐานอยู่ภายใน
ภาพจิตกรรมฝาผนังที่โดดเด่นเป็นพิเศษในวัดภูมินทร์แห่งนี้ก็คือ ภาพ “กระซิบบันลือโลก” หรือภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อสมัยโบราณ ในลักษณะกระซิบสนทนากัน ภาพจิตรกรรมปู่ม่านย่าม่านนี้ เป็นภาพของชายหญิงคู่หนึ่ง ฝ่ายชายใช้มือข้างหนึ่งจับไหล่หญิงสาว และใช้มืออีกข้างป้องปากคล้ายกระซิบกระซาบที่ข้างหู ด้วยสายตาที่มีแววกรุ้มกริ่ม ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุดทั้งด้านองค์ประกอบและอารมณ์ ใครที่ได้ไปเยือนวัดภูมินทร์ ห้ามพลาดถ่ายรูปปู่ม่านย่าม่านในท่าทางกระซิบรักด้วย
และภาพวาดอื่นๆ อาทิเช่น โมนาลิซ่าเมืองน่าน ซึ่งเป็นภาพสาวงามเมืองน่านชื่อว่า นางสีไว กำลังยกมือเกล้าผมมวยและตกแต่งมวยผมด้วยดอกไม้ เปลือยอกมีเพียงผ้าพาดคอปล่อยชายไปด้านหลัง รวมไปถึงภาพอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะการแต่งกายที่หญิงมักจะสวมผ้าซิ่นน้ำไหล ลักษณะการดำเนินชีวิต ภูมิปัญญาในอดีตอย่างการทอผ้าด้วยกี่ทอมือ หรือการติดต่อซื้อขายกับชาวต่างชาติ
ศิลปินผู้เขียนภาพที่วัดภูมินทร์เป็นศิลปินคนเดียวกับผู้เขียนภาพที่วัดหนองบัว ที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน "หนานบัวผัน" หรือ ทิดบัวผัน ช่างวาด ชาวไทลื้อ เอกลักษณ์ของภาพจะเน้นสื่ออารมณ์ การแสดงออก ท่าทาง แววตา ของตัวละคร หลังจากกราบไหว้พระ วัดภูมินทร์เรียบร้อย เดินเที่ยวต่อซึ่งในระแวกนั้นสามารถใช้การเดินเท้า หรือบริการสามล้อปั่น ได้ ซึ่งแต่ล่ะที่ไม่ห่างกันมากนัก
มีสถานที่สำคัญของเมืองน่านมากมาย ตามแผนที่ ( อ้างอิงจาก Google Map ) แต่เดินเที่ยวได้เเค่ประมาณ 2 - 3 ที่ กลัวว่าเวลาจะไม่พอ จึงไม่ได้เก็บภาพสถานที่อื่นๆมา ซุ้มต้นลีลาวดี พิพิธภัณฑ์แห่งชาติน่าน อ.เมือง เป็นหนึ่งจุดถ่ายรูปที่นักท่องเที่ยวต้องไม่พลาดเก็บภาพความสวยงามของที่นี่ ซุ้มฯ นี้อยู่ด้านหน้า พิพิธภัณฑ์ฯ 

วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน ประวัติของวัดมิ่งเมือง คือ เดิมเป็นวัดร้าง มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่าน สถาปนาวัดสถาปนาวัดใหม่ ตั้งชื่อว่า วัดมิ่งเมือง ตามชื่อที่เรียกเสาหลักเมืองว่า เสามิ่งเมือง


หลังจากเที่ยวในเมืองน่านสักพัก ก็เดินทางขึ้นไปทางเหนือมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอปัว แวะชิมกาแฟบ้านไทลื้อ ใช้ระยะเวลาเดินทาง ประมาณ ชั่วโมงครึ่ง  

 

หลังจากพักดื่มกาแฟให้หายง่วง ก็มุ่งหน้าสู่อำเภอบ่อเกลือ อีกประมาณ 50 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทาง 1081 ถนนลอยฟ้า สภาพทางเป็นสองเลนส์ ลาดยางยาว มีบางช่วงเจอไหล่ทางทรุดตัว บางช่วงทำสะพานแต่เส้นทางไม่ถึงกับชันมากมีไหลทางให้จอดถ่ายรูปบ้าง

   อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีชื่อเสียงในด้านการทำเกลือสินเธาว์บนภูเขาซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศ เมื่อก่อนนี้จะมีบ่อเกลือหลายบ่อ แต่เดี๋ยวนี้ได้แห้งไปหมด เหลืออยู่เพียงสองบ่อเท่านั้น ชาวบ้านจะเรียกว่า บ่อเหนือ และบ่อใต้ บ่อเหนืออยู่ริมแม่น้ำบางส่วนบ่อใต้ห่างออก ไปราว 500 เมตรติดเชิงเขาท้ายหมู่บ้าน

ปัจจุบันชาวบ้านยังคงต้มแกลือด้วยวิธีแบบดั้งเดิมโดยจะตักน้ำเกลือจากบ่อส่งผ่านมาตามลำไม้ไผ่สู่บ่อพัก ตักจากบ่อมาต้มในกะทะประมาณ 4-5ชั่วโมง ให้น้ำเกลือระเหยแห้ง จากนั้นก็จะนำไม้พายมาตักเกลือใส่ตะกร้าที่แขวนไว้เหนือกะทะเพื่อให้น้ำเกลือไหล ลงมาในกะทะทำอย่างนี้ไปเรื่อย จนน้ำในกะทะแห้งหมดแล้วจึงตักน้ำเกลือจากบ่อมาใส่ลงไปใหม่

(แต่ชาวบ้านจะหยุดทำเกลือกันในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมา จึงไม่ได้ภาพขั้นตอนการทำเกลือมาให้ชม)

หลังจากนั้นก็จะนำเกลือที่ได้ใส่ถุงวางขาย และยังได้มีการนำแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เกลือสปาขัดผิว เกลือแช่เท้า สบู่ดอกเกลือ อีกด้วย

และด้วยอำเภอบ่อเกลือ มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม โอบล้อมด้วย ขุนเขาเขียวขจี บ่อเกลือจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดน่านที่รอคอยนักเดินทางเข้ามาสัมผัสกลิ่นไอของธรรมชาติและตำนานการทำเกลือบนที่สูง

ขากลับเปลี่ยนเส้นทางจากเดิม โดยใช้เส้นทางผ่านอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ทางเป็นถนนสองเลน ลาดยางเหมือนกัน เเต่เส้นทางค่อนข้างแคบกว่า ชันกว่าทางที่มา และค่อนข้างมีไหล่ทางให้หยุดรถถ่ายรูปน้อย อีกอย่างคือ ดินสไลด์ ค่อนข้างเห็นได้บ่อยครั้งในถนนสายนี้ จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น แต่วิวธรรมชาติยังสวย และงดงามเหมือนเดิม

หลังจากกลับจากบ่อเกลือ ระหว่างทางก็หาที่พักไปเรื่อยๆ และแวะมาพักรถที่วัดภูเก็ต ซึงหลายคนอาจสงสัยในชื่อและความหมายของวัดแห่งนี้ กล่าวคือ
วัดภูเก็ต" หมายถึง วัดบ้านเก็ตที่อยู่บนภู หรือ ดอย วัดภูเก็ต  ถือว่าเป็นวัดที่มีภูมิทัศน์และวิวที่สวยงาม โดยจุดเด่นของวัด คือ มีระเบียงชมวิวด้านหลังวัด ติด กับทุ่งนาที่กว้าง ไกลพร้อมด้วยฉากหลัง เป็นภูเขาวนอุทยานดอยภูคาด้านล่างวัดมีแม่น้ำไหลผ่าน เป็นลำธารให้ฝูงปลาและสัตว์น้ำอยู่อาศัย  ทางวัดได้จัดให้เป็นเขตอภัยทานให้นักท่องเที่ยว สามารถให้อาหารกับฝูงปลาได้ และสามารถมองเห็นฝูงปลาได้อย่างชัดเจน มีอุโบสถทรงล้านนาประยุกต์ จิตรกรรม ฝาผนังสามมิติ เป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อแสนปัว หรือ หลวงพ่อพุทธเมตตา" ที่ศักดิ์สิทธิ์ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เมื่อได้ที่พักแล้ว เราก็เดินทางออกจากวัดมุ่งหน้าเข้าสู่ที่พักในคืนที่สอง 
โดยเราพักกันที่ " Pua Good View Homestay " ซึ่งบรรยากาศที่พักแสนจะละมุน ไปกับไอดินกินทุ่งนา โดยมีวิวดอยภูคาเป็นฉากหลัง


