วัดทุ่งศรีเมือง หอไตรกลางน้ำเลื่องลือ แห่งเมืองอุบลฯ
พระพุทธศาสนาสำหรับคนไทยนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่คู่กันมายาวนานจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน ด้วยความศรัทธาและความผูกพันที่ชาวไทยมีต่อศาสนาพุทธ เราจึงได้เห็นวัดวาอารามมากมายอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ดังนั้นไม่ว่าจะไปเที่ยวถึงแห่งหนตำบลใด ชาวพุทธอย่างเราก็ไม่ลืมที่จะต้องแวะเวียนไปไหว้พระขอพร และเยี่ยมชมวัดเก่าวัดดังประจำถิ่น คราวนี้เรามาไกลถึงจังหวัดอุบลราชธานี จึงต้องขอแวะที่ “วัดทุ่งศรีเมือง” กันซักหน่อย
วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ในเขตกลางใจตัวเมืองอุบลฯ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมอันงดงามมากมาย เริ่มต้นกันด้วย “หอไตรกลางน้ำ” หอพระไตรปิฏกที่สร้างด้วยไม้ตั้งอยู่กลางสระน้ำ มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างศิลปะของไทย ลาว และพม่า นั่นคือ ตัวอาคารเป็นแบบเรือนไทยภาคกลางด้วยลักษณะเรือนยกพื้นสูง ผนังเป็นแป้นฝาไม้แบบเรียบ มีเครื่องสับฝาแบบฝาปะกน ภายในมีตู้เก็บพระธรรมลงรักปิดทอง บริเวณหลังคาเป็นทรงจั่วด้วยศิลปะไทยผสมพม่า คล้ายสถาปัตยกรรมแบบเชียงรุ้ง มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงศ์ ส่วนบนของหลังคาเป็นแบบ 2 ชั้น ส่วนลวดลายแกะสลักบนหน้าบรรณทั้ง 2 ด้านนั้นเป็นศิลปะแบบลาว บริเวณปะกนด้านล่างมีลวดลายแกะสลักเป็นรูปสัตว์ประจำราศีต่างๆ รวมถึงทวยไม้ค้ำยันชายคาซึ่งสลักเป็นรูปเทพพนมที่บริเวณด้านหน้าประตู 2 ตัว นอกนั้นเป็นรูปพญานาคโดยรอบ
หอไตรหลังนี้จึงจัดได้ว่าเป็นหอไตรที่สวยงามและสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ที่สำคัญหอไตรกลางน้ำหลังนี้ยังได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามมงกุฎราชกุมารี อีกด้วย