Search and share travel destinations and experiences in Thailand Sign up Log in
 
พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย ความเป็นมาของกระดาษเปื้อนตัวอักษร พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย (Thai Newspaper Museum) จ.สุพรรณบุรี
    • Posts-1
    theTripPacker •  November 11 , 2013

    พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย ความเป็นมาของกระดาษเปื้อนตัวอักษร

    ดูเหมือนโลกใบที่หมุนเร็วเฉกเช่นทุกวันนี้ ได้พ่วงเอากระแสของการเปลี่ยนแปลงมาสู่สิ่งต่างๆ รอบตัวเรามากมาย ไม่เว้นแม้แต่ช่องทางการสื่อสารจากครั้งรุ่งเรืองของโทรเลข กระทั่งโทรศัพท์มือถือได้เข้ามาสานต่อความสะดวกสบายให้มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อก่อนหากต้องการติดตามเหตุการณ์ความเป็นไปของสังคมก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพลิกอ่านเอาจากหน้าหนังสือพิมพ์ ทว่าความนิยมของสื่อประเภทนี้ในปัจจุบันกำลังถูกเข้ามาแทนที่ด้วยโซเชียลมีเดีย ทั้งหลายไม่ว่า เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ และอีกหลากหลายช่องทาง จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าสื่อยุคบุกเบิกอย่าง หนังสือพิมพ์ จะเลือนหายไปพร้อมๆ กับวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วเป็นสำคัญ

    ทั้งนี้ทราบหรือไม่ว่าในกรุงเทพมหานคร นั้นมี "พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย" ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล และเรื่องราวความเป็นมาของหนังสือพิมพ์ไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิกเรื่อยมาถึงปัจจุบัน และจุดหมายของเราในวันนี้ ก็อยู่กันที่ พิพิธภัณฑ์ซึ่งเต็มไปด้วยอุดมการณ์ของคนหนังสือพิมพ์ ในบรรยากาศอันอบอวลด้วยกลิ่นหมึกและเสียงแท่นพิมพ์ ที่แม้จะเป็นคำเปรียบเปรย หากแต่ได้มาสัมผัส ก็จะเข้าใจความหมายที่บอกมาได้ถ่องแท้แน่นอน

    • Posts-2
    theTripPacker •  November 11, 2013
    • Posts-3
    theTripPacker •  November 11 , 2013

    พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาค้นคว้าข้อมูลรวมถึงศึกษาวิวัฒนาการของหนังสือพิมพ์และนิตยสารของไทย ซึ่งภายในแบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็น 3 โซนหลักๆ ได้แก่ การจำลองสำนักงานหนังสือพิมพ์ในอดีต ซึ่งนำเสนอให้เห็นถึงหน้าที่สำคัญต่างๆ ในสำนักงาน เช่น เจ้าของหนังสือพิมพ์ หรือ บรรณาธิการ ทำหน้าที่ลงทุนเขียนบทความกำหนดทิศทางและความถูกต้องของหนังสือพิมพ์ในภาพรวม ถัดไปคือหน้าที่นักข่าว ที่เป็นผู้สังเกตการณ์ และนำเสนอประเด็นต่างๆ ให้สาธารณะชนได้รับทราบ ควบคู่ไปกับการเป็นช่างภาพด้วยหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้อีกหน้าที่ที่มีสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลยก็คือช่างเรียงพิมพ์ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนเพราะกว่าจะนำเอาแม่พิมพ์ตัวสระ หรืออักษรที่เป็นแท่งตะกั่วเล็กๆ มาเรียงกันจนได้ข้อความที่ถูกต้อง จากนั้นจึงค่อยป้อนกระดาษพิมพ์ลงไปทีละแผ่น อีกทั้งช่างเรียงพิมพ์ ยังต้องมีความสามารถในการออกแบบจัดหน้าสิ่งพิมพ์และแกะบล็อกไม้เพื่อทำภาพลายเส้นประกอบได้ด้วย

    • Posts-4
    theTripPacker •  November 11 , 2013

    ถัดออกไปเล็กน้อยจะเป็นส่วนจัดแสดงย่อยอันเกี่ยวเนื่องกับบทบาทด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของหนังสือพิมพ์ ซึ่งยืนหยัดต่อสู้เพื่อนำเสนอข้อมูลความเป็นจริงของสังคมในยุคสมัยต่างๆ ผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สะดวกรวดเร็วในการศึกษาหาข้อมูล และมาถึงส่วนจัดแสดงที่ 2 ของพิพิธภัณฑ์นั่นก็คือบุคคลที่มีบทบาทในวงการหนังสือพิมพ์ไทย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพิมพ์หลวง ขึ้นในพระราชวังชั้นกลาง และโปรดเกล้าฯ ให้ออกหนังสือพิมพ์เป็นระยะๆ ชื่อว่าราชกิจจานุเบกษา แจกจ่ายในส่วนราชการและทั่วไป ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงวางรากฐานสถาบันสื่อสารมวลชนให้เป็นฐานันดรที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี รวมถึงทรงให้เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร และตรากฎหมายที่ให้เจ้าของหรือบรรณาธิการต้องมีความรับผิดชอบในหนังสือพิมพ์นั้นๆ นับว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ฉบับแรกหรือชื่อที่เรียกเป็นทางการว่าตราพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2465 ซึ่งถือว่าทั้งสองพระองค์ ทรงพระอัจฉริยะภาพในการเล็งเห็นความสำคัญของการพิมพ์

    ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนนี้ยังมีข้อมูลเกียรติประวัติบุคคลสำคัญของวงการหนังสือพิมพ์ เป็นต้นว่า มิชชันนารีกลุ่มแรกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาอย่างหมอบลัดเลย์ ซึ่งได้ทำการออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศไทยแบบรายปักษ์ ในสมัยของรัชกาลที่ 3 มีชื่อว่าบางกอกรีคอเดอ (Bangkok Recorder) กระทั่งบุคคลในยุคถัดมา เช่นกุหลาบสายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)โชติแพร่พันธุ์ (ยาขอบ)อิสราอมันตกุลมาลัยชูพินิจ และอีกหลายๆ ท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม ซึ่งล้วนแต่ยืดมั่นในอาชีพและยืนหยัดต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางความคิด ซึ่งทุกท่านถือว่ามีคุณูปการต่อวงการหนังสือพิมพ์ไทยเป็นอย่างมาก

    • Posts-5
    theTripPacker •  November 11, 2013
    • Posts-6
    theTripPacker •  November 11 , 2013

    ในส่วนที่ นั้นคือ ห้องนิทรรศการหนังสือพิมพ์ไทย ซึ่งจะบอกเล่าถึงความเป็นมาของหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับที่วางแผงมาจนได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วบ้านทั่วเมือง รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งนี้ แม้ว่าผู้คนในยุคปัจจุบันจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับสื่อประเภทนี้มากซักเท่าไหร่ แต่ถ้าหากได้มาลองเยี่ยมชม และเรียนรู้วิวัฒนาการของสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่แน่ว่า อุดมการณ์ของคนหนังสือพิมพ์ที่ได้ถูกถ่ายทอดมาอาจทำให้คุณเริ่มรู้สึกหลงใหลในกลิ่นหมึก และเสียงแท่นพิมพ์ขึ้นมาอีกก็เป็นได้

    • Posts-7
    theTripPacker •  November 11 , 2013

    Note

    - พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยตั้งอยู่บนชั้น 2 ของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

    - ผู้ที่สนใจจะเข้าสามารถติดต่อล่วงหน้า ได้ที่ โทร. 02 669 7124-6 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

    - บรรดาหนังสือพิมพ์เก่าทั้งหลาย ได้ถูกสแกนเก็บรวบรวมไว้ยังเครื่องไมโครฟิล์ม ทำให้ง่ายและสะดวกในการเก็บรักษา

    • Posts-8
    theTripPacker •  November 11, 2013

    Editor's Comment

    • Strong point:
    • พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยแห่งนี้ เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลอันเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ในเมืองไทย ตั้งแต่ยุคบุกเบิกมาจนถึงจนถึงปัจจุบัน รวมถึงยังจัดแสดงเครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับการพิมพ์ในช่วงต้นของยุคได้อีกด้วย
    • Weak point:
    • พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย ไม่ได้เปิดให้เข้าชมตลอดเวลา นั่นก็ด้วยความที่ผู้คนไม่ค่อยให้ความสนใจกับสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์เท่าที่ควร การจะเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จึงต้องมีติดต่อล่วงหน้า เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เปิดพิพิธภัณฑ์ไว้รับรอง อีกทั้งภายในพิพิธภัณฑ์ ไม่ค่อยมีลูกเล่น หรือจุดสนใจมากพอที่จะดึงดูดคนให้เข้ามาเที่ยวได้เท่าที่ควร
    • Conclusion:
    • ข้อมูลเบื้องหลังการทำงานของคนหนังสือพิมพ์ ที่เราไม่มีวันได้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ หากแต่ข้อมูลที่ไม่ค่อยมีใครได้รู้เหล่านี้ ได้ถูกบรรจุและรวบรวมไว้ภายในพิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ความเป็นมาของสื่อชนิดนี้ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ว่ากว่าจะพัฒนาเรื่อยมาในยุคปัจจุบันนั้น มีความยากลำบากอย่างไร รวมไปถึงขั้นตอนการทำงาน และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
    Score
    • Posts-9
    theTripPacker •  November 11 , 2013

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : 299 ถนนราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

    GPS : 13.777250, 100.511517

    เบอร์ติดต่อ : 02 669 7124-6 แฟกซ์ : 02 241 5929

    Website : http://www.thaipressasso.org/

    Facebook : พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย

    เวลาทำการ : วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00 -15.00 น. ปิดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

    ค่าธรรมเนียม : ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

    ช่วงเวลาแนะนำ : ช่วงตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป

    ไฮไลท์ : ส่วนจัดแสดงภายในที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของสื่อสิ่งพิมพ์ไทย ว่ามีวิวัฒนาการมาอย่างไร

    กิจกรรม : การเดินชมส่วนต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงไว้ หรือเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม

    • Posts-10
    theTripPacker •  November 11 , 2013

    วิธีการเดินทาง

    จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามารถใช้เส้นทางถนนราชวิถีมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งผ่านสวนสัตว์ดุสิต และถนนอู่ทองใน มาเล็กน้อย ก็จะพบกับ สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่อยู่หัวมุมสี่แยกการเรือน ตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดย พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย นั้นตั้งอยู่บนชั้น 2 ของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์


  1. View more