ก่อนอื่นก็ขอเอ่ยคำว่าสวัสดีปีใหม่เป็นการทักทายเพื่อต้อนรับสู่ศักราชใหม่ ในปี 2555 ที่เคลื่อนเข้ามาอย่างเต็มตัวแล้ว ซึ่งจะว่าไปแต่ละปีช่างผ่านไปรวดเร็วจนน่าใจหาย อะไรที่เคยตั้งใจว่าจะทำให้สำเร็จไปตั้งแต่ปีก่อนถึงตอนนี้บางอย่างก็ยังถูก แขวนไว้เหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นเวลาใดถ้าความตั้งใจยังเต็มเปี่ยมเราก็เชื่อว่า ทุกอย่างมันจะลุล่วงไปได้ตามที่ใจหมาย แล้วก็เช่นเคยไม่ว่าฤดูใดจะเวียนเข้ามา หรือว่าเดือนไหนจะผ่านเลยไป เราก็ยังคงนำเสนอสถานที่รวมถึงสิ่งดีๆ กลับมาฝากกันเหมือนเช่นเคย เอาเป็นว่าอย่ามัวพูดพร่ำทำเพลง เราจะพาทุกคนไปเยี่ยมชมวัดที่ได้รับการขนานนามว่ามีความวิจิตรอลังการมากที่ สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ ณ จังหวัดเหนือสุดของประเทศอีกด้วยเช่นกัน และจะเป็นที่ใดไปไม่ได้เลยนอกเสียจาก วัดร่องขุ่น วัดซึ่ง อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ คอยเป็นหัวเรือใหญ่ในการรังสรรค์ผลงานอันวิจิตรและเรียกได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้
-
theTripPacker • October 18 , 2013
-
theTripPacker • October 18 , 2013
ทุกวันนี้วัดร่องขุ่นถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดเชียงรายไปเป็นที่ เรียบร้อย ไม่ว่านักท่องเที่ยวหรือใครก็ตามเมื่อมีโอกาสมาเยือนคงต้องใส่ชื่อที่นี่ เป็นจุดหมายในดวงใจลำดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งนี้ก็เพราะความสุดยอดของตัวผลงานอันลือลั่นซึ่งเป็นการทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจรวมถึงกำลังสติปัญญาในการสร้างชิ้นงานขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระพุทธศาสนา และสิ่งแรกที่รับรองว่าต้องสะดุดผู้มาเยือนทุกคนคงเป็นอะไรไม่ได้นอกเสียจาก โบสถ์ที่มีสีขาวทั้งหลัง ตั้งโดดเด่นด้วยลวดลายปูนปั้นซึ่งประดับลวดลายต่างๆ ที่สะท้อนความประณีตและความตั้งใจผ่านตัวผลงานแต่ละส่วนได้อย่างชัดเจน อีกทั้งสะพานทางเดินที่มุ่งไปสู่โบสถ์ก็เปรียบได้กับเส้นทางที่จะพาก้าวไป สู่พุทธภูมิ ซึ่งแต่ละส่วนผู้สร้างสรรค์ได้สะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคทั้งความอยากและกิเลส ต่างๆ ที่เกาะกุมจิตใจมนุษย์ผ่านผลงาน เช่น พื้นที่วงกลมซึ่งแออัดด้วยมือที่เหยียดแย่งยื่นชูขึ้นมานั้นก็แทนความเป็น โลกมนุษย์ที่ยังมากความต้องการ กระทั่งเกิดเป็นทุกข์ หรือแม้แต่รูปปั้นพญาราหูและพญามัจจุราชหน้าตาถมึงทึงที่เฝ้าอารักขาตรงตีน สะพาน เป็นต้น
ทั้งนี้ไฮไลต์ที่ต้องเข้าไปยลโฉมเป็นอันดับแรกเลยคงจะเป็นโบสถ์ที่เนรมิต เป็นดังเมืองสวรรค์ด้วยสีขาวทั้งหลัง เพื่อสะท้อนถึงความบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า อีกทั้งกระจกแผ่นเล็กๆ ที่ประดับภายนอกนั้นก็แสดงถึงพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า ซึ่งเปล่งประกายมายังมนุษย์โลกนั่นเอง ทั้งนี้ภายในผนังโบสถ์ทั้งสี่ด้านได้ถูกประดับไว้ด้วยภาพจิตรกรรมขององค์ สัมมาสัมพุทธเจ้า ทว่ามุมทางขวามือเมื่อเดินเข้าจากประตูก็จะพบภาพเขียนที่บอกเล่าถึงราวของ โลกในปัจจุบัน อย่างความก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ เช่น มนุษย์สามารถเดินทางไปยังดวงจันทร์ได้อย่างง่ายดาย หรือแม้แต่ตัวการ์ตูนยอดนิยมและอื่นๆ ซึ่งถึงแม้ว่าภาพเหล่านี้ดูจะไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาซักเท่าไร แต่ด้านหนึ่งก็เป็นการบันทึกความเป็นไปของยุคสมัย ไม่ต่างจากภาพจิตรกรรมฝาผนังของตามวัดเก่าแก่ต่างๆ ที่ปรากฏภาพที่บอกเล่าเรื่องราวประเพณีและวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงเวลา นั้นๆ
-
theTripPacker • October 18, 2013
-
theTripPacker • October 18 , 2013
