วัดหัวใจไปสุดฟ้า สิบหกคนแปลกหน้า "พิชิตผาหินกูบ"
ผาหินกูบ... ผาสูงบนเทือกเขาสอยดาว จันทบุรี ผมได้ยินชื่อครั้งแรกสักสองสามปีก่อน ต่อมาก็เห็นรีวิวผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ มากขึ้น ยิ่งเห็นภาพก็ยิ่งอยากไป ยิ่งได้ยินชื่อบ่อยก็ยิ่งตัวสั่น สวยขนาดไหนอยากเห็นด้วยสองตา แต่ด้วยการเป็นคนเดินทางเอาแต่ใจประเภท Solo Traveller เที่ยวคนเดียวจนเคยตัว กลัวที่จะเที่ยวกับคนอื่นเพราะไม่อยากเสียอิสระ ทำให้แผนการเดินป่าขึ้นเขาที่ต้องไปกันเป็นกลุ่มแบบนี้ต้องพับเก็บไว้มาตลอด
จนนานวันเข้าชักรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วเว้ยเฮ้ย ความอยากร่ำร้องมากเกินทน ประจวบเหมาะกับคลิกเมาส์ทะลวงตามโซเชียลแล้วพบโพสต์ชักชวนหาคนร่วมทางเที่ยวผาหินกูบช่วงต้นเดือนเมษาพอดี ผมจึงกัดฟันตัดสินใจยอมหักกับนิสัยสันโดษของตัวเอง รีบโพสต์ตอบกลับไปแบบเน้นๆ ได้ใจความ “ขอไปด้วยคนนะครับ” นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราว
อย่างที่ว่าครับคือทริปนี้เป็นการรวมกลุ่มคนผ่านทางโซเชียลมีเดีย เกือบทั้งหมดไม่รู้จักกันแต่ไปผจญภัยด้วยกันได้ ชายเก้า หญิงเจ็ด รวมสิบหกคนแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเจอกันที่หมอชิต เดินทางด้วยรถตู้สู่จันทบุรี สมทบกับอีกกลุ่มซึ่งขับรถส่วนตัวไปรอที่หน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จุดเริ่มต้นของเส้นทางปีนป่ายพิชิตยอดผาหินกูบ
การเดินทางไปหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพลไม่ยากครับ มีรถก็ขับรถไปได้เลย อยู่ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม ห่างจากตัวเมืองจันท์สัก 40 กิโลเมตร ช่วงท้ายเป็นลูกรังแต่วิ่งได้เรื่อยๆ หากไม่มีรถต้องทำเหมือนกลุ่มเราคือไป บขส. จันทบุรี ที่นั่นมีสองแถวรับจ้าง คนพื้นที่เรียกว่ารถมาสด้า เหมาไปส่งยังหน่วยพิทักษ์ฯ คิดราคาไป-กลับ (จาก บขส. ไปส่งที่หน่วยฯ และรับจากหน่วยฯ กลับมาส่ง บขส. หรือพื้นที่ใกล้เคียง) 1,400 บาท ไม่เกินเจ็ดคน เกินจากนั้นคิดเพิ่มคนละ 200 บาท หากใครไม่อยากเปลืองต้องนั่งรถโดยสารไปลงปากทางเข้าบ้านทุ่งเพลแล้วหาโบกรถอีกราว 10 กิโลเมตร แต่ไม่แนะนำครับเพราะรถวิ่งกันไม่เยอะ หากดวงไม่ดีจะอดขึ้นเขาเสียเปล่าๆ