บรรยากาศช่วงกลางคืน เเสนโรแมนติก จากแสงวอร์มไวท์ (Warm White)ให้โทนแสงนวลตา สีโทนอุ่น ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

ต่อด้วยอาหารเย็น คือ หมูกระทะ The Port ร้านทะเลเผา ในอำเภอปัว
https://www.facebook.com/theportatpua

ก่อนกลับพักผ่อน ในคืนนี้ ( ZZZZZZZzzzzzzzzzZZZZZZZ )
ตื่นเช้าของวันที่สาม เพิ่มแรงข้าวต้มซะหน่อย กับบริการของที่พัก พร้อมขนมปัง ชา กาแฟ โอวัลติน

เก็บของเสร็จสัด เเล้วเดินทางมุ่งหน้าต่อ วัดบ้านก๋ง วัดศรีมงคล ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2395   โดยรอบของวัด เน้นตกแต่งแบบไทยล้านนา อนุรักษ์ของเก่าแก่ในอดีต
ด้านหน้ายังเป็นที่ตั้งของกระท่อมไม้ไผ่ ชื่อว่าเฮือนมะเก่า ภายในบ้านมีข้าวของเครื่องใช้โบราณ
แนวระนาบกำแพงวัดถูกจัดไว้สำหรับขายของที่ระลึก รวมไปถึงผ้าซิน หรือผ้าไหมขึ้นชื่อของเมืองน่านอีกด้วย

ในวัดยังมี พิพิธภัณฑ์มงคลธรรมรังสี  เรือนไทยล้านนาประยุกต์ ตัวเรือนใช้ไม้สักทองทั้งหมด

ที่รวบรวมเอาเครื่องใช้ต่างๆ ในสมัยโบราณมาจัดให้ชม อาทิเช่น
กล้องถ่ายรูปสมัยเก่า ขนม ลูกอม ของเล่น ในยุคเก่าที่หลากหลาย อุปกรณ์ที่ใช้ทำมาหากินของคนโบราณ ใบเกิด หรือใบสูติบัตรที่จารึกลงในใบลาน รวมถึงเครื่องเงินต่างๆ 

นอกจากนี้ยังมีภาพของหลวงปู่ครูบาวัดก๋ง และพระเกจิชื่อดังล้านนาอีกมากมายหลายท่านจากนั้นเข้าไปกราบพระภายในวิหารมีองค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน
ด้านหลังวัดมีลานชมวิว ซึ่งมีทัศนียภาพที่งดงาม มองเห็นทุ่งนาเขียวขจี และทิวเขาของดอยภูคาเรียงรายสลับซับซ้อน
ร้านกาแฟบรรยากาศไทยๆ ให้พักผ่อนหย่อนใจเฮือนโอชา  เรือนไทยล้านนา 2 ชั้น
ชั้นล่างจัดทำเป็นระเบียง พร้อมที่นั่งจิบกาแฟชมวิว

 

 
ในส่วนของชั้นบน มีทั้งส่วนของห้องโถงซึ่งเป็นที่นั่งพักผ่อน และในส่วนของห้องนอนจำลอง มองเห็นวิวท้องนา ซึ่งบริเวณชั้น 2 บรรยากาศค่อนข้างสบายมาก มีลมโชยตลอด
มีจุดชมวิวแบบสกายวอลค ที่สามารถเดินไปชมวิว ถ่ายภาพได้ถึงกลางทุ่งนา และก่อนเดินทางกลับอย่าลืมแวะกินกล้วย ซึ่งถือว่าเป็น ซิกเนเจอร์ของที่นี่เลย 


และแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องเดินทางกลับ ขอบคุณที่เข้ามาชม ติดขัดอะไรก็ ขอสูมาอภัย มานะที่นี้
ขอบคุณ ข้อมูลจากหลานแหล่งที่มาทั้งอินเตอร์เน็ต เวปไซน์ และคนในท้องถิ่น

ไว้กลับมารีวิวใหม่ ในสถานที่ไหนโปรดติดตาม 
FB : สุริยา พิละศักดิ์
Page รูปถ่าย : Classice Photography