พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย มหัศจรรย์ปลาตัวน้อยหัวใจนักสู้
ถ้าถามว่าตอนเด็กๆ ใครเคยเลี้ยงปลากันบ้าง ไม่ว่าจะเลี้ยงเล่นๆ เป็นงานอดิเรก หรือจะเลี้ยงจริงจังจนเพาะขยายพันธุ์ได้ก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเลี้ยงปลาในระดับไหนก็แล้วแต่ เราเชื่อว่าแทบจะทุกคนคงเคยผ่านประสบการณ์ต่างๆ ในการเลี้ยงปลามาแล้วทั้งสิ้น และเราก็ยังเชื่ออีกว่า หนึ่งในปลาตัวน้อยๆ ที่หลายๆ คนเคยลงมือเลี้ยงกันนั้น จะต้องมี “ปลากัด” รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน เพราะด้วยรูปร่าง สีสันอันสวยงามของมัน ประกอบกับการที่ปลาชนิดนี้เลี้ยงดูง่าย ปลากัดจึงมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงตัวแรกๆ ของใครหลายๆ คน แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ว่าเจ้าปลากัดในขวดโหลที่กำลังเลี้ยงอยู่นั้น มีญาติอีกกี่สายพันธุ์ และมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง เริ่มนึกสงสัยอยากรู้ขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหมล่ะ สุดสัปดาห์นี้ตามเรามาได้เลย เพราะเราจะพาทุกคนไปเที่ยวกันที่“พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย” ที่ที่เราจะได้ทำความรู้จักกับเจ้าปลากัดตัวน้อยๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
จุดหมายปลายทางของเราในคราวนี้ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เรียกกันว่า “เกาะกระเพาะหมู” ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในตำบลบางกะเจ้า ซึ่งถูกอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่สีเขียวอันเป็นปอดของกรุงเทพ จนได้รับการยกย่องจากนิตยสารชื่อดังระดับนานาชาติอย่าง“Time Magazine” ว่าเป็น สุดยอด Urban Oasis of Asia 2006 อีกด้วย แค่ทำเลที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย”ก็น่าสนใจไม่น้อยแล้ว เพราะเราจะได้เดินเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ไปพร้อมๆ กับสูดอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างเต็มปอด ภายในพิพิธภัณฑ์ได้แบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็นส่วนๆ เราเริ่มต้นกันที่ “บ้านรักรู้” ซึ่งจะฉายวิดิทัศน์ให้เราได้ทำความรู้จักกับปลากัดไทยในขั้นพื้นฐานเสียก่อน โดยที่เนื้อหาโดยรวมนั้นจะเล่าถึงความเป็นมา ลักษณะของปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงความผูกพันที่สังคมไทยมีต่อปลากัด เช่น การที่ชาวบ้านเลี้ยงปลากัดเป็นงานอดิเรกหลังจากว่างเว้นจากการเพาะปลูก และการละเล่น “กัดปลา” ที่ได้รับความนิยมอดีต