พวกเรากลุ่มที่เดินทางด้วยสองแถวไปถึงที่หน่วยพิทักษ์ฯ เก้าโมงครึ่ง ค่อนข้างสายสำหรับการขึ้นเขา สมทบกับกลุ่มที่รออยู่ก่อนแล้วเป็นสิบหกชีวิต มีทั้งระดับเซียนที่เอาตัวรอดในป่าสบาย จนถึงคนไม่เคยเที่ยวเดินป่าขึ้นเขามาก่อน และหนุ่มฝรั่งวัยสิบเก้าขวบที่เคยพิชิตเอเวอเรสต์มาแล้ว สำหรับผมคงอยู่ระดับกลางๆ แหละนะ
เรื่องนั้นยังไม่น่าห่วง ที่กังวลคือตัวเองจะสนุกหรือเปล่า เข้ากับคนอื่นได้หรือเปล่า นิสัยและความคิดแปลกๆ ของเราจะไม่เป็นปัญหาใช่ไหม ทว่าความกลัวเหล่านั้นหายไปทันทีครับเมื่อพบปะเพื่อนร่วมทริป เพราะในที่สุดแม้เราแต่ละคนอาจมีบุคลิก นิสัย ความชอบ ความคิดส่วนตัวต่างกัน ทว่าเมื่อมาถึงเรื่องท่องเที่ยวเดินทาง นั่นหมายถึงอย่างน้อยพวกเราล้วนมีหนึ่งสิ่งที่เหมือนกันอยู่แล้ว และสิ่งนั้นแหละที่ผูกเราไว้ด้วยกันเป็นอย่างดี
เราตกลงกันว่าจะไม่จ้างลูกหาบ แบกของใครของมันและแบ่งของกินกองกลางกระจายมาคนละนิดละหน่อย วัดน้ำหนักกระเป๋าแล้วท้อใจเล็กน้อยหวั่นอยู่เหมือนกันนะว่าจะไปไม่ถึง (ฮา...)
เที่ยวที่นี่มีค่าบำรุงให้หน่วยฯ และเจ้าหน้าที่นำทาง คิดราคาแบบนี้คือเจ้าหน้าที่หนึ่งคน 1,000 บาท ต่อนักท่องเที่ยวห้าคน หากจำเป็นต้องดูแลเกินห้าคนคิดเพิ่มคนละ 200 บาท (เหมือนกับค่ารถมาสด้า) ซึ่งเรื่องจำนวนเจ้าหน้าที่ทางหน่วยฯ จะจัดสรรตามความเหมาะสมในแต่ละทริปเอง สำหรับลูกหาบเขาคิด 1,000 บาท ต่อน้ำหนักของไม่เกิน 30 กิโลกรัม
อ้อ... ผาหินกูบเที่ยวได้ตลอดทั้งปีนะครับ แต่กำหนดให้ขึ้นเฉพาะวันเสาร์วันเดียว (เทศกาลก็ไม่ให้ขึ้นถ้าไม่ตรงกับวันเสาร์) ค้างข้างบนคืนวันเสาร์ ลงวันอาทิตย์ เป็นโปรแกรมตายตัว กำหนดให้นักท่องเที่ยวรวมทุกกลุ่มขึ้นไปต่อครั้งประมาณแค่ 30 คน เพราะมีที่ค้างแรมจำกัด ถ้าไปกันไม่กี่คนสามารถหากกลุ่มจอยด้วยไม่ยาก และควรติดต่อจองโควตาล่วงหน้าอย่างน้อยสักสองสัปดาห์
วันที่เราไปนอกจากกลุ่มเราสิบหกคน ยังมีทีมถ่ายทำรายการทีวีช่อง 3 อีกกลุ่ม ตอนแรกเจ้าหน้าที่จะให้ขึ้นพร้อมกัน แต่รอแล้วรอเล่าจนกลัวว่าจะสายเกินเราเลยเดินขึ้นก่อน เริ่มขึ้นสิบโมงนิดๆ นับว่าช้าพอสมควร เจ้าหน้าที่แนะนำว่าถ้าให้ดีควรขึ้นสักแปดถึงเก้าโมงเช้า
เอาล่ะทุกอย่างพร้อมแล้วก็แบกสัมภาระขึ้นหลังแล้วลุยโลด... ว่าแต่ทำไมมันหนักจัง (วะ!)
