หลังจากนั้นเรานั่งเรือกลับขึ้นฝั่ง คุณลุงพามาดูศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงชุมชนเนินฆ้อ ซึ่งลุงออยก็ได้เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของศูนย์แห่งนี้ด้วย
ลุงออยบอกว่า เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านทำอาชีพประมงและทำนาไปด้วย เมื่อราวๆปี 2540 ชาวบ้านเนินฆ้อประสบปัญหาจากนายทุนเข้ามาทำนากุ้งทำให้น้ำเสียดินเค็ม พอหันมาทำประมงเต็มตัว แต่ก็มีเรือประมงพาณิชย์เข้ามาจับสัตว์น้ำในพื้นที่ ทำให้เครื่องมือของชาวบ้านสูญหาย อวนที่ลอยทิ้งไว้ เรือใหญ่มาลากเอาไปหมด จำนวนสัตว์น้ำก็ร่อยหรอลงจนแทบหมด จากปัญหาดังกล่าว ลุงออย จึงได้รวมกลุ่มชาวบ้านลุกขึ้นพูดคุยถึงปัญหา เพื่อหาแนวทางจัดการทรัพยากรบริเวณของชุมชนของเขา ปี 2545 จึงตั้งกลุ่มประมงขึ้นมาเพื่อพูดคุยกันถึงการแก้ปัญหาในวันที่ 14 บ่ายโมงตรงของทุกๆเดือน แต่ลุงเองก็บอกว่าถ้าคุยเฉพาะแต่ชาวบ้านคงไม่เกิดประโยชน์อะไร จึงทำหนังสือเชิญหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมรับฟังปัญหาในแต่ละครั้งด้วย
จนกระทั่งปี 2549 เทศบาลตำบลเนินฆ้อ มองเห็นความสำคัญของกลุ่ม เลยคิดว่าควรมีการจัดการทำให้เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงมีการจัดตั้ง “ กลุ่มประมงพื้นบ้านเนินฆ้อโครงการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” โดยมีการทำงานร่วมกันกับ กรมทรัพยากรฯ เทศบาลเนินฆ้อ กลุ่มวิจัยทรัพยากรทะเลชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
จนมี “โครงการบ้านปลา ธนาคารปู”
บ้านปลา เป็นการทำปะการังเทียมในรูปแบบต่างๆเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลให้สัตว์น้ำวัยอ่อนได้หลบซ่อนตัว เช่น เต๋ายางรถยนต์ ซั้งจากเชือก และแท่งปูนรูปสี่เหลี่ยม โดยเทศบาลฯ ให้งบประมาณมาก้อนหนึ่ง หลังจากนั้นจึงเริ่มนำไปวางตามที่กำหนดไว้ โดยมี สำนักงานบริการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่1 (สบทช.) เป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของการวางบ้านปลา โดยตั้งห่างจากชายฝั่งออกไปราว 1.5 กิโลเมตร
ธนาคารปู คือการทำกระชังตาข่าย หากชาวบ้านจับปูไข่ได้ ก็จะเอามาฝากไว้ในกระชัง 2 วัน ปูจะปล่อยไข่ทั้งหมดให้ลอยไปตามธรรมชาติเกิดเป็นลูกปูจำนวนมากกลับลงสู่ทะเลแล้วค่อยนำแม่ปูกลับไปขาย
จนกระทั่งตัวแทนของ เอสซีจี เคมิคอลส์ ทราบว่าทางชุมชนมีโครงการบ้านปลาและบ้านปู เลยเสนอวัสดุซึ่งเป็นท่อส่งน้ำประปา ที่เหลือจากการทดสอบ มาดัดแปลงทำเป็นบ้านปลา ชาวบ้านก็ลงมติเห็นด้วย เพราะทำง่ายกว่าแท่งปูน แถมยังขนย้ายสะดวก ไม่ยุบตัว และวัสดุผ่านการทดสอบเรื่องกลิ่นหรือสารปนเปื้อนจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ปลอดภัยไม่มีสารเคมีที่อันตรายออกมาสู่น้ำทะเล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติที่ทนต่อการกัดกร่อนและแรงดันได้สูง ทำให้มีอายุใช้งานได้นาน ซึ่งทาง เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้แนะนำวิธีสร้างบ้านปลาและสนับสนุนท่อสำหรับทำบ้านปลาให้กับชุมชนเนินฆ้อแห่งนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว
บ้านปลาที่ทำจากท่อ PE100
ลักษณะของการวางแนวบ้านปลา
ลุงออย เล่าต่อว่า ชาวบ้านได้มานั่งประชุมและวางกรอบกติการ่วมกัน ในกรอบของประชาคมชาวบ้าน “มีการออกมติห้ามไม่ให้หากินบริเวณที่ตั้งของบ้านปลา และควบคุมเรื่องเครื่องมือ ทำลายล้าง” และต้องมีการจับสัตว์น้ำตามฤดูกาลเท่านั้น ลุงบอกว่าหลังจากนั้นชาวบ้านสามารถจับปูได้เยอะมากจนกระทั่งบางช่วงถึงกับล้นตลาด จนต้องทำการแปรรูปในแบบต่างๆ เลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหานั้น จำเป็นต้องมีความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ชุมชน ภาครัฐ และเอกชน หากร่วมมือกันแล้วก็จะทำให้ชุมสารมารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแน่นอน
ภายในศูนย์แห่งนี้ยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ในเรื่องของการทำประมงพื้นบ้านและวิถีชุมชนของชาวเนินฆ้อแห่งนี้อีกมากมาย
นิทรรศการ จัดแสดงวัฐจักรของวิถีชุมชนและการทำประมงตามฤดูกาล
บ้านปลาแบบต่างๆ