เราออกจากทะเลน้อย พัทลุง ไปเที่ยวเมืองตรัง ทีหมายแรกคือ สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (ทุ่งค่าย) ตรัง ครั้งที่แล้ว เรามาทำกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลตรังไม่ได้มาเที่ยวที่นี้ แจ๋มเลยถือว่าเป็นการเก็บตก (มานั่งนึกๆ สงสัยตรังกับเราต้องมีอะไรแน่ๆ อยู่ทะเลน้อยดีๆ เผลอแป๊บมาตรัง)
ส่วนพฤกษศาสตร์นี้ อยู่บน ถ.ตรัง-ปะเหลียน ต.ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว ห่างจากตัวจังหวัดตรังแค่ประมาณ 13 กิโลเมตร รถจอดหน้าทางเข้า แต่ยัง ยังก่อน เมื่อกลุ่มสมาชิก ขอเข้าห้องน้ำก่อน ในระหว่างที่รอ นั่งกินไอติมรอที่ศาลา เจอหนุ่มพนักงานต้อนรับ มารำแพนอวดโฉม แถมบริการทั่วถึงด้วยนะ มีคนพูดว่า หันมาโชว์ทางนี้หน่อย เขาก็จะหันรำแพนไปโชว์ทางนั้นทันที่ ได้เวลาแล้วเข้าไปเที่ยวภายในสวนพฤกษศาสตร์
สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย) อยู่ที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว มีพื้นที่ประมาณ 2,600 ไร่ พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบและเนินเขาเตี้ยๆ ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบ มีป่าพรุและทุ่งหญ้า
พื้นที่นี้ ไม่ธรรมดานะ ถือว่าเป็นชัยภูมิสำคัญในอดีต ตั้งค่ายพักแรมของกองพลในปกครองของเจ้าพระยานครน้อย ครั้งเมื่อยกทัพปราบกบฏวันหมาดหลีช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่พอกบฏรู้ว่าใครมาปราบก็รีบเผ่นหนีเสียก่อนเลยไม่ได้รบกัน จนมาถึงปี พ.ศ. 2536 นายกรัฐมนตรีชาวตรัง นายชวน หลีกภัย มีความคิดในการจัดตั้งพื้นที่แห่งนี้ ขึ้นเป็นสวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ ...ถือว่าเป็นผืนป่าที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง
ภายนอกสวนดูจะร้อนมาก แต่พอเข้ามาภายในบริเวณสวนแล้ว รู้สึกสัมผัสถึงความร่มเย็น แม้ว่าอากาศจะดูร้อนแต่ก็ไม่ร้อน ต้นไม้ที่ดูใหญ่จนเกินจริง ถ้านับอายุแล้ว น่าจะเกิน 100 ปี หลายต้น
ทั้งกอเฟิร์นข้าหลวงยักษ์ และต้นระกำที่ใหญ่อย่างกับเราหลุดเข้าป่ายุคไดโนเสาร์ แหม ถ้าเขาบังคับให้ใส่ชุดแบบมนุษย์ถ้ำเข้ามาเที่ยวก็ดีนะ จะได้อินกับบรรยากาศ
ผ่านประตูเข้าสวนป่าไปแล้ว จะพบเส้นทางหลัก ทีมีป้ายบอกจุดหมายเดียวกันคือทางขึ้นหอคอยเรือนยอดไม้ แต่บ่อยครั้งจะมีทางแยกทางซ้าย เขาเรียกว่าทางผจญภัย ถามว่าผจญภัยอย่างไร ก็แล้วแต่จะเจอ