ระยะทางเดินหากดูข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอาจบอกไม่เท่ากัน ผมขอบวกตามป้ายให้เลย จุดแรก หน่วยพิทักษ์ฯ - น้ำตกอ่างเบง 1.4 กม. จุดที่สอง น้ำตกอ่างเบง - หินเพิง 1.1 กม. จุดที่สาม หินเพิง - หินแปดเหลี่ยม 1.3 กม. จุดที่สี่ หินแปดเหลี่ยม - หินแหลม 1.1 กม. จุดที่ห้า หินแหลม - ทางลงถ้ำ 1.4 กม. และสุดท้ายจากทางลงถ้ำถึงผาหินกูบไม่เกิน 300 เมตร รวมแล้วประมาณ 6.5 กิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเล 920 เมตร รายทางมีจุดให้เติมน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติสามจุดที่ หินเพิง หินแปดเหลี่ยม ผาหินกูบ เพราะฉะนั้นไม่ต้องแบกน้ำขึ้นไปเยอะครับ ขวดใหญ่ขวดเดียวแล้วคอยเติมเพิ่ม ใครอนามัยหน่อยพกเครื่องกรองน้ำมือถือไปก็ได้ ถ้าไม่มีก็ใช้ผ้าเช็ดหน้ากรอง
ช่วงแรก หน่วยพิทักษ์ – น้ำตกอ่างเบง เส้นทางไม่โหดมาก ความชันไม่เยอะ ก้าวเท้ายาวๆ หัวเราะคิกคักกันได้อยู่ อยากเตือนให้ระวังหนามต้นระกำสักหน่อย แหลมเป็นนิ้วโดนเสียบร้องจ๊ากแน่นอน เล่นงานเราหลายคนเลือดซิบมาแล้ว
พอมาได้สักพักชักเอาแล้วไงล่ะ ขาเริ่มก้าวสั้นลง เป้ใบโตกดไหล่แทบทรุด จากเดินเรียงแถวยาวก็เริ่มแตกกลุ่ม กลุ่มนำ กลุ่มกลาง กลุ่มรั้งท้าย ผมขออยู่ตรงกลางแล้วกัน เดินยังไงก็ไม่มีทางทันข้างหน้า แต่ยังไวเกินกว่าจะรั้งท้าย เดินไปเหงื่อไหลหยดติ๋งๆ ไป
เดินมาได้ประมาณชั่วโมงยี่สิบนาทีถึงจุดพักใหญ่จุดแรกที่หินเพิง ปลดเป้ลงจากบ่าแล้วรู้สึกเหมือนโลกนี้เบาหวิวขึ้นมาทันใด มาถึงปุ๊บกลุ่มนำที่พักรอมาสักระยะแล้วก็ไปต่อทันที จากจุดนี้ไปหินแปดเหลี่ยมอีก 1.3 กิโลเมตร ทางเริ่มชันขึ้น ความเร็วในการเดินถดถอย ของข้างหลังรู้สึกหนักกว่าเดิม เราพูดคุยกันน้อยลง และพักบ่อยขึ้น (ฮา...)
ระยะทางแค่ 1.3 กิโลเมตร ผมเดินตั้งสองชั่วโมงกว่าจะถึงหินแปดเหลี่ยม กลุ่มนำพักกินข้าวเที่ยงรออยู่ อาหารง่ายๆ ซื้อติดกันมาไว้ครับ ข้าวเหนียวหมู ไก่ย่าง น้ำพริก ขนมปัง มาม่า กินเอาอิ่มให้มีแรงเดินต่อก็พอ
ช่วงพักที่หินแปดเหลี่ยม เจ้าหน้าที่ ว. คุยกันว่าหนึ่งในกรุ๊ปตามหลังของเราเกิดอาการเดี้ยงตะคริวขึ้นเสียแล้ว ไอ้เราก็นิสัยเสียแทนที่จะเป็นห่วงกลับหัวเราะกันน้ำตาเล็ดเสียอย่างนั้น ไม่เป็นไรครับเพราะมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่
จากหินแปดเหลี่ยมนี้คือไฮไลท์ของจริงแล้วล่ะ ทำเอาที่ผ่านมาซึ่งเล่นเอาเหงื่อตกแทบตายกลายเป็นแค่บททดสอบเล็กน้อยไปเลย พ้นหินแปดเหลี่ยมเป็นทางอัพแอนด์อัพแล้วก็อัพอัพอัพ ชันขนาดมากกว่าสี่สิบห้าองศาก็หลายช่วง คิดเอาว่าไม่ชันได้อย่างไรเพราะที่หินแปดเหลี่ยมเราอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลแค่ 300 เมตร ส่วนยอดผาสูงกว่าระดับน้ำทะเล 920 เมตร เท่ากับว่าต้องขึ้นสูงไปอีกกว่า 600 เมตร ในระยะทางแค่ 3 กิโลเมตร ผมนี่เดี๋ยวก็พักเดี๋ยวก็พัก เข้าโครงการเดินช้าๆ พักนานๆ สิบก้าวหยุด ยี่สิบก้าวหยุด (ฮา...) เสื้อผ้าเปียกปอนโชกเหงื่อโชกกันถ้วนหน้า เรื่องคุยกันอย่าหวังเลย เก็บปากไว้ช่วยหายใจดีกว่า!