ทว่าความตื่นตาก็ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านั้น ในส่วนอาคารสีทองอร่ามที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กันนั้น ถ้าเพียงมองเผินๆ คงไม่ทราบแน่ว่านี่คือห้องน้ำ หลายคนพอได้ยินอย่างนั้นถึงกับอุทานด้วยความประหลาดใจกับขนาดและสีสันที่ดู อลังการงานสร้างมากชนิดที่คุณไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน รวมถึงยังมีหอศิลป์ อ.เฉลิมชัย ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปเล็กน้อย โดยภายในเปิดเป็นแกลอรี่จัดแสดงผลงานภาพเขียนต้นฉบับของ อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ที่หาชมได้ยากมากมาย ซึ่งงานทุกชิ้นสามารถการันตีฝีมือในระดับเทพของศิลปินผู้นี้ได้เป็นอย่างดี และก่อนกลับก็ห้ามพลาดกับการซื้อหาผลงานภาพพิมพ์และอื่นๆ พร้อมกับเขียนโปสการ์ดส่งกลับให้ตัวเองหรือส่งถึงคนที่คิดถึงไว้เป็นที่ ระลึกก็ดีไม่น้อย ซึ่งความงดงามในงานพุทธศิลป์ทั้งหมดที่เห็นในวัดร่องขุ่นล้วน เกิดจากแรงบันดาลใจของ อ.เฉลิมชัย ที่ปรารถนาจะตอบแทนพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินเกิด พร้อมกับความตั้งใจที่จะถวายผลงานเพื่อเป็นการสะท้อนความยิ่งใหญ่แห่งยุค สมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยเช่นกัน ฉะนั้นอย่าได้แปลกใจถ้าความอลังการที่เห็นตรงหน้าจะทำให้หัวใจคุณพองโต ดวงตาฉายประกายลุกวาวด้วยความทึ่งแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะนี่คืออาการเริ่มต้นของความประทับใจนั่นเอง
-
theTripPacker • October 18 , 2013
Note
- ผู้ที่มาเยี่ยมชมไม่ควรลูบหรือสัมผัสลวดลายปูนปั้นต่างๆ เนื่องจากอาจแตกหักและเสียหายขึ้นได้
- ในการเดินชมโบสถ์นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าด้านหนึ่งและไปออกอีกด้านหนึ่ง ไม่สามารถย้อนกลับมาทางเก่าได้เนื่องจากมีจำนวนผู้คนมาก
- ควรแต่งกายให้สุภาพ โดยเฉพาะผู้หญิง ไม่ควรสมกางเกง หรือกระโปรงสั้น และไม่ควรสวมเสื้อสายเดี่ยว
- การเดินชมในบริเวณวัด ผู้ปกครองควรใส่ใจ ระมัดระวังบุตรหลาน ไม่ให้วิ่งซน เนื่องจากลวดลายปูนปั้นบางจุดมีความแหลมคม อาจได้รับอันตรายได้
- ภายในโบสถ์ของวัดห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป
-
theTripPacker • October 18, 2013
- Strong point:
- สถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในวัดร่องขุ่นที่มากความวิจิตรตระการตา ซึ่งได้รับการรังสรรค์โดยศิลปินชื่อก้องอย่าง อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
- Weak point:
- ผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามากันมาในช่วงวันหยุดหรือเทศกาลต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเบียดเสียดกัน ส่วนใครที่ชอบถ่ายภาพอาจไม่ได้ภาพตามที่ต้องการ เพราะภาพจะถ่ายติดนักท่องเที่ยวจำนวนมากนั้นเอง
- Conclusion:
- พูดได้อย่างเต็มปากเลยว่าวัดร่องขุ่นนั้นช่างมากด้วยความวิจิตรตระการเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ที่เป็นหัวเรือใหญ่และคอยรังสรรค์ผลงานชิ้นเอกขึ้นมาก็ไม่ใช่ใครอื่นๆ หากแต่เป็น อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินฝีมือชั้นครูที่ทุ่มเทกายใจเพื่อทำสิ่งนี้อุทิศให้กับพระพุทธศาสนาแบบเต็มภาคภูมิ
Score -
theTripPacker • October 18 , 2013
ข้อมูลทั่วไป
ที่อยู่ : วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย 57000
GPS : 19.824130, 99.763850
เบอร์ติดต่อ : 053-673-579, 053-673-967
Website : www.วัดร่องขุ่น.com, http://www.watrongkhun.org/
Facebook : http://on.fb.me/rJYWwo
เวลาทำการ : เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 6.30 น. - 18.00 น. / ห้องแสดงภาพ : เปิดให้เข้าชมวันจันทร์- ศุกร์ 8.00 น. - 17.30 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เปิดให้เข้าชมเวลา 8.00 น. - 17.30 น.
ช่วงเวลาแนะนำ : ช่วงเช้าหรือไม่ก็ช่วงเย็นๆ เพราะอากาศกำลังสบาย และแสงในช่วงนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ที่รักการถ่ายภาพอีกด้วย
ไฮไลท์ : ความวิจิตรงดงามของโครงสร้างและการตกแต่งในงานสถาปัตยกรรมต่างๆ
กิจกรรม : ชื่นชมความอลังการและไหว้พระขอพรในวันหยุด
-
theTripPacker • October 18 , 2013
วิธีการเดินทาง
คุณสามารถเดินทางโดยใช้ถนนพหลโยธินหรือทางหลวงหมายเลข 1 เพื่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดเชียงราย จนกระทั่งมาถึงทางสามแยกก่อนถึงตัวเมืองเชียงรายประมาณ 13 กิโลเมตร แล้วให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1028 เส้นทางเดียวกับทางที่ไปน้ำตกขุนกรณ์ ซึ่งเมื่อตรงไปประมาณ 300 เมตรก็จะพบวัดร่องขุ่นอยู่ทางซ้ายมือ
-
theTripPacker • October 18, 2013
-
theTripPacker • October 18 , 2013
แกลลอรี่รูปภาพ
-
View more