"ไปทางซ้ายซิ ไกลนิดหน่อย แต่สนุกสนานหลายเท่า" เสียงเชิญชวนของผู้นำทริป
"โอ้ย ไม่ เอาหรอก แค่นี้ ก็ตามกันพวกลุงๆ ป้าแทบไม่ทันแล้ว" ผมคิด เราหยุดไป ถ่ายรูปไปตลอดทางอยู่คัดท้ายตลอด ทำให้ต้องกึ่งเดิน กึ่งวิ่งเดียวไม่ทันขบวน บ่อยครั้งตามกรุ๊ปไม่ทัน แต่บรรยากาศที่นี้แม้เดินคนเดียวก็ไม่น่ากลัวนะ
สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ทำป้ายข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ และระบบนิเวศน์แทบจะทุกสิบเมตรที่เราเดินผ่าน ซึ่งเป็นแหล่งรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นภาคใต้ที่หายาก และแบ่งเป็นสัดส่วนแยกตามประเภทของพันธุ์ไม้ โดยทางสวนพฤกษศาสตร์ได้จัดเส้นทางในการศึกษาธรรมชาติบริเวณโดยรอบ
“เส้นทางศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้” ซึ่งเป็นจุดไฮไลท์ของสวนแห่งนี้ แต่ผมคิด "ไม่น่าเป็นจุดไฮไลท์หรอก แต่น่าเป็นจุดเสียวมากกว่า" ผมยืนมองหอคอยเหล็กแล้วกลืนน้ำลาย ไหนๆ มาแล้ว ลุยขึ้นไปเลย
ผมก้าวขึ้นบันไดที่ละขั้น แต่มีความรู้สึกว่า ยิ่งขึนสูงเท่าไร ความเร็วเริ่มช้าลง แหม แรงดึงดูดโลกนะ พอขึ้นไปถึงขึ้นบนสังเกตุได้ว่า มีทางเดินชมเรือนยอดไม้ ถือว่าเป็นสะพานเดินที่ยาวและสูงที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย "ถ้าตกลงมาก็ถือว่าเป็นศิริมงคลก็แล้วกัน"
ตลอดทางเดิน 175 เมตร ก่อนจะขึ้นไปก็ควรจะได้รู้ก่อนว่า ทางเดินบนยอดไม้เหล่านี้รับน้ำหนักได้ไม่เกิน 800 กิโลกรัม ดังนั้นจึงควรเดินบนสะพานครั้งละไม่เกิน 5 คน
สัมผัสความเสียว
ความสูงระดับ 10 เมตร อาจจะเห็นเรือนยอดของไม้ต้นที่ไม่สูงมากนัก ได้เห็นยอดของต้นไม้และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ จำพวก นก กระรอก พวกลิงพวกค่าง หรือแม้แต่ดอก ผล ของต้นไม้ก็มีให้ดู แหมช่วงเดินข้ามไปมาดูชิว ชิวเหลือเกิน ผมเดินผ่านด้วยความเพลิดเพลินใจ
พอเดินใกล้ถึงหอคอยที่สอง ทำไม มันมีสูงขึ้นอีกชั้น ตอนแรกผมคิดว่าเดินแค่สะพานเดียวก็ลง แต่ลืมนึกถึง "สะพานเดินที่ยาวและสูงที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย" จะถอยกลับก็ไม่ได้ ทางลงก็ไม่มี มีแต่ทางขึ้นอย่างเดียว โอ้ย ทำไงดี จะเดินย้อนกลับไป แหม คุณลุง คุณป้า ก็ยืนพักหอบเหมือนรอดูเราอย่างนั้นเลย