มาหยุดพักที่หินแหลมเลยบ่ายสามโมงมาเล็กน้อย ถึงจะเหนื่อยมากก็เหมือนร่างกายเริ่มเข้าที่นะ ชักชินกับไอ้ความเหนื่อยและหนักแบบนี้แล้ว อีกหนึ่งชั่วโมงถัดมาก็มาถึงปากทางลงถ้ำ เป็นช่วงสุดท้ายก่อนถึงผาหินกูบ ใจมันโล่งอย่างบอกไม่ถูก พวกเราพักถ่ายรูปหมู่กันสักนิด ทั้งหมดแปดชีวิตครับ สามคนล่วงหน้าขึ้นไปก่อนแล้ว และอีกห้ายังมาไม่ถึง
จากนี้ไปอีกนิดเดียว ทางชันสุดๆ แต่ก็เหมือนกับโค้งสุดท้ายของวิ่งมาราธอน ลูกฮึดก่อนเข้าเส้นชัยที่ทุกคนต้องมี
และในที่สุด 16.48 น. ก็มายืนถ่ายภาพตรงนี้พร้อมตะโกนดังๆ ว่าขึ้นมาถึงแล้วนะโว้ย นับจากลั่นชัตเตอร์ภาพสุดท้ายก่อนเดินขึ้นที่ป้ายด้านล่าง 10.12 น. ก็รวมเบ็ดเสร็จเวลา 6 ชั่วโมง 36 นาที สำหรับการพิชิตผาหินกูบของผม ส่วนคนสุดท้ายขึ้นมาถึงก็ใกล้มืด ใช้เวลาเป็นสถิติใหม่ตามที่เจ้าหน้าที่บอกคือ 8 ชั่วโมง 20 นาที (ฮา...) แต่จะช้าจะเร็ว สุดท้ายพวกเราก็ขึ้นถึงทุกคน รวมทั้งสมาชิกคนที่เป็นตะคริว
บนผาหินกูบไม่เหมาะกับการกางเต็นท์ครับเพราะที่มันน้อยจะกินที่ชาวบ้านเขา ปูผ้าใบนอนในถุงนอน หรือผูกเปลนอนสะดวกกว่า เรื่องห้องน้ำห้องท่าไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มีแน่นอน มีแค่เจ้าหน้าที่ใจดีต่อท่อนำน้ำจากต้นน้ำมาให้ใช้กินใช้ทำความสะอาดตัวแค่นั้นแหละ
ใครอยากดูที่มาของชื่อผาหินกูบต้องเดินขึ้นเขาไปอีกนิดด้านหลังจุดพักแรม คำว่ากูบหมายถึงที่นั่งบนหลังช้าง (ลองเสิร์ชภาพจาก Google ดูนะ) แต่บางครั้งก็ใช้ในความหมายของหลังช้างไปเลย หินกูบที่ว่าจึงเป็นหินซึ่งมีลักษณะเหมือนหลังช้าง ลาดลงทั้งสองฝั่ง ที่นี่ยังมีหินใหญ่ๆ อีกหลายจุดครับ ตรงไหนปีนป่ายกันได้ก็ปีนกันตามความสามารถแล้วกัน
ช่วงยามเย็นๆ ฟ้าสวยมากถ่ายรูปกันเพลินเลยทีเดียว
เราถ่ายรูปเล่นกันจนฟ้ามืดค่อยมาช่วยกันหุงหาอาหาร เชฟกลุ่มนี้มีแต่ผู้ชายแฮะ ผมไร้ทักษะด้านนี้โดยสิ้นเชิง ทำหน้าที่ดีที่สุดคือช่วยส่องไฟตามระเบียบ เสร็จแล้วก็ได้มื้ออาหารอันแสนพิเศษง่ายๆ ผัดผัก ผัดลูกชิ้น ไข่เจียว ต้มยำปลากระป๋อง มาม่า กุนเชียงทอด แบบนี้แหละ บางครั้งการกินอาหารให้อร่อยมันไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าเรากินอะไร แต่ขึ้นอยู่ว่าเรากินกับใคร และกินที่ไหนต่างหาก ว่าไหมล่ะ
