วัดพระธาตุหริภุญชัย สักการะพระธาตุประจำปีไก่ แห่งเมืองลำพูน
ในแต่ละปีซึ่งหมุนเวียนไปตามปีนักษัตร เรามักจะได้ยินคำเชิญชวนให้ไปไหว้พระธาตุประจำปีนักษัตรนั้นๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ยิ่งถ้าหากเป็นบุคคลที่เกิดในปีนักษัตรนั้นก็ยิ่งสมควรหาโอกาสไปสักการะให้ได้ซักครั้ง ซึ่งความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดนั้น เป็นคติความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมายาวนาน ด้วยมีความเชื่อแต่โบราณว่า ก่อนที่วิญญาณจะมาเกิดในครรภ์มารดานั้น ดวงวิญญาณจะมาพักอยู่ที่เจดีย์ โดยมี “ตัวเปิ้ง” หรือสัตว์ประจำนักษัตรพามาพักไว้ เมื่อได้เวลาดวงวิญญาณจึงเคลื่อนจากพระเจดีย์ไปสถิตอยู่บนกระหม่อมของบิดา แล้วจึงเคลื่อนสู่ครรภ์มารดา และเมื่อเราสิ้นอายุขัยลง ดวงวิญญาณจะกลับไปสถิตอยู่ที่พระธาตุเจดีย์ตามปีเกิดนั้นๆ ตามเดิม ดังนั้นในช่วงชีวิตหนึ่งเราควรหาโอกาสไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีเกิดให้ได้ซักครั้งในชีวิต ซึ่งครั้งนี้เราจะพาผู้ที่มีปีนักษัตรตรงกับ “ปีระกา” ไปเสริมสิริมงคลกันที่ “วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร” กันครับ
พระธาตุหริภุญชัย เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองลำพูนมานานนับพันปี จัดเป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดของภาคเหนือ เพราะสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอาทิตยราช หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งช่วงนั้นนครหริภุญชัยมีความรุ่งเรืองทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก องค์พระธาตุมีลักษณะศิลปะแบบล้านนา ปิดด้วยทองจังโกสีเหลืองอร่ามทั้งองค์ ภายในประดิษฐานพระเกศบรมธาตุซึ่งบรรจุอยู่ในโกศทองคำอีกชั้นหนึ่ง บริเวณโดยรอบองค์พระธาตุจะมีซุ้มกุมภัณฑ์และฉัตรประจำทั้งสี่มุม นอกจากพระธาตุ์เจดีย์หริภุญชัยแล้ว ภายในบริเวณวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น บริเวณด้านหน้าวัดซึ่งเป็น “ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์” ประตูทางเข้าสู่เขตพุทธาวาสซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมอันสวยงาม ยอดหลังคาสร้างเป็นทรงปราสาทซ้อนกันหลายชั้น และมีปูนปั้นรูปสิงห์อยู่ด้านหน้า ซุ้มประตูนี้จึงได้ชื่อว่า ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์นั่นเอง ถัดจากซุ้มประตูเข้ามาเราจะเห็น “พระวิหารหลวง” ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ถึงสามองค์ด้วยกัน ภายในตกแต่งด้วยลวดลายวิจิตรงดงาม ส่วนทางด้านทิศใต้ของพระวิหารหลวง เป็นที่ตั้งของ “หอธรรม” หรือ “หอพระไตรปิฏก”สิ่งปลูกสร้างตามแบบศิลปะล้านนาประดับด้วยไม้แกะสลักปิดทองและกระจกอันสวยงาม ซึ่งตามหลักฐานศิลาจารึกคาดว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2053 โดยพระเมืองแก้วกษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ถ้าสังเกตุให้ดี เราจะเห็นว่าลักษณะสถาปัตยกรรมของหอธรรมนี้มีความคล้ายคลึงกับหอไตรที่วัดพระสิงห์ฯ อยู่ไม่น้อยเลย