ในเมื่อมีคนอยู่ แถมเป็นคนที่มาด้วยกัน ไม่ได้ถ้าถอยกลับเดียวเสียฟอร์ม โดนคนแก่เกทับแน่ ว่าแล้วก็เดินบนสะพานต่อ เผลอก้มมอง ความสูงระดับ 15 เมตร รู้สึกว่า จะเท่ากับระดับความสูงที่ทำให้เกิดความกลัวของคนพอดีเลยนะ แต่พยายามจำสูตรไว้ มองสูงเข้าไว้
ความสูงระดับนี้ เขาบอกว่าจะเห็นนกบินไปบินมา เห็นตัวกระรอกกระโดดจากกิ่งไม้ต้นโน้นมาต้นนี้
ประทานโทด ผมไม่เห็นอะไรทั้งนั้น เดินจ้ำๆๆๆ ข้ามสะพานแบบกระดืบ กระดืบไปช้า
การเดินบนสะพานต้องทิ้งช่วงให้คุณลุงคุณป้าเดินไปก่อน แล้วเราเดินตามหลัง เขาจะได้ไม่เห็นอาการเราไง แหมไม่ใช่เลย อยากถ่ายบรรยกาศคนข้ามสะพานมากกว่าเนาะ
แต่แล้ว พอถึงหอคอยที่สาม เฮ้ย ยังมีขึ้นอีกเหรอ งานนี้คณะกรุ๊ป สว.ผมทั้งขบวนยืนทำฟอร์มชักภาพถ่ายรูปกันข้างบน
"รู้นะ ว่ากลัวแต่แกล้งทำเป็นถ่ายรูปใช่ไหม อิอิ" ผมถือโอกาสแซวคุณลุงคุณป้าที่กำลังถ่ายรูปไปดมยาดมไป
ความสูงระดับ 18 เป็นระดับความสูงที่สุดของหอคอย
"เหอ" ผมแอบถอนหายใจ สะพานนี้เป็นช่วงที่สูงที่สุด แน่นอน เสียวที่สุดก็ว่าได้ มันยอดไม้ชัดๆ ยังนึกเลยว่า ถ้าเกิดเราเกิดเป็นนกแล้วกลัวความสูงคงลำบาก เกิดเป็นทาซาร์น ก็คงลำบากอีกเหมือนกัน
"ต้องยืนกลางสะพานแล้วสูดอากาศเข้าเต็มปอด พร้อมมองไปรอบๆ ผืนป่าที่มีความสมบูรณ์กลางเมืองตรัง"
มีใครกล่าวไว้
หลายคนอาจจะพลาดการถ่ายรูปบนสะพาน แต่สองสาวที่มาร่วมทริปไม่พลาด เธอเดินนำหน้าบนสะพาน แล้วดิสเบรคหยุด กึก หันกลับมา จนผมเกือบชนเธอ
"โทษค๊ะ รบกวนช่วยถ่ายรูปให้หน่อยค๊ะ"
"โอ้ยยย แค่นี้ ก็จะตายอยู่แล้ว แถมให้หยุดถ่ายรูปกลางสะพานสูงๆๆอย่างนี้ อีก" ผมแอบบ่นในใจ แต่ก็ถ่ายภาพให้เธอแบบไม่ต้องเล็ง กดๆๆ shutter ให้เสร็จๆ ไป
"ว้าว ถ่ายรูปเหมือนโปร เลยยกกล้องแล้ว ถ่ายภาพ" สองสาวพยายามชมผม แต่หารู้ไหมว่า ยกขึ้นเล็ง ส่งๆๆไป 555
หลังจากนั้นช่วงลงก็ลงตามหอคอยที่ลดระดับลงเรื่อยๆ ช่วงสะพานที่ 4 ช่วงสะพานที่ 5 และเดินลงสู่พื้นดิน เดินหน้าต่อสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรกว่าๆ ตลอดเส้นทางจะได้สัมผัสกับพืชพรรณไม้พื้นล่างจำพวกหวาย เถาวัลย์ อาทิ ระกำ หลุมพี ยี่โถปีนัง หม้อข้าวหม้อแกงลิง เผลอแป๊บเดียวการเดินทางก็สิ้นสุดทาง
“โอ้ย ร้อนมาก” ในช่วงทางออก ต่างคนต่างรีบจ้ำไปร้านค้า อากาศร้อนอย่างนี้ ต้องขายดีแน่นอน
สมาชิกครบแล้ว ต้องไม่ลืมที่สุดท้าย สถานีรถไฟกันตรัง หลายคนสงสัยว่า ทำไม ต้องไปสถานีรถไฟ นี้
"นั้นซิ ทำไมต้องไป"