สลับกันคนละจ้องสองจ้วงก็ฟินอิ่มท้องกันไปพร้อมเสียงหัวเราะ แซวเล่นคุยเล่นกันสนุกลืมไปเลยว่าพวกเราเพิ่งรู้จักกันเมื่อเช้านี้เท่านั้น ส่วนความเหนื่อยที่เดินขึ้นมาน่ะหรือ... ไม่หลงเหลืออีกแล้ว มันมีแต่ความสดชื่นกับทุกสิ่งรอบข้างแบบเพียวๆ
ตกค่ำ บ้างล้อมวงนั่งคุยกันจิบเครื่องดื่มเล็กๆ น้อยๆ บ้างไปนอนดูดาว บ้างหลับสลบเหมือดอย่างผมนี่ไง (ฮา...) ที่สลบนี่มีเหตุผลครับเพราะนอนเอาแรงก่อนตื่นมาถ่ายทางช้างเผือกตอนตีสอง เห็นไม่ชัดเจนมากแต่กล้องพอจับได้ แสงไฟข้างล่างที่เห็นทางซ้ายเป็นอำเภอโป่งน้ำร้อน ส่วนทางขวาเป็นอำเภอมะขาม
ตอนเช้าไม่พลาดตื่นมาถ่ายพระอาทิตย์ขึ้น แสงไม่แรงมากแต่สวยงามใช้ได้ ขึ้นตรงหน้าฝั่งที่เรานอนเลย แถมรออีกสักพักมีหมอกสวยลอยบางๆ มาให้ชมกันด้วย
จากนั้นก็ได้เวลาอาหารเช้า ทำกินกันง่ายๆ โชคดีที่เรามีเชฟประจำกลุ่มกันครับ หากไม่มีแนะนำว่าพวกอาหารแห้งสำเร็จรูปก็เข้าท่าอยู่นะ พอกินเสร็จสรรพผมค่อยปีนป่ายหามุมสวยเก็บภาพไปเรื่อย หมอกขาวเริ่มลอยตามลมขึ้นมาปกคลุมยอดเขา กรุ๊ปของเราไม่รีบร้อน ใช้เวลาให้สมกับความลำบากในการขึ้นมา
จนพอใจนั่นแหละพวกเราค่อยเก็บข้าวของ ทำความสะอาด เก็บขยะ ดับกองไฟ เคลียร์พื้นที่ เริ่มลงกันตอนสิบโมงเช้า ขาลงไม่เหนื่อยแต่เจ็บขาเจ็บเข่าพอสมควร มาพักกินข้าวเที่ยงและรอคนรั้งท้ายกันที่หินเพิงอยู่นานเกือบสองชั่วโมง ก่อนเบ็ดเสร็จลงกลับถึงหน่วยพิทักษ์ฯ ตอนบ่ายสามโมงพอดีเป็นอันปิดทริปพิชิตผาหินกูบ
สำหรับผมจุดหมายปลายทางและเรื่องราวระหว่างทางล้วนมีความสำคัญ ทริปนี้ผมโชคดีที่ไปถึงปลายทางที่ใฝ่ฝัน และโชคดีมากขึ้นอีกที่ระหว่างทางได้พบเรื่องราวมากมายน่าประทับใจ ตอนออกจากบ้านผมไปเพียงคนเดียวแต่ตอนกลับมาผมได้เพื่อนก๊วนใหญ่ถึงสิบห้าคน คุยกันเหมือนรู้จักกันมาเป็นแรมปี และเชื่อว่าพวกเราคงต่อยอดมีโอกาสร่วมทริปกันอีกในอนาคตไม่ช้าก็เร็ว
ความกลัวของผมที่จะต้องเที่ยวต้องใช้ชีวิตท่ามกลางหมู่ผู้คนหายไป ขอบคุณมิตรใหม่ทั้งสิบห้า พี่เต็ม พี่ไก่ น้าหนวด จ๊บ เบ้ ตี๋ ฟ้า เมย์ 1 เมย์ 2 กวาง ตั๊ก แบงค์ นิล กุ้ง และ หนุ่มจอช โจชัว ฟิงค์ หรือเจ้าฝรั่งของพวกเรา ที่ช่วยเปิดใจให้นักเดินทางตัวคนเดียวอย่างผมรับรู้ว่ามันดีแค่ไหนที่บางครั้งเราได้มีเพื่อนร่วมทาง...
-----------------------------------------------------------------------------------
รู้สักนิดก่อนพิชิตหินกูบ
- ผาหินกูบตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งเพล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อ.มะขาม จ.จันทบุรี ติดต่อหน่วยฯ Tel. 084 864 9357
- การเดินทางสู่หน่วยพิทักษ์ฯ มีรถโดยสารไม่ประจำทางให้บริการที่ บขส. จันทบุรี ราคาเหมาไป-กลับ (วันกลับรับจากหน่วยฯ มาส่งที่ บขส.) 1,400 บาท ต่อผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน เกินจากนั้นคิดเพิ่มคนละ 200 บาท สำหรับรถส่วนตัวสามารถขับถึงหน่วยฯ ได้เลย
- มีค่าบำรุงหน่วยฯ และเจ้าหน้าที่ในการนำทางขึ้นเขา 1,000 บาท ต่อเจ้าหน้าที่หนึ่งคน ดูแลนักท่องเที่ยวไม่เกินห้าคน นักท่องเที่ยวเกินจากนั้นคิดเพิ่มคนละ 200 บาท จ้างลูกหาบคนละ 1,000 บาท น้ำหนักของไม่เกิน 30 กิโลกรัม
- หน่วยฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นเขาเฉพาะวันเสาร์เท่านั้น โดยจะค้างแรมคืนวันเสาร์และกลับลงมาวันอาทิตย์ สามารถขึ้นเขาได้ทุกวันเสาร์ตลอดทั้งปี กำหนดให้นักท่องเที่ยวขึ้นครั้งหนึ่งไม่เกิน 30 คน และควรติดต่อล่วงหน้าเพื่อจองวันขึ้นเขา
- เส้นทางขึ้นเขามีระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเล 920 เมตร จากครึ่งทางไปแล้วทางจะชันมาก โดยทั่วไปใช้เวลาเดินประมาณ 5-7 ชั่วโมง
- ด้านบนผาหินกูบมีที่พักแรมจำกัดและสภาพลมแรงไม่เหมาะกับการกางเต็นท์ นอนด้วยถุงนอนหนือเปลนอนสะดวกกว่า
- ตลอดทางเดินขึ้นผาหินกูบมีแหล่งน้ำธรรมชาติให้เติมสามจุด รวมทั้งใกล้ที่พักแรม ไม่จำเป็นต้องนำน้ำดื่มไปด้วยมาก แต่ต้องเตรียมอาหารและอุปกรณ์ต่างๆ เองทั้งหมด
-----------------------------------------------------------------------------------
ใครอยากคุยกับผมเรื่อยเปื่อยเรื่องท่องเที่ยว สอบถามข้อมูล (ถ้าผมมีให้นะ) หรือชวนเที่ยว ยินดียิ่งนะครับ
>>>www.facebook.com/alifeatraveller
-----------------------------------------------------------------------------------
และปิดท้ายกับคลิปวีดีโอความสวยงามของผาหินกูบที่เก็บมาฝากก็แล้วกันครับ
↓
↓
↓
↓