สถานีรถไฟกันตัง เป็นสถานีรถไฟสุดทางสายใต้ ฝั่งทะเลอันดามัน สถานีรถไฟกันตัง ตั้งอยู่บนถนนหน้าค่าย ตำบลกันตังอำเภอกันตังจังหวัดตรัง ในอดีตใช้เป็นที่รับส่งสินค้าต่างประเทศ จากสถานีมีรางรถไฟต่อไปเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร ถึงท่าเทียบเรือกันตัง ท่าเรือเก่าแก่ตั้งแต่โบราณ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทางรถไฟดังกล่าว ถูกชาวบ้านรุกล้ำที่ จนไม่มีรางรถไฟแล้ว
สถานีรถไฟกันตัง เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาล ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนตัวอาคารและชานชาลา
ด้านหน้าของอาคารมีมุขยื่น ตกแต่งประดับมุมเสาด้วย ลวดลายไม้ฉลุ คงเอกลักษณ์เดิมสมัยรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันอาคารไม้ดังกล่าว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรแล้ว มิน่าหละ สำคัญอย่างนี้ ถึงต้องมาเที่ยวที่นี้
ตัวอาคารทำเป็นห้อง มีผนังไม้ตีตามตั้งโชว์แนวเคร่า พร้อมช่องลมระแนงไม้ตีทะแยง บานประตูหน้าต่างไม้แบบเก่า ส่วนที่เป็นโถงมีรั้ว ลูกกรงไม้พร้อมบานประตูขนาดเล็กน่ารักกั้นพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ส่วนด้านหลังอาคารเป็นชานชาลามีหลังคาจั่วคลุมแยกต่างหาก โดยเสารับหลังคาชานชาลานี้มีค้ำยันไม้ฉลุตกแต่งให้กลมกลืนกับตัวอาคาร
ภายในสถานียังพอมีเครื่องใช้ในอดีตเหลืออยู่บ้าง โดยภาพรวมแล้วยังรักษาเอกลักษณ์เดิมไว้เป็นอย่างดี นับเป็นสถานีรถไฟที่มีความสวยงามเป็นพิเศษ
ช่างน่าแปลกใจมาก ว่าทำไมสถานีรถไฟปลายทางเล็ก ๆ แห่งนี้จึงถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันเช่นนี้ พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟแห่งนี้ ในอดีตน่าจะเคยคึกคัก เพราะเต็มไปด้วยโรงเก็บรถจักร และบ้านพักพนักงานการรถไฟ แต่ปัจจุบันได้เงียบเหงาลงตามวัฏจักรของสรรพสิ่ง คงเหลือไว้เรื่องเล่าผ่านตัวอาคาร ซึ่งคงนึกภาพให้ออกได้ยากเต็มที
มั่วเพลิดเพลินกับสถานีจนเกือบลืมถ่ายรูปกับสถานีคู่แข่ง
ด้านข้างของอาคารสถานี มีป้าย “สถานีรัก” ปักเอาไว้ … แหมเสียดายเรามาเป็นคี่ ไม่รู้ว่าจะไปถ่ายรูปคู่ใคร ช่วยเพิ่มความสดใสให้วัยรุ่นอย่างเราได้เป็นอย่างดี มีป้ายรูปหัวใจ ดูหลายคู่ จะนิยมถ่ายรูปกับป้ายไว้
จักรยานที่แขวนไว้หลังร้าน (หรือหน้าร้านก็ไม่แน่ใจนัก) … ทำให้มุมนี้น่านั่งจิบเครื่องดื่มเย็นๆ ทอดสายตาไปมองสิ่งรอบกาย แล้วปล่อยให้จินตนาการล่องลอยไปยังภาพในอดีตในช่วงที่สถานีแห่งนี้ยังคึกคักไปด้วยผู้คนที่ใช้รถไฟเป็นพาหนะสำคัญในการเดินทาง
อากาศร้อนๆ หลบเข้ามาด้านในเป็นร้านอาหารกาแฟ และเบเกอรี่ ว่าจะสั่งแต่คนเยอะ เลยขอแค่หลบอาศัยแอร์และถ่ายรูปก็พอ ที่นี้ดีนะมี wifi ให้ใช้ฟรีด้วย ชอบๆ
ห้องนั่งเล่นด้านข้าง ตกแต่งในสไตล์รีโทร ย้อนยุค … อ้าวมีคุณลุงทริปเดียวกัน แอบมานั่งดื่มด่ำเพียงแค่เดียวเงียบๆ ที่มุมห้อง
ตั้งใจจะเอนนอน เอ้ย เอนนั่ง ผู้นำทริปก็ประการเรียกขึ้นรถ ช่วงเย็นเราจะได้ไปถ่ายแสงสุดท้ายทันที่ ทะเลน้อย
"แหม พอบทจะไปขึ้นก็รีบไปเชียว" ผมบ่นในใจ
กำลังจะกลับ มีโปรแกรมแถม ถ้ำเลเขากอบ
ผมสละสิทธิ เพราะเข้ามาหลายครั้งแล้ว
ที่สำคัญ ครั้งนี้ คงจะลำบาก ติดพุงแน่ๆ 555
ไปแกล้งขู่ป้าๆที่ลงไปในเรือว่า ถ้าไม่ซื้อรูป ระวังเขาจะเอาไปทำเป็นถุงกล้วยแขก ช่วยๆ เขาซื้อไปเถอะ ...รู้สึกว่าจะได้ผลนะ
ขากลับ ดูจะทันสมัยมาก เมื่อนำ GPS นำทางไปทะเลน้อย ทางที่ใกล้ที่สุด ใช้ได้เลย แทบจะเรียกว่าเปิดประสบการณ์ทั้งคัน คือ แทนที่ลูกทริปจะได้นอน กลับต้องมาตื่นเต้นกับเส้นทางที่เราไม่เคยไป เพราะ GPS พาเข้าไปทางหลวงชนบท เรียกว่า งานนี้ ผู้นำทริปนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ เพราะแสงเริ่มจะริบรี่เรื่อยๆ มีเค้าว่าไม่ต้องไปถ่ายแล้วแสงสุดท้าย หาที่พักก็ไม่มี มีแต่ภูเขา สงสัยต้องกินข้าวลิงแถวนี้แน่ๆ
เส้นทางหลวงพัทลุง 3140 ผ่านห้วยน้ำใส สวยงามมากๆ อยากให้จอดรถถ่ายรูป แต่ไม่กล้าพูด เพราะเริ่มเหล่าคุณลุง คุณป้า ดูจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่สุดท้าย เราก็หลุดมาถนนใหญ่ได้ ท่ามกลางความโล่งใจหลายคน และที่สำคัญ เราสามารถไปถ่ายรุปแสงสุดท้ายที่ทะเลน้อยได้ทัน จึงเอามาฝาก
มื้อเย็นวันนี้ เราทานร้านอาหารติดทะลน้อย ชื่อร้านทะเลน้อยซีฟู๊ด ลมพัดตอนแรกเย็นสบายมาก แทบไม่มียุง แต่พัดไป พัดมาเริ่มหนาวจนหลายคนต้องหลบใช้ร่างอีกคนบางลม แต่พออาหารมาเท่านั้น ความหนาวหายไป ทดแทนด้วยความอร่อยที่ไม่รู้จักลืม
ต้มยำกุ้งอร่อยมากๆ กุ้งที่นี้สดมาก แถมไม่แพงเลย ทั้งผัดจำพวกปลาก็อร่อย ตบตูดด้วยไขเจียว อร่อยมากๆ ใครมาทะเลน้อย ต้องการบรรยากาศร้านที่ติดน้ำแนะนำร้านนี้เลยนะ อ้อ มีส้มตำขายด้วยนะ เจ้าของร้านผู้ชายเป็นคนใต้ แต่ภรรยาเป็นคนสกลนคร ดังนั้น รสชาติแซบถึงใจ อย่าลืมนะ ทะเลน้อยซีฟู